20 มี.ค. 2567 ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้ยื่นฟ้อง จ่อย (นามสมมติ) ประชาชนอายุ 25 ปี ในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม) จากเหตุที่ถูกกล่าวหาว่าได้ยิงหนังสติ๊กและเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณดินแดง สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564
คดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 จ่อยและ เค (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านพักโดยไม่มีหมายจับ ค้นบ้านพักและตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า และรถจักรยานยนต์ จากนั้นนำตัวไปสอบปากคำที่ สน.ดินแดง ก่อนตำรวจนำหมายจับศาลอาญาที่ 1473/2564 และหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่ 29/2564 ลงวันที่ 9 ก.ย. 2564 มาแสดงในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ก.ย. 2564 หลังควบคุมตัวทั้งสองมาแล้วราว 20 ชม.
พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ขออำนาจศาลอาญาฝากขังจ่อยผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันที่ 10 ก.ย. 2564 ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ทั้งยังห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00 น. ถึง 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
สำหรับกรณีของเค ถูกแยกไปดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ โดยอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566
หลังจากคดีอยู่ในชั้นสอบสวนกว่า 2 ปี ชฎาภา รุ่งเรือง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ผู้เรียงฟ้อง บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. จําเลยกับพวกได้พากันออกจากเคหสถานมารวมกลุ่มมั่วสุมชุมนุมกันที่บริเวณทางลงทางด่วนดินแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
จากนั้นจําเลยกับพวกได้ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายหรือกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด้วยการขว้างปาประทัด ระเบิด ใช้หนังสติ๊กยางยิงลูกแก้ว และของแข็งชนิดต่าง ๆ เข้าใส่เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมฝูงชน และจุดไฟจนเป็นเพลิงลุกไหม้บนทางสาธารณะ จนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบริเวณดังกล่าว
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนได้ประกาศสั่งการให้จำเลยกับพวกยุติการชุมนุม แต่จําเลยกับพวกซึ่งทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้วยังคงไม่เลิกการชุมนุม
จําเลยยังร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ จําเลยกับพวกที่มาร่วมชุมนุมได้ร่วมกันยิงหนังสติ๊กเข้าใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ติดตั้งไว้บริเวณทางด่วนดินแดง และจุดไฟ ใช้ระเบิดขว้างเข้าใส่บริเวณฐานของพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จํานวน 2 ป้าย, ป้าย วปร. จํานวน 2 ป้าย และป้ายทรงพระเจริญ จํานวน 1 ป้าย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้เสียหาย จนเกิดเพลิงลุกไหม้ที่บริเวณฐาน
จากนั้นได้นําพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 มาฉีกจนขาด, วางบนพื้นถนน เหยียบ แล้ววางเพลิงเผา จนพระบรมฉายาลักษณ์และแผ่นป้ายดังกล่าวได้รับความเสียหาย
อัยการบรรยายฟ้องด้วยว่า พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ถือได้ว่า “เปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์ท่าน การที่ประชาชนแสดงความเคารพต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ ก็เปรียบเสมือนเป็นการแสดงความเคารพต่อพระองค์ท่าน นอกจากนี้ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่า เป็นสิ่งที่ใช้แสดงถึงสถาบันอันสูงสุดของประเทศ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีคุณูปการต่อคนไทย และต่อประเทศไทยมาอย่างยาวนาน…”
“การเห็นบรมฉายาลักษณ์ คือ การเห็นพระองค์ท่าน” การที่จําเลยกับพวกร่วมกันเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการทําลายสถาบันอันสูงสุดที่รักเคารพบูชา และเป็นจุดศูนย์รวมใจของพสกนิกรชาวไทย และการใช้เชื้อเพลิงและน้ํามัน เพื่อทําลายพระบรมฉายาลักษณ์สื่อถึงการทําลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นจุล…
“การเผาภาพ คือ การเผาพระองค์ท่าน” เป็นการแสดงเจตนาว่า ต้องการลบล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นระบอบที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง และเป็นการแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการกระทําที่ย่ำยี เหยียบย่ำหัวใจของคนไทยที่รัก และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินีอันเป็นที่รัก และเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทย
อัยการสรุปความเสียหายของแผ่นป้ายทั้งหมด คิดเป็นเงินจํานวน 25,266.98 บาท พร้อมทั้งระบุว่า หากจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
ภายหลังศาลรับฟ้อง จ่อยได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นนายประกันได้ยื่นขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 2 ก.ย. 2567 เวลา 13.30 น.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับกุมนศ.และเยาวชน ไม่มีหมายจับ! สอบโยงชุมนุมทะลุแก๊ส ก่อนแจ้งข้อหา ‘112’ และวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ