อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกกล่าวหาเผา-ยิงหนังสติ๊กใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ระบุ “การเผาภาพ คือการเผาพระองค์ท่าน”

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีครอบครัวและเยาวชน 1) ได้ยื่นฟ้องคดีของ “เค” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี (ขณะเกิดเหตุ) รวม 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มาตรา 216 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม) จากเหตุที่ถูกกล่าวหาว่าได้ยิงหนังสติ๊กและเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณดินแดง สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 “เค” พร้อมนักศึกษาอีกรายหนึ่ง ได้ถูกตำรวจจับกุมโดยไม่มีหมายจับและถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.ดินแดง โดยขณะถูกจับกุม เคถูกควบคุมตัวราว 20 ชั่วโมง ตำรวจยังได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า และรถจักรยานยนต์ ก่อนจะนำตัวมาสอบถามรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการเผาสิ่งของในที่ชุมนุมสามเหลี่ยมดินแดง ต่อมาตำรวจได้ไปร้องขอศาลออกหมายจับลงวันที่ 9 ก.ย. 2564 หลังเข้าค้นบ้านพักและยึดสิ่งของแล้ว 

เคถูกตำรวจนำตัวไปขอออกหมายควบคุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันที่ 10 ก.ย. 2564 ก่อนศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยคดีของเคดำเนินการแยกกับคดีของนักศึกษา เนื่องจากยังเป็นเยาวชน

หลังจากคดีอยู่ในชั้นสอบสวนเกือบ 2 ปี สมสวาท เทพนำโสมนัสส์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีครอบครัวและเยาวชน 1 ได้เป็นผู้เรียงฟ้องคดีนี้ โดยสรุปกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 จําเลยกับพวกได้พากันออกจากเคหสถานมารวมกลุ่มมั่วสุมชุมนุมกันที่บริเวณทางลงทางด่วนดินแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

จากนั้นจําเลยกับพวกได้ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายหรือกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด้วยการขว้างปาประทัด ระเบิด ใช้หนังสติ๊กยางยิงลูกแก้ว และของแข็งชนิดต่างๆ เข้าใส่เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมฝูงชน และจุดไฟจนเป็นเพลิงลุกไหม้บนทางสาธารณะและไม่ให้ผู้ใช้เส้นทางสามารถเดินทางผ่านไปได้ จนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบริเวณดังกล่าว 

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนได้ประกาศสั่งการให้ยุติการชุมนุม แต่จําเลยกับพวกซึ่งทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้วยังคงไม่เลิกการชุมนุม

จําเลยยังร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ จําเลยกับพวกที่มาร่วมชุมนุมได้ร่วมกันยิงหนังสติ๊กเข้าใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ติดตั้งไว้บริเวณทางด่วนดินแดง และจุดไฟใส่บริเวณฐานของพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จํานวน 2 ป้าย ป้าย วปร. จํานวน 2 ป้าย และป้ายทรงพระเจริญ จํานวน 1 ป้าย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้เสียหาย จนเกิดเพลิงลุกไหม้ที่บริเวณฐาน 

จากนั้นได้นําพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 มาฉีกจนขาด และนําพระบรมฉายาลักษณ์วางบนพื้นถนนแล้วเหยียบ แล้วจําเลยกับพวกได้วางเพลิงเผาจนแผ่นป้ายต่างๆ ได้รับความเสียหาย

อัยการบรรยายฟ้องว่า พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ถือได้ว่า “เปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์ท่าน การที่ประชาชนแสดงความเคารพต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ ก็เปรียบเสมือนเป็นการแสดงความเคารพ ต่อพระองค์ท่าน นอกจากนี้ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือได้ว่า เป็นสิ่งที่ใช้แสดงถึงสถาบันอันสูงสุดของประเทศ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีคุณูปการต่อคนไทย และต่อประเทศไทยมาอย่างยาวนาน…” 

การเห็นบรมฉายาลักษณ์ คือ การเห็นพระองค์ท่าน “การที่จําเลยกับพวกร่วมกันเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พฤติกรรมเป็นการทําลายสถาบัน อันสูงสุดที่รักเคารพบูชา และเป็นจุดศูนย์รวมใจของพสกนิกรชาวไทย และการใช้เชื้อเพลิงและน้ํามัน เพื่อทําลายพระบรมฉายาลักษณ์สื่อถึงการทําลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นจุล

“การเผาภาพ คือ การเผาพระองค์ท่าน” เป็นการแสดงเจตนาว่า ต้องการลบล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นระบอบที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง และเป็นการแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการกระทําที่ย่ำยี เหยียบย่ำหัวใจของคนไทยที่รัก และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินีอันเป็นที่รัก และเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทย 

อัยการสรุปความเสียหายของแผ่นป้ายทั้งหมด คิดเป็นเงินจํานวน 25,266.98 บาท โดยหากจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ภายหลังถูกสั่งฟ้อง เคให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา มารดาได้ยื่นขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 10,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนที่ศาลเยาวชนฯ จะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ค. 2566 เวลา 8.30 น.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับกุมนศ.และเยาวชน ไม่มีหมายจับ! สอบโยงชุมนุมทะลุแก๊ส ก่อนแจ้งข้อหา ‘112’ และวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ

X