อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกคดี กรณี 5 ประชาชนสังเกตการณ์ชุมนุมดินแดงเมื่อ ก.ย. 64

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่มีนักกิจกรรมและประชาชนรวม 5 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปสังเกตการณ์ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564

คดีมี พ.ต.ท.ประวิทย์ กองชุมพล เป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรม-ประชาชนรวม 5 ราย ได้แก่ ชาญชัย ปุสรังษี, พรชัย แซ่ซิ้ม, วสันต์ กล่ำถาวร, สมชาย คำนะ และ ธีรเมธ ว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณใต้ทางแยกดินแดง แนวถนนดินแดง ถึงถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมีกลุ่มบุคคลรวมกันมากกว่า 25 คน ในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ผู้กล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานที่เข้าติดตามการชุมนุม และได้จัดทำรายงานเหตุการณ์ พร้อมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง

ในชั้นตำรวจ พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่เมื่อส่งสำนวนไปยังอัยการ พนักงานอัยการศาลแขวงพระเหนือได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด ส่งถึงผู้กำกับการ สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้ต้องหาแต่ละคนมีภาระต้องไปลงชื่อรายงานตัวกับอัยการราวสองเดือนต่อครั้ง

โดยสรุป อัยการพิจารณาว่ากรณีจะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหานั้น จะต้องเป็นกรณีที่เป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และต้องเป็นการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน ตามข้อกำหนดฉบับที่ 32 ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 28 ส.ค. 2564 ข้อ 2 (1) แต่จากคำให้การของผู้กล่าวหาและพยานในที่เกิดเหตุ และตามรายงานการสืบสวน จะเห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งห้า ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือร่วมกันกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ดังกล่าว

ส่วนภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลา 20.40 น. ถึง 24.00 น. ที่ปรากฏภาพผู้ชุมนุมรวมตัวกัน ปาประทัด จุดพลุ ยิงหนังสติ๊ก ยิงแสงเลเซอร์ เข้าไปในกรมดุริยางค์ทหารบก โดยมียอดผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน ตามรายงานการสอบสวนนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ต้องหาทั้งห้าร่วมจัดกิจกรรมหรือชุมนุมมั่วสุมหรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณที่เกิดเหตุแต่อย่างใด พยานหลักฐานในชั้นนี้จึงไม่พอฟ้อง

คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 17 ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมบริเวณดินแดงที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว ขณะที่ยังคงมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของผู้ไปสังเกตการณ์หรืออยู่ร่วมที่บริเวณดินแดงในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนอีกมากกว่า 30 คดี เนื่องจากตำรวจมีการกล่าวหาแยกคดีไล่เรียงไปตามวันที่เกิดเหตุ โดยกล่าวหากับนักกิจกรรมหรือผู้ชุมนุมที่ตำรวจจับตา มีพฤติการณ์เพียงแต่พบเห็นในที่ชุมนุม

ขณะที่โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 67 คดี แต่ก็มีคดีจำนวนมากที่อัยการสั่งฟ้องต่อศาล โดยแนวโน้มคดีที่ต่อสู้ในชั้นศาล ศาลก็มีแนวโน้มจะยกฟ้องมากกว่าเห็นว่ามีความผิดด้วย การใช้ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการชุมนุมที่ผ่านมา จึงก่อให้เกิดคำถามต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X