รู้จัก “ปอ” กุลธิดา: ศิลปินเคลื่อนไหวสิทธิสตรี ถูกดำเนินคดีเพราะร่วมคาร์ม็อบฯ

“ปอ” กุลธิดา กระจ่างกุล บัณฑิตจากสาขาวิชาจิตรกรรมและมีเดียอาร์ต ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1 ใน 10 ผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ในเหตุการณ์เดียวกันปอยังถูกดำเนินคดีข้อหา ‘ทำให้เสียทรัพย์’ กรณีพบผู้ชุมนุมปาถุงสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4

กับนักศึกษามีเดียอาร์ตที่ความคิดไม่อยู่ในกรอบ อันสะท้อนมาจากผลงานศิลปะเชิง Conceptual Art ที่ฝึกปรือทั้งฝีมือและความคิด โดยเฉพาะการแสดงออกที่เล่นล้อกับการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมโดยเฉพาะด้านสิทธิสตรี  

แต่เมื่อย้อนพูดคุยถึงชีวิตแต่หนหลังของปอ ถึงจะทราบว่าเธออยู่ในครอบครัวราชการทหารที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ก่อนเป็นถ้อยสนทนาถึงชีวิตในกรอบรั้วที่เปลี่ยนแปรสู่การเป็นนักเรียนศิลปะ หรือกระทั่งเป็นนักกิจกรรมที่นำมาสู่การเป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ที่ชีวิตปอค่อย ๆ เติบโตและตกผลึกเรื่องราวประสบการณ์ไว้รับมือกับเหตุในชีวิตที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

.

ชนชั้นในค่ายทหาร 

เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นทหาร บ้านพักที่ตั้งอยู่ใกล้กับเรือนจำทหารก็จะเห็นคนใส่ตรวนเป็นประจำ บ้านฝั่งแม่อยู่ที่ค่ายศรีพัชรินทร์ ส่วนฝั่งพ่อคือค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ พ่อก็จะยศใหญ่ขึ้นมาหน่อย ทำให้ปอมองเห็นทหารเกณฑ์เป็นคนที่ทำหน้าที่ในลักษณะดูแลนาย 

ด้วยประสบการณ์ที่ว่านี้ ทำให้ปอรับรู้ถึงความแตกต่างทางชนชั้นตั้งแต่เด็ก เพราะตอนที่อยู่กับแม่ จะได้รับการปฏิบัติแบบหนึ่ง แต่พอมาอยู่กับพ่อ ก็จะได้รับดูแลอีกแบบหนึ่ง 

“เวลาไปอยู่กับฝั่งพ่อ ก็จะมีคลับสำหรับตีกอล์ฟ คนยศใหญ่จะใช้ชีวิตค่อนข้างอู้ฟู่ อีกอย่างที่เห็นคือ เรื่องการกินอยู่ของทหารเกณฑ์ว่า จะได้กินอาหารแบบนี้ เวลาฝึกถูกจ่าร้องตะโกนสั่ง ตะโกนด่าแบบนี้ จนกลายเป็นว่าถ้าเราไม่พอใจก็จะตะโกน เพราะเชื่อว่าถ้าเราตะโกนทุกคนจะหยุดนิ่ง มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เพื่อนไม่อยากคุยกับเราแล้ว” ปอเกริ่นให้เห็นถึงชนชั้นที่แตกต่างภายในค่ายทหารก่อนค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง 

ปอเล่าถึงครอบครัวอีกว่า มีพี่น้องสามคน พี่ ๆ และเธอไม่มีใครเลยที่อยากเป็นทหาร และถึงแม้ว่า เธอจะถูกคาดหวังให้เรียนคณะสายวิทยาศาสตร์ เพราะเรียนห้องพิเศษในโรงเรียนประจำจังหวัด แต่สุดท้ายปอก็เลือกเดินตามความชอบของตัวเอง คือการทำงานด้านศิลปะในแบบของตัวเอง

“ตอนจะเข้าสถาปัตย์ฯ ก็ไปเรียนพิเศษวาดรูป เขาให้ลองวาดบ้านก็รู้สึกว่า ไม่ชอบ แต่ว่าชอบวาดรูปเล่นมากกว่า เหมือนกับรู้ว่าจริง ๆ แล้ว เราชอบที่จะทำตามใจเรา อยากจะแสดงสิ่งที่เราเป็นออกมา หนทางที่ต่อจากนั้นเลยเป็น Fine Art วิจิตรศิลป์ที่ลาดกระบัง เพื่อเป็นศิลปิน”  

การเข้าเรียนปี 1 ที่ลาดกระบัง ที่ต่อมาทางบ้านมีวิกฤตทางการเงิน ทำให้ปอต้องทำงานหลายอย่างเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กระทั่งได้รับทุนการศึกษา จึงทำให้ชีวิตมหาวิทยาลัยในเทอมที่เหลือ ปอเอาตัวรอดมาได้จนเรียนจบ นั่นอาจเป็นอีกเหตุผลที่ปอคิดเรื่องจะทำยังไงให้คนในประเทศมีสวัสดิการและความเท่าเทียมทั่วถึงกันมาตลอด

.

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือใจกลางหลักของการตื่นรู้ 

กับเรื่องการเมืองปอให้ภาพว่า พ่อกับแม่เป็นหัวอนุรักษ์นิยมมาก ๆ โตมากับช่อง ASTV จะกินข้าวร้านไหนต้องร้านเสื้อเหลืองเท่านั้น การเมืองของปอในภาพจำคือการปราศรัยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ, เสื้อชัตดาวน์กรุงเทพฯ,  มือตบ กปปส.

ก่อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจการเมือง หลังเกิดคำถามกับตัวเองในช่วงมัธยมว่า “ทำไมสิทธิผู้หญิงในประเทศนี้ถึงไม่มีอะไรเลย จำได้ว่าตั้งคำถามว่า ทำไมลูกผู้หญิงถูกเลี้ยงดูต่างจากลูกผู้ชาย ผิดจากที่เราเห็นในหนังในภาพยนตร์ต่างประเทศที่ผู้หญิงมีสิทธิในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ” 

ปอเริ่มหันมาอ่านนิยายที่มีเรื่องเกี่ยวกับการสังหารหมู่ในเหตุการณ์เดือนตุลา หลังจากนั้นเรื่องราวทางสังคมและการเมืองก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 

“ปอ ไปทำม็อบกัน” คำพูดจาก “เข้ม” ศิวกรณ์ นักกิจกรรมขอนแก่นพอกันที เพื่อนห้องเดียวกันสมัยมัธยมปลาย กลายเป็นประโยคสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตนักเรียนศิลปะที่กลับมาอยู่บ้านช่วงโควิด-19  

“ก็ลองดู ไปกับเข้มยาว ๆ” กลายเป็นครั้งแรกที่ปอได้ไปม็อบ ที่ไม่ใช่ กปปส. ที่แม่ชอบเปิดให้ดู ครั้งนั้นการชุมนุมจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น

ปอได้เดินทางบ่อยขึ้น ได้พบเจอคนในขบวนการต่อสู้ประชาธิปไตย ไปเจอเรื่องเหมือง เรื่องที่ดิน เรื่องรัฐสวัสดิการ “ก็วิ่งมั่วเลยเพราะสนใจทุกเรื่อง ไปในนามผู้ติดตาม มีไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อมที่หมู่บ้านบางกลอย หรือไปที่จะนะ”  

กับสิ่งที่สั่งสมจากมหาวิทยาลัย กับวงการศิลปะขอนแก่น ปอก็อยู่สังกัดคณะที่ลาบสูงเป็นหลักในการจัดปฏิบัติการทางศิลปะ Khon Kaen Manifesto ร่วมกับ ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะผู้ล่วงลับ

กับบรรดาข้อเรียกร้องการเมืองที่โดนใจปอที่สุดเห็นจะเป็น ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ เพราะรู้สึกว่าหากเรื่องนี้ไม่ถูกพูดแบบตรงไปตรงมา มันก็เคลื่อนยากในประเด็นอื่น ๆ มันไม่ใช่แค่ ‘เจ้า’ กับ ‘ทุนนิยม’ ธรรมดา แต่มันเป็น ‘ทุนนิยมเจ้า’ ที่ผนึกกำลังกันอย่างแข็งแกร่งเป็นคูณสอง

“ถ้าเราสามารถปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ ก็จะลดการฝังรากของความเป็นระบอบกษัตริย์กับทุนนิยม เพราะสิ่งเหล่านี้น่ากลัวมากกว่าที่เราคิด และน่าจะมีส่วนให้คนได้ไตร่ตรองทบทวนในความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น”

เข้าร่วมชุมนุม เพราะชอบความรู้สึกร่วมกับสังคมที่ไม่ยอมแพ้

ปี 2563 ขึ้นปราศรัยครั้งแรกที่ จ.เลย  แล้วถัดมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น “หลัง ๆ รู้ตัวว่าไม่ชอบปราศรัย แล้วก็ไม่ชอบออกหน้า” จึงเป็นฝ่ายจัดเตรียมสถานที่ ฝ่ายประสานงาน ทำกราฟิกบ้าง ช่วงม็อบหนัก ๆ ก็อยู่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่การ์ดอาสา 

ถึงที่สุดปอค้นพบว่า ชอบการเป็นผู้ร่วมชุมนุมทั่วไป “มันคือสิ่งที่เราได้แสดงออกถึงการมาชุมนุมอย่างแท้จริง เราได้พ่นสี เราได้ตะโกนด่า ได้เจอคนข้าง ๆ ที่รู้สึกไปกับเรา แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน ได้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรายังมีเพื่อน มีสังคมที่ไม่ยอมแพ้”  

กับคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบขอนแก่นที่เผชิญอยู่ ปอเล่าว่า ตอนนั้นปี 2564 กลับไปกรุงเทพฯ เพื่อเรียน แต่ก็รับรู้ว่าจะมีการชุมนุม จึงอยากมา อยากช่วยเพื่อน จำได้ว่าขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามขบวน จนช่วงท้าย ๆ ก็ไม่รู้ว่าถุงพลาสติกใส่สีมาจากไหน ก็เอาด้วย สุดท้ายก็โดนคดีว่าเป็นหนึ่งในผู้จัดการชุมนุม “ซึ่งถ้าพูดตามตรงเรารู้สึกว่า วันนั้นเราเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมมากกว่า”

ปอให้ทัศนะอีกว่า นอกจากสร้างศิลปะเธอสนใจการสื่อสาร แต่ก็จะสื่อสารในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น งานส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเมือง ไม่งั้นก็จะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม “เราเติบโตมาและเรียนศิลปะมา มันเป็นตัวได้เปรียบบางอย่าง ในสังคมที่มีผู้กดขี่และถูกกดขี่จนเป็นภาพชินตา ถ้าไม่ใช้ความรู้แบบนี้ของคุณตอนนี้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม เราไม่รู้เลยว่าวันใดวันหนึ่งอาจจะเป็นเราก็ได้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ 

“แล้วถ้าคุณไม่พูด แล้วใครจะพูดให้คุณ ถ้าเพื่อนคุณพูดไม่ได้ ก็ต้องพูดแทนเขา เรารู้สึกว่า ศิลปะมันสื่อสารได้หลากหลายอย่าง แล้วเราเลือกที่จะใช้สื่อสารทางการเมือง เมื่อมีโอกาส มีจังหวะ มีเครื่องมือ ก็เพียงแค่พูดมันออกมา เพื่อตัวเอง เพื่อคนอื่น เพื่อคนที่เสี่ยงจนออกมาพูดไม่ได้” 

.

‘Conceptual Art’ มาจากปัญหารอบ ๆ ตัว

ปออธิบายถึงสิ่งที่เรียนว่า Conceptual Art จากวิชาศิลปะร่วมสมัย เน้นที่การผลิตงานโดยเริ่มจากความคิดว่า ศิลปินใช้ปรัชญาอะไร สัญลักษณ์อะไร ทำแบบนี้เพราะอะไร มันจะตีความในแง่ไหนได้

ส่วนเทคนิคก็จะฟรีเลยว่าจะทำเทคนิคอะไร ปอเลยถนัดวิชานี้ที่สุด และทำให้เลือกเรียน Media Art แกนหลักจนจบหลักสูตร

ถ้ายกตัวอย่างศิลปินงานประเภทนี้ คนหนึ่งที่คนน่าจะรู้จักมากที่สุดคือ Ai Weiwei อีกคนก็ ฮิโตะ ซึ่งเป็นศิลปินฝ่ายซ้ายลูกครึ่งญี่ปุ่น-เยอรมัน ที่เขาจะทำงานแบบเอาภาพเดียวมาเซฟซ้ำ ๆ กันจนภาพมันแตก สะท้อนการผลิตซ้ำจากโลกอินเตอร์เน็ต

เมื่อให้พูดถึงผลงานตัวเองที่ประทับใจ ปอเล่าถึงชิ้นแรก ‘เพราะเสร็จ จึงเจริญ’ จากเทศกาล Khon Kaen Manifesto ที่วิธีการคือให้ผู้ชาย 10 คน เอาน้ำกามมาเพนท์เป็นรูปแมพจังหวัดขอนแก่นบนเตียงซอย 5 ที่เป็นแหล่งค้าประเวณีเก่า 

“อยากจะสื่อให้เห็นว่า ขอนแก่นย่านนี้เจริญขึ้นได้เพราะการค้าบริการ มองว่า Sex Worker ควรถูกกฎหมาย อย่างน้อยก็ควรมีกฎหมายมาคุ้มครองให้ชีวิตของผู้ที่ทำอาชีพนี้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะเขาก็เป็นคน ๆ หนึ่งที่ควรได้รับความปลอดภัย ก็เลยรู้สึกว่า ความเจริญที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเขาเหล่านี้ด้วย แต่เขาถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ถูกประณามว่าเป็นคนไม่มีศีลธรรม”

ส่วนชิ้นที่ 2 Blues on Period เรื่องประจำเดือน โดยถ่ายตัวเองหน้าตรงแล้วหมุนตัวเองครบรอบ 24 ชั่วโมง ให้เห็นว่าประจำเดือนเลอะแค่ไหน หากใช้ผ้าอนามัยแผ่นเดียว

ปอสะท้อนถึงผลงานว่า “ตอนนั้นเราโกรธว่า ถ้าเราจน ทำไมเราต้องซื้อผ้าอนามัย และถ้าเราเหลือเงิน 20 บาท สุดท้ายในมือ แล้ววันนั้นเป็นประจำเดือน เราต้องเลือกเอาว่า จะกินข้าวหรือจะซื้อผ้าอนามัย

“แน่นอนว่าเราต้องซื้อผ้าอนามัย เพราะว่าไม่มีแจกฟรี งานนี่เราโดนคนด่าว่า สกปรก เยอะ แต่เราอยากจะสื่อสารว่า มันมีคนประเภทนี้จริง ๆ คนที่เขาไม่สามารถใส่ได้หลาย ๆ แผ่น ต้องใส่แค่แผ่นเดียว ต้องแบ่งเงินไว้สำหรับซื้อผ้าอนามัย ซึ่งผ้าอนามัยไทยนั้นแพงมาก”

.

ความฝันในปัจจุบันขณะ

ปอมีความฝันอยากเปิด Gallery Art เพราะก่อนหน้านี้เคยไปประเทศสโลวีเนีย แล้วประทับใจตรงที่  มี Collective Art ที่เป็นอนาคิสต์ซึ่งรัฐไม่สนับสนุนแล้ว แต่ก็อยู่รอดมาได้ด้วยการช่วยเหลือของกลุ่มเครือข่าย Collective Art ที่รัฐให้การสนับสนุน 

แล้วกลุ่มที่เป็นอนาคิสต์ที่ว่านั้น บุกยึดโรงอาหารของโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์สินของธนาคารสโลวีเนียที่ปล่อยให้เป็นของนายทุนไปและทิ้งร้าง ทำให้ชุมชนบริเวณนั้นไม่มีพื้นที่ใช้สอย จึงเกิดการรวมกลุ่มกันแล้วเข้ายึดเพื่อสร้าง Community Space สร้างเป็น Gallery ให้คนในชุมชนมาใช้ร่วมกันได้ 

“อยากทำสิ่งนี้เป็นความฝันหลังจบใหม่ ซึ่งในวงการอาร์ตนั้นปอบอกว่า เป็นฝันที่ใช้เงินพอสมควร เลยต้องไปทำงานอย่างอื่นก่อน”

ปัจจุบันปอเป็นนักข่าว ที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ อาชีพที่ทำให้ปอได้สื่อสารโดยไม่ต้องตีความอะไรมากเท่าทำงานศิลปะ แต่อาจจะเป็นการช่วยผลักประเด็นสังคมอีกทางหนึ่งเหมือนกัน “นับวันเราเห็นคนตาย เห็นคนเจ็บป่วย เห็นความเหลื่อมล้ำ เราอยากสื่อสารตรง ๆ มากกว่า” 

สิ่งที่เรียนรู้จากการทำข่าวคือ ฟังแล้วอย่าคิดไปเอง ทั้งเวลาที่ต้องลงชุมชน ต้องใช้เวลาค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ซึ่งต้องใจเย็น ใช้วิจารณญาณว่าอะไรคือข้อเท็จจริง 

เมื่อพูดถึงบทเรียนสำคัญของการเป็นนักกิจกรรมและศิลปินทางการเมืองของปอ คือการรักษาเยียวยาจิตใจของเพื่อนร่วมทาง ไม่ว่าทั้งทางจิตใจ ร่างกาย สุขภาพ “เรามีฝัน เราอยากจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน แต่เราก็ต้องอย่าลืมว่าในตอนนี้เราต้องดูแลกันด้วย”

“เราอย่าให้ไฟมันแผดเผาตัวเรากับคนรอบข้างที่เขาร่วมทางกับเรามาตั้งแต่ต้น หมั่นดูแลใจกัน อะไรไม่ดีบอกกัน สื่อสารกัน มันคือคำว่า Solidarity ดูแลกันจริง ๆ ไม่ทิ้งกัน” 

กับผลตัดสินคดีปอคาดหวังว่า ศาลจะยกฟ้อง “แล้วก็คาดว่าจะไม่ต้องมีใครโดนปิดปากด้วยกฎหมายอีก แต่ถ้าไม่ยกฟ้อง ก็ขอให้นิรโทษกรรมประชาชนผ่าน”

X