ศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,200 บาท “อดีตแกนนำอนาคตใหม่ – นักกิจกรรม” เหตุแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ปี 62 แต่ให้โอกาสประพฤติตัวใหม่ จึงให้รอลงอาญา 2 ปี

วันที่ 5 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงปทุมวัน มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ธนวัฒน์ วงค์ไชย, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ณัฏฐา มหัทธนา, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร ในคดีจากการชุมนุมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่บริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562

คดีนี้จำเลยทั้ง 8 คนถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยก่อนหน้านี้ อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรวมคดีของธนวัฒน์กับพริษฐ์เข้ากับคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่, ไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และนักกิจกรรมอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องด้วยเหตุและพฤติการณ์เดียวกัน

ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 8 คนมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จำเลยทั้งหมดมีเจตนาเป็นผู้ริเริ่มจัดการชุมนุม โดยการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุม ลงโทษในข้อหาชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง จำคุก 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท และลงโทษปรับทางพินัยในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม 10,000 บาท และปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 200 บาท รวมลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับคนละ 20,200 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

.

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีทางพรรกู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ทำให้หลังจากนั้นเกิดการนัดหมายชุมนุมในลักษณะ “แฟลชม็อบ” แสดงพลังของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ดังกล่าวในหลายจังหวัด โดยในกรุงเทพฯ มีการชุมนุมบริเวณสกาลวอล์กแยกปทุมวัน โดยใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ต่อมาตำรวจ สน.ปทุมวัน มีการดำเนินคดีกับแกนนำหรือบุคคลที่เข้าร่วม

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 8 คน โดยบรรยายพฤติการณ์กล่าวหาโดยสรุปว่า จำเลยได้ร่วมกันโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเรียกร้องความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคมกลับคืนมา ในวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ที่สกายวอล์ก บริเวณหอศิลป์ แยกปทุมวัน เวลา 17.00 น. 

ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 – 18.00 น. โดยประมาณ จำเลยทั้งหมดเป็นผู้จัดการชุมนุมได้ไปที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ และสะพานลอยข้ามแยกปทุมวัน อันเป็นที่สาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ 

ธนาธร, ปิยบุตร, พรรณิการ์ และพิธา ได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงจุดยืนทางการเมือง แสดงความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลในขณะนั้น พร้อมแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่เป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อน 24 ชั่วโมง ต่อหัวหน้า สน.ปทุมวัน ทั้งในพื้นที่การชุมนุมมีประชาชนร่วมฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมากทั่วบริเวณสกายวอล์ก ไปจนถึงบริเวณบันไดหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และยังเป็นบริเวณที่อยู่ในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 

จำเลยทั้งหมดได้ต่อสู้คดี โดยมีการนัดสืบพยานเป็นระยะในรอบสองปีที่ผ่านมา

.

ในวันนี้ (5 ก.พ. 2567) บรรยากาศตลอดบริเวณศาลแขวงปทุมวัน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ศาลและตำรวจศาล เข้าตรวจค้นผู้เข้าใช้บริการศาลอย่างเข้มงวด โดยมีการตรวจค้นกระเป๋าและสัมภาระอย่างละเอียด และมีการให้แสดงตัวว่าผู้สังเกตการณ์ทุกคนมาจากหน่วยงานสังกัดใดบ้าง ก่อนเข้าฟังการพิจารณาคดี

ที่ห้องพิจารณาคดี 707 เจ้าหน้าที่ศาลยืนที่บริเวณหน้าห้องพิจารณาอย่างเข้มงวด โดยให้แต่ละคนลงนามในเอกสารขอเข้าอนุญาตเข้าฟังการพิจารณาคดี และแสดงบัตรประจำตัวประชาชน โดยมีตำรวจศาลเดินถ่ายรูปบัตรประชาชนของทุกคนที่อยู่ในห้อง

เวลา 09.30 น. ศาลนั่งพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นแสดงตัว ก่อนเริ่มอ่านคำฟ้องที่อัยการบรรยายฟ้อง และคำวินิจฉัยโดยสรุปว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คนเป็นการเชิญชวนให้คนเข้าร่วมการชุมนุม แม้ต่างคนต่างเชิญชวน แต่ก็แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้ง 8 คน ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม ซึ่งมีหน้าที่จะต้องแจ้งการชุมนุมต่อ สน.ท้องที่ที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว และย่อมตระหนักถึงหน้าที่ในฐานะผู้จัดการชุมนุม ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ได้รับความสะดวกและประโยชน์ในการใช้พื้นที่สาธารณะตามเจตนารมณ์ทางกฎหมาย 

แม้ในคดีนี้จะจำเลยที่ 1 (ณัฎฐา), จำเลยที่ 2 (เพนกวิน), จำเลยที่ 3 (ธนวัฒน์) และจำเลยที่ 8 (ไพรัฏฐโชติก์) จะอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ขึ้นปราศรัย เพียงแค่เข้าร่วมชุมนุม ก็เนื่องจากไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในขณะนั้น และไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่จำเลยที่ 4 – 7 ไม่ได้อ้างตัวเป็นพยานขึ้นเบิกความแก้ต่างให้กับตัวเอง และคำเบิกความของจำเลยที่ 1 – 3 และ 8 ก็ไม่ได้หักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งปรากฏภาพข่าว และวีดิโอคลิปที่บันทึกการปราศรัยของจำเลยที่ 4 – 7 ที่ไม่ได้มีการจัดการชุมนุม หรือควบคุมจำนวนของผู้ชุมนุมให้เกิดความสะดวกต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสกายวอล์กสัญจรผ่านไปมาได้อย่างสะดวก

ทั้งพื้นที่การชุมนุมดังกล่าว ยังอยู่ใกล้พระราชวังสระปทุม ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามจัดการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร และแม้จำเลยที่ 8 จะอ้างว่าพื้นที่การชุมนุมมองไม่เห็นวังสระปทุม แต่จากคำเบิกความของตำรวจ สน.ปทุมวัน แสดงให้เห็นว่ามีการวัดระยะทางของวังสระปทุมกับสกายวอล์กแล้ว พบว่าพื้นที่การชุมนุมดังกล่าวอยู่ห่างจากพระราชวังเพียง 83 เมตรเท่านั้น 

จำเลยทั้งหมดเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง การโพสต์เชิญชวนย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการชุมนุมจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วม และทำให้มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมด เป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มีเจตนาจัดการชุมนุม ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุม และไม่อำนวยความสะดวกทางสาธารณะให้ประชาชนใช้สัญจร

พิพากษาให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 7 เรื่องการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง จำคุก 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่เมื่อประเมินทางการศึกษา และสถานะทางสังคมแล้ว จำเลยทั้งหมดเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและย่อมรู้เรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพว่าสิ่งใดกระทำได้หรือไม่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การกระทำผิดก็สืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่การกระทำผิดร้ายแรง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังมีความผิดที่มีโทษปรับทางพินัย ได้แก่ ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้ลงโทษปรับทางพินัยในข้อหานี้เพิ่มอีก 10,000 บาท

นอกจากนี้ จำเลยยังทำการปราศรัยผ่านโทรโข่งที่เชื่อมกับเครื่องขยายเสียงไฟฟ้า โดยไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับทางพินัย 200 บาท  รวมเป็นต้องจ่ายค่าปรับคนละ 20,200 บาท 

.

X