วานนี้ (22 ธ.ค. 2563) ศาลแขวงปทุมวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีที่ “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย ถูกอัยการศาลแขวงปทุมวันยื่นฟ้อง ในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่บริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562
ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ธนวัฒน์ฟัง ก่อนถามคำให้การ ธนวัฒน์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามคำให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นไว้กับศาลแล้ว จากนั้นศาลได้พิจารณาคำร้องของธนวัฒน์ที่ขอพิจารณาคดีลับหลัง เนื่องจากจำเลยยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ต้องเข้าเรียนและสอบตามตารางที่มหาวิทยาลัยกำหนด ทำให้ไม่สามารถมาศาลได้ทุกนัด ประกอบกับธนวัฒน์ได้แต่งตั้งทนายความเข้าแก้ต่างในคดีแล้ว โดยมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยตามที่ธนวัฒน์ยื่นคำร้อง
ด้านอัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรวมคดีของธนวัฒน์เข้ากับคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่, ไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 จ.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และนักกิจกรรมอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องด้วยเหตุและพฤติการณ์เดียวกัน
แต่เนื่องจากธนาธร, ปิยบุตร และพรรณิการ์ ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ก่อนหน้านี้ เหตุต้องกักตัวเอง 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังโควิด-19 หลังเข้าไปในพื้นที่ระบาดของโรค ศาลจึงให้รอสั่งคำร้องขอรวมคดีในนัดหน้า และให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปในวันที่ 8 ก.พ. 2564 เวลา 9.00 น. ทำให้คดีที่เกี่ยวกับแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ทั้ง 3 สำนวนของศาลแขวงปทุมวัน มีนัดพิจารณาคดีในปีหน้า
ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงจุดยืนทางการเมือง แสดงความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลพร้อมแสดงสัญลักษณ์ชูมือ 3 นิ้ว บนสกายวอล์ก เป็นการชุมนุมสาธารณะ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6) ได้ยื่นฟ้องธนวัฒน์ วงค์ไชย ต่อศาลแขวงปทุมวัน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 771/2563 โดยบรรยายพฤติการณ์ในคดีมีใจความโดยสรุปว่า ธนวัฒน์และพวกได้ร่วมกันโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเรียกร้องความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคมกลับคืนมา ในวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ที่สกายวอล์ก บริเวณหอศิลป์ แยกปทุมวัน เวลา 17.00 น. และในวันเวลาตามที่นัดหมายดังกล่าวเมื่อมีประชาชนมาชุมนุมยังมีการไลฟ์สดบรรยากาศการชุมนุม โดยระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค. 2562 ธนาธรไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก 2 ครั้ง โพสต์เฟซบุ๊ก 1 ครั้ง และทวิตในทวิตเตอร์ 3 ครั้ง, ปิยบุตรโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ครั้ง, พรรณิการ์ทวิต 1 ครั้ง, พิธาโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ครั้ง, ไพรัฏฐโชติก์โพสต์เฟซบุ๊ก 2 ครั้ง, ณัฏฐาโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ครั้ง, ธนวัฒน์โพสต์เฟซบุ๊ก 2 ครั้ง และพริษฐ์โพสต์เฟซบุ๊กเพียง 1 ครั้ง
ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 – 18.00 น. โดยประมาณ ธนวัฒน์กับพวกที่เป็นผู้จัดการชุมนุมได้ไปที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ และสะพานลอยข้ามแยกปทุมวัน อันเป็นที่สาธารณะที่บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ ธนาธร, ปิยบุตร, พรรณิการ์ และพิธาได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงจุดยืนทางการเมือง แสดงความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลในขณะนั้นพร้อมแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่เป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อน 24 ชั่วโมง ต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนครปทุมวัน อันเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ
ในที่ชุมนุมมีประชาชนเข้าร่วมฟังการปราศรัยเป็นจำนวนหนาแน่นมาก ยืนกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณสกายวอล์กล้นไปถึงบันไดหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบริเวณอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อันเป็นการจัดการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากวังหรือที่ประทับ ซึ่งจะกระทำมิได้ตามกฎหมาย
การยืนล้อมฟังการปราศรัยของผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากนี้กีดขวางทางเข้าออกการไปใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้เข้าร่วมชุมนุม คือการแจกหมวกแก๊ปสีส้ม การชูป้ายกระดาษที่มีข้อความต่าง ๆ เช่น “ข้ามหัวประชาชน” “กลัวที่ไหน” “ยุติธรรมมิสามารถเกิดขึ้นได้เพียงข้างเดียว แต่ต้องเกิดขึ้นทั้งสองข้าง” การทำกิจกรรมแปะโพสต์อิทบนผ้าใบ รวมไปถึงการปราศรัยที่ชักชวนให้มาทำกิจกรรมการเมืองและร่วมชุมนุมกันอีกล้วนเป็นการชุมนุมที่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนประชาชนในการใช้สถานีรถไฟฟ้าหรือสถานีขนส่งสาธารณะ
โดยระหว่างเกิดเหตุ พ.ต.อ.พาติกรณ์ ศรชัย ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ได้ใช้โทรโข่งประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่ธนวัฒน์กับพวกก็ไม่ยุติการชุมนุม และด้วยผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก พ.ต.อ.พาติกรณ์ไม่สามารถส่งประกาศดังกล่าวให้ธนวัฒน์กับพวกได้ จึงได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้เลิกการชุมนุมแทนและให้ทุกคนออกจากบริเวณที่ชุมนุม แต่ธนวัฒน์กับพวกก็ยังชุมนุมกันต่อไป อันเป็นการร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
ในวันดังกล่าวธนวัฒน์และพวกยังร่วมกันใช้โทรไข่ง ไมค์ลอย หรือไมโครโฟนไร้สายเชื่อมต่อกับลำโพงบลูทูธอันเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉายในที่ปราศรัยโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงโฆษณาหรือแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
การกระทำดังกล่าวของธนวัฒน์ อัยการโจทก์ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
- พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4, 7, 8, 10, 15, 16, 27, 28, 30, 31 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด (ฝ่าฝืนมาตรา 7 และ 8) จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประกอบด้วย
– ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
– ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไปฯ
– ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ
– ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุมสาธารณะ
– ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงจะคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร ขัดขวางหรือทำการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะฯ
- พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
จากการชุมนุมไม่กี่ชั่วโมง นำไปสู่คดีความลากยาว
จุดเริ่มต้นที่ผลักให้เกิดการชุมนุมในครั้งนี้เริ่มจากเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่กรณีกู้ยืมเงินจากธนาธรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค หลังจากนั้นในวันที่ 13 ธ.ค. 2562 ธนาธรได้ทำเฟซบุ๊กไลฟ์สั้นๆ เชิญชวนประชาชนออกมาร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์กด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน ในวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 18.00 น.
เมื่อถึงวันนัด มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในการชุมนุมจนแน่นสกายวอล์ก ระหว่างนั้น ได้มีการปราศรัยโดยแกนนำของพรรค ได้แก่ ธนาธร, ปิยบุตร, พิธา และพรรณิการ์ จนกระทั่งเวลา 18.00 น. การชุมนุมได้ยุติลงโดยที่ไม่มีเหตุวุ่นวายใด ๆ หลังจากนั้นในวันที่ 22 ธ.ค. 2562 มีการออกหมายเรียกธนาธรและไพรัฏฐโชติก์ มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ในส่วนของพิธา, ปิยบุตร และพรรณิการ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในสมัยประชุม (ในขณะนั้น) ทางตำรวจยังไม่สามารถออกหมายเรียกได้ เนื่องจากต้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงนามในหนังสือขออนุญาตออกหมายเรียกส่งให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งทั้งสามเป็นสมาชิกพิจารณาอนุญาตก่อนส่งตัวทั้งสามให้ตำรวจ ต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. 2562 พริษฐ์ ธนวัฒน์ และณัฎฐา จึงถูกออกหมายเรียกอีกระลอก
3 สำนวนคดีที่ศาลแขวงปทุมวันที่เกี่ยวกับแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน สกายวอล์ก
ในกลุ่มคดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงปทุมวันไม่พร้อมกัน โดยแยกฟ้องเป็น 3 คดี คดีที่ 1 มีธนวัฒน์ วงค์ไชย เป็นจำเลย, คดีที่ 2 มี “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชีวารักษ์ เป็นจำเลย และคดีที่ 3 มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร เป็นจำเลย รวมจำเลยทั้งสิ้น 8 คน
อย่างไรก็ตาม คดีความที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมครั้งดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มผู้จัดการชุมนุมและนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น เพราะภายหลังจากการชุมนุมเพียงแค่หนึ่งวัน ได้เกิดประเด็นเรื่องการล่าแม่มดผู้เห็นต่างทางการเมืองขึ้น นำโดยเพจ ทีนิวส์ ได้โพสต์ภาพประจานกลุ่มบุคคลที่แสดงความคิดเห็นในโพสต์ในเฟซบุ๊กที่ปรากฏภาพของผู้ชุมนุมยืนหันหลังพร้อมชูป้ายภาษาอังกฤษว่า “Fuck U Dictatorship” โดยมีฉากหลังเป็นรูปของรัชกาลที่ 9 ผลจากการล่าแม่มดร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้ผู้เสียหายรายหนึ่งต้องออกจากงานประจำ และตกเป็นเป้าหมายต่อการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
>>> ชุมนุมสกายวอล์คยังไม่จบ! เจ้าหน้าที่ ปอท. เรียกเหยื่อล่าแม่มดเข้าให้ถ้อยคำ
>>> ทำยังไงดี! ถูกบริษัทไล่ออกเพราะไปม็อบ
ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่ผู้ชุมนุมถูกคุกคาม
นอกเหนือจากในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ที่เชียงใหม่และอุดรธานีเองก็ปรากฎว่ามีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมที่ออกมาทำกิจกรรมพร้อมกันกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในกรณีของเชียงใหม่ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ได้ถูกดำเนินคดีในฐานความผิด เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ. ชุมนุมฯ และเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 ศาลแขวงเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ปรับ 9 พันบาท คำพิพากษาชี้ว่า แค่โพสต์เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมก็เข้าข่ายเป็นผู้จัดการชุมนุมแล้ว
ในส่วนของจังหวัดอุดรธานี ทางโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้รายงานว่า มีการจัดกิจกรรมคู่ขนานที่เสาธงหน้าสถานีรถไฟอุดรธานีเพื่อให้กำลังใจธนาธร ส่งผลให้ผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งถูกปรับเงินในฐานะที่เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เดินทางไปยังที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ในจังหวัดอุดรธานีเพื่อหาตัวผู้จัดกิจกรรม
อ่านเพิ่มเติม:
เพนกวิน-บอล เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีแฟลชม็อบไม่ถอย ไม่ทน
คืบหน้าปมชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน “เพนกวิน-บอล” อัยการนัดฟังคำสั่ง
“บอล-ธนวัฒน์” เข้าร้องอัยการ ปมชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน แจงฟ้องไม่เป็นประโยชน์
ศาลปรับ 9 พันบาทคดี “เจมส์ ประสิทธิ์” ชุมนุมไม่ถอยไม่ทน ชี้แค่โพสต์ชวนก็เข้าข่ายผู้จัด