นัดใหม่วันตรวจพยานคดีค่าปรับพินัยฯ ใบปอและเก็ท ฐานไม่แจ้งชุมนุม-ใช้เครื่องขยายเสียง เหตุชุมนุม APEC2022 ให้เบิกตัวเก็ทมาศาล 29 ม.ค.

15 ม.ค. 2567 ศาลแขวงพระนครใต้นัดพร้อมหรือฟังคำพิพากษาในคดีค่าปรับเป็นพินัย (คพ.1/2566) ของ 2 นักกิจกรรม “ใบปอ” และ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง กรณีร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปยังศูนย์ประชุมสิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นมีการประชุม APEC2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ซึ่งทั้งสองถูกฟ้องในข้อหา “ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ

ในวันนี้ศาลยังไม่ได้เบิกตัวเก็ทที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล เนื่องจากเพิ่งทราบข้อเท็จจริงจากคำร้องขอเบิกตัวเก็ทของทนายความ ศาลเห็นควรให้เบิกตัวเก็ท จำเลยที่ 2 มาในนัดหน้า เพื่อสอบถามคำให้การพร้อมกับใบปอ จำเลยที่ 1 หากทั้งสองยังยืนยันให้การปฏิเสธและประสงค์ต่อสู้คดีตามคำแถลงที่ยื่นต่อศาลก่อนหน้านี้ (21 ธ.ค. 2566) ก็ให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อน เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม โดยนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ม.ค. 2567 เวลา 10.00 น. 

ศาลยังมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีนี้ (คพ.1/2566) กับคดีของ “ไหม” ธนพร วิจันทร์ และ “อาคิน” (นามสมมติ) (อ.1516/2566) ที่มีเหตุจากเหตุการณ์เดียวกัน ที่สั่งในนัดพิจารณาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 โดยระบุว่า ศาลสั่งให้รวมพิจารณาคดีโดยหลงผิดไป เนื่องจากคดีนี้เป็นการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป และหากจะมีการรวมการพิจารณาจะไม่สะดวกในการพิจารณา 

ทั้งนี้ กิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 นอกจากคดีค่าปรับพินัยคดีนี้แล้ว ใบปอและเก็ทยังถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากข้อความบางส่วนของแถลงการณ์ทั้งหมดสามท่อน ที่กล่าวถึงระบอบกษัตริย์กับการเมืองไทย โดยใบปอถูกระบุว่าเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของผู้ชุมนุมฉบับภาษาไทยต่อหน้าสื่อมวลชน และเก็ทอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษ โดยคดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นสอบสวน    

ทั้งคดีค่าปรับพินัยและคดีมาตรา 112 พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหากับเก็ทที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 โดยแจ้งข้อกล่าวหาเป็นคดีเดียวกัน ซึ่งเก็ทได้ปฏิเสธที่จะร่วมกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำของตำรวจ และไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใด ๆ รวมทั้งไม่ให้ทนายความลงชื่อในเอกสารใด ขณะที่ทางพนักงานสอบสวนได้บันทึกว่าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และไม่ได้ให้สำเนาบันทึกข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาเหมือนปกติ 

ส่วนใบปอเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน. ลุมพินี เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2566 ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแยกสำนวนการสอบสวนเป็น 2 สำนวน และอัยการยื่นฟ้องทั้งสองในข้อหาที่มีเฉพาะโทษปรับเป็นคดีค่าปรับพินัย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2566 ต่อศาลแขวงพระนครใต้เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566    

คดีค่าปรับเป็นพินัยจะขึ้นสู่ศาลเมื่อจำเลยปฏิเสธหรือไม่ชำระค่าปรับตามที่เจ้าหน้าที่รัฐกำหนด

คดีนี้ ศาลแขวงพระนครใต้ออกหมายเรียกพร้อมแนบคำฟ้องในคดีค่าปรับพินัย ถึงทั้งสองคน ลงวันที่ 17 พ.ย. 2566 ว่าศาลรับฟ้องในความผิดพินัย ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ศาลให้ทั้งสองคนยื่นคำแถลงแสดงความประสงค์ในการต่อสู้คดี เป็นหนังสือภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียก มิฉะนั้น ศาลอาจพิจารณาสำนวนแล้วพิพากษาต่อไปโดยไม่จำต้องกำหนดวันนัดสืบพยาน ศาลนัดพิจาณาหรือฟังคำสั่งตามวันและเวลาในวันนี้   

ในคำฟ้องที่มีพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 (ยานนาวา) เป็นโจกท์ ยื่นฟ้องทั้งสองกับพวก ระบุว่าทั้งสองกับพวกได้กระทำความผิดร่วมกันและแยกกันต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ร่วมกันจัดชุมนุมและเชิญชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมการชุมนุม เพื่อเรียกร้อง คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็น หัวข้อ “APEC ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัติรย์จริงหรือในเมื่อกษัตริย์ไทยก็เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย อย่าปล่อยให้ APEC สร้างความชอบธรรมให้ทรราช หยุดปล่อยให้ทรราชกุมอำนาจทุนนิยม” บริเวณแยกอโศก อันเป็นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้แจ้งการชุมนุม ก่อนการชุมนุมเริ่ม 24 ชั่วโมง ทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  

และทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้ไมโครโฟนประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงในระหว่างการทำกิจกรรมที่แยกอโศก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทั้งสองกับพวกจึงร่วมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493    

ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐได้แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยแจ้งให้ทั้งสองแก้ข้อกล่าวหาแล้ว แต่ทั้งสองปฏิเสธ เจ้าหน้าที่รัฐได้มีคำสั่งปรับเป็นพินัย แจ้งให้ทั้งสองทราบแล้ว แต่ทั้งสองไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด  

โจทก์จึงฟ้องคดีนี้และขอให้ศาลมีคำพิพากษา และขอให้ศาลสั่งและบังคับให้ทั้งสองชำระค่าปรับเป็นพินัย เป็นเงินคนละ 10,200 บาท รวมเป็นเงิน 20,400 บาท       

ความผิดทางพินัยไม่เป็นโทษทางอาญาและจำเลยจะไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม

คดีค่าปรับเป็นพินัยเป็นคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ซึ่งออกโดยมีความประสงค์เปลี่ยนคดีอาญาที่มีโทษปรับทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว และคดีความผิดที่มีโทษปรับทางปกครอง ให้เป็นความผิดทางพินัย โดยเริ่มมีผลบังคับในการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อและผลทางกฎหมาย ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2566 

โดยในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการแสดงความเห็น มีข้อหาที่จัดอยู่ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ นี้ เช่น ข้อหาชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประกอบ มาตรา 28) ข้อหาโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ประกอบ มาตรา 9) ข้อหากีดขวางทางจราจร หรือข้อหาอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522       

ความแตกต่างที่สำคัญของความผิดทางพินัย ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ นี้ ได้แก่ 1) คดีที่เรียกว่าคดีค่าปรับทางพินัยนี้ไม่เป็นโทษทางอาญาและจำเลยจะไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม 2) หากเจ้าหน้าที่รัฐพิจารณาแล้วผิด สามารถชำระค่าปรับเป็นพินัยและทำให้คดีสิ้นสุด แต่หากปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการเพื่อมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป โดยหากมีคำสั่งฟ้อง ศาลมีอำนาจพิจารณาและมีคำพิพากษา รวมทั้งสั่งให้ชำระค่าปรับ และออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์สินได้เอง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ  ศาลมีอำนาจบังคับคดีได้เองโดยโจทก์ไม่ต้องขอออกหมายบังคับคดี 

ส่วนวิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัยก็แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐพบเห็นว่ามีบุคคลกระทำความผิดทางพินัย หรือมีพยานหลักฐานซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยว่ามีบุคคลใดกระทำความผิดทางพินัย เจ้าหน้าที่รัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย โดยการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการแก้ข้อกล่าวหา หรือการยอมรับสารภาพ โดยสามารถกระทำเป็นหนังสือ วาจา หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ อีกทั้งบุคคลมีสิทธิทำหนังสือแต่งตั้งทนายความหรือบุลคลใดเป็นผู้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแทนตนหรือร่วมกับตนก็ได้

แต่หากกรณีปฏิเสธข้อกล่าวหา หรือไม่ชำระค่าปรับดังเช่นคดีของใบปอและเก็ทนี้ เจ้าหน้าที่สามารถส่งฟ้องต่อศาลได้โดยไม่ต้องนำตัวทั้งสองไปรายงานตัวต่อศาลเหมือนคดีอาญาทั่วไป แต่อาจส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำฟ้องให้ทางไปรษณีย์หรือเจ้าหน้าที่ศาลไปส่งให้ตามภูมิลำเนา ศาลอาจพิจารณาคดีจากสำนวนของเจ้าหน้าที่รัฐและพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ มาตรฐานการพิสูจน์กำหนดให้ศาลพิพากษาได้ ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน และน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดทางพินัย ในชั้นศาลไม่บังคับให้จำเลยต้องมีทนายความอีกด้วย แต่จำเลยอาจแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลผู้มีคุณสมบัติขึ้นสู้คดีแทนจำเลยได้ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว การพิจารณาคดีค่าปรับเป็นพินัยให้ความสำคัญกับการจบคดีไปได้โดยเร็ว ไม่ยุ่งยาก และไม่เป็นคดีอาญา และศาลสามารถสั่งบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ค่าปรับ หากไม่ชำระแทนการลงโทษทางอาญาได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการให้อำนาจศาลอย่างมากในการพิจารณาได้โดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้

แม้ว่าหลักการแยกโทษค่าปรับทางพินัยออกจากคดีอาญาจะมีผลดี สำหรับการไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม และสามารถชำระค่าปรับและจบคดีไปได้เร็วขึ้นโดยไม่ยุ่งยาก ในทางกลับกันกรณีผู้ถูกกล่าวหาที่ประสงค์จะปฏิเสธต่อสู้คดีอาจถูกลดทอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ เช่น การพิจารณาและพิพากษาลับหลังจำเลยได้ การกำหนดให้ดำเนินการพิจารณาให้เสร็จไปโดยไวโดยไม่จำเป็นต้องมีการสืบพยาน ฯลฯ ซึ่งน่าสนใจว่าอาจส่งผลเป็นอุปสรรคในการต่อสู้คดีของผู้ถูกกล่าวหา

นอกจากนี้ ในคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกกล่าวหาทั้งข้อหาที่เป็นโทษทางอาญาและเป็นค่าปรับทางพินัย และประสงค์ต่อสู้คดีในทุกข้อกล่าวหา จำเลยจะถูกแยกฟ้องเป็น 2 คดี ทำให้เพิ่มภาระในการต่อสู้คดีทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก

** อัปเดตข้อมูล** ต่อมาวันที่ 29 ม.ค. 2567 วันกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลแขวงพระนครใต้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยฝ่ายละ 1 นัดรวม 2 นัดในวันที่ 10-11 ก.ค. 2567 เวลา 09.00-16.30 น. โดยฝ่ายโจทก์จะนำพยานบุคคลเข้าสืบทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ผู้กล่าวหา, พนักงานสอบสวน, เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตคลองเตย, และคณะทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวน ฝ่ายจำเลยจะนำพยานบุคคลเข้าสืบทั้งหมด 5 คน ได้แก่ จำเลยที่ 1 และ 2 อ้างตัวเองเป็นพยาน, นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการชุมนุมสาธารณะ, ผู้สื่อข่าว, และผู้สังเกตการณ์การชุมนุม

ในวันนี้ เก็ทพร้อมใส่เครื่องพันธนาการที่เท้าถูกเบิกตัวออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อร่วมสอบถามคำให้การพร้อมกับใบปอ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดเพื่อสืบพยานในนัดถัดไป

ทั้งนี้ มีผู้มาให้กำลังใจเก็ทและใบปอจำนวนหนึ่ง แต่ทัังหมดถูกกันให้นั่งรอที่ทางเข้าหน้าประตูศาลด้านล่าง มีเก้าอี้ให้นั่งในบริเวณที่กำหนด แต่ไม่อนุญาตให้เดินขึ้นมาบนพื้นที่ศาลได้เลย เจ้าหน้าที่ศาลอนุญาตให้เพียงผู้ไว้วางใจจำนวน 2 คนผลัดกันเข้าห้องพิจารณาได้ทีละคน โดยมีตำรวจศาลเฝ้าอยู่ภายในห้องพิจารณารวม 2 คน ตลอดเวลา และศาลแขวงพระนครใต้วางกำลังรักษาความปลอดภัยโดยตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลตั้งแต่ทางเข้าศาล และตลอด โถงทางเดินเข้าห้องพิจารณาบนชั้น 3

X