ศาลพิพากษาปรับประชาชนและนักกิจกรรมรวม 5 ราย ข้อหา ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ใช้เครื่องขยายเสียง’ เหตุร่วม #ม็อบ18กรกฎา64 #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต

วันที่ 24 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของประชาชน 5 ราย จากการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต หรือ #ม็อบ18กรกฎา เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี การเริ่มชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ซึ่งมีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง, ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อนำมาสู้โควิด และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA

จำเลยทั้ง 5 รายในคดีนี้ ได้แก่ “ลุงศักดิ์” วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล (จำเลยที่ 1), ปราโมทย์ (สงวนนามสกุล) (จำเลยที่ 2), ธานี สะสม (จำเลยที่ 3), เจริญชัย ธูปทอง (จำเลยที่ 4) และ พริม มณีโชติ (จำเลยที่ 5)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 นรบดี สุริโย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลใน 3 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.385, ขณะที่เฉพาะวีรวิชญ์, ธานี และพริม ยังถูกแจ้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย  

คดีนี้มีการสืบพยานไปในวันที่ 9 – 11 ส.ค. 2566 ในวันสุดท้ายของการสืบพยาน จำเลยที่ 1 – 4 ตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยที่ 5 ยืนยันให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี

วันนี้ (24 ต.ค. 2566) เวลา 10.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 408 ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุมีการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (covid-19) ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต ในขณะนั้นยังไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษาโรค นายกรัฐมนตรีจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร 

เห็นว่า วันที่ 18 ก.ค. 2564 จำเลยทั้ง 5 คน รับว่าเข้าร่วมการชุมนุมและปราศรัย ในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 1 – 4 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาและลงโทษได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐาน ตามป.อ. มาตรา 176 

มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความว่า ทราบจากโซเชียลมีเดียว่ามีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว พบเห็นจำเลยที่ 5 ขึ้นปราศรัยหน้าร้านแมคโดนัลด์ บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีจุดคัดกรอง บางคนสวมหน้ากากอนามัยบางคนไม่สวม ทำกิจกรรมเผาหุ่นฟาง ไม่มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งในเวลาดังกล่าวไม่มีวัคซีน มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และผู้อำนวยการเขตพระนครได้ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

เมื่อพิจารณาคำเบิกความพยานโจทก์พบว่า ในเวลา 14.00 น. มวลชนมีการปิดช่องทางจราจร จำเลยที่ 5 ขึ้นปราศรัยหน้าแมคโดนัลด์ ซึ่งแม้เป็นสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก แต่มีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ผู้ชุมนุมสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้จากทุกทิศทาง ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่มีมาตรการให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเข้มงวด ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีจุดบริการแอลกอฮอล์ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เข้าร่วมการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนที่จำเลยที่ 5 นำสืบว่ามีซุ้มแจกแอลกอฮอล์และมีบุคลากรทางการแพทย์ ไม่น่าเชื่อว่ามีมาตรฐานเพียงพอ 

รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 เข้าร่วมการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, ร่วมกีดขวางทางสาธารณะ แต่ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่าพยานโจทก์ไม่มีใครรู้เห็นว่าจำเลยที่ 5 รู้ว่าการชุมนุมติดตั้งเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่รู้ว่าสื่อโซเชียลที่เชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมมีความเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 5 จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 5 ราย มีความผิดฐานเข้าร่วมการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จำเลยที่ 1, 3 และ 5 ซึ่งเป็นผู้ปราศรัย ลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 4 ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท ส่วนในความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 200 บาท

เนื่องจากจำเลยที่ 1 – 4 ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 และ 3 รวมคนละ 3,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 4 คงปรับคนละ 2,500 บาท

X