วันที่ 9 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของประชาชน 8 ราย นำโดย “ม่อน อาชีวะ” หรือ ธนเดช ศรีสงคราม แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต หรือ #ม็อบ18กรกฎา2564 เพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบไปด้วย ประยุทธ์ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข, ปรับลดงบสถาบัน-กองทัพ, และเรียกร้องขอวัคซีน mRNA ในวันที่ 18 ก.ค. 2564 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ในคดีนี้ การจับกุมเกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามตัวธนเดช ซึ่งมีหมายจับอีกคดีหนึ่งไปที่ สน.บางเขน โดยมี ประชาชนอีก 11 ราย (เป็นเยาวชน 4 ราย) ร่วมเดินทางมาที่ สน.ด้วย แต่เมื่อไปถึง ตำรวจกลับควบคุมตัวทั้งหมดไว้ อ้างว่าพบภาพทั้ง 11 รายเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยในครั้งแรกตำรวจแจ้งว่า จะทำประวัติแล้วปล่อยกลับบ้าน แต่ต่อมากลับมีการทำบันทึกการจับกุมและให้ทั้งหมดลงชื่อโดยไม่ได้ให้อ่านข้อความให้ฟัง พร้อมทั้งควบคุมตัวทั้งหมดไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ ก่อนตำรวจ สน.สำราญราษฏร์ จะติดตามไปจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งหมด และยังขอฝากขังต่อศาลในวันถัดมา โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกมา
ต่อมาในส่วนคดีของผู้ที่อายุเกิน 18 ปี รวม 8 ราย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เป็นผู้สั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ และร่วมกันกระทำในลักษณะที่กีดขวางทางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ต่อศาลแขวงดุสิต
ก่อนมีการสืบพยานไปตั้งแต่วันที่ 3 – 4 พ.ย. 2565 โดยในการสืบพยาน ทนายความจำเลยเปิดเผยว่าไม่มีหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่จะชี้ตัวว่าจำเลยแต่ละรายได้เข้าร่วมชุมนุมอย่างไรหรือไม่ได้อย่างชัดเจน
ในวันนี้ ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 8 ราย มีความผิดตามฟ้อง โดยสรุปพิเคราะห์ว่าจำเลยทั้ง 8 คนมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2), 18 ประกอบข้อกำหนดตามใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับ 1 ข้อ 5 และ 15, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 และ 148, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385
ศาลเห็นว่าจำเลยทั้ง 8 ราย มีความผิดหลายกรรม และศาลเห็นควรลงโทษทุกกรรม ในฐานความผิดร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อโรค ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 30,000 บาท ในฐานความผิดการกระทำกีดขวางจราจรและกีดขวางทางสาธารณะ โดยลงโทษบทหนักสุด คือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ปรับคนละ 4,000 บาท รวมเป็นโทษปรับคนละ 34,000 บาท
รวมแล้วจำเลยทั้งแปดคนต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 272,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ทั้งนี้ อัตราโทษปรับสูงสุดในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ที่ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 เรื่องการกีดขวางทางสาธารณะ กำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน 5,000 บาท