วันที่ 10 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “นิเวศน์” (สงวนนามสกุล) และ “กชมน” (สงวนนามสกุล) ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเข้าร่วมการชุมนุม ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต หรือ #ม็อบ18กรกฎา เรียกร้องรัฐบาลประยุทธ์ลาออก, ปรับลดงบสถาบัน-กองทัพ และเรียกร้องวัคซีน mRNA ให้ประชาชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564
ในคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองคน ชี้ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ไม่สามารถบรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยได้อย่างชัดเจน ประกอบกับพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยและไม่สามารถบอกได้ว่าจำเลยทั้งสองทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมชุมนุมอย่างไร
ก่อนหน้านี้ นิเวศน์และกชกมลได้ถูกจับกุมที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ในช่วงค่ำวันที่ 18 ก.ค. 2564 หลังตำรวจพบว่าอยู่ในบริเวณพื้นที่การชุมนุมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ม่อน อาชีวะ” หรือธนเดช ศรีสงคราม แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ซึ่งทั้งสองคนได้ขับรถของธนเดชกลับบ้าน ตำรวจบรรยายพฤติการณ์ในการจับกุมโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองคนได้มาอยู่ในบริเวณพื้นที่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้มีการพูดคุยกับธนเดช ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลนนทบุรี ทำให้ตำรวจขับรถติดตามนิเวศน์และกชมน ก่อนเข้าจับกุมพร้อมยึดโทรศัพท์ อาวุธมีด และหัวน็อตสีเงินที่อยู่ในรถกระบะของธนเดชไว้เป็นของกลาง
แต่ในชั้นจับกุม นิเวศน์และกชมนเคยได้ให้การโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมไว้ว่า พวกเขาได้เดินทางไปอยู่ในบริเวณพื้นที่การชุมนุมจริง และได้พบกับธนเดชจริง เพราะเป็นคนรู้จักกัน เนื่องจากเคยเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด – 19 และการบริหารราชการแผ่นดินด้วยกันมา 3 – 4 ครั้งแล้ว โดยทั้งสองได้ปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม และยืนยันต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด
ซึ่งในคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมในวันเดียวกันนี้ ศาลแขวงดุสิตได้เคยพิพากษาลงโทษปรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งกีดขวางจราจรและกีดขวางทางสาธารณะ กับธนเดช และพวกรวม 8 คน เป็นจำนวนเงินคนละ 34,000 บาท
ส่วนในคดีนี้ พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับจำเลยทั้งสองคน ซึ่งจำเลยทั้งสองคนประสงค์ต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องพยานหลักฐานโจทก์ที่ไม่ชัดเจน และไม่สามารถบอกได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามฟ้องอย่างไร
ทั้งนี้ ศาลได้นัดวันสืบพยานทั้งหมด 3 นัด ในระหว่างวันที่ 1 มี.ค., 24 มี.ค. และ 1 มิ.ย. 2566 โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบ 6 ปาก และทนายจำเลยนำจำเลยเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยรวม 2 ปาก
วันนี้ (10 ต.ค.2566) เวลา 09.10 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 501 จำเลยทั้งสองคนและทนายความเดินทางมาพร้อมกันที่บริเวณหน้าห้องพิจารณา ก่อนเจ้าหน้าที่ศาลเรียกชื่อให้เข้าห้องเพื่อฟังคำพิพากษา
ศาลออกพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษามีใจความสำคัญโดยสรุปว่า พิเคราะห์จากพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้เข้าไปอยู่ในบริเวณพื้นที่การชุมนุม แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์ ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยทั้งสองคนมีพฤติการณ์เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าว หรือร่วมทำกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นในลักษณะที่จะฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ อย่างไร
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่และมีความสามารถที่จะสืบค้นหาข้อเท็จจริงและนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดงต่อศาลได้ แต่ในทางนำสืบของโจทก์ทราบเพียงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการยึดโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสองคนมาตรวจสอบ และพบว่ามีภาพถ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมอยู่หลายภาพ แต่เมื่อทำการตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วกลับพบว่า ภาพถ่ายที่นำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ไม่ได้ถูกถ่ายเอาไว้ในวันเวลาที่เกิดเหตุของคดีนี้ และไม่ใช่สถานที่ที่เป็นพื้นที่ชุมนุมเดียวกันกับคดีนี้
ทั้งภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดในบริเวณพื้นที่การชุมนุมที่โจทก์นำสืบ ก็เป็นเพียงภาพที่จำเลยทั้งสองคนได้อยู่ในบริเวณเดียวกันกับธนเดชเท่านั้น แต่ไม่ได้นำสืบให้ทราบได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร และภาพถ่ายดังกล่าวยังมีวันและเวลาบอกอย่างชัดเจนว่า เป็นช่วงที่เกิดขึ้นหลังจากการประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว
พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธหลายประการ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง
ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง กชมนได้เปิดเผยว่า ตนเองรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในคดีของธนเดชที่ได้มีคำพิพากษาไปก่อนหน้าแล้วมีแนวคำพิพากษาที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตัวเองเลยไม่คิดว่าในคดีนี้ศาลจะยกฟ้อง ส่วนนิเวศน์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เขารู้สึกว่ามันไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก แต่ก็รู้สึกยินดีที่ในวันนี้ศาลได้ตัดสินด้วยความยุติธรรมบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง