27 ก.ย. 2566 เวลา 09.50 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของประชาชน 8 ราย ได้แก่ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง, มลินี โพธิ์สักกัง, ชนัญญา โบว์สุวรรณ, อัมพร สุธรรม, สุพรรษา เจือเพ็ชร, ร่อซีกีน นิยมเดชา, ภาณุพงศ์ พงษ์ธนู และ ใบบุญ ไทยพานิช กรณีเข้าร่วมกิจกรรม “เขียนป้ายผ้า 112 เมตร” เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาให้รอกำหนดโทษ 1 ปี เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่เป็นเพียงกิจกรรมทางการเมืองที่เรียกร้องต่อรัฐบาล อันเป็นสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้รอกำหนดโทษไว้ 1 ปี
ก่อนหน้านี้ ประชาชนทั้ง 8 รายได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 2564 ที่ สน.พญาไท โดยตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหารวม 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จำเลยทั้งหมดได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันสู้คดีให้ถึงที่สุดในชั้นศาล
ต่อมา ในวันที่ 28 มิ.ย. 2565 บุณณดา หาญทวีพันธุ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีคำสั่งฟ้องประชาชนทั้ง 8 ราย ในข้อหาเดียวคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บรรยายฟ้องโดยสรุปว่าจำเลยจัดการชุมนุมและทำกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมประมาณ 250 คน การทำกิจกรรมเป็นในลักษณะมั่วสุม แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด – 19 ตลอดจนไม่มีมาตรการรักษาความสะอาด หรือจุดคัดกรองโรคแต่อย่างใด
.
ในวันนี้ (27 ก.ย. 2566) เวลา 09.10 น. จำเลยและทนายความทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดี 510 เพื่อฟังคำพิพากษา โดยศาลได้เรียกให้ทุกคนแสดงตัว ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 8 ราย เป็นความผิดตามฟ้อง โดยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในขณะนั้นเป็นการประกาศใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยโดยรวมของสังคมและประชาชนคนอื่น และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต เป็นเรื่องร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของจำเลยทั้งหมด เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการเรียกร้องการบริหารจัดการราชการแผ่นดินของรัฐบาล ศาลเห็นว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ประกอบกับการชุมนุมของจำเลยทั้งหมดไม่มีการพกอาวุธ หรือความวุ่นวายเสียหายใด ๆ และในขณะเกิดเหตุยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโรคโควิด – 19 ในพื้นที่ชุมนุม
พฤติการณ์แห่งคดีนี้ ศาลเห็นว่าสมควรให้จำเลยทั้งหมดได้มีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม และเมื่อพิเคราะห์ภาระหน้าที่ การประกอบอาชีพของจำเลยทั้ง 8 ราย ศาลเห็นว่าการคุมประพฤติเป็นการจำกัดการใช้ชีวิต และสร้างภาระเกินจำเป็นที่จะต้องให้จำเลยมารายงานตัว จึงไม่เห็นควรให้มีการคุมประพฤติไว้ จึงให้รอการกำหนดโทษไว้ มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี
ภายหลังการฟังคำพิพากษา ศาลได้อธิบายความหมายของการรอกำหนดโทษให้กับจำเลยทั้ง 8 รายฟัง โดยบอกว่าหากในระหว่าง 1 ปีนี้ จำเลยกระทำผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก หรือกระทำการใด ๆ ที่อัยการเห็นว่าผิดกฎหมาย ศาลมีความจำเป็นต้องนำคดีกลับมาพิจารณาและอาจมีการกำหนดบทลงโทษใหม่ ขอให้จำเลยทั้งหมดอย่าไปกระทำผิดใด ๆ ในระหว่างที่คดีนี้รอการกำหนดโทษ
.
สำหรับกิจกรรม “เขียนป้ายผ้ายาว 112 เมตร” จัดโดย “การ์ดปลดแอก” เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในกิจกรรมมีการเขียนป้ายผ้าเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาล และรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หลังกิจกรรมเริ่มขึ้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผกก.สน.พญาไท ได้ใช้กำลังเข้าจับกุมตัวผู้ร่วมกิจกรรม มีผู้ถูกควบคุมตัวในที่เกิดเหตุ 2 ราย ได้แก่ ภานุพงษ์และใบบุญ ก่อนควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จ.ปทุมธานี ทั้งที่ต้องควบคุมตัวอยู่ที่ สน.พญาไท ท้องที่เกิดเหตุ เป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมบริเวณห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ในเย็นวันเดียวกัน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวที่ บก.ตชด. ภาค 1 ตามมาด้วย