ระหว่างวันที่ 16-19 ส.ค. และ 1 ก.ย. 2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดสืบพยานในคดีที่ ณัฐสุต (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี, พรชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี และวีรยุทธ (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ตกเป็นจำเลยจากเหตุระเบิดที่บริเวณหน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างการชมุนุม #ม็อบ16มกรา เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 ม.ค. 2564 ภายหลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
การชุมนุมที่บริเวณสามย่านมิตรทาวน์เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา “การ์ดปลดแอก” 2 ราย ที่ถูกจับกุมระหว่างการจัดกิจกรรม “เขียนป้ายผ้า 112 เมตร” ในช่วงเที่ยง ซึ่งตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เข้าควบคุมพื้นที่ และจับกุมผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มอีก 4 ราย ในระหว่างที่ชุดควบคุมฝูงชนกำลังเดินบนถนนเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ มีรายงานข่าวว่า มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นหน้าจามจุรีสแควร์ เกิดควันและประกายไฟ ผู้ร่วมชุมนุมและผู้สื่อข่าวต่างวิ่งเข้าหาที่ปลอดภัย
ทั้ง 3 คนถูกตำรวจจับกุมตัวเมื่อช่วงค่ำวันที่ 28-29 ม.ค. 2564 โดยไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมในขั้นตอนการจับกุมและสอบสวน ทั้งสามถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 เดือน 11 วัน ก่อนจะได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราววันที่ 10 มี.ค. 2564
คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง โดยข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งเพิ่มเติมในภายหลัง และเป็นหนึ่งในฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง คือ ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ในชั้นอัยการและชั้นศาลจำเลยทั้งสามให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา
.
คำฟ้องระบุจําเลยมีเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นฟ้อง ณัฐสุต, พรชัยและวีรยุทธ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 ใน 6 ข้อหา ประกอบด้วย
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2), (4) ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ และผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 ร่วมกันทําให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
- พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทําความผิดฐานพยายามฆ่า
- พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 38 ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครอง
- พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต
อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ
1. จำเลยทั้งสามร่วมกันมีวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่องที่ประกอบจัดทําขึ้นเอง (ระเบิดปิงปอง) ภายนอกเป็นวัสดุพลาสติกสีเหลืองพันทับด้วยเทปสีดํา ซึ่งภายในประกอบด้วยวัตถุระเบิดแรงต่ำประเภทดินดํา โดยมีตะปูคละขนาดเป็นสะเก็ดระเบิด สามารถส่งกําลังดันอย่างแรง สามารถทําอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินได้ในระยะประมาณ 5 เมตร จํานวน 1 ลูก ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง
2. จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีสารเคมีชนิด AMMONIUM NITRATE และ POTASSIUM CHLORATE ซึ่งตรวจพบในส่วนประกอบของวัตถุระเบิดตามฟ้อง อันเป็นยุทธภัณฑ์ตามประกาศกระทรวงกลาโหมไว้โดยจําเลยทั้งสามไม่ได้รับใบอนุญาต
3. จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันพาลูกระเบิดดังกล่าวซึ่งเป็นอาวุธตามกฎหมาย ติดตัวไปในบริเวณหน้าอาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
4. ภายหลังจากที่จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทําความผิดตามฟ้องดังกล่าวแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนกําลังปฏิบัติหน้าที่ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองบริเวณแยกสามย่าน หน้าอาคารจามจุรีสแควร์ ถนนพระรามที่ 4 เพื่อให้เลิกหรือยุติการชุมนุมตามที่เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้วนั้น
จําเลยทั้งสามโดยมีเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ได้ร่วมกันขับขี่ และซ้อนท้ายจักรยานยนต์ไปตามถนนพระราม 4 และสะพานลอยไทย – ญี่ปุ่น แล้วได้ร่วมกันนําวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ตามฟ้อง ขว้างลงมาจากสะพานลอยไทย-ญี่ปุ่น ไปที่เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนที่กําลังปฏิบัติหน้าที่อยู่เบื้องล่างสะพานดังกล่าว จนทําให้เกิดระเบิดขึ้น 1 ครั้ง มีสะเก็ดระเบิดกระจายออกไปโดยรอบ ถูกตำรวจควบคุมฝูงชน 3 นาย และประชาชน 2 ราย
ทั้งนี้จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล เนื่องจากสะเก็ดระเบิดอันเป็นส่วนสังหารของระเบิดนั้นไม่ได้กระจายไปถูกผู้เสียหายทั้งห้าที่บริเวณอวัยวะส่วนสําคัญของร่างกาย ประกอบกับผู้เสียหายทั้งห้ายังได้รับการรักษาบาดแผลจากแพทย์อย่างทันท่วงที ผู้เสียหายทั้งห้าจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจําเลยทั้งสาม แต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งห้าได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย
.
พยานโจทก์ชี้จำเลยทั้งสามร่วมกันก่อเหตุ ระเบิดที่ใช้ทำให้เสียชีวิตได้ แต่รับว่าไม่มีพยานหลักฐานว่าทั้งสามร่วมกันวางแผน ทั้งข้อเท็จจริงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ไม่มีทรัพย์สินเสียหาย
คดีนี้มีมีพยานโจทก์ 28 คน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มพยาน ได้แก่
1.) พยานผู้เสียหายซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิด 5 ปาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าควบคุมฝูงชน 3 ปาก, นักข่าว 1 ปาก, ผู้จัดการธนาคารในห้างจามจุรีสแควร์ 1 ปาก
2.) พยานที่เกี่ยวข้องตรวจพิสูจน์ระเบิด 4 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน 2 ปาก, ตำรวจจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด 1 ปาก, ทหารจากกรมการอุตสาหกรรมทหาร 1 ปาก
3.) ประจักษ์พยาน ได้แก่ หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยห้างจามจุรีสแควร์ 1 ปาก
4.) พยานตำรวจผู้เกี่ยวข้องกับการกล่าวหา สืบสวน และการจับกุมจำเลย รวม 13 ปาก
5.) แพทย์ผู้ตรวจร่างกายจำเลย ตำรวจผู้ตรวจพิสูจน์สัญญาณโทรศัพท์ และเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก รวม 5 ปาก
ระหว่างสืบพยาน ฝ่ายจำเลยได้รับข้อเท็จจริงตามคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนจำนวน 12 ปาก ประกอบด้วย แพทย์ผู้ตรวจร่างกายจำเลย, ตำรวจผู้ตรวจพิสูจน์สัญญาณโทรศัพท์ และเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก รวม 5 ปาก, พยานตำรวจผู้เกี่ยวข้องกับการกล่าวหา สอบสวนและการจับกุมจำเลย 6 ปาก และตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน 1 ปาก ทำให้มีการนำสืบพยานโจทก์ทั้งสิ้นรวม 16 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีการนำพยานบุคคลเข้าสืบ
บรรยากาศระหว่างการสืบพยาน 5 วัน ที่ห้อง 503 มีการถกเถียงระหว่างศาลกับทนายจำเลยบ่อยครั้ง เช่น ศาลมักติทนายจำเลยว่า คำถามค้านพยานโจทก์บางคำถามไม่มีประโยชน์ที่จะถาม หรือในบางคำถามศาลไม่บันทึกตามที่ทนายจำเลยถาม นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่อัยการจะขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยรายหนึ่ง เนื่องจากจำเลยยังเดินทางมาไม่ถึงศาลแม้จะล่วงเลยเวลานัดมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังพบว่าจำเลยคนดังกล่าวไม่สบาย โดยเดินทางไปหาหมอก่อนจะมาที่ศาล และมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน ทำให้ศาลไม่ติดใจในเรื่องดังกล่าว
พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เบิกความไปในทิศทางเดียวกันว่า จากตรวจสอบวงจรปิด โทรศัพท์ และข้อมูลทะเบียนราษฎร์ พบว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันก่อเหตุโดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจพิสูจน์ระเบิดระบุว่า ระเบิดที่ใช้ก่อเหตุเป็นระเบิดปิงปอง แรงดันต่ำ แรงระเบิดทำให้เสียชีวิตได้ สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของระเบิดก็เป็นยุทธภัณฑ์ที่จำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานเจ้าหน้าที่รับว่า จากการสืบสวนไม่พบหลักฐานว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันวางแผน อีกทั้งข้อมูลการใช้โทรศัพท์ก็ไม่สามารถตรวจสอบพิกัดของผู้ใช้ได้ชัดเจน ทั้งตรวจสอบการสนทนาไม่ได้ นอกจากนี้ชั้นจับกุมจำเลยไม่มีทนายเข้าร่วม การแจ้งข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเพิ่มเติมภายหลัง ก็มีข้อน่าสงสัย เนื่องจากรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางและคำให้การของเจ้าหน้าที่ในครั้งแรกระบุเพียงว่า แรงระเบิดทำให้บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย ไม่ได้ระบุว่าสามารถทำให้เสียชีวิตได้ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุก็เบิกความเองว่า จุดที่ระเบิดตกพื้นไม่แตกร้าว สอดคล้องกับพยานอีกหลายปากที่เบิกความว่า ไม่มีทรัพย์สินบริเวณที่เกิดเหตุเสียหาย
ด้านพยานผู้เสียหายทั้ง 5 ราย เบิกความตอบโจทก์และทนายจำเลยว่า ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดเล็กน้อย มีแผลจากสะเก็ดระเบิดบ้าง บางรายแก้วหูทะลุ มีอาการหูอื้อ แต่ไม่มีใครต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังตรวจรักษาแล้วสามารถไปทำงานในวันรุ่งขึ้นได้
.
พยานตำรวจผู้เกี่ยวข้องกับการกล่าวหา: มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่หน้าจามจุรีสแควร์ 1 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ ตรวจสอบวงจรปิดพบคนร้าย 3 คน แต่ไม่พบหลักฐานว่าร่วมกันวางแผน ข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานมาแจ้งเพิ่มเติมภายหลัง
พันตำรวจเอกพันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน, พันตำรวจโท นพดล สินศิริ สว.สส.สน.ปทุมวัน ผู้กล่าวหา และร้อยตำรวจเอกสุริศักดิ์ ข่วงทิพย์ พนักงานสอบสวน ซึ่งลงพื้นที่บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ในวันเกิดเหตุ เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าว
.
พันตำรวจเอกพันษา เบิกความว่า พยานเป็นผู้ประกาศข้อกฎหมายให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 16.00 น. ขณะนั้นผู้ชุมนุมรบมตัวอยู่บนถนนพญาไท ทำให้การสัญจรติดขัด ผู้ชุมนุมบอกว่าจะเลิกชุมนุมในเวลา 16.30 น. แต่เมื่อถึงเวลาแล้วไม่เลิก โดยบอกว่าจะรอให้เพื่อนถูกปล่อยตัวก่อน ในเวลา 17.30 น.เศษ พยานสั่งการให้แจ้งเตือนครั้งที่ 2 ผู้ชุมนุมยังคงไม่ยุติการชุมนุม ผู้บังคับบัญชาจึงให้กองร้อยควบคุมฝูงชนเข้าผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนน
หลัง 17.45 น. กองร้อยควบคุมฝูงชนเริ่มเดินจาก ถ.พระราม 4 ขาออก เวลา 17.54 น. ได้ยินเสียงระเบิดขึ้น 1 ครั้ง ทำให้เกิดความวุ่นวาย ผู้ชุมนุมบางส่วนหนีเข้าไปในจามจุรีสแควร์ ตนทราบว่ามีตำรวจควบคุมฝูงชน, รปภ. และนักข่าว ได้รับบาดเจ็บ
ต่อมา ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ตอบทนายจำเลยว่า ตนอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุราว 400 ม. ไม่เห็นว่าผู้ก่อเหตุและผู้บาดเจ็บเป็นใคร
.
ร้อยตำรวจเอกสุริศักดิ์ เบิกความว่า หลังได้รับแจ้งเหตุระเบิดและเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ตนได้แจ้งให้กองพิสูจน์หลักฐานและ EOD เข้าพื้นที่ตรวจสอบและเก็บรวบรวมหลักฐานส่งไปตรวจพิสูจน์ พบของกลางเป็นเศษตะปู และเศษพลาสติก โดยตนเป็นผู้ถ่ายภาพที่เกิดเหตุ ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงทำแผนที่เกิดเหตุ
ฝ่ายสืบสวนติดตามหาตัวคนร้าย นำไปสู่การขอศาลออกหมายจับคนร้าย 3 คน ตนจำชื่อไม่ได้ ภายหลังจับตัวได้ ตนเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ผู้ต้องหาทั้งสามให้การรับสารภาพ ต่อมาภายหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหา พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เพิ่มเติมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้งสามด้วย
.
พันตำรวจโทนพดล เบิกความว่า หลังเกิดเหตุตนได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด โดยตนได้ตรวจสอบเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดทั้งก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุ พบว่ามีคนร้าย 3 คน
จากการตรวจสอบพบว่า วันเกิดเหตุมีการชุมนุมที่ สน.พญาไท ก่อนจะเคลื่อนมาที่แยกสามย่าน ผู้ก่อเหตุใช้รถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ขับมาตามถนนพญาไท ก่อนจอดรถบริเวณแยกสามย่านในลักษณะปรึกษาหารือกัน โดยหยุดรถเป็นช่วงๆ ระหว่างทาง แล้วขับรถไปบริเวณใต้สะพานพระราม 4 จากนั้นคนที่นั่งซ้อนได้เปลี่ยนไปซ้อนรถมอเตอร์ไซค์อีกคันที่จอดรออยู่ก่อนขับขึ้นสะพานไทย-ญี่ปุ่น ต่อมามีเสียงระเบิดดังขึ้นพร้อมกับมีควันสีขาวพุ่งขึ้นที่บริเวณทางเท้าหน้าอาคารจามจุรีสแควร์
จากการใช้เครื่องมือพิเศษแกะรอยคนร้ายและรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ทราบตัวผู้ขับมอเตอร์ไซค์คันแรก คือ จำเลยที่ 1 จากนั้นขยายผลจากการตรวจค้นบ้านและยึดของกลาง รวมทั้งโทรศัพท์มือถือและรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ทราบตัวคนร้ายอีก 2 คน โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปรับคนร้ายอีกคนก่อนขับไปที่ สน.พญาไท แล้วมุ่งหน้าไปบริเวณแยกสามย่าน
ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พันตำรวจโทนพดลระบุว่า หลังเกิดเหตุตนได้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ไม่พบว่ามีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และในการสืบสวนไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามไปวางแผนปรึกษาหารือกันที่ใด พยานเพียงแต่ตรวจสอบพบว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเดินทางไปในวันเกิดเหตุ จึงอนุมานว่า ร่วมกันกระทำความผิด
.
พยานตำรวจผู้เกี่ยวข้องกับการสืบสวนและจับกุม: แกะรอยกล้องวงจรปิด-โทรศัพท์ เชื่อมโยงจำเลยทั้งสามใช้มอเตอร์ไซค์ 2 คัน ร่วมกันก่อเหตุ แต่รับ ข้อมูลโทรศัพท์ตรวจสอบพิกัด-การสนทนาไม่ได้ ทั้งชั้นจับกุมจำเลยไม่มีทนาย
พันตำรวจตรีชูชีพ วงษ์บุญเพ็ง ชุดสืบสวน บก.น.6 ตรวจสอบเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด
พันตำรวจตรีชูชีพเบิกความว่า ตนทำงานสนับสนุนตำรวจท้องที่เพื่อสืบสวนรวบรวมข้อมูลการกระทำความผิด โดยในวันเกิดเหตุประมาณ 17.30 น. ตนได้ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่ย้ายจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่สามย่านมิตรทาวน์ หลังตำรวจควบคุมฝูงชนประกาศให้เลิกชุมนุมแต่ผู้ชุมนุมไม่เลิก จึงเริ่มเข้าผลักดันผู้ชุมนุม เวลา 17.50 น. มีเสียงระเบิดดังขึ้น 1 ครั้ง ด้านหน้าอาคารจามจุรีสแควร์ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบาดเจ็บ 4 นาย
หลังเกิดเหตุ ตนได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาคนร้ายจากกล้องวงจรปิด ณ จุดเกิดเหตุ เบื้องต้นพบรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า สีเทาแดง มีชาย 2 คนซ้อนท้ายกันมา พยานได้นำทะเบียนรถไปตรวจสอบ จากนั้นตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ พบว่า ภาพคนขับมอเตอร์ไซค์ที่ได้จากกล้องวงจรปิดเป็นคนเดียวกับลูกชายของเจ้าของรถ ชื่อ ณัฐสุต และคนซ้อนท้ายคือ พรชัย ซึ่งภาพขณะทั้งคู่ถอดหมวกกันน๊อคบริเวณหน้าคลินิกเยื้องกับ สน.พญาไท มองเห็นใบหน้าค่อนข้างชัด
จากการตรวจสอบเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดพบว่า ก่อนเกิดเหตุ ณัฐสุตขับรถไปรับพรชัยแถวจรัญสนิทวงศ์เวลาประมาณ 14.00 น.เศษ จากนั้นขับไปยังที่เกิดเหตุ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมหลบหนีชุดควบคุมฝูงชนที่ตั้งแถวเดินเข้าหา ขณะนั้นเห็นณัฐสุตขับรถมาจอดบริเวณทางขึ้นสะพานไทย-ญี่ปุ่น และพรชัยลงจากรถไปซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์อีกคันซึ่งไม่ติดป้ายทะเบียน จากการตรวจสอบภายหลังทราบว่าคนขับรถชื่อ วีรยุทธ
จากนั้นวีรยุทธขับรถขึ้นสะพานไทย-ญี่ปุ่น และขับวนไปมาอยู่บนสะพาน ก่อนที่พรชัยใช้มือขวาหยิบสิ่งของโยนลงไปยังตำรวจควบคุมฝูงชนด้านล่าง เมื่อวัตถุดังกล่าวตกถึงพื้นได้เกิดระเบิดขึ้นใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน แล้วทั้งคู่ก็ขับรถมอเตอร์ไซค์มุ่งหน้าแยกอังรีดูนังต์
หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งตรวจสอบความเชื่อมโยงของข้อมูลจากเฟซบุ๊กและการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสาม โดยพบว่าสอดคล้องกับลำดับเหตุการณ์ในกล้องวงจรปิด ต่อมา ตนและพวกได้ติดตามจับกุมณัฐสุตและพรชัยได้ที่บ้านพัก
พันตำรวจตรีชูชีพตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเสียงระเบิดตนอยู่ห่างจากจุดที่เกิดระเบิดประมาณ 20 เมตร ไม่ได้เห็นคนร้ายขณะปาระเบิด บริเวณที่ณัฐสุตขับรถไปจอดเพื่อให้พรชัยเปลี่ยนไปนั่งซ้อนท้ายรถอีกคันนั้น ยังไม่มีการปะทะกันของผู้ชุมนุมกับชุดควบคุมฝูงชน และหลังจากณัฐสุตจอดรถแล้วจะขับรถไปที่ไหนต่อตนก็ไม่ทราบ ส่วนวีรยุทธ จำเลยที่ 3 นั้น ตนไม่ได้เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ทราบรถมอเตอร์ไซค์ อีกทั้งภาพจากกล้องวงจรปิดไม่ปรากฏว่าวีรยุทธได้ถอดหมวกกันน็อค
ในชั้นจับกุมขณะทำบันทึกและสอบปากคำ ณัฐสุตและพรชัยไม่มีทนายและผู้ไว้วางใจ แม้ว่าทั้งสองต้องการให้ญาติเข้าร่วมรับฟัง แต่ไม่มีญาติมา โดยในชั้นจับกุมได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ไม่ได้แจ้งข้อหา ร่วมกันพยายามฆ่า
.
พันตำรวจโทชนะชัย ศิริ ชุดสืบสวน บก.น.6 ตรวจสอบเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด
พันตำรวจโทชนะชัยเบิกความว่า หลังเกิดเหตุตนและพวกได้รับมอบหมายให้สืบสวนเส้นทางหลบหนีของคนร้ายหลังก่อเหตุปาระเบิดใส่ชุดควบคุมฝูงชน โดยจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า คนร้าย 2 คน ขี่มอเตอร์ไซค์ลงจากสะพานมุ่งหน้าไปแยกสาทร จุดสุดท้ายคือบ้านหลังหนึ่งย่านจรัญสนิทวงศ์ และจากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนบ้าน พบบุคคลที่อาศัยในบ้านมีรูปพรรณสัณฐานตรงกับพรชัย จำเลยที่ 2
ส่วนการตรวจสอบเหตุการณ์ช่วงก่อนเกิดเหตุ พันตำรวจโทชนะชัยเบิกความในทำนองเดียวกับพันตำรวจตรีชูชีพ ระบุว่า พรชัยได้ซ้อนมอเตอร์ไซค์คันอื่นมา ก่อนจะเปลี่ยนรถที่แยกสามย่าน และตรวจสอบพบว่า ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวคือ ณัฐสุต ซึ่งมีข้อมูลว่าณัฐสุตมีเบอร์โทรติดต่อกับวีรยุทธ โดยก่อนเกิดเหตุ มีภาพรถมอเตอร์ที่ใช้ก่อเหตุขับออกจากบ้านที่วีรยุทธพักในเขตบางหว้า แวะรับคนนั่งซ้อนท้าย ก่อนก่อเหตุปาระเบิด
พันตำรวจโทชนะชัยได้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนตรวจสอบพบว่า ณัฐสุตขับรถมาส่งพรชัยที่แยกสามย่านเท่านั้น ไม่มีข้อมูลของณัฐสุตหลังจากนั้น และไม่ได้ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของณัฐสุตด้วย ส่วนการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของวีรยุทธว่า ช่วงเกิดเหตุได้ติดต่อใครบ้างและบริเวณใด ก็ไม่สามารถระบุพิกัดได้แน่ชัดเหมือนอย่าง GPS และคดีนี้ตรวจจับจาก GPS ไม่ได้ อีกทั้งการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ก็ไม่สามารถทราบถึงข้อมูลการสนทนาได้
.
ร้อยตำรวจเอกอาณัติ เข็มทอง ชุดสืบสวน บก.น.6 ผู้ร่วมจับกุมณัฐสุตและพรชัย
ร้อยตำรวจเอกอาณัติเบิกความว่า ตนเป็นผู้ร่วมจับกุมณัฐสุตและพรชัยตามหมายจับ และร่วมตรวจยึดของกลาง โดยณัฐสุตได้ขอให้ช่วยแจ้งญาติซึ่งตำรวจได้รับปากว่าจะดำเนินการให้แต่ญาติไม่ได้มา
ในชั้นจับกุม ณัฐสุตได้ให้การว่าวันเกิดเหตุไปรับพรชัยที่แถวจรัญสนิทวงศ์ เพื่อไป สน.พญาไท ก่อนจะเดินทางไปที่แยกสามย่าน แต่ตนจำไม่ได้ว่า พรชัยได้ให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่าอย่างไร พยานได้ยึดนาฬิกาข้อมือ กำไลสีเงิน มอเตอร์ไซค์ หมวกกันน๊อค โทรศัพท์มือถือจากณัฐสุต และตรวจยึดโทรศัพท์ของพรชัย
ร้อยตำรวจเอกอาณัติ เบิกความตอบทนายจำเลยยืนยันว่า ได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยและได้ให้โทรหาญาติก่อนจะยึดโทรศัพท์แล้ว แต่เมื่อไม่มีญาติมาณัฐสุตและพรชัยประสงค์ที่จะให้การต่อไป โดยบันทึกจับกุมไม่มีข้อความที่บันทึกว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่ประสงค์ที่จะมีทนายความ อย่างไรก็ตาม ร้อยตำรวจเอกอาณัติรับว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ทำบันทึกจับกุม และไม่ได้เป็นผู้ซักถามณัฐสุตและพรชัยเอง อีกทั้งในชั้นจับกุมไม่มีการส่งตัวผู้ต้องหาไปให้แพทย์ตรวจร่างกาย
.
พันตำรวจตรีนิทัสน์ มีทอง ชุดสืบสวนผู้ร่วมจับกุมวีรยุทธ
พันตำรวจตรีนิทัสน์เบิกความว่า เป็นผู้ร่วมจับกุมวีรยุทธที่บ้านพักตอน 4 ทุ่ม วันที่ 29 ม.ค. 2564 และตรวจยึดหมวกกันน็อค รองเท้า รถมอเตอร์ไซค์ ไว้เป็นของกลาง หลังการจับกุมตนได้ให้วีรยุทธเขียนบรรยายว่าในวันเกิดเหตุได้ไปทำอะไรมาบ้าง พร้อมทั้งลงชื่อไว้
พันตำรวจตรีนิทัสน์ตอบทนายจำเลยว่า ในชั้นจับกุมวีรยุทธไม่มีทนายความอยู่ร่วม เนื่องจากสอบถามแล้วจำเลยไม่ประสงค์จะมีทนายความเพราะมีพ่ออยู่ขณะถูกจับกุม แต่พยานจำไม่ได้ว่าพ่อของวีรยุทธได้ลงชื่อในบันทึกจับกุมด้วยหรือไม่ เมื่อทนายจำเลยนำบันทึกจับกุมมาให้พยานยืนยัน จึงเห็นว่าไม่มีลายเซ็นพ่อแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่พยานให้วีรยุทธเขียนบรรยายนั้น ขณะวีรยุทธเขียนไม่มีทนายความอยู่ด้วย บันทึกการตรวจยึดของกลางก็ไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจของวีรยุทธลงชื่อด้วย นอกจากนี้หลังจับกุมวีรยุทธ พยานไม่ได้ควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน โดยทันที แต่นำตัวไปที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) ซึ่งเป็นที่ทำงานของพยาน
.
พยานผู้เสียหาย: บาดเจ็บเล็กน้อย มีแผลจากสะเก็ดระเบิด บางรายแก้วหูทะลุ แต่ไม่มีใครต้องแอดมิท สามารถไปทำงานในวันรุ่งขึ้นได้
ภุชงค์ สุขเสนา ผู้จัดการอาคารจามจุรีสแควร์ เบิกความว่า ตนได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่ข้อมือขวา มีรอยช้ำที่ใต้แขนขวา และมีอาการหูอื้อประมาณครึ่งชั่วโมง เนื่องจากยืนอยู่ห่างจากจุดที่ระเบิดตกไม่เกินครึ่งเมตร โดยที่ไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร และจำข้อเท็จจริงวันเกิดเหตุไม่ค่อยได้ ขณะเกิดเหตุระเบิดยังไม่มีการปะทะกันระหว่างชุดควบคุมฝูงชนกับกลุ่มผู้ชุมนุม
ภุชงค์ตอบทนายจำเลยด้วยว่า หลังเกิดเหตุนานกว่าครึ่งชั่วโมงจึงไปตรวจร่างกาย และไปทำงานตามปกติในวันรุ่งขึ้น โดยไม่ได้นอนพักที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ บาดแผลจากสะเก็ดระเบิดนั้นไม่มีระเบิดฝังอยู่
.
ธนกร วงศ์ปัญญา นักข่าว THE STANDARD เบิกความว่า มีแผลที่ขาซ้ายด้านใน จากการตรวจสอบภายหลังพบจุดตกด้านหลังแต่ไม่แน่ชัดว่าระยะใกล้เท่าใด เนื่องจากพอได้ยินเสียงตนก็วิ่งหลบหาที่ปลอดภัยเข้าไปในอาคารจามจุรีสแควร์
ธนกรตอบทนายจำเลยว่า ตนไม่รู้สึกตัวว่าถูกสะเก็ดระเบิดในทันทีเพราะไม่รู้สึกเจ็บ เมื่อเข้าไปอยู่ในอาคารแล้วและมีเหงื่อจึงรู้สึกแสบขึ้นมา จึงรู้ว่าตนเองมีแผล แต่ยังจากนั้นตนยังทำงานต่อไปได้ ในวันดังกล่าวก่อนเกิดเหตุตนไลฟ์อยู่ริมฟุตบาทหน้าจามจุรีสแควร์ ภาพข่าวที่บันทึกมีทั้งเหตุการณ์ที่ตำรวจไล่จับกุมและฉุดกระชากผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ ธนกรยังตอบทนายจำเลยอีกว่า ตนไม่ทราบชนิดของวัตถุระเบิด แต่เชื่อว่าเป็นระเบิดชนิดที่ไม่รุนแรง หากเป็นระเบิดชนิดที่รุนแรง อาจจะทำให้ตนขาขาด
.
สิบตำรวจตรีอรรถพล จั่นชมนาค ตำรวจควบคุมฝูงชน เบิกความว่า วันเกิดเหตุขณะตนปฏิบัติหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุมถึงหน้าอาคารจามจุรีสแควร์ ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นด้านซ้ายห่างออกไปไม่เกิน 2 เมตร แรงอัดของระเบิดทำให้หูข้างซ้ายดับ แก้วหูทะลุ บาดเจ็บเล็กน้อยที่มือและขา แต่ไม่ได้ทำให้ตนล้มลง
จากนั้นสิบตำรวจตรีอรรถพลเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนไปตรวจร่างกายหลังเกิดเหตุประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งหมอระบุว่า ตนสามารถได้ยินเป็นปกติ แต่กำชับให้ดูแลและระวังการใช้ชีวิตประจำวันไม่ให้กระทบกับแก้วหู เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์ หลีกเลี่ยงน้ำเข้าหูตอนอาบน้ำ
.
สิบตำรวจตรีชาคริต พินิจ ตำรวจควบคุมฝูงชน เบิกความว่า ขณะตนปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าอาคารจามจุรีสแควร์ ได้มีระเบิดตกมาจากสะพานไทย-ญี่ปุ่น ลงบริเวณใกล้ๆ ห่างออกไปไม่เกิน 3 เมตร ตนได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดถูกที่มือและหู มีแผลถลอกที่ศีรษะข้างซ้ายและหลังมือซ้าย แรงอัดระเบิดมีไม่มาก แค่ทำให้ตนรู้สึกเซ
สิบตำรวจตรีชาคริตตอบทนายจำเลยว่า จากการตรวจร่างกายไม่พบว่าแก้วหูฉีกขาด และตนไม่เห็นคนร้าย
.
พันตำรวจโทมานิตย์ อร่ามพงศ์ ตำรวจควบคุมฝูงชน เบิกความว่า ระเบิดที่ตกมาจากสะพานไทย-ญี่ปุ่น ลงตรงกลุ่มตำรวจควบคุมฝูงชน ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้รับบาดเจ็บ 2 นาย ชาวบ้านบาดเจ็บอีก 4 คน ส่วนตนมีอาการหูอื้อ ภายหลังเหตุการณ์ราว 7 วัน ตนจึงไปตรวจร่างกาย แพทย์วินิจฉัยว่า แก้วหูด้านซ้ายทะลุ แต่จะสมานเองภายใน 1 เดือน หลังตรวจร่างกายเสร็จตนกลับมาทำงานปกติ โดยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า คาดว่าไม่เป็นอะไรจึงไม่ได้ไปพบแพทย์ในทันที
พันตำรวจโทมานิตย์ตอบทนายจำเลยว่า แรงระเบิดไม่ได้ทำให้ตนล้มลง และตนไม่เห็นคนร้าย
.
พยานตรวจพิสูจน์ระเบิด: ชี้ระเบิดที่ก่อเหตุเป็นระเบิดปิงปอง แรงดันต่ำ ทำให้เสียชีวิตได้ แต่รายงานตรวจพิสูจน์ระบุเพียงทำให้บาดเจ็บ ทั้งจุดที่ระเบิดตกพื้นไม่แตกร้าว
พันตำรวจโทหญิงศศิวรกาญจน์ สุวรรณดิษ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เป็นพยานผู้ตรวจวัตถุพยานและสถานที่เกิดเหตุ เบิกความว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบคราบขาวบริเวณจุดที่ระเบิดตกกระจายอยู่เป็นรัศมีวงกลม และพบชิ้นส่วนพลาสติกสีเหลือง 17 ชิ้น, ตะปูขนาด 1 และ 4 ซม. รวม 4 ตัว, ชิ้นส่วนเทปสีดำ พื้นบริเวณนั้นไม่ได้แตกร้าว
พันตำรวจโทหญิงศศิวรกาญจน์ยังได้เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ลักษณะของวัตถุระเบิดเป็นชนิดทำขึ้นเอง ไม่ใช่ระเบิดที่ใช้ในการทหาร นอกจากนี้การระเบิดก็ไม่สมบูรณ์ ถ้าสมบูรณ์จะไม่เหลือคราบ พยานเป็นชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุและวัตถุของกลางเพียงชุดเดียว
.
พันโทรังสฤษดิ์ ศุภานุสนธิ์ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ผู้ตรวจสารประกอบระเบิดเพื่อดูว่าเป็นยุทธภัณฑ์หรือไม่ โดยเป็นการตรวจสอบจากรายงานของกองพิสูจน์หลักฐาน พันโทรังสฤษฎ์ เบิกความว่า ของกลางที่ตำรวจตรวจพบมีแอมโมเนียนไนเตรตและโพแทสเซียมคลอเรตซึ่งถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ โดยจำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครอง
อย่างไรก็ตาม พันโทรังสฤษดิ์ตอบทนายจำเลยว่า รายงานของกองพิสูจน์หลักฐานไม่ได้ระบุว่า แอมโมเนียนไนเตรตดังกล่าวได้มาจากส่วนประกอบของปุ๋ยเคมีหรือไม่ หากเป็นองค์ประกอบในปุ๋ยเคมีก็ถือเป็นข้อยกเว้นว่าไม่เป็นยุทธภัณฑ์ ส่วนโพแทสเซียมคลอเรตหากมีอัตราส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ก็ไม่เป็นความผิด ซึ่งรายงานของกองพิสูจน์หลักฐานไม่ได้ระบุสัดส่วนของสารทั้งสองชนิดแต่อย่างใด
.
พันตำรวจตรีสมพร สุขสอาด กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ผู้ตรวจพิสูจน์ของกลาง เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งรับราชการมาแล้ว 18 ปี เบิกความว่า หลังได้รับวัตถุพยานที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุจากตำรวจ ตนได้นำมาประกอบเข้ากันแล้วพิสูจน์ทราบได้ว่า เป็นระเบิดปิงปองที่ใช้ดินระเบิดแรงดันต่ำ มีความเร็วแรงดัน 400-800 ฟุต/วินาที รัศมีการทำลายไม่เกิน 5 เมตร มีตะปูเป็นสะเก็ดระเบิด หากมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 เมตร แรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดถูกจุดสำคัญก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้พันตำรวจตรีสมพรได้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนไม่ทราบสูตรในการคำนวนแรงระเบิด เนื่องจากตนไม่ได้ใช้สูตรคำนวน โดยตนไม่ได้เรียนจบสายวิทยาศาสตร์และไม่ได้เรียนเรื่องสูตรทางเคมีในการคำนวณแรงระเบิด ตนเพียงตรวจพิสูจน์แรงดันของระเบิดว่าสามารถทำอันตรายแก่บุคคลและสิ่งของได้ในระยะเท่าใด โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของสารตั้งต้น ถ้ามีน้อยก็มีแรงดันน้อย เป็นมาตรฐานที่มาจากบริษัทอยู่แล้ว แต่ไม่ทราบว่าบริษัทอะไร และการหาส่วนประกอบทางเคมีของระเบิดก็จะมีเจ้าหน้าที่อีกแผนกดำเนินการ นอกจากนี้ ตนไม่ทราบส่วนผสมของดินระเบิด เนื่องจากได้ระเบิดไปแล้ว และสารเคมีสองชนิดตามฟ้องก็พบได้ในปุ๋ยเคมี
พันตำรวจตรีสมพรยังรับว่า หนังสือนำส่งวัตถุของกลาง ระบุว่า ตะปูยาว 4 เซนติเมตร แต่ตนตรวจพบตะปูขนาด 1, 1.2 และ 3 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามตนไม่ได้ทำหนังสือโต้แย้งเกี่ยวกับความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเพราะไม่ใช่หน้าที่ของตน และขนาดของกลางที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นสาระสำคัญของการตรวจพิสูจน์
นอกจากนี้ทนายจำเลยยังถามเกี่ยวกับรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางและคำให้การของพยานชั้นสอบสวนในครั้งแรก ซึ่งระบุเพียงว่า วัตถุของกลางสามารถทำให้บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย ไม่มีข้อความว่าสามารถทำอันตรายถึงชีวิตได้ ต่างจากคำให้การเพิ่มเติมของพยานในครั้งที่สอง พันตำรวจตรีสมพรตอบว่า ตนพิมพ์รายงานตกไป และไม่ได้ส่งเอกสารไปขอแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากพยานเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้