อัยการยื่นฟ้อง 6 ข้อหากับ 3 นศ.-ปชช. คดีปาระเบิดสามย่านมิตรทาวน์ โทษถึงประหารชีวิต ศาลให้ประกันวงเงิน 400,000 ไม่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม

วันนี้ (23 เมษายน 2564) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 อัยการมีคำสั่งฟ้องนอกกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 7 กับ พรชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี, ณัฐสุต (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี และวีรยุทธ (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี  3 ผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดที่บริเวณหน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างการชมุนุม #ม็อบ16มกรา เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 มกราคม 2564 

หลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 400,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ทั้งนี้ ในท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัว โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น.

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 64  หลังพรชัย, ณัฐสุต และวีรยุทธ พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 8 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  1. ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุ ที่จะกระทําหรือได้กระทําการตามหน้าที่
  2. ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
  3. ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
  4. ร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ 
  5. ร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น
  6. ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร 
  7. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครอง
  8. ร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม

ในชั้นสอบสวน ณัฐสุต จําเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จําเลยที่ 2 พรชัย  ให้การให้รับสารภาพในข้อหาร่วมกันกระทำให้เกิดการระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น และทรัพย์สินของผู้อื่น, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือในพื้นที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอง และปฏิเสธข้อกล่าวหาอื่นทั้งหมด ส่วนวีรยุทธ จําเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธข้อหาร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม และให้การรับสารภาพข้อกล่าวหาอื่นทั้งหมด

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นคําร้องขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทั้งสามจึงถูกนำตัวไปฝากขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมเป็นเวลากว่า 1 เดือนเศษ ก่อนทนายความของผู้ต้องหาทั้งสามจะยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 300,000 บาท  จากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564

>> ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกัน 3 วัยรุ่น-ประชาชน ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดสามย่านมิตรทาวน์ วางเงินสดคนละ 3 แสน

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ในคดีเดียวกัน ทั้งหมดได้เดินทางไปที่ สน.ปทุมวัน ตามหมายเรียกเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อกล่าวหา“พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”

>> ตร.แจ้งข้อหา “พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” 3 ปชช-นศ. คดีปาระเบิดสามย่านมิตรทาวน์

เปิดคำฟ้อง กล่าวหาจำเลยมีเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว 

สำหรับคำฟ้องในคดีนี้พนักงานอัยการกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 เวลากลางวัน จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

  1. จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่องที่ประกอบจัดทําขึ้นเอง (ระเบิดปิงปอง) ภายนอกเป็นวัสดุพลาสติกสีเหลืองพันทับด้วยเทปสีดํา ซึ่งภายในประกอบด้วยวัตถุระเบิดแรงต่ํา ประเภทดินดํา โดยมีตะปูตอกไม้คละขนาดเป็นสะเก็ดระเบิดสามารถส่งกําลังดันอย่างแรง ต่อห้อมล้อมโดยฉับพลัน ในเมื่อเกิดการระเบิด โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกําลังดันหรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิด มีแรงทําลายหรือแรงประหารสามารถทําอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินได้ในระยะประมาณ 5 เมตร จํานวน 1 ลูก ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดตามกฎหมายที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง
  2. จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีสารเคมีชนิด AMMONIUM NITRATE และ POTASSIUM CHLORATE ซึ่งตรวจพบในส่วนประกอบของวัตถุระเบิดตามฟ้อง อันเป็นยุทธภัณฑ์ตามประกาศกระทรวงกลาโหมไว้โดยจําเลยทั้งสามไม่ได้รับใบอนุญาต
  3. จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันพาลูกระเบิดดังกล่าว ซึ่งเป็นอาวุธตามกฎหมายจํานวน 1 ลูก ติดตัวไปในบริเวณหน้าอาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นเมือง หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร

ภายหลังจากที่จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทําความผิดตามฟ้องแล้ว ขณะที่ ส.ต.ต.อรรถพล จั่นชมนาค ผู้เสียหายที่ 1, ส.ต.ท.ชาคริต พินิจ ผู้เสียหายที่ 2 และพ.ต.ต.มานิตย์ อร่ามพงษ์ ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจกองกํากับการควบคุมฝูงชน 1 กองบังคับการอารักขา และควบคุมฝูงชน กองบัญชาการตํารวจนครบาล และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขณะกําลังปฏิบัติหน้าที่ควบคุมมวลชน กระชับพื้นที่ผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองบริเวณแยกสามย่าน หน้าอาคารจามจุรีสแควร์ ถนนพระรามที่ 4 เพื่อให้เลิกหรือยุติการชุมนุมตามที่เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้วนั้น

จําเลยทั้งสามนี้โดยมีเจตนาฆ่าและเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ได้ร่วมกันขับขี่ และซ้อนท้ายจักรยานยนต์ไปตามถนนพระราม 4 และทางเดินรถสะพานลอยไทย – ญี่ปุ่น แล้วได้ร่วมกันนําวัตถุระเบิดตามฟ้อง และยุทธภัณฑ์ตามฟ้อง ซึ่งจําเลยทั้งสามได้ตระเตรียมการวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยร่วมกันมีไว้ และพาติดตัวไปอันเป็นความผิด ขว้างลงมาจากทางเดินรถสะพานลอยไทย-ญี่ปุ่น ไปที่ผู้เสียหายทั้งสาม และเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนที่กําลังเข้าควบคุมสถานการณ์อยู่ที่บริเวณพื้นถนนที่เกิดเหตุเบื้องล่างสะพานดังกล่าว

จนทําให้เกิดวัตถุระเบิดเกิดระเบิดขึ้นจํานวน 1 ครั้ง มีสะเก็ดระเบิดกระจายออกไปโดยรอบถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณหลังมือซ้ายด้านนิ้วก้อย, ต้นขาขวาด้านในเหนือเข่า เกิดบาดแผดครูดถลอกฉีกขาด และถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณหลังมือซ้าย, หลังนิ้วมือซ้าย และศีรษะด้านข้างซ้าย เกิดบาดแผดครูดถลอกฉีกขาด และเสียงดังจากการระเบิดดังกล่าวยังทำให้แก้วหูของผู้เสียหายที่ 1 ทะลุ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีอาการหูอื้อ และแก้วหูข้างซ้ายของผู้เสียหายที่ 3 ทะลุ หูชั้นนอกอักเสบ 

นอกจากนี้สะเก็ดระเบิดยังกระจายไปถูกประชาชนในบริเวณที่เกิดเหตุอีก 2 ราย คือ นายภุชงค์ สุขเสนา ได้รับบาดเจ็บบริเวณฝ่ามือขวา และต้นแขนขวา เกิดบาดแผลฉีกขาดถลอก และฟกช้ำ ถูกนายธนกร วงศ์ปัญญา ผู้เสียหายที่ 5 ที่บาดเจ็บต้นขาซ้ายด้านหลัง เกิดบาดแผลครูดถลอก 

ทั้งนี้จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล เนื่องจากสะเก็ดระเบิดอันเป็นส่วนสังหารของระเบิดนั้นไม่ได้กระจายไปถูกผู้เสียหายทั้งห้าที่บริเวณอวัยวะส่วนสําคัญของร่างกาย ประกอบกับผู้เสียหายทั้งห้ายังได้รับการรักษาบาดแผลจากแพทย์อย่างทันท่วงที ผู้เสียหายทั้งห้าจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจําเลยทั้งสาม แต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งห้าได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย 

ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานได้ตรวจยึดภาชนะบรรจุระเบิดเป็นชิ้นส่วนพลาสติกสีเหลือง จํานวน 17 ชิ้น, ส่วนประกอบของวัตถุระเบิดเป็นเทปสีดํา จํานวน 12 ชิ้น และสะเก็ดระเบิดเป็นตะปู ความยาว 1 เซนติเมตร จํานวน 2 ตัว และความยาว 4 เซนติเมตร จํานวน 2 ตัว ซึ่งตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุที่จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทําความผิดตามฟ้องไว้เป็นของกลางนําส่งพนักงานสอบสวน

พนักงานอัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกฎหมาย ดังนี้ 

  1. ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ และผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
  2. ร่วมกันทําให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น
  3. ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
  4. ร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทําความผิดฐานพยายามฆ่า
  5. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครอง
  6. ร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ทั้งนี้ การกระทําของจําเลยตามคําฟ้อง อัยการถือว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221, 288, 289 และ 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 74, 55, 78 วรรคสาม และพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 

หากไล่เรียงข้อกล่าวหาที่จำเลยถูกฟ้อง จะพบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดต้องระวางโทษประหารชีวิต โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

    • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 “ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ ของผู้อื่น” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท
    • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2), (4) ประกอบมาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี
    • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 “พาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร” ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งริบอาวุธชิ้นนั้น
    • มาตรา 38 พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ “ห้ามผู้ใด ทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง นำเข้า ค้า หรือจำหน่ายด้วยประการใดซึ่งวัตถุระเบิด เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต” ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรานี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท
    • มาตรา 78 พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ผู้ใดประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 55 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต
    • พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ผู้ใดมีซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

นอกจากนี้อัยการยังได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาสั่งริบรถจักรยานยนต์จำนวน 2 คัน ซึ่งเป็นของกลางที่ยึดมาได้จากจำเลยทั้งสามอีกด้วย

X