ตร.แจ้งข้อหา “พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” 3 ปชช-นศ. คดีปาระเบิดสามย่านมิตรทาวน์ 

เมื่อวานนี้ (20 เมษายน 2564) เวลา 09.00 น. ที่สน.ปทุมวัน 3 ประชาชนและนักศึกษาอาชีวะ ผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดที่สามย่านมิตรทาวน์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามหมายเรียก จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โยนระเบิดถูกเจ้าหน้าที่และพลเรือนจนได้รับบาดเจ็บ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ16มกรา บริเวณหน้าห้างจามจุรีสแควร์ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 ม.ค. 64

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 64  ในคดีเดียวกันนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ได้แก่ พรชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี, ณัฐสุต (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี และวีรยุทธ (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี เคยถูกจับกุมมาแล้ว และถูกแจ้ง 8 ข้อกล่าวหา ได้แก่

1.ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุ ที่จะกระทําหรือได้กระทําการตามหน้าที่
2.ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
3.ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
4.ร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ 
5.ร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็น อันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น
6.ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร 
7.ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครอง
8.ร่วมกันมีซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับ ใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม

ทั้งหมดให้การรับสารภาพ ยกเว้นข้อหาพยายามฆ่า โดยระหว่างการแจ้งข้อหานั้น ไม่มีทนายความเข้าร่วม 

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นคําร้องขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทั้งสามจึงถูกนำตัวไปฝากขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมเป็นเวลากว่า 1 เดือนเศษ ก่อนทนายความของผู้ต้องหาทั้งสามจะยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 300,000 บาท  จากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 64

>> ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกัน 3 วัยรุ่น-ประชาชน ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดสามย่านมิตรทาวน์ วางเงินสดคนละ 3 แสน

ในการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในครั้งนี้มี พ.ต.ท.นพดล สินศิริ สารวัตร (สืบสวน) สน.ปทุมวันเป็นผู้กล่าวหา และร.ต.อ. สุรศักดิ์ ช่วงทิพย์ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล  เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา โดยเจ้าหน้าที่ระบุพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งหมดว่า

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 64 เวลา 15.00 น. มีการชุมนุมที่บริเวณแยกสามย่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ดําเนินการกับผู้ชุมนุมที่บริเวณ สน.พญาไท ต่อมาณัฐสุต (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ขับรถจักรยานยนต์ โดยมีพรชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ขณะเดียวกันวีรยุทธ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์ติดตามมาและพบกันที่บริเวณแยกสามย่าน ถนนพระราม 4 

จากนั้น ผู้ต้องหาที่ 2 ได้ลงจากรถจักรยานยนต์ และไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่มี ผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้ขับขี่ จากนั้นผู้ต้องหาที่ 3 และผู้ต้องหาที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้ามายังบริเวณจุดที่เกิดเหตุซึ่งอยู่บนสะพานไทย-ญี่ปุ่น และบริเวณหน้าห้างจามจุรีสแควร์ ถนนพระราม 4 ด้านล่างได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนกําลังเคลื่อนขบวนอยู่บริเวณดังกล่าว จากนั้นผู้ต้องหาที่ 2 ได้จุดชนวนระเบิดและขว้างระเบิดดังกล่าว ลงมาที่บริเวณด้านล่างลงพื้นถนนใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจกองร้อยควบคุมฝูงชน ซึ่งกําลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นเพื่อให้ถึงแก่ชีวิต แต่ปรากฏว่าระเบิดดังกล่าวได้พลาดไปตกห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเดินอยู่ เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนจึงไม่ถึงแก่ชีวิตตามที่ผู้ต้องหาต้องการ แต่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจํานวน 4 ราย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน 2 นาย, นักข่าว 1 ราย และพนักงานอาคารจามจุรีสแควร์อีก 1 ราย

หลังเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 2 และ ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไปมุ่งหน้าแยกสาทร ต่อมาผลการตรวจพิสูจน์ของกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจ และปฏิบัติการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ยืนยันว่าวัตถุระเบิดในส่วนของตะปู ซึ่งเป็นส่วนสังหารนั้น หากไปถูกหัวใจ ศีรษะหรือส่วนที่เป็นอวัยวะสําคัญของร่างกายสามารถทําให้ถึงแก่ชีวิต และมีผลการตรวจสอบของกลางตามบัญชีของกลางในคดีอาญาที่ 27/2564 จากกรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ยืนยันว่าของกลางซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานทางเทคนิคของสํานักงานตํารวจแห่งชาติว่า พบสารเคมี 2 รายการที่เข้าข่ายเป็นยุทธภัณฑ์ตามประกาศกระทรวงกลาโหม โดยผู้ต้องหาที่ 1 ผู้ต้องหาที่ 2 และผู้ต้องหาที่ 3 ไม่ได้รับอนุญาตให้มีซึ่งยุทธภัณฑ์ดังกล่าวจากกระทรวงกลาโหม

ในพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 28 วรรคสาม ได้กําหนดฐานความผิดกรณีที่ผู้ใดใช้วัตถุระเบิดในการกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น) ไม่ว่าความผิดนั้นจะเป็นเพียงขั้น พยายามหรือขั้นความผิดสําเร็จก็ตาม และในการกระทําความผิดของผู้ต้องหาทั้งสามนั้นถือได้ว่ามีการตระเตรียมการ และไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม กล่าวคือ “ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาที่แจ้งเพิ่มเติม อีกทั้งไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 11 พ.ค. 64 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวทั้งหมดไป ทั้งนี้ ทั้งสามยังมีนัดหมายรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน ในวันที่ 23 เม.ย. 64 

X