18 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ณัฎฐ์” (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี และ “พิชยา” (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีขับรถกระบะขนอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม ไปร่วม #ม็อบ7สิงหา2564 โดยเป็นกรณีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เจ้าหน้าที่สกัดไว้ ทำให้ต้องเคลื่อนขบวนกลับมายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สำหรับคดีนี้ทั้ง 2 คน ถูกติดตามจับกุมบริเวณปั้มน้ำมันในซอยพหลโยธิน หลังจากกลับจากการชุมนุมดังกล่าว และถูกควบคุมตัวไปที่ บก.ตชด.1 พร้อมรถกระบะ 2 คัน โดยเจ้าหน้าที่ตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด
ทั้งสองถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยตำรวจกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ได้ติดตามตรวจสอบรถกระบะขนอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุมและรถรับส่งผู้ชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่มราษฎร 63 โดยเมื่อเวลา 17.19 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมพบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวเข้าร่วมชุมนุมและคอยรับส่งผู้เข้าร่วมชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง โดยมีทั้งสองคนนั่งโดยสารมาด้วย
คดีนี้ ทั้งสองคนได้รับการประกันตัว ต่อมาถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 และได้ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ในช่วงก่อนเริ่มการสืบพยานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566
ศาลอ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่า จำเลยทั้งสองคนได้เข้าร่วมการชุมนุมวันดังกล่าวจริง และการชุมนุมของจำเลยทั้งสองเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่โจทก์ฟ้อง ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 5,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือปรับคนละ 2,500 บาท
ในระหว่างการสอบสวนจำเลยทั้งสองได้ถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 8-9 ส.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 2 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงหักลดค่าปรับลงคนละ 1,000 บาท จึงคงเหลือค่าปรับที่ต้องชำระจำนวน 1,500 บาท
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่ามีคดีจากการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา2564 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอีกคดีหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้องมาแล้ว ได้แก่ คดีของ วิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ นักกิจกรรมทางจากกลุ่ม We Volunteer ที่ถูกจับกุมและกล่าวหาในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้ แต่จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาล และศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 เห็นว่าการที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ความรุนแรง ไม่ปรากฏว่าการเข้าร่วมชุมนุมอยู่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย