ให้รอการลงโทษจำคุก คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พกพาวิทยุ สองคนขับรถเครื่องเสียง ‘เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนท์’ ผู้ถูกจับหลัง #ม็อบ31ตุลา64 แต่ปรับรวม 2.5 หมื่น

วันที่ 29 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 2 คนขับรถเครื่องเสียงของเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ได้แก่ ‘ไนน์’ อายุ 40 ปี และ ‘เปิ้ล’ อายุ 30 ปี (สงวนชื่อสกุล) ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-มีวิทยุสื่อสารในครอบครอง เหตุจากการนำรถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงไปร่วมชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 หรือ #ม็อบ31ตุลา64 บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 กลุ่ม “ราษฎร” ได้นัดหมายชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เพื่อเปิดการรณรงค์รวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อ เสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อรัฐสภา

หลังการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดจำนวนมากได้ดักจับรถเครื่องเสียงดังกล่าวบนทางด่วน ก่อนเข้าควบคุมตัวคนขับรถ พร้อมด้วยผู้ติดตามบนรถเครื่องเสียงและรถห้องน้ำเคลื่อนที่รวม 4 คน โดยเป็นสมาชิกเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี 2 ราย และนักกิจกรรมอิสระสูงวัย อีก 2 ราย ซึ่งถูกแยกเป็นคนละคดีกัน

การจับกุมสมาชิกของเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เกิดขึ้นบนทางด่วนหลังด่านเก็บเงินประชาชื่นขาออก โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและรถติดตามที่ไม่มีสัญลักษณ์ของทางราชการชัดเจน ก่อนตำรวจพาตัวไปที่ บช.ปส. ภายในสโมสรตำรวจ และแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเห็นว่าทั้งสองร่วมจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนั้นยังมีการตรวจยึดของบนรถรวม 25 รายการ

ไนน์และเปิ้ลให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน พร้อมทั้งไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ก่อนพนักงานสอบสวนจะอนุญาตให้ประกันตัว

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17 ม.ค. 2565 ตำรวจ สน.ลุมพินี ยังเรียกทั้งสองคนไปแจ้งข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมในครอบครองเป็นจำนวน 9 เครื่อง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามสิ่งของที่ตรวจยึดพบในวันจับกุม 

หลังจากนั้น พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งคู่ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมีการสืบพยานต่อสู้คดีไปในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 รวม 2 นัด

การอ่านคำพิพากษาเกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 503 จำเลยทั้งสองเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามเวลาที่ศาลได้นัดหมายเอาไว้

ศาลได้พิจารณาคดีอื่นๆ ที่นัดไว้ก่อน จนเวลา 9.40 น. จึงได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีใจความสรุปได้ว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัย ประการแรก จำเลยทั้งสองทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 หรือไม่ 

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเข้ามาในบริเวณสถานที่ชุมนุมจริง ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด และยังเป็นการชุมนุมที่เกินกว่า 50 คนขึ้นไป อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยหลังจากยุติการชุมนุม จำเลยทั้งสองได้ออกจากสถานที่ชุมนุมพร้อมกัน และอยู่บนรถด้วยกันตลอด จนถึงสถานที่จับกุม เห็นว่าจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ประการต่อมา จำเลยทั้งสองร่วมกันมีวิทยุคมนาคมจำนวน 9 เครื่องไว้ในครอบครองหรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ในส่วนของจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดี โดยรับฟังได้ว่า หลังจากที่จำเลยทั้งสองได้มีการขี่รถบรรทุกออกจากที่เกิดเหตุมาแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าจับกุมและตรวจพบวิทยุสื่อสารจำนวน 9 เครื่องในกล่องสีขาว และได้ทำการตรวจยึดไว้ และแจ้งข้อหากับจำเลยทั้งสอง

ตั้งแต่ร่วมชุมนุมจนถึงการชุมนุมเสร็จสิ้น ตามภาพถ่ายเอกสารประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์รวบรวมมาปรากฏว่า ในวันเกิดเหตุนั้นไม่มีใครเห็นว่าจำเลยทั้งสองเข้ามาในสถานที่ชุมนุมพร้อมกันหรือไม่ อย่างไร 

อีกทั้งโจทก์ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มาโดยตลอดในการครอบครองวิทยุสื่อสารทั้ง 9 เครื่อง และพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ที่สังเกตรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มาโดยตลอดก็ไม่อาจยืนยันได้ชัดเจน ดังนั้นจึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองวิทยุสื่อสารจำนวน 9 เครื่อง ตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) และ 18 ให้จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท 

เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6, 22, และ 23 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 11,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานนี้ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,500 บาท รวมจำเลยที่ 1 ลงโทษจำคุก 7 เดือน ปรับ 15,500 บาท

เนื่องจากว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี รวมทั้งสองคนต้องชำระค่าปรับจำนวน 25,500 บาท

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนพบว่าการชุมนุมในช่วงระยะปี 2564 ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพ่งเล็งและติดตามรถเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมในหลายครั้ง แต่การจับกุมไม่ได้กระทำขณะเข้าร่วมการชุมนุมหรืออยู่ในที่ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด กลับเข้าจับกุมหลังออกจากที่ชุมนุมและอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจับกุมซึ่งหน้า การจับกุมในลักษณะนี้พนักงานสอบสวนจะต้องขออนุมัติหมายจับจากศาลก่อน และนำมาแสดงต่อผู้ถูกจับ หรือออกเป็นหมายเรียก

X