เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ทนายความเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม คเชนทร์ วัย 19 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ซึ่งเพิ่งถูกศาลตัดสินว่าร่วมกันปาระเบิดเพลิงใส่ป้อมจราจรพญาไท #ม็อบ30กันยา64 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ด้วยระบุเหตุเกรงว่าจะหลบหนี ทำให้ปัจจุบัน (29 ส.ค. 2566) เขาถูกคุมขังมาแล้ว 15 วัน
ขณะที่เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 ทนายยังได้เข้าเยี่ยมธีรภัทร อายุ 22 ปี ซึ่งเพิ่งถูกอัยการสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 ในข้อหาร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิด และร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน จากการปาวัตถุที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส คืนวันที่ 31 ต.ค. 2564 บริเวณดินแดง ก่อนศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้ว 12 วัน
คเชนทร์: เพิ่งทำงานที่หาเลี้ยงชีพได้ดีและกำลังจะจบมัธยมต้น
ในช่วงนี้คเชนทร์อยู่ระหว่างกักตัว 15 วัน โดยขั้นตอนแบ่งเป็นต้องตรวจโควิดทุก 5 วัน ถ้าถึงวันที่ 10 แล้ว ไม่พบเชื้อ จึงจะส่งตัวไปแยกแดน แล้วกักตัวที่แดนนั้นๆ อีก 5 วัน ตอนนี้เขายังอยู่ห้องเดียวกับขจรศักดิ์ แต่เจ้าหน้าที่บอกคเชนทร์ว่า ตอนแยกแดน จะอยู่คนละแดนกับขจรศักดิ์ โดยให้เหตุผลว่าต้องแยกผู้ต้องขังที่มาจากคดีเดียวกัน
ทั้งนี้คเชนทร์เคยถูกคุมขังในชั้นสอบสวนมาแล้ว 84 วัน หรือ 7 ผัด ก่อนอัยการจะยังไม่มีคำสั่งฟ้องทำให้เขาได้รับการปล่อยตัว ช่วงก่อนวันปีใหม่ในวันสิ้นปี 2564 และได้กลับบ้านไปฉลองกับครอบครัว อย่างไรก็ตามเมื่อคเชนทร์ไปฟังคำพิพากษาเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
เขาบอกกับทนายความเกี่ยวกับการถูกคุมขังซ้ำอีกรอบว่า “เบื่อมากเลยพี่ ผมไม่มีปัญหาอะไรนะ เคยเข้ามาก่อนแล้ว แต่เบื่อครับ ก่อนจะถูกศาลพิพากษา ผมอุตส่าห์หางานทำได้ เงินเดือนดีด้วย ผมทำงานที่ ศูนย์คัดแยกสินค้าได้ค่าจ้างวันละ 500 เดือนนึงก็ได้ประมาณ 13,000-15,000 ดีมากสำหรับผม”
เนื่องจากคเชนทร์เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทำให้ยังไม่มีวุฒิการศึกษามัธยมต้น เขาจึงพยายามกลับมาเรียนหนังสือ
“ผมทำงานหกวัน วันหยุดวันอาทิตย์ผมก็ไปเรียน กศน. เรียนบ้างหยุดบ้าง แต่ก็ยังไปสอบอยู่ๆ จะเอาให้จบวุฒิ ม.ต้น”
“จริงๆ แล้ววันอาทิตย์ที่ผ่านมาเนี่ย ผมต้องได้ไปเที่ยวอยุธยาแล้วนะ กศน. เค้าจัดทัศนศึกษาไปอยุธยา แต่สุดท้ายก็อดไปเลย” เขาพูดออกมาปนยิ้มๆ พร้อมแค่นหัวเราะ
คเชนทร์ยังเล่าถึงครอบครัวของเขาว่า “ผมอยู่บ้านกับพี่สาวกับพ่อ ก็เป็นห่วงพ่ออยู่ แก 60 กว่าแล้ว ยังต้องออกไปขับวินอยู่เลย อุตส่าห์หาเงินได้เดือนละเป็นหมื่นแล้วบอกให้แกเลิกวิ่งแกก็ไม่เลิก”
เขาฝากข้อความถึงคุณพ่อว่า “ดูแลตัวเองด้วยนะพ่อ ไม่ต้องคิดมากนะ”
คเชนทร์ยังสอบถามเรื่องประกันตัว ว่าจะยื่นอีกเมื่อไหร่ บอกว่าเสียดายงานที่ทำอยู่กับการเรียนใกล้จบมัธยมต้นแล้ว “อุตส่าห์ตั้งใจ”
.
ธีรภัทร: ผมไม่ได้ปาระเบิด
แก๊ป ธีรภัทร เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยเข้าเรือนจำมาก่อนในคดีที่ถูกสั่งฟ้อง โดยเขาถูกคุมขังจนครบ 7 ผัด หรือ 84 วันในขั้นตอนการสอบสวน แต่เนื่องจากอัยการไม่ได้สั่งฟ้องภายในระยะเวลาที่กำหนด เขาจึงถูกปล่อยตัวออกมา
แก๊ปบอกเล่าความเป็นอยู่ของเขาระหว่างกักตัวในเรือนจำว่า “ในห้องที่ผมนอน นอนกันอยู่ 11 คน ช่วงนี้กักตัวเลยไม่ได้ออกไปไหน มีความแออัด อาหารเรือนจำผมกินแล้วท้องเสีย มันไม่มีรสชาติ ข้าวเหมือนไม่สุก มีแต่น้ำกับผัก เนื้อโผล่มาก็เหมือนไม่สุก”
ตั้งแต่แก๊ปเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เขาเล่าว่าตัวเองร้องไห้ทุกวัน
“มันทนไม่ไหว เราไม่ได้ทำผิด แต่เราต้องเข้ามาอยู่ในนี้ แล้วยังไม่มีคำพิพากษาเลยด้วยซ้ำ ตอนที่ไปรายงานตัว ผมก็ไปตลอด ไม่เคยขาด มันก็น่าจะชัดแล้วว่าเราไม่ได้พยายามจะหลบหนีอะไรเลย
“ตอนนี้ผมเครียดมากจนบางทีก็ขอรับยาจากทางเรือนจำบ้าง เพราะมันนอนไม่ได้เลย แล้วคนอื่นๆ มีญาติมาเยี่ยม ฝากของมาให้ แต่ผมไม่มี เพราะที่บ้านผมเขาก็ไม่มี แฟนผมเขาก็ไม่ค่อยมีเงินที่จะมาซื้อจดหมายส่งคุยกัน บางทีผมก็โดนเพื่อนให้ห้องล้อว่าไม่มีใครมาหา ไม่มีใครซื้อของให้ ผมก็แอบน้อยใจแล้วก็ร้องไห้คลุมโปงอยู่ในผ้าหลายครั้ง แต่ผมก็ไม่ได้ติดใจถือสาอะไรที่เขาล้อผม”
หลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำครั้งก่อน แก๊ปไม่เคยไปร่วมม็อบอีกเลย เขาทำงานหาเงินมาโดยตลอด และไปรายงานตัวตลอด จนครั้งที่ 7 ที่ไปรายงานตัว ก็ทราบว่ามีการส่งฟ้องแล้วเรียบร้อย ปัจจุบันแก๊ปทำงาน ขับรถส่งพัสดุ โดยทำมาหลายปีแล้ว
แก๊ปบอกว่าตอนนี้เขาเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำงานหาเงินเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ แฟนและลูก เพราะพ่อของแก๊ปเกษียณแล้วและไม่ค่อยสบาย แม่เองก็ไม่ค่อยสบายเช่นกัน
“ลำพังทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว เงินเดือนที่ได้ก็ยังไม่พอที่จะดูแล การต้องเข้ามาอยู่ในนี้ ทำให้ห่วงมากครอบครัวมาก”
เขาบอกว่าตอนนี้เช่าห้องอยู่ในชั้นเดียวกัน พ่อแม่ห้องหนึ่ง แก๊ป แฟน และลูกอยู่อีกห้องหนึ่ง โดยแก๊ปเป็นคนดูแลเรื่องค่าเช่าทั้งหมด ส่วนแฟนของแก๊ปนั้นทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ รายได้ไม่มากนักและมีลูกด้วยกัน 1 คน อายุประมาณ 10 เดือน แก๊ปเล่าไปร้องไห้ปาดน้ำตาไป
“ผมอยากออกไปเลี้ยงลูก เป็นห่วงเขา”