“ไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอนในการตัดสินคดี ม.112”: การนับวันในเรือนจำของ ‘วารุณี’ เมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันตัว

16 ส.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ในคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัข โดยศาลอุทธรณ์รวมถึงศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

น้ำโบกมือทักทายขณะเปิดประตูเข้าไปในห้องเยี่ยม วันนี้เธอออกมาค่อนข้างเร็วเพราะมีเยี่ยมญาติต่อหลังจากคุยกับทนายความ

เธออัพเดทเรื่องความเป็นอยู่ให้ฟังว่า “ตอนนี้เพื่อนที่นอนข้างๆ กันย้ายไปแดนนอก เค้าเป็นคนที่คอยให้คำปรึกษาหนูมาตลอดค่ะ พอเค้าไปแล้ว หนูก็นอนเร็วขึ้นเพราะไม่รู้จะคุยกับใคร ตื่นเร็วขึ้นด้วย ตี 4 ก็ลืมตาละ”

“ช่วงนี้หนูสวดมนต์ทุกวันเลยค่ะ ตื่นแล้วก็สวดเลย วันละ 20 นาที เพื่อนๆ ต้องภูมิใจในตัวหนู (หัวเราะ) แต่ถ้ารอบนี้ไม่ได้ประกัน ก็ไม่รู้ว่าจะมีกะจิตกะใจสวดต่อรึเปล่า”

ภายหลังทนายแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ฟัง ว่าได้เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเสร็จแล้ว และจะยื่นประกันตัวอีกครั้งหลังยื่นอุทธรณ์แล้ว

น้ำบอกว่า “ก็ทั้งกลุ้มและมีความหวังกับการยื่นประกันครั้งนี้มากค่ะ เรายอมรับทุกอย่าง ทุกเงื่อนไขที่จะทำให้ถูกปล่อยตัวแล้ว แม้หนูจะรู้สึกว่าคดี ม.112 มันไม่มีมาตรฐานเลย บางคนได้ประกัน บางคนไม่ได้ประกัน บางคนรอลงอาญา มันไม่มีหลักเกณฑ์ที่หนูจะสามารถคิดคำนวณได้ว่าหนูจะรอดหรือไม่รอด เผลอๆ ทำขนาดนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รึเปล่า”

“แต่ก็ลุ้นนะคะ ยื่นประกันตอนไหนหนูก็มีความหวังตอนนั้น เหมือนเราซื้อหวยแล้วรอลุ้นทุกวันที่ 1 กับ 16 แหละค่ะ (หัวเราะ)”

น้ำยังบอกเล่าถึงสภาพจิตใจในช่วงนี้ว่าเธอยังคงทำอะไรช้าเหมือนเดิม เพราะยาที่กิน 

“ตอนนี้หนูช้ามากเลยค่ะ เพราะกินแต่ยาขั้วซึมเศร้า แต่มีวันหนึ่ง หนูได้ยินเสียงคนร้องไห้อยู่ห้อง 5 แล้วมีเพื่อนปลอบเขาว่า ทำไมจะอยู่ไม่ได้ล่ะ ทีคนอื่นยังอยู่ได้เลย หนูก็เลยคิดว่า หนูก็จะต้องอยู่ให้ได้เหมือนกัน แต่ก็เครียดแหละค่ะ เพราะหนูเป็นหัวหน้าครอบครัว อยากออกไปทำงานมากกว่า”

“ยังกินข้าวได้ค่ะ เพื่อนพยายามยัดอะไรใส่ปากตลอด (หัวเราะ)”

จากนั้นได้เล่าให้ฟังว่าหากน้องสาวได้ทำงานประจำ เธอก็เบาใจ แต่คงได้เจอน้องสาวน้อยลง

“ช่วงนี้น้องสาวติดธุระเลยไม่ค่อยได้มาเยี่ยม ไม่เจอกันหลายวันแล้ว หนูก็เลยถือโอกาสซ้อมว่า เออ ถ้าน้องได้งานประจำทำ คือหนูก็จะเบาใจขึ้นแหละ แต่ก็จะไม่ได้มาหาบ่อยๆ ก็คงจะเป็นแบบนี้ละมั้ง (ยิ้ม) แต่ยังโชคดีที่หนูมีทนายมาเยี่ยมตลอด”

น้ำขอให้ทนายความเล่าเรื่องการความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลให้ฟัง แล้วจึงให้ความเห็นว่า“ปวดหัว ยุ่งเหยิงมากเลยอะ” 

ทั้งเมื่อรู้ว่ารัฐบาลจะตัดเบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท ออก หากไม่ได้พิสูจน์ว่ามีฐานะยากจน น้ำก็ตกใจ และเห็นใจผู้สูงอายุหลายๆ คนที่อาจจะได้รับผลกระทบ โดยเธอมีความเห็นว่า “งบที่ควรตัด ก็ไม่ตัด ดันมาตัดงบที่ไม่ควรตัด แย่จริงๆ”

นอกจากนี้น้ำบอกว่าเธอได้รับจดหมายผ่านระบบออนไลน์จากคนข้างนอก 2 ฉบับ แม้ว่าจะไม่ได้ใส่นามสกุลมาก็ตาม

​.

0000000

17 ส.ค. 2566 ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีของวารุณี และยังยื่นขอประกันตัวเธออีกครั้ง โดยเป็นการยื่นเป็นครั้งที่ 4 (มีการอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาอีก 1 ครั้ง) 

ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

0000000

18 ส.ค. 2566 ทนายความเข้าเยี่ยมวารุณีอีกครั้ง น้ำยังรอลุ้นผลการประกันตัวด้วยความหวัง

“ตื่นเต้น แล้วก็เครียดมากค่ะ บอกทุกคนว่าไม่อยากคุยกับทนายเลย (หัวเราะ) เครียดจนถึงขนาดฝันว่าไปไหว้พระแก้วมรกตเลย กินยานอนหลับแล้วก็ยังตื่นทุกชั่วโมง เพิ่งได้นอนตอนตีสอง ยาวจนถึงตีห้า แล้วก็ตื่นมาสวดมนต์ต่อ เพื่อนๆ ก็มานั่งฟังหนูระบาย มาปลอบใจกัน เขาก็บอกว่าครั้งนี้น่าจะได้ออกแล้วนะ ก็ภาวนาขอให้เป็นอย่างนั้น”

“วันนี้วันที่ 51 แล้วนะ ที่หนูเข้ามาอยู่ในเรือนจำ อยู่ในนี้เก่งเลขมาก นั่งนับวันทุกวัน” น้ำเล่าถึงการนับวันรอคอยภายในเรือนจำ

“หนูอยู่ในนี้ก็ไม่ได้ทำตัวมีปัญหา คนในเรือนจำยังบอกว่าเป็นเคส 112 ที่สุภาพเรียบร้อย ก็ไม่รู้ว่าทำไมศาลถึงไม่เห็นใจ ไม่ให้หนูออกไปใช้ชีวิต ทำงานเสียภาษี

“บางคนในเรือนจำก็ไม่รู้จักมาตรา 112 หนูก็เล่าให้เค้าฟังว่า มันต้องได้รับการแก้ไขนะ เพราะใครก็ฟ้องได้ สมมติว่าหนูเกลียดพี่ หนูก็ไปค้นเฟซบุ๊กตอนพี่พูดถึงสถาบัน เอาไปแจ้งความ ไม่ก็พวกรักสถาบันฯ ไปแจ้ง

“มันมีหลายคนใช้กฎหมายข้อนี้ ในการทำลายคนที่เกลียด แล้วมันเสียเวลาชีวิตมาก การไปรายงานตัว ไปทำนู่นทำนี่ ยิ่งถูกฟ้องต่างจังหวัดที่ไกลๆ ยิ่งแย่ 

“พอเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ความเป็นอยู่ก็ไม่ดี อะไรที่ไม่เคยกินก็ได้กิน หนูเคยเห็นคนเอามาม่ามาบี้ผสมกับข้าวต้ม ใส่ผงมาม่าให้มันมีรสชาติ ทั้งที่น้ำข้าวต้มมันไม่ได้ร้อนจนต้มมาม่าได้อะ งง เพราะอยู่ข้างนอกเราก็ไม่เคยกินแบบนี้”

เมื่อถามว่าหากได้ประกันตัวไปแล้ว สิ่งแรกที่อยากทำคืออะไร เธอบอกว่า “ก็คงขอไปตั้งหลักด้วยการพักผ่อนที่ต่างจังหวัดก่อนค่ะ กลับมาก็คงหางานประจำทำ เพราะภาระเยอะ (หัวเราะ) จากนั้นก็คงเดินสายแก้บน”

0000000

ในเย็นวันเดียวกันนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

“ส่วนจำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้นกรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ และหากยังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำอาการจะไม่ทุเลาดีขึ้น จำเลยชอบที่จะร้องขอให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์” 

ปัจจุบัน (18 ส.ค.) วารุณีถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 52 วัน

X