เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 ทนายความเดินทางเข้าเยี่ยม “เอกชัย หงส์กังวาน” ภายหลังถูกศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์ข้อความเล่าประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ ทำให้เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2566 ปัจจุบันขังมาแล้ว 36 วัน
ครั้งนี้ทนายความเข้าเยี่ยมเอกชัยด้วยการพูดคุยผ่านจอภาพคอนเฟอร์เรนซ์ เพราะขณะนี้เอกชัยอยู่ระหว่างการกักกันโรคตามมาตรการของเรือนจำ เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา เขาถูกเบิกตัวไปร่วมการสืบพยานในคดีคนอยากเลือกตั้ง หรือคดี UN 62 ที่ศาลอาญา เมื่อกลับเรือนจำจึงต้องถูกกักกันโรคอย่างน้อย 5 วัน อีกครั้ง
เอกชัยมีอาการไอ และมีน้ำมูก เขาบอกว่ามีไข้นิดหน่อย จากนั้นได้ไถ่ถามข่าวสารหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องที่เวหาถูกพาตัวไปเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกในคดีส่วนตัวเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ทำให้ถูกเบิกตัวกลับมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ทันร่วมการสืบพยานคดี ม.112 ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เอกชัยยังถามถึงความคืบหน้ากรณีที่ “ศุภากร” ถูกลงโทษใส่ตรวน อยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งปัจจุบันถูกถอดออกแล้ว และยังถามเรื่องที่ “วรรณภา” ถูกย้ายตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีอีกครั้งด้วย
อย่างเคย เอกชัยชวนเราคุยเรื่องการเมือง ให้อัปเดทข่าวการเมืองให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา กรณีพรรคเพื่อไทยดึงพรรคภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาล เอกชัยมองกรณีนี้ต่างจากนักวิเคราะห์คนอื่นๆ เขามองว่าเพื่อไทยจะไปจับกับพลังประชารัฐ ไม่ใช่รวมไทยสร้างชาติแล้ว ส่วนหมอชลน่านก็จะไม่แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย
เอกชัยคาดการณ์ว่า พรรคก้าวไกลอาจจะมี สส. ที่เป็นงูเห่าไม่ต่ำกว่า 10 คน แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของพรรคเพื่อไทยอยู่อีกพักใหญ่ทำนองว่า เพื่อไทยไม่สนใจคนที่ต่อสู้มาก่อนเลย
จากสถานการณ์ช่วงนี้ทั้งหมดทั้งปวง ทำให้เอกชัยกังวลว่าคดีความจากการชุมนุมของเขาที่ขณะนี้อยู่ในชั้นตำรวจ ราวๆ 10 คดี อาจจะถูกส่งสำนวนให้อัยการเร็วๆ นี้ เพราะการเมืองได้เปลี่ยนขั้วกลับไปหาฝั่งอำนาจเดิมแล้ว
เอกชัยได้พูดถึงทักษิณด้วยว่า “ทักษิณก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีกมาตลอดนั่นแหละ บอกว่าเรื่องสุขภาพ แต่ไปตะแล๊ดแต๊ดแต๋อยู่เขมร …”
สุดท้ายเอกชัยได้ฝากข้อเขียนแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมืองไทยจำนวน 2 เรื่อง ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนเช่นเคย ได้แก่ เรื่องเวรกรรมการเมืองไทย และบทความที่ไม่มีชื่อเรื่อง เกี่ยวกับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองและสถานการณ์การโหวตนายกรัฐมนตรีที่ไม่หายุติ ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
บทความที่ 1 : “เวรกรรมการเมืองไทย”
หลายวันที่ผ่านมาภาคประชาชนเคลื่อนไหวสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี บางส่วนเคลื่อนไหวโจมตี สว. กับ พรรคเพื่อไทยที่ไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ความปลิ้นปล้อนของพรรคเพื่อไทย และความอ่อนหัดของพรรคก้าวไกล ส่งผลให้พรรคก้าวไกลพลาดเก้าอี้ประธานสภา แถมยังโหวตพิธาเป็นนายกฯ ไม่สำเร็จ แม้พรรคก้าวไกลจะดิ้นเฮือกสุดท้าย ด้วยการเสนอแก้มาตรา 272 แต่ก็สายเกินไปแล้ว
พรรคเพื่อไทยอ้างการไม่ได้รับการสนับสนุน จาก สว. และอดีตพรรคร่วมรัฐบาล กรณีการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเหตุในการฉีก MOU การปรับโครงสร้างของพรรคพลังประชารัฐด้วยการดึงนายธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมาเป็นเลขาธิการพรรค เป็นสัญญาณของการร่วมตั้งรัฐบาลชุดใหม่กับเพื่อไทย
การเลื่อนโหวตนายกฯ ครั้งแล้วครั้งเล่า พอๆ กับที่ทักษิณเลื่อนกลับไทยหลายครั้ง เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยต้องรั้งเก้าอี้นายกฯ เพื่อเป็นหลักประกันในการยื่นฎีกาขออภัยโทษอย่างชัดเจน พรรคเพื่อไทยคาดหวังให้แคนดิเดตของตนนั่งเก้าอี้นายกฯ ด้วยการจับมือพรรคพลังประชารัฐเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐบาลใหม่
ความฝันที่ใกล้เป็นจริงของพรรคเพื่อไทย อาจต้องสะดุดระเบิดพลีชีพก่อนการจากโลกด้วยมะเร็งตับของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กรณีการเลี่ยงภาษีกว่า 500 ล้านบาทของบริษัท แสนสิริ จำกัดมหาชน อาจทำให้นายเศรษฐา ทวีสินไปไม่ถึงดวงดาว แล้วพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจคว้าเก้าอี้นายกฯ แทน
บทความที่ 2 (ไม่มีชื่อเรื่อง)
หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 คนเสื้อแดงจำนวนมากถูกดำเนินคดี เช่น มาตรา 112, วางเพลิงเผาศาลากลาง ฯลฯ และพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว
ในปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อตั้งเรือนจำชั่วคราวในสโมสรตำรวจ (ถนนวิภาวดี) เพื่อคุมขังผู้ต้องหาทางการเมือง เสื้อแดงทั่วกรุงเทพฯ ที่คดียังไม่สิ้นสุด เป็นการเฉพาะ ส่วนข้อหามาตรา 112 และคดีที่สิ้นสุดแล้วจะถูกคุมขังในแดนเฉพาะในแต่ละเรือนจำนั้นๆ
เรือนจำชั่วคราวในสโมสรตำรวจเคยมีผู้ต้องขังสูงสุดกว่า 60 คน ไม่กี่เดือนต่อมา พวกเขาทยอยได้รับการประกันตัว จนเหลือเพียงราวๆ 30 คน สิ่งนั้นแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนรัฐบาลเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมีผลให้การประกันตัวในคดีทางการเมืองง่ายขึ้น
ตอนนี้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองจากม็อบ 3 นิ้ว กว่า 20 คนในเรือนจำหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นคดีมาตรา 112 และครอบครองวัตถุระเบิด ซึ่งมีทั้งที่คดีถึงที่สุดแล้วและคดีที่ยังไม่สิ้นสุด บางคนไม่เคยได้รับการประกันตัวเลย บางคนได้ประกันตัวในช่วงแรก แต่หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกก็ไม่ได้รับการประกันตัว ยังไม่นับผู้ต้องหาเสื้อแดงจากเหตุการณ์ต่อต้านรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 อีกหลายคนที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม
เร็วๆ นี้ ผู้ต้องหาทางการเมืองระดับตัวตึง 3 นิ้ว อย่าง “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และอานนท์ นำภา รวมถึงอีกหลายๆ คน จะถูกศาลพิพากษาในคดีมาตรา 112 ซึ่งล้วนเป็นคดีแรกของพวกเขา หากศาลชั้นต้นพิพากษาให้พวกเขาต้องจำคุก วีรกรรมที่พวกเขาเคลื่อนไหว ต่อต้านอำนาจนอกกฎหมายที่ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน อาจทำให้พวกเขาไม่ได้ประกันตัว
การเลื่อนโหวตนายกฯ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปอย่างล่าช้า หากประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังรั้งตำแหน่งนายกฯ รักษาการต่อไป สิ้นปีนี้อาจมีผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่ในเรือนจำกว่า 40 คน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ ในคดีทางการเมือง อย่างน้อย 19 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี 9 ราย และผู้ต้องขังในคดีสิ้นสุดแล้ว 10 ราย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง