ทนายยื่นหนังสือจี้เรือนจำธนบุรีเร่งชี้แจง กรณี ‘ศุภากร’ ถูกตรวน 24 ชม. โดยไม่ให้แก้ต่าง    

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ตั้งแต่ช่วงเวลาเช้า ทนายความเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เพื่อเข้าเยี่ยม “ศุภากร” (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อเรือนจำเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและขอหลักฐานที่เกี่ยวข้อง กรณีที่เรือนจำลงโทษศุภากรด้วยการใส่ตรวนและกักบริเวณ 24 ชั่วโมง รวมถึงไม่ให้รับของฝากจากญาติ เป็นระยะเวลา 3 เดือน สืบเนื่องมาจากการถูกเหมารวมว่า ร่วมก่อเหตุทะเลาะวิวาทผู้ต้องขังด้วยกัน เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ทนายความได้เข้าเยี่ยมศุภากร และได้รับแจ้งว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำลงโทษ 3 ประการข้างต้น มาตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2566 โดยไม่มีกระบวนสอบสวนข้อเท็จจริง และไม่เปิดโอกาสให้ศุภากรได้แก้ต่างแสดงความบริสุทธิ์ให้ตัวเอง ศุภากรยืนยันว่า เขาไม่ได้ร่วมก่อเหตุกระทำความผิดทำร้ายร่างกายหรือทะเลาะวิวาทกับผู้ใดในเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม การเข้าเยี่ยมศุภากรไม่ได้ราบรื่น ทนายความถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธในครั้งแรก ก่อนเปลี่ยนเป็นอนุญาตภายในเวลาไม่กี่นาที 

  1. ประมาณ 09.30 น. ทนายความยื่นคำร้องขอเข้าเยี่ยมศุภากร แต่ต้องนั่งรออยู่ในห้องเยี่ยมผู้ต้องขังสำหรับทนายความนานนับชั่วโมง ภายหลังทราบจากศุภากรว่า ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พยายามเจรจาขอปลดตรวนออกให้ แต่ศุภากรยืนยันว่าจะต้องเข้าพบทนายความก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอื่นๆ ต่อไป
  1. ราว 10.30 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งกับทนายความว่า ไม่สามารถเข้าเยี่ยมศุภากรในฐานะทนายความได้แล้ว เนื่องจากตอนนี้คดีความของศุภากรสิ้นสุดแล้ว เมื่อถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม ทนายความจึงเดินจากห้องเข้าผู้ต้องขังดังกล่าว
  1. ผ่านไปครู่เดียว ไม่ถึง 3 นาที เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินกลับมาเรียกทนายความ และบอกว่าสามารถเข้าเยี่ยมศุภากรได้แล้วที่ห้องเยี่ยมผู้ต้องขังสำหรับทนายความห้องเดิม ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.30 น. จนถึง 11.30 น. ทนายความจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับศุภากรและสอบถามรายละเอียดการถูกลงโทษในครั้งนี้อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง 

ข้อมูลจากปากศุภากร กรณีถูกลงโทษไม่เป็นธรรม

ศุภากรเล่าทบทวนถึงต้นเรื่องของการถูกลงโทษโดยละเอียดอีกครั้ง โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้ 

  1. เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566 เวลาช่วงประมาณ 14.00 น. ขณะนั่งอยู่กับกลุ่มเพื่อนประมาณ 8-10 คน ได้มีเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่ง (สมมติว่าคือนาย A) วิ่งมาหาและตะโกนบอกว่า ถูกคู่กรณีซึ่งเป็นผู้ต้องขังร่วมแดนด้วยกันทำร้ายมา สรุปเรื่องราวได้ว่า นาย A นั่งเล่นหมากรุกกับคู่กรณี แต่สักพักเกิดมีปากเสียงกัน จนคู่กรณีใช้เท้าเตะใส่บริเวณใบหน้าของนาย A ทำให้นาย A วิ่งกลับมาบอกกลุ่มเพื่อนว่าถูกทำร้าย
  1. กลุ่มเพื่อนที่มีศุภากรนั่งอยู่ด้วยพากันเดินไปถามคู่กรณีว่า เหตุใดจึงทำร้ายนาย A จากนั้นไม่นานได้เกิดเหตุชุลมุนและรุมทำร้ายกันขึ้น ศุภากรยืนยันกับทนายความว่า ก่อนหน้าจะเกิดเหตุชุลมุนนั้นเขาได้ปลีกตัวออกจากกลุ่มมาอยู่ด้านนอก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 10-12 เมตร แล้ว 
  1. ศุภากรยอมรับว่า ในตอนแรกเขาเดินไปกับกลุ่มเพื่อนร่วมกับนาย A จริง เพื่อไปถามสาเหตุการทำร้ายจากคู่กรณี แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการทำร้ายร่างกายผู้ใดเลยแม้แต่น้อย 
  1. ภายหลังเกิดเหตุ เรือนจำได้ประกาศเรียกชื่อผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมก่อเหตุทะเลาะวิวาทไปพบ โดยมีศุภากรและพวกรวม 8 คน ส่วนฝั่งคู่กรณีและพวกรวม 3 คน รวมทั้งสิ้น 11 คน ในวันนั้นผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดถูกลงโทษครั้งแรก โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใช้ไม้กระบองฟาด ไม่ทราบจำนวนครั้ง ส่วนศุภากรอ้างว่าตนเองไม่ได้ถูกทำโทษครั้งนั้นด้วย แต่พูดตอบด้วยน้ำเสียงที่เบากว่าเดิมและมีท่าทีหลบตา

    ทั้งนี้ ห้องเยี่ยมสำหรับทนายความที่ทั้งคู่กำลังสนทนากันนั้นไม่ได้มีความเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) อยู่หลายตัว พร้อมกับมีการจับตาของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ผ่านจอมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา 
  1. วันเดียวกัน ศุภากรและผู้ต้องขังอีก 10 คน ถูกทำโทษอีก 3 ประการด้วยกัน ซึ่งศุภากรแจ้งว่ามีกำหนดโทษนาน 3 เดือน อันได้แก่

5.1 การถูกใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ชั่วโมง

โซ่ตรวนที่ใส่นี้นับได้ 19 ข้อ หรือยาวประมาณ 1 เมตร ตรวนที่พันธนาการข้อเท้าเป็นกุญแจเท้า คล้ายกุญแจมือ อันที่จริงก่อนหน้านี้ทั้งโซ่และกุญแจเท้ามีสนิมขึ้นอยู่บ้าง แต่ศุภากรพยายามขัดทำความสะอาดให้มันแววจะได้ลดการสร้างบาดแผลให้กับข้อเท้า กระนั้นก็ยังทำให้บริเวณข้อเท้ามีผดผื่นคันเกิดขึ้นอยู่บ้าง 

5.2 กักบริเวณอยู่ในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมง

ศุภากรและผู้ต้องขังที่ถูกลงโทษพร้อมกันถูกแยกตัวไปคุมขังคนละแดน คนละห้องขัง โดยศุภากรได้อยู่รวมกับผู้ต้องขังอื่นอีกประมาณ 30 คน ที่ถูกลงโทษอยู่เช่นเดียวกัน ในห้องขังดังกล่าวไม่มีโทรทัศน์ ทุกคนต้องอยู่ภายในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมง ไม่สามารถออกไปไหนได้ ยกเว้นเมื่อมีทนายความหรือญาติติดต่อขอเข้าเยี่ยมจึงจะถูกเบิกตัวออกมา

5.3 ไม่ให้รับของเยี่ยมจากญาติ

ญาติหรือบุคคลอื่นยังสามารถซื้อของใช้และอาหารฝากเข้าไปให้ศุภากรและผู้ต้องขังที่ถูกลงโทษได้ตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะให้พวกเขาเซ็นหนังสือสละสิทธิ์ไม่รับของเยี่ยมเหล่านั้น จากนั้นของเยี่ยมจะถูกนำไปให้ผู้ต้องขังคนอื่นตามแต่ที่เจ้าหน้าที่จะมอบให้ 

การชี้แจงเบื้องต้นจากตัวแทนเรือนจำ ยันการใส่ตรวนเป็นการปฏิบัติตามมาตการทางปกครอง ยังไม่ใช่การลงโทษทางวินัย ไม่จำเป็นต้องมีกระบวนสอบสวน และแม้จะไม่ร่วมก่อเหตุโดยตรงก็แจ้งข้อกล่าวหาแก่ศุภากรด้วยเหตุที่ปรากฏภาพเดินไปพร้อมกับพวกก่อนเกิดเหตุทะเลาะวิวาท

ภายหลังเข้าเยี่ยมศุภากรแล้ว ทนายความได้เข้าพบกับ สุธรรม นาคบำรุง หัวหน้าฝ่ายนิติกรของเรือนจำ และพนม มีแฟง ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขังของเรือนจำ เพื่อพูดคุยสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ศุภากรถูกลงโทษขณะนี้ โดยทั้งสองรับมอบหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงและร้องขอหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากทนายความไว้ และจะได้เสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีต่อไป 

ทั้งนี้ ทั้งสองได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้โดยสรุปและมีใจความสำคัญว่า 

1. การลงโทษที่ศุภากรและผู้ต้องขังคนอื่นๆ จากเหตุวิวาทเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566 ด้วยการใส่ตรวน กักบริเวณ และไม่ให้รับของฝากจากญาตินั้น เป็นการลงโทษมาตรการทางปกครองที่เรือนจำมีอำนาจสั่งลงโทษบังคับใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีกระบวนสอบสวนหรือค้นหาข้อเท็จจริง และมาตรการลงโทษเหล่านี้ไม่ใช่การลงโทษทางวินัย ซึ่งจะมีกระบวนการแยกอีกต่างหาก

เจ้าหน้าที่ลงโทษทางปกครองกับศุภากรและเพื่อน โดยอ้าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 (2) ซึ่งมีใจความว่า “ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมหรืออาการส่อว่าเป็นบุคคลวิกลจริตหรือไม่สมประกอบ ซึ่งอาจจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น”

อ้างว่าตามข้อกฎหมายดังกล่าว ถ้อยคำที่ระบุว่า ‘อาจจะ’ นั้น สามารถตีความได้ว่า ผู้กระทำผิดไม่จำเป็นต้องก่อเหตุกระทำความผิดแล้วเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรณีที่มีพฤติกรรมว่าอาจจะกระทำความผิดได้ด้วย อย่างเช่นกรณีของศุภากรที่ร่วมเดินไปกับกลุ่มเพื่อนมุ่งหน้าไปหาคู่กรณี แม้ก่อนจะมีเหตุทำร้ายร่างกายศุภากรจะแยกตัวออกมาแล้วก็ตาม 

2. จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงโทษทางวินัยเกิดขึ้น เนื่องจากต้องรอเวลาตามกระบวนการ ซึ่งอาจจะค่อนข้างนาน เนื่องจากจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำแห่งนี้มีจำนวนมาก ประมาณ 3,000 คน จึงมีหลายคดีให้พิจารณา อีกทั้งในกรณีของศุภากรมีผู้ถูกกล่าวหารวมกันมากถึง 11 คน จึงต้องใช้เวลาพอสมควร

การลงโทษทางวินัยมีกระบวนการโดยสรุป ดังนี้

2.1. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะดำเนินการสอบสวนและสืบสวนข้อเท็จจริงจากผู้กล่าวหาโดยเบื้องต้น

2.2. จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการกระทำความผิดทางวินัยของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งมีกรอบระยะเวลาว่าจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้แล้วแต่กรณีไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการด้วย 

2.3. เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัยดำเนินการวินิฉัยจนได้ข้อยุติแล้ว จึงจะแจ้งบทลงโทษหรือผลว่าพ้นจากข้อกล่าวหาเป็นลำดับสุดท้าย

จนถึงขณะนี้ ผ่านไปมากกว่า 15 วันแล้ว กระบวนการทางวินัยที่ว่านั้นยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นเลย

  1. เรือนจำมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสำหรับพิจารณาการยุติโทษใส่ตรวนของผู้ต้องขังที่ถูกลงโทษทางปกครองทุก 15 วัน เป็นประจำอยู่แล้ว หากพิจารณาแล้วว่าผู้ต้องขังมีความประพฤติดี อาจมีโอกาสถูกพิจารณาให้ถอดตรวนเร็วกว่ากำหนดโทษตามปกติ รวมถึงกรณีของศุภากรและผู้ถูกกล่าวหาจากกรณีเดียวกันด้วย
  1. เจ้าหน้าที่อธิบายอย่างคลุมเครือว่า ขณะนี้ศุภากรยังมีสถานะเป็น ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ ไม่ใช่ ‘ผู้กระทำความผิด’ เมื่อทนายความถามว่า แต่เหตุใดจึงถูกลงโทษทางปกครองไปก่อนแล้ว โดยไม่มีกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ทั้งสองตอบกลับในทำนองเหตุผลคล้ายเดิม (ข้อที่ 1 และข้อที่ 2)
  1. ตามที่ทนายความได้ยื่นหนังสือต่อเรือนจำนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและบทลงโทษสำหรับศุภากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองแจ้งว่า หลักฐานหลายส่วนไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากเป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ รวมถึงกระบวนการพิจารณาโทษทางวินัยยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลและหลักฐานหลายลำดับได้ อาทิ ภาพวิดีโอจากกล้องจรปิด (CCTV) ขณะเกิดเหตุวิวาท, บันทึกรายงานพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา, บันทึกคำให้การผู้ถูกกล่าวหา เป็นต้น 

สำหรับ “ศุภากร” ปัจจุบันอายุ 24 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีมาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 ภายหลังถูกศาลชั้นต้น (ศาลอาญาธนบุรี) พิพากษาจำคุก 9 ปี ก่อนลดเหลือ 54 เดือน (ราว 4 ปี 6 เดือน) เพราะให้การรับสารภาพ ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถูกกล่าวหาว่าสร้างบัญชีเฟซบุ๊กอวตารเพื่อโพสต์ภาพและข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือนให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ ในกลุ่มเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม รวมทั้งสิ้น 9 ข้อความ ในช่วงปี 2563

ศุภากรถูกคุมขังเรื่อยมาตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ภายหลังศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ เขาและครอบครัวตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาอีก ทำให้คดีสิ้นสุดลง และศุภากรมีฐานะเป็น “ผู้ต้องขังเด็ดขาด” จนถึงปัจจุบันศุภากรถูกคุมขังมาเป็นเวลามากกว่า 2 ปี 4 เดือนแล้ว  จากการบอกเล่าของศุภากรครั้งล่าสุด หลังจากได้รับอภัยโทษตามวาระต่างๆ เขาจะถูกขังครบกำหนดโทษในวันที่ 5 พ.ย. 2566 หรืออีกประมาณ 3 เดือนเศษต่อจากนี้ 

สถานการณ์ล่าสุด: เรือนจำให้ถอดตรวนแล้ว แต่มาตรการกักบริเวณ-ไม่ให้รับอาหาร/ของฝาก ยังอยู่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 ทนายความได้ติดต่อไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรีเพื่อติดตามความคืบหน้าของการยื่นหนังสือทวงถามข้อเท็จจริงที่ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่เรือนจำได้แจ้งว่า ภายหลังทนายความยื่นหนังสือทวงถามถึงเรือนจำ ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.  คณะกรรมการได้นัดประชุมกันถึงกรณีของศุภากรและผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่ถูกลงโทษพร้อมกัน และมีมติเห็นพ้องกันว่า ศุภากรถูกลงโทษด้วยการใส่ตรวนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอดตรวนออกได้ พร้อมกับเพื่อนผู้ก่อเหตุร่วมกันอีกประมาณ 2-3 คน โดยให้ถอดออกภายในเย็นของวันที่ 3 ส.ค. นั้นทันที 

ส่วนผู้ต้องขังคนอื่นจากเหตุเดียวกันอีกประมาณ 9 คนนั้น ยังคงถูกให้ใส่ตรวนต่อไป โดยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาความประพฤติของผู้ต้องขังเหล่านั้นอีกครั้งเพื่อพิจารณาปลดตรวนต่อไป

ในส่วนมาตรการลงโทษอื่นๆ นั้นยังคงเดิม อันได้แก่ การให้ถูกคุมขังโดยกักบริเวณ และไม่ให้รับอาหารหรือของใช้ญาติซื้อฝากเข้าไปให้ 

ด้านข้อเท็จจริงและเอกสารเกี่ยวกับการลงโทษศุภากรที่ทนายความร้องขอจากเรือนจำ โดยได้ระบุแจ้งผ่านหนังสือที่ยื่นไปนั้น เรือนจำแจ้งว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการ ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ในขณะนี้ เรือนจำจะให้ข้อมูลเป็นหนังสือตอบกลับไปได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการของเรือนจำได้พิจารณาโทษความผิดทางปกครองเสร็จแล้วเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้คำตอบไม่ได้ว่ากระบวนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด บอกเพียงแต่ว่า น่าจะรออีกเป็นเวลานาน เพราะยังมีกรณีการพิจารณาทางปกครองของผู้ต้องขังอีกเป็นจำนวนมาก 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรือนจำธนบุรีลงโทษใส่ตรวน – ขังเดี่ยว ‘ศุภากร’ ผู้ต้องขังคดี พ.ร.บ.คอมฯ โดยไม่ให้โอกาสแก้ต่าง กรณีถูกเหมารวมเหตุวิวาท

X