เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ทนายความเดินทางไปเยี่ยม “ศุภากร” (สงวนนามสกุล) ปัจจุบันอายุ 24 ปี ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพตัดต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 และ 10 จำนวน 9 โพสต์ เมื่อช่วงปี 2563 ต่อมาศาลชั้นต้น (ศาลอาญาธนบุรี) พิพากษาจำคุกกรรมละ 1 ปี ก่อนลดกึ่งหนึ่ง เหลือโทษรวมทั้งสิ้น 54 เดือน (ราว 4 ปี 6 เดือน) ทำให้ศุภากรถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา วันที่ 10 มี.ค. 2564 มาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ทนายความได้รับแจ้งจากแม่ของศุภากรว่าได้เดินทางไปเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำและได้สังเกตเห็นว่าลูกชายต้องใส่ตรวนที่ขาทั้งสองข้าง เมื่อสอบถามถึงสาเหตุ เขาปฏิเสธที่จะให้คำตอบ และบอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าจะขอเล่าให้ทนายความฟัง เพราะกังวลว่าหากเล่าให้แม่ฟังแล้วจะเป็นทุกข์ใจ หลังทนายความได้รับการแจ้ง จึงได้เดินทางไปเยี่ยมศุภากร
จากการเข้าเยี่ยมของทนายความ ทำให้ทราบว่าศุภากรถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำพิเศษธนบุรีลงโทษให้ใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ชั่วโมง ถูกกักบริเวณอยู่ในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมง และยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ญาติซื้อของใช้หรืออาหารเข้าเยี่ยมอีกด้วย การลงโทษดังกล่าวมีกำหนด 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2566 เป็นต้นมา โดยมีสาเหตุมาจากการถูกเหมารวมว่าร่วมก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนลงโทษเรือนจำไม่ได้ดำเนินการสืบสวนและสอบสวนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุวิวาทต้นเรื่อง ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาอย่างศุภากรและผู้ต้องขังรายอื่นได้แก้ต่างให้กับตัวเอง ศุภากรยืนยันว่าตนเองไม่ได้ร่วมก่อเหตุวิวาท เพราะก่อนจะเกิดเหตุชุลมุนได้ปลีกตัวออกมาก่อนแล้ว จึงเห็นว่าการลงโทษครั้งนี้นั้นไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
บันทึกเยี่ยมจากทนายความ
เสียงโซ่เหล็กลากครูดกระทบพื้นเป็นจังหวะ สักครู่เราจึงค่อยเห็นตัวศุภากรเดินเยื้องย้างตามมาและค่อยๆ นั่งลงบนเก้าอี้ ณ จุดที่จัดสรรให้ญาติได้เข้าเยี่ยม
เขานั่งลงด้วยความเหนื่อยหอบ ตอนนี้มีเพียงแผ่นกระจกใสบางๆ กั้นเราทั้งสองไว้ เราสังเกตว่าเขามีสีผิวที่คล้ำขึ้น ทั้งรูปร่างก็ยังผอมบางลงจากเดิมพอสมควร เราไม่รอช้ารีบยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาและเริ่มต้นทักทายกับศุภากร
ศุภากรเล่าว่า ตอนนี้เขาถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำลงโทษอยู่ ถูกเหมารวมว่าร่วมก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ต้องขังในเรือนจำด้วยกันเมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และได้เล่าเหตุการณ์โดยสรุปให้ฟังว่า
วันนั้นเป็นเวลาพักผ่อนตามปกติ เขานั่งคุยล้อมวงอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่โต๊ะตัวหนึ่ง อยู่ๆ มีเพื่อนคนหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่นมาหา และตะโกนบอกทำนองว่า ‘กูถูกต่อยมา ช่วยกูด้วย’ เมื่อเพื่อนๆ ได้ยินแบบนั้นก็ได้พากันเดินไปตามหาตัวคู่กรณี เปิดฉากเจรจากันสักครู่หนึ่งก็เริ่มมีปากเสียงที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ศุภากรบอกว่าตอนนั้นเห็นท่าไม่ดี จึงค่อยๆ ปลีกตัวออกจากจุดดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มเพื่อนของศุภากรและกลุ่มผู้ต้องขังคู่กรณีก็ได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทและตะลุมบอนกัน
จากเหตุการณ์ข้างต้น กล้องวงจรปิดของเรือนจำสามารถบันทึกไว้ได้ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำมาใช้เอาผิดกับผู้ต้องขังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุวิวาทครั้งนั้นทั้งหมด รวมไปถึงศุภากรด้วย แม้ว่าเขาจะอ้างว่าไม่ได้ลงมือชกต่อยคู่กรณีก็ตาม
ศุภากรและเพื่อนผู้ต้องขังถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลงโทษ 3 อย่างด้วยกัน มีกำหนดโทษเป็นเวลานาน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2566
1. ถูกให้ใส่โซ่ล่ามและตรวนที่ขาทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ห่วง
ศุภากรถูกให้ใส่ตรวน (ห่วงเหล็ก) ที่ขาทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ห่วง แต่ละห่วงเป็นเหล็กกลมหนาประมาณ 1 ข้อนิ้ว หนักข้างละประมาณ 0.25 กิโลกรัม ระหว่างตรวนทั้งสองข้างถูกร้อยด้วยโซ่เหล็กยาวประมาณครึ่งวาได้ หนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม
โซ่และตรวนเป็นเหล็กกล้าที่ยังดูใหม่ มีความแวววาวให้ได้เห็นอยู่ ไม่ขึ้นสนิม การถูกพันธนาการเช่นนี้ทำให้เดินลำบาก น้ำหนักของโซ่ตรวนจะถ่วงลากตัวอยู่ตลอดเวลา เวลาเคลื่อนไหวโซ่ตรวนจะครูดกระทบกันเสียงดัง ตรวนยังสามารถสร้างแผลและรอยช้ำ อันเกิดจากการเสียดสีที่บริเวณข้อเท้าหรือตาตุ่มอีกด้วย เวลาอาบน้ำจะรู้สึกแสบมาก
(ภาพตัวอย่างเส้นโซ่-ตรวน และน้ำหนักโดยประมาณ)
2. ถูกกักบริเวณ 24 ชั่วโมง
ศุภากรถูกแยกตัวไปคุมขังที่ห้องขังหนึ่ง ร่วมกับผู้ต้องขังที่กำลังถูกลงโทษเช่นกัน แต่ไม่ใช่จากเหตุคนเดียว ในห้องมีประมาณ 30 คน ศุภากรและทุกคนถูกกักบริเวณให้อยู่เฉพาะในห้องขังเท่านั้น ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เว้นแต่จะมีญาติหรือทนายความเข้าเยี่ยม
3. ถูกสั่งห้ามไม่ให้ญาติฝากของใช้หรืออาหารเข้าเยี่ยมเด็ดขาด
ปกติแล้วญาติสามารถซื้อสิ่งของและอาหารที่เรือนจำมีขายเข้าไปให้ผู้ต้องขังได้ เช่น เสื้อยืด สบู่ ผงซักผ้า กาแฟซอง ปลากระป๋อง อาหารตามสั่ง หรือเมนูอาหารที่เรือนจำมีให้สั่งได้
หากผู้ต้องขังคนใดไม่มีญาติซื้อให้ก็จะต้องใช้ของใช้โควตาที่เรือนจำแจกให้ และจะต้องกินอาหารที่เรือนจำทำให้กิน ซึ่งบางครั้งของใช้จำเป็นก็หมดหรือหายก่อนที่จะถึงรอบแจกจ่ายครั้งต่อไป โดยเฉพาะของใช้จำเป็นอย่างสบู่ ผงซักผ้า ยาสีฟัน ครีมโกนหนวด เป็นต้น ส่วนอาหารในเรือนจำผู้ต้องขังส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติไม่ค่อยถูกปาก มีเนื้อสัตว์น้อย บางครั้งบางวัตถุดิบไม่สุกก็มีเหมือนกัน
ดังนั้นของใช้และอาหารที่ญาติซื้อฝากเข้าไปให้ จึงมีความสำคัญอย่างมากในแง่ของการช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิตและช่วยบรรเทาความทุกข์ของการถูกคุมขังให้มีรอยยิ้มได้บ้าง
เป็นเวลาครึ่งเดือนแล้วที่ศุภากรถูกลงโทษ โดยยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุวิวาทต้นเรื่องแม้แต่น้อย จึงรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อย่างมาก โดยมีเหตุผลประกอบ 3 ประการ ได้แก่
1. ก่อนลงโทษ เรือนจำไม่ได้มีกระบวนการสืบเสาะข้อเท็จจริง สืบสวนและสอบสวน ทำให้ศุภากรไม่มีโอกาสแก้ต่างให้กับตัวเอง เรือนจำอ้างว่ากระบวนการสอบสวนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องรอเวลาไปก่อนตามลำดับคิว ซึ่งจนถึงตอนนี้เรือนจำก็ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการใดๆ เลยแม้แต่น้อย แต่ลงโทษไปก่อนแล้ว
ศุภากรคาดว่าอาจจะรอเวลานานถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้น เรือนจำจึงจะเริ่มกระบวนสืบสวนและสอบสวนกรณีวิวาทต้นเรื่อง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่มีประโยชน์ใดแล้ว เพราะเป็นภายหลังครบกำหนดการถูกลงโทษแล้ว 3 เดือนแล้ว
2. เรือนจำลงโทษโดยการอ้างระเบียบของกรมราชทัณฑ์ และให้เหตุผลว่า “แม้จะไม่ได้เป็นผู้ลงมือก่อเหตุโดยตรง แต่เป็นเพียงกองเชียร์หรือผู้สนับสนุนก็มีความผิดด้วยเช่นกัน” และเป็นอำนาจของราชทัณฑ์ที่จะสามารถลงโทษได้ โดยใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เป็นหลักฐานเอาผิด
3. เรือนจำปฏิเสธไม่ให้ทนายความตรวจสอบดูหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิดที่ใช้เป็นหลักฐานเอาผิดกับศุภากร และไม่ให้เหตุผลประกอบที่รับฟังได้
ศุภากรร้องขอผ่านทนายความว่า ช่วยมอบความเป็นธรรมให้กับเขาด้วย จริงๆ แล้วเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนเขาก็จะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้ว เขาเลือกที่จะรับโทษต่อไปเงียบๆ ก็ได้ แต่ศุภากรเลือกที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งรู้ดีว่าอาจเสี่ยงทำให้วันพ้นโทษเลื่อนออกไปไกลขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
สำหรับ “ศุภากร” ปัจจุบันอายุ 24 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีมาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 ภายหลังถูกศาลชั้นต้น (ศาลอาญาธนบุรี) พิพากษาจำคุก 9 ปี ก่อนลดเหลือ 54 เดือน (ราว 4 ปี 6 เดือน) เพราะให้การรับสารภาพ ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถูกกล่าวหาว่าสร้างบัญชีเฟซบุ๊กอวตารเพื่อโพสต์ภาพและข้อความหมิ่นฯ สถาบันกษัตริย์ ในกลุ่มเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม รวมทั้งสิ้น 9 ข้อความ ในช่วงปี 2563
ศุภากรถูกคุมขังเรื่อยมาตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ในฐานะ “ผู้ต้องขังเด็ดขาด” เนื่องจากเขาไม่ประสงค์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป จนถึงปัจจุบันศุภากรถูกคุมขังมาเป็นเวลามากกว่า 2 ปี 4 เดือนแล้ว จากการบอกเล่าของศุภากรครั้งล่าสุด คดีของเขาจะครบกำหนดโทษในวันที่ 5 พ.ย. 2566 หรืออีกประมาณ 3 เดือนเศษต่อจากนี้
หมายเหตุ – ภายหลังทนายความเดินทางเข้าเยี่ยมศุภากรครั้งล่าสุดในวันที่ 26 ก.ค. 2566 ทนายความได้สอบถามข้อเท็จจริงศุภากรอย่างละเอียดอีกครั้ง ปรากฎว่าข้อมูลได้คลาดเคลื่อนไปบางส่วน จึงขออนุญาตแก้ไข จาก “การลงโทษขังเดี่ยว” ไปเป็น “การกักบริเวณให้อยู่ในห้องขังตลอด 24 ชม.” ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นที่ถูกลงโทษเช่นกัน โดยในห้องดังกล่าวมีผู้ต้องขังอยู่รวมกันประมาณ 30 คนได้ ข้อมูลอื่นๆ คงเดิม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
“ศุภากร” กับชีวิตที่พลิกผันหลังถูกพิพากษาและจองจำคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ