วันที่ 29 ม.ค. 63 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ หรือ “ดาบชิต” อดีตแกนนำ นปช. แดงเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ารายงานตัวกับทางพนักงานอัยการ ในคดีที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวหาตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กแซวทหาร กรณีจัดเวทีคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ว่าได้ร่วมจัดกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง “Walk to Vote” ที่ประตูท่าแพเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62
เมื่อเข้ารายงานตัว เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการได้ระบุว่าทางอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว เพราะทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ไม่ได้มีความเห็นแย้งกับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการก่อนหน้านี้ ทำให้คดีเป็นอันสิ้นสุดลง
ต่อมา ทางอัยการเจ้าของสำนวนยังได้นัดหมายชี้แจงกับผู้ต้องหาทั้งสองคน โดยแจ้งเหตุที่สั่งไม่ฟ้องเพราะเห็นว่าเนื่องจากข้อเท็จจริงของคดีและข้อความตามโพสต์ ไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหา ส่วนผู้ต้องหาสามารถไปคัดถ่ายสำเนาคำสั่งไม่ฟ้องคดีได้ที่สถานีตำรวจภูธรแม่ปิงต่อไป
ในการเข้ารายงานตัววันนี้ ยังมีนางภัควดี วีระภาสพงษ์ และนายชัยพงษ์ สำเนียง อดีตจำเลยในคดีชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ศาลได้เคยมีคำสั่งยกฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61 ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้งสองคน พร้อมกับนำตุ๊กตาแพะสีขาวมามอบให้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนกำลังใจต่อ “แพะ” ผู้บริสุทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมด้วย
สำหรับเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62 ที่มีการรวมตัวกันแสดงออกโดยกลุ่มนักศึกษา-ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณประตูท่าแพในชื่อกิจกรรม “Walk to Vote” เพื่อคัดค้านเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และเรียกร้องให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62 ในวันจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 จัดเวทีคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึกในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการแจ้งการจัดชุมนุม และมีการใช้เครื่องขยายเสียงในการจัดเวทีคู่ขนานขณะทำกิจกรรม ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงได้เข้าไปถ่ายภาพร่วมกับเวทีของเจ้าหน้าที่ทหาร
ภายหลังจากกิจกรรมดังกล่าว มณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) โดย ร.อ.เสริมศักดิ์ ผลงาม ได้ไปแจ้งความกล่าวหาทั้งสองคนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ปิง จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดย รศ.ดร.ปิ่นแก้ว ถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62 ว่า “ชาวเชียงใหม่ร่วมกับ มทบ.33 Walk to Vote ดนตรีดี เวทีพร้อม” พร้อมโพสต์ภาพป้ายกิจกรรมผู้ชุมนุม Walk to Vote ทับกับการจัดเวทีของเจ้าหน้าที่ทหาร
ส่วนนายหาญศักดิ์ ถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62 ว่า “ขอบคุณท่าน ผบ.มทบ.33 ที่ช่วยส่งวงดนตรีสันทนาการมาร่วมกิจกรรม Walk To Vote ไม่เลื่อนเลือกตั้ง ทำให้การแสดงออกของชาวเชียงใหม่ได้รับความครึกครื้นพอสมควร ขอบคุณครับ”
ผู้กล่าวหาอ้างว่าการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำให้ประชาชนทั่วไปหลงผิด ในภาพที่ไม่เป็นความจริง เพื่อเอาเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว มทบ.33 ได้ตั้งจุดรับบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ทำให้ประชาชนที่ได้รับข่าวที่บิดเบือนนี้ ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมที่ มทบ.33 จัดขึ้น และหยุดการช่วยเหลือบริจาคสิ่งของให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งการบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ผู้ประสบภัย และมทบ.33 ได้รับความเสียหายโดยตรง
ภาพกิจกรรม Walk to Vote ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62
วันที่ 4 มิ.ย. 62 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนแยกเป็นสองคดี เนื่องจากเป็นคนละโพสต์ข้อความกัน โดยแจ้งในข้อหา “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่ออัยการจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 5 ก.ย. 62
เมื่ออัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณาสำนวนคดีแล้ว ก็ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองคน เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 62 แต่เนื่องจากความเห็นของพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นแย้งกัน จึงต้องส่งสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งล่าสุดผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ไม่ได้มีความเห็นแย้งกับทางอัยการ คดีจึงถือเป็นอันสิ้นสุดลง โดยใช้เวลานับตั้งแต่การแจ้งข้อกล่าวหากระทั่งคดีสิ้นสุดนี้ รวมเกือบ 8 เดือน
ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่าในการแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโดยใช้ตัวบทตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าวใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 แล้ว เป็นความผิดว่า “ทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
มทบ.33 แจ้งความพ.ร.บ.คอมฯ “อาจารย์มช.-แกนนำเสื้อแดง” เหตุโพสต์แซวทหารร่วมกิจกรรม Walk to Vote
นักวิชาการนิติศาสตร์ให้การคดีโพสต์แซวทหาร ยันเจตนาพ.ร.บ.คอมฯ ไม่ได้ใช้กับการแสดงออกทางการเมือง
ตร.เห็นควรสั่งฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ คดีอาจารย์ มช.- อดีตแกนนำเสื้อแดง โพสต์แซวทหารร่วม “Walk to Vote”
อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาจารย์ มช.- แกนนำเสื้อแดง โพสต์แซวทหาร แต่ยังต้องรอความเห็นตร.ภาค 5