เพื่อไทยต้องไม่หักหลังคนเสื้อแดง: สารจาก ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ในฐานะคนเสื้อแดงผู้ถูกจองจำ

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2566 ศาลอาญาได้เบิกตัว “เอกชัย หงส์กังวาน” จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมการสืบพยานโจทก์ในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเดินต่อเนื่องไปยังหน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2561 หรือคดี UN62

ปัจจุบันเอกชัยถูกคุมขังในฐานะ “ผู้ต้องขังเด็ดขาด” อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2566 ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 1 ปี ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) จากการโพสต์เล่าประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย

เรือนจำแจ้งเอกชัยว่า เขามีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 4 ก.พ. 2567 หรืออีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเคยถูกคุมขังในคดีนี้มาแล้ว 1 ครั้ง ระหว่างฎีกา เป็นเวลา 154 วัน (ราว 5 เดือน) ระหว่างวันที่ 19 เม.ย. – 19 ก.ย. 2565 

ภาพจากไข่แมวชีส



บันทึกจากห้องพิจารณาคดี

ณ ห้องพิจารณาคดี 913 เอกชัยเป็นจำเลยคนเดียวที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีในวันนี้ จำเลยคนอื่นๆ อีก 12 คนที่เหลือ ศาลอนุญาตให้พิจารณาลับหลังตั้งแต่เริ่มมีการสืบพยานนัดแรกๆ แล้ว

เวลาราว 08.40 น. เอกชัยปรากฏตัวในชุดผู้ต้องขัง สวมเสื้อแขนสั้น คอกลม สีน้ำตาลอ่อน เสื้อด้านหลัง บริเวณคอเสื้อมีเลข 4 เขียนไว้ด้วยปากกาหรือน้ำยาลบคำผิดสีขาว ซึ่งเป็นตัวเลขบ่งบอกแดนคุมขังตอนนี้  ส่วนท่อนล่างเอกชัยสวมกางเกงขาก๊วยสีแดงเลือดหมูสีซีดๆ ซึ่งเขาม้วนทบขากางเกงขึ้นมาจนอยู่เหนือเข่าแล้วเพื่อให้เดินได้สะดวก ส่วนเท้าเปลือยเปล่า และถูกใส่กุญแจเท้าไว้ด้วย

เอกชัยนั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวหน้าสุด แถวฝั่งซ้ายของห้องพิจารณาคดี เก้าอี้ตัวหลังถัดจากเขามีเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 2 คน นั่งประกบอยู่ด้วย เมื่อเราพบกัน ทักทายกันไม่ทันไร เอกชัยก็ชิงพูดว่า “พี่หิวน้ำมาก ขอหาน้ำมาให้สักขวดได้ไหม” 

ไม่นานเรากลับมาพร้อมยื่นน้ำเปล่าและน้ำมะพร้าวให้อย่างละขวด แกบอกว่าหิวน้ำมาก ตั้งแต่ถูกเบิกตัวออกมาเช้านี้ยังไม่ได้กินน้ำเลย เมื่อเช้าซื้อโจ๊กกินในเรือนจำแล้วก็รีบออกมาเลย เอกชัยพูดพลางยกขวดน้ำดื่มหลายอึกเพื่อบรรเทาความกระหาย

พอดื่มน้ำจนพอใจ แกรีบร้อนถามความคืบหน้าทางการเมืองทันที

“8 พรรคร่วมเดิม พรรคไหนจะยังอยู่กับก้าวไกลบ้าง”
“ทำไมเลื่อนวันโหวตเลือกนายกฯ อีกแล้ว”
“ชัดเจนแล้วใช่มั้ยว่าเพื่อไทยฉีก MOU แยกกับก้าวไกล”

ฯลฯ

เราบอกว่า ใจเย็นๆ นะพี่ แล้วค่อยๆ ตอบแกไปทีละประเด็น เพราะเข้าใจว่าในเรือนจำจะไม่เปิดรายการข่าวให้ผู้ต้องขังดูเลย ข่าวสารบ้านเมืองจะถูกอัปเดทให้เป็นปัจจุบันก็ต่อเมื่อได้รับทราบจากผู้ที่เข้าเยี่ยม หรือได้ถูกเบิกตัวออกมาศาลอย่างวันนี้

“พี่อึดอัดใจมาก หยุดยาวหลายวัน ทนายก็เข้าไปเยี่ยมไม่ได้ มีเรื่องอยากเล่าหลายเรื่องเลยเนี่ย”

แล้วแกก็บอกกับเราว่า ตั้งใจอยากจะส่งสารออกมาให้คนข้างนอกเผยแพร่เป็น ‘บทความ’ ให้ได้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อทนายเข้าเยี่ยมครั้งล่าสุด เอกชัยก็ฝากข้อเขียนคำถามต่อดุลยพินิจการคำนวณโทษที่เขาไม่เห็นด้วยและอยากให้เผยแพร่

“วันนี้พี่ก็มีเรื่องอยากเล่า เริ่มเลยมั้ย …” จากนั้นเอกชัยจึงเริ่มเล่าเรื่องที่แกอยากให้เผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งแกบอกว่าได้เรียบเรียงไว้ในใจตั้งแต่ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาแล้ว 


ข้อเขียนนี้เอกชัยตั้งชื่อให้ว่า “เพื่อไทยต้องไม่หักหลังคนเสื้อแดง” 

ทักษิณ ชินวัตรพยายามกลับไทยหลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งต้องแลกกับการสูญเสียที่ไม่คุ้มค่า

ครั้งที่ 1 ช่วงการชุมนุมที่ยืดเยื้อของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 เขาประกาศบนเวทีการชุมนุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า “ถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายการชุมนุม เขาจะกลับไทยทันที” แต่เมื่อศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยบาดเจ็บนับพัน เขาก็ไม่กลับมา

ครั้งที่ 2 การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ (พ.ศ. 2555 – 2556) เพื่อไทยนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสู่รัฐสภา เพื่อนิรโทษกรรมให้กับคดีที่เกิดจากการชุมนุมของ นปช. แรกๆ มีเพียงการนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง แต่ประชาธิปัตย์ป่วนการประชุมรัฐสภา จนทำให้ร่าง พ.ร.บ. นี้ล่มในปี 2555


ต่อมา เพื่อไทยดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสู่การรัฐสภาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 แต่มีการสอดไส้เพื่อรื้อคดีระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ จนนำไปสู่การสลายการชุมนุมของ กปปส. และจบลงด้วยการยุบสภาฯ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการรัฐประหารของคณะ คสช.

ครั้งที่ 3 ก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ทักษิณประกาศจะกลับไทยก่อนวันเกิดของเขา (26 ก.ค. 2566) จนเกิดกระแสข่าวลือการจับมือระหว่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ จนทำให้ก้าวไกลชนะการเลือกตั้งอย่างเหลือเชื่อ

ครั้งที่ 4 ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าเขาจะกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เพื่อรอยื่นฎีกาขออภัยโทษ การแตกหักระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลยิ่งตอกย้ำข่าวลือการจับมือระหว่าง ‘เพื่อไทย’ และ ‘พลังประชารัฐ’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลายปีที่ผ่านมาคนเสื้อแดงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อต่อต้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เพื่อไทยต้องไม่ทรยศคนเสื้อแดงด้วยการจับมือกับพรรคการเมืองที่หนุนฝ่ายเผด็จการ 

อุปสรรคการฎีกาขออภัยโทษของทักษิณ

เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ‘เตรียมพื้นที่เฉพาะ’ เพื่อรอทักษิณตั้งแต่ก่อนที่ผมจะเข้าเรือนจำในเดือนที่ผ่านมา  เขาคงไม่ได้ลงแดนเหมือนผู้ต้องขังทั่วไป แม้ผมจะรออยู่เรือนจำเดียวกับเขา แต่ก็คงไม่มีโอกาสได้พบเขา และเส้นทางที่เขาหวังจะใช้ชีวิตในเรือนจำเพียง ‘ช่วงสั้นๆ’ เพื่อรอฎีกาขออภัยโทษอาจเต็มไปด้วยอุปสรรค

กระบวนการฎีกาขออภัยโทษต้องผ่านกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ทว่าตอนนี้ยังไม่มีการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบันยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการตอบสนองฎีกาขออภัยโทษแบบเร่งด่วนนี้ คงจะต้องรออธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่ในฤดูโยกย้ายปลายเดือนกันยายนที่จะถึง

แม้คดีที่ประชาชนฟ้องคดีทักษิณ 10 คดี จะสิ้นสุดลงด้วยการพิพากษาให้จำคุก 5 ปี โดย 1 คดีหมดอายุความแล้ว (คดีที่ดินรัชดาฯ) ดังนั้น 4 คดีที่เหลือจึงมีโทษจำคุกรวมกัน 10 ปี หากระหว่างนี้ทักษิณถูกจำคุกในเรือนจำเพื่อรอฎีกาขออภัยโทษแล้วมีการฟ้องคดีอาญาใหม่จากประชาชนหรือบุคคลอื่นเพิ่มอีก ก็จะทำให้ขาดคุณสมบัติในการยื่นฎีกาขออภัยโทษทันที

สารพัดนักร้อง ศปปส. ดาหน้าเตรียมใช้กลไกขององค์กรอิสระเพื่อขัดขวางการยื่นฎีกาขออภัยโทษอันอาจทำให้ฎีกานี้มีปัญหาได้ ในอดีตมีการให้อภัยโทษคดีมาตรา 112 หลายคดี แต่ไม่เคยปรากฏหลักฐานการให้อภัยโทษคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีหลักประกันว่าจะมีการอภัยโทษกับเขา

เป็นไปไม่ได้เลยที่ทักษิณจะกลับไทยภายในเดือนนี้ เดี๋ยวก็รู้ว่าระหว่าง “ชูวิทย์” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ใครกันแน่ที่ “เพ้อเจ้อ”


เอกชัยเล่าข้อเขียนข้างต้นให้เราจดลงสมุดตามจนเสร็จ แล้วก็ยังแสดงความผิดหวังต่อท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่ออีก ในฐานะอดีต “คนเสื้อแดง” เขาไม่เห็นด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายวันมานี้ที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU หันหลังให้กับก้าวไกล ไปจัดตั้งรัฐบาลของตัวเองกับพรรคร่วมที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นพรรคสืบทอดเผด็จการ

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2554 เอกชัยถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นคดีแรกในชีวิต จากการขายแผ่นซีดีสารคดีเกี่ยวกับราชวงศ์ไทยของสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย มาจำหน่ายในพื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ท้องสนามหลวง นอกจากนั้นเขายังได้ปรินท์เอกสารของเว็บไซต์วิกิลีกส์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับราชสำนักไทยมาจำหน่ายด้วยในราคาชุดละ 20 บาท 

คดีข้างต้นนี้ทำให้เขาถูกคุมขังตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก โดยไม่ได้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2556 แต่เขายังต่อสู้คดีไปจนถึงชั้นฎีกา จนวันที่ 9 ต.ค. 2558 ศาลฎีกามีพิพากษาให้เอกชัยต้องโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน เขาจึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือน พ.ย. 2558 หลังถูกจำคุกมาครบกำหนดโทษ

เอกชัยเล่าต่อว่า ตอนนี้เขาถูกคุมขังอยู่แดน 4 อยู่กับผู้ต้องขังคดีการเมือง 2 คน คือ “มาร์ค” ชนะดล และ “แน็ค” ทัตพงศ์ เขาเล่าถึงทั้งสองว่า ยังสบายดี ปรับตัวอยู่ในเรือนจำได้แล้ว ไม่มีเรื่องน่าเป็นห่วงอะไรมาก

หากกลับไปเอกชัยจะถูกแยกตัวเพื่อกักกันโรคเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วันก่อน และเมื่อถึงรอบจำแนกลงแดนในทุกวันศุกร์ ถึงจะได้กลับไปอยู่ร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ ตามปกติ  

ชีวิตในเรือนจำของเอกชัย ตอนกลางวันเขาจะทำหน้าที่เฝ้าห้องสมุด เพราะชอบมีผู้ต้องขังแอบไปฉีกหน้ากระดาษเอาไปมวนสูบขี้โย เราถามว่า “แสดงว่าพี่คงใช้เวลาอ่านหนังสือเยอะอยู่ใช่มั้ย” แกตอบว่า หนังสือมีแต่เก่าๆ ทั้งนั้น จะอ่านเข้าไปได้ไง แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือที่ล้าหลังด้วย

เราพูดต่อว่า “อยากอ่านหนังสืออะไรเป็นพิเศษมั้ย เราอาจจะส่งเข้าไปให้ได้นะ” พอแกได้ยินก็อุทานว่า โอ้ย ไม่ได้หรอก เขาไม่ยอมให้ส่งเข้ามาหรอก ถึงส่งเข้ามาได้ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับ 

เอกชัยยังพูดไปถึง “จดหมาย” ด้วยว่าถูกคัดเลือกโดยเจ้าหน้าที่เหมือนกัน จดหมายบางฉบับส่งออกไปไม่ถึงคนอ่าน และบางฉบับจากคนข้างนอกเอกชัยก็ไม่ได้รับเหมือนกัน 

สุดท้าย การสืบพยานในคดีที่เอกชัยถูกเบิกตัวมาวันนี้เสร็จสิ้นภายในครึ่งเช้า ในเวลาประมาณ 11.30 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงพาตัวเขาลงไปที่ห้องคุมขังใต้ถุนศาลทันที 

“อย่าลืมซื้อข้าวกะเพราให้พี่นะ” เอกชัยพูดก่อนเดินออกจากห้องไป 

มื้อเที่ยงวันนี้เราจึงจัดการซื้อเมนูอาหารตามที่แกบอกไว้ พร้อมกับน้ำและขนม ฝากเข้าไปให้ในห้องขังใต้ถุนศาล และเมื่อถึงเวลาประมาณ 14.00 น. เอกชัยก็ถูกพาตัวกลับเรือนจำ

คดี UN62 นี้ ยังมีนัดสืบพยานต่อไปในวันที่ 13 ก.ย. 2566 นี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา “เอกชัย หงส์กังวาน” คดี พ.ร.บ.คอมฯ กรณีโพสต์เล่าประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำชายเมื่อปี 60

X