ยกฟ้อง “พรชัย-ชลธิชา-โชคดี” คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุ #ม็อบ6มีนา64 หน้าศาลอาญา ชี้ไม่มีพยานโจทก์ยืนยันว่าทั้งสามเข้าร่วมชุมนุม

วันที่ 7 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรม 3 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ จากการเข้าร่วมในกิจกรรม #ขยะในพระปรมาภิไธย หรือ #ม็อบ6มีนา ในวันที่ 6 มี.ค. 2564 บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ

คดีนี้มีจำเลยจำนวน 3 คน ได้แก่ 1. พรชัย (สงวนนามสกุล) 2. “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ และ 3. “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว

ที่มาของคดีนี้ เกิดจากการกิจกรรม #ขยะในพระปรมาภิไธย หรือ #ม็อบ6มีนา ในวันที่ 6 มี.ค. 2564 จัดขึ้นโดยกลุ่ม REDEM ซึ่งนัดรวมตัวกันบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เพื่อเดินขบวนไปยังศาลอาญา รัชดาฯ จุดประสงค์เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ นําขยะไปทิ้งหน้าศาลอาญา พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ต่อมา พ.ต.ท.ศักดินาถ หนูฉ้ง สารวัตร (สอบสวน) สน.พหลโยธิน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสามคนในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 และ 24 มิถุนายน 2564 ตามลำดับ

สำหรับพฤติการณ์ในคดี  มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ผู้ชุมนุมของกลุ่ม REDEM ได้รวมตัวกันบริเวณแยกลาดพร้าว มีการจัดกิจกรรมแสดงดนตรี กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. กลุ่มมวลชนดังกล่าวได้ลงพื้นผิวจราจร ทําให้ประชาชนเกิดความไม่สะดวกที่จะใช้ทางสาธารณะ โดยตั้งแถวเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวมุ่งหน้าสี่แยกรัชโยธิน เดินไปตามถนนรัชดาภิเษก ไปยังศาลอาญา และผู้ชุมนุมของกลุ่ม REDEM ประมาณ 1,700 คน ได้มีการชุมนุมอยู่หน้าศาลอาญา และทํากิจกรรมนําขยะไปทิ้ง และเผาขยะเป็นเชิงสัญลักษณ์

ตำรวจอ้างว่า การร่วมชุมนุมหรือทํากิจกรรมดังกล่าวข้างต้น เป็นการทํากิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจํานวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันโดยง่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมีการสืบพยานต่อสู้คดีไปทั้งหมด 3  นัด ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2566

การอ่านคำพิพากษาเกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 โดยจำเลยทั้งสามเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามเวลาที่ศาลได้นัดหมายเอาไว้ 

ต่อมาเมื่อเวลา 09.25 น. ศาลออกนั่งพิจารณาและเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความสรุปได้ว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือไม่

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพนักงานตำรวจซึ่งเข้าไปดูแลในวันเกิดเหตุ โดยก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมโพสต์เชิญชวนและนัดรวมตัวกันบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เพื่อเดินขบวนไปยังศาลอาญา รัชดาฯ แต่เนื่องจากไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เป็นผู้พบเห็นจำเลยทั้งสามในที่ชุมนุมด้วยตนเอง อีกทั้งยังไม่มีพยานหลักฐานที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ภาพที่โจทก์นำมาเป็นภาพของจำเลยทั้งสามจริง

เมื่อไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลในภาพเป็นจำเลยทั้งสามจริงหรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในทุกข้อหา


จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-65 คดีที่ 76 แล้ว ที่ต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

X