ปี 2540 ทรงจำร่วมสมัยของผู้คนมองภาพใหญ่ถึงภาวะ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ที่เงินกู้ลงทุนและนโยบายการเงินไม่แปรผันไปกับความเป็นจริง หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงไปเหมือนฟองสบู่ที่แตกตัว สถานการณ์นำไปสู่การต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนระหว่างประเทศ ขณะเดียวกับช่วงปลายปีภาคการเมืองประชาชนร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ภายหลังได้รับเอ่ยนามเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เป็นต้นว่าเป็นครั้งแรกที่กำหนด สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในทางวิชาการ ที่มาขององค์กรอิสระที่เป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ และที่สำคัญที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้มี สว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ปีนั้นเอง ‘ต้น’ สมภพ จิตต์สุทธิพล เข้ามาเป็นนักศึกษาปี 1 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจเพราะความสนใจทางการเมืองที่มาจากการเก็บเล็กผสมน้อยจากการอ่าน ค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวจากตำราเก่า ๆ ในหอสมุดมหาวิทยาลัย ก่อนตกผลึกตัวเองเป็นผู้เขียนบทในชมรมงิ้วล้อการเมือง ที่มักจะหยิบจับประเด็นการเมืองสังคมมาบอกเล่าผ่านอุปรากรจีน
.
.
“คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่เบ้อเริ่มเลย เด่นสง่ามายาวนานอยู่แล้ว ก็จะมีเรื่องของการที่ชอบล้อ ๆ กันบ่อย ๆ คือการกลับขั้วเปลี่ยนข้างของนักการเมือง เดี๋ยวคนนั้นย้ายไปอยู่กับคนนี้ คนนี้ย้ายไปอยู่กับคนโน้น ก็ตั้งคำถามเรื่องอุดมการณ์เป็นยังไงกันนะพวกที่ย้ายไปย้ายมา” ต้นเล่าถึงสิ่งที่พบเจอแต่หนหลัง ที่บางเรื่องยังเป็นโมงยามไม่ผันแปรจากการเมืองไทย
การเป็นคนเขียนบทงิ้วล้อการเมือง ที่มักสะท้อนสถานการณ์อันเป็นกระแสไหลเวียนในสังคม หลังเรียนจบเขาก็ยังใช้ชีวิตไม่ห่างจากรั้วมหาวิทยาลัย และด้วยงานสายพัฒนาเอกชนที่ต้องเจอกับปัญหามากมาย ทั้งสิทธิเด็ก หรือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ทำให้การเมืองยังไม่หนีห่างไปจากความสนใจ และแน่นอนว่าปัญหาโครงสร้างอื่น ๆ ของประเทศก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกันเสมอ
จนวันหนึ่งที่เขาใช้ชีวิตปกติ กับครอบครัวที่ตัวเองตัดสินใจทำโฮมสคูลให้กับลูก ทำให้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน และพาลูกออกไปทำกิจกรรมเรียนรู้ข้างนอกบ้าง เขาก็ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการแชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ข้าราชการปลดแอก” เรื่องการตรวจสอบการทุจริตงบโควิดในสำนักงานจังหวัดอุดรธานี โดยมีข้าราชการ 4 รายที่มีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารที่โพสต์มอบอำนาจให้ทนายแจ้งความดำเนินคดี
นอกจากต้น ยังมีประชาชนอีก 6 รายที่ถูกดำเนินคดีจากการแชร์โพสต์ดังกล่าว ตั้งแต่นั้นต้นจึงต้องเดินทางไป-กลับ ระหว่างนนทบุรีกับอุดรธานีอยู่หลายครั้งในระหว่างการต่อสู้คดี ที่เขาเองยืนหยัดต่อสู้ด้วยเชื่อว่า “เรื่องของประชาชนติดตามข่าวสารการทำงานของระบบราชการมันสุจริตอยู่แล้ว เพราะไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร”
หลังศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่ได้มุ่งร้ายข้าราชการทั้ง 4 ราย ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้น จึงชวนอดีตคนเขียนบทงิ้วล้อการเมืองมาบอกเล่าถึงตัวตน ประสบการณ์ และความคิดฝัน จนถึงฉากงิ้วที่อยากเขียน เมื่อพูดถึงสิ่งที่ตนพบเผชิญระหว่างสู้คดีฟ้องปิดปาก (SLAPPs)
.
สังคมสงเคราะห์ศาสตร์และการงิ้ว
ต้น ย้อนถึงชีวิตเมื่อครั้งอดีต เขาเกิดที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยคนในครอบครัวเป็นทหาร เขาจึงเติบโตมาในค่ายทหารที่โรงเรียนนายร้อย จปร. จ.นครนายก กระทั่งจบ ม.6 จึงสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมธรรมศาสตร์ เลือกเรียนสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ก่อนจบออกมาและเข้าทำงานเป็นนักพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) อยู่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กราว 10 ปี เป็นนักกิจกรรมพัฒนาเด็ก รับหน้าที่อื่น เช่น หากเจ้าหน้าที่สอบปากคำเด็กก็จะไปอยู่ด้วยในบรรยากาศที่จะช่วยให้เด็กผ่อนคลาย ก่อนย้ายไปอยู่องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและพัฒนาศักยภาพของพลเมือง ภายหลังจากมีครอบครัว เขาตัดสินใจกับภรรยาว่าจะเป็นผู้ดูแลเด็ก จึงออกมาทำโฮมสคูลให้กับลูก เริ่มตั้งแต่ปี 2556
ต้นฉายภาพสภาพสังคมไทยขณะอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ว่า หลังจากเป็นหนี้ IMF ประเทศเริ่มเข้าที่เข้าทางก็จะมีการชูรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2540 มีทั้งติดป้าย ติดสติกเกอร์กันเต็มมหาวิทยาลัย “ขนาดผมนั่งคุยกิจกรรมอยู่กับรุ่นน้อง ยังมีคนมาชวนให้ช่วยถือธงเขียว เป็นบรรยากาศนักศึกษารณรงค์รัฐธรรมนูญ 40”
.
.
สถานการณ์ดังกล่าว ยิ่งรู้สึกมีอะไรน่าติดตาม ทำให้เขาอยากอ่านอยากรู้ยิ่งขึ้น แล้วก็ อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีจัดพบปะประชาชน ได้เห็นรัฐมนตรีมานั่งถกเถียงกับประชาชน “โดยประชาชนร้องเรียนโวยวายซัดตรงนั้นเลย เป็นอะไรที่เปิดสมองดี เป็นยุคที่ยังไม่มีอะไรดุเดือด แต่ว่ากำลังจะมีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นว่างั้น”
กับตัวเองเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วง ม.5- ม.6 จากการอ่านหนังสือ จึงเกิดความสนุกที่จะได้ติดตาม แต่โอกาสที่ได้มาแสดงออกเกี่ยวกับความเห็นทางการเมืองจริง ๆ คือตอนที่ทำงิ้วที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ “อันนั้นคือการที่เราจะต้องติดตามข่าวสารการเมืองแบบใกล้ชิด เพื่อหาเรื่องมาเขียนบทแสดง”
ชมรมงิ้วล้อการเมือง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาช่วงทศวรรษ 2520 โดยก่อนหน้านั้นมักจะไปอยู่ตามชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ก่อนหายไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนมาถึงรุ่นที่ต้นเข้ามาเป็นสมาชิก คนหนึ่งทำหลายหน้าที่ ทำฉาก พากย์ เขียนบทด้วย ถ้าเป็นนวนิยายจีนจะเล่นตามคอนเซปท์ของเนื้อเรื่อง เช่น สามก๊ก เปาบุ้นจิ้น ที่คนดูจะเข้าใจทันที “แต่เราเขียนบ่อยหน่อยหลัง ๆ เลยเป็นส่วนหนึ่งให้ไปขยันอ่านหนังสือ เมื่อก่อนจะมีมติชน สยามรัฐ ก็เลยโกยกันมากองในแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านมามีเนื้อหาอะไรบ้างเปิดอัพเดตดู ทั้งไปค้นหนังสือโบราณที่หอสมุดธรรมศาสตร์ ยิ่งอ่านยิ่งเจออะไรไม่รู้เต็มไปหมดเลย เรื่องการเมืองก่อนปี 2500 มันยิ่งทำให้เราสนุกกับการติดตามปะติดปะต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเป็นวัตถุดิบในการเขียนบท” ต้นเล่าถึงชีวิตหลังม่าน
จุดเด่นของงิ้วล้อการเมือง เป็นเพราะครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวอะไร และด้วยเน้นเนื้อหาทางการเมือง ทำให้เข้าถึงประชาชนได้ง่าย “เวลาไปเล่นตามงานคนก็จะมาดู เขาเก็ท เขาเข้าใจ ก็สนุกกันได้ง่าย เราเล่นเรื่องทั่วไปที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นจุดที่คนเออออเล่นสนุกสนานไปกับเราด้วยได้”
ระหว่างปี 2540-2544 ชมรมงิ้วมักปรากฏตัวในงานปฐมนิเทศ วันแรกพบของมหาวิทยาลัย รวมถึงงานนอกรั้วมหาวิทยาลัยตามแต่มีผู้ชวนไปแสดง “เราไม่มีข้อจำกัด ไม่มีองค์กรอะไรอยู่เบื้องหลัง ทำเอง อยู่ที่กลุ่มคนที่ทำ อยากจะทำ มีความเห็นไปทางไหนก็สื่อออกมา บางทีเอียงไปทางข้างใดข้างหนึ่งก็แล้วแต่เขา กลุ่มที่เขาทำเขาเลือกที่จะเอียงไปทางนั้นก็เอียงได้ ก็ไม่ว่าอะไร เป็นอิสระ”
สำหรับบทงิ้วล้อการเมืองในห้วงเวลานั้น ก็จะมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผักสวนครัว “ ‘ผักสวนครัวฮั้วกันได้’ ที่เขาแซว ๆ กัน ช่วงนั้นชาวบ้านชอบใจ ที่เหลือก็แซวรัฐบาล ก็จะมีรัฐบาลชวน หลีกภัย ประเภท ‘ยังไม่ได้รับรายงาน’ พูดมาเมื่อไหร่คนฟังเข้าใจเข้าถึงอารมณ์ทันทีเลย”
ต้นเล่าอีกว่า “ไม่เคยไปเล่นให้คนที่โดนล้อดู แต่มันก็เป็นเรื่องที่พูดกันอยู่แล้ว ไม่ต้องมาโกรธเรา เพราะต่อให้ไม่เจอเราพูด แต่ว่าไปเจอในโทรทัศน์ ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านพวกสัปดาห์วิจารณ์ต่าง ๆ ของเรานี่แซวนะ ไม่ได้ไปวิเคราะห์วิจารณ์อะไรมาก เรามาแซวมากัด ๆ ให้คนติดตามสถานการณ์บ้านเมือง”
.
‘คอร์รัปชั่น’ เรื่องใหญ่ในทุกยุคสมัย
กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นข่าวหน้า 1 ในทุกวัน ต้นเล่าถึงความทรงจำทางการเมืองที่ทำให้นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต้องออกจากตำแหน่ง เพราะมีปัญหาเรื่อง สปก. 4-01 ว่าด้วยจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน
“เป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำเลย ชาวบ้านแทนที่จะได้มีที่ดินกลับถูกคนที่มีอิทธิพลฉกชิงไปซะอย่างงั้น คนที่ได้ไปดันไม่ใช่คนที่ต้องการใช้มันจริง ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ มันไปตกอยู่ในมือใครก็ไม่รู้ซึ่งไม่สมควร” ต้นเล่าไว้อีกตอนหนึ่ง
เขาย้ำอีกว่า เรื่องทุจริตที่ดิน สปก. ฮิตมาก กล่าวได้ว่า ถ้าจะให้แสดงงิ้ววันพรุ่งนี้ เขียนบทได้เลยวันนี้ เพราะมีข้อมูลในหัวพอแล้ว โดยมีภาพจำในช่วงนั้นว่า “จากเคยอ่านหนังสือเก่า ๆ มันทำให้เราเอะใจว่า ปัญหาเรื่องที่ดิน คนโบราณเขาก็มีปัญหานี้กัน ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แน่นอนว่าเราเอาเรื่องนี้ไปเล่นบนเวที โดยแปลงชื่อนักการเมืองนิดหนึ่งเพื่อไม่ให้มันตรงเกินไป ให้มันมีศิลปะการล้อเลียนหน่อย ตอนนั้นเข้าใจว่าคนที่รับผิดชอบ สปก.คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ยำกันเละเลย มีชาวบ้านมาร้องเรียนมาโวยวายว่าถูกผู้ปกครองเอารัดเอาเปรียบ เราเขียนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา แสดงให้เขาดูว่า ที่ดินทำกินของทุกคนถูกริดรอนไปให้คนที่มีอำนาจมากกว่าเอาไปใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวประมาณนี้ พอคนเขาดูก็รู้ว่า อ๋อ เรื่อง สปก.”
.
.
ต้นให้ความเห็นสำหรับเรื่องทุจริตด้วยว่า “คนที่อยู่กับมันนาน ๆ อาจจะรู้สึกปกติด้วยซ้ำไปนะ เช่น ที่ครอบครัวเราเจอมา มีการแจกบัตรแจกน้ำมัน แล้วเรื่องอื่น ๆ มันคอร์รัปชั่นกันเฉย ๆ จนชิน กลายเป็นลักษณะนิสัย เป็นวิถีประจำวัน”
เช่นเดียวกับคดีความที่เผชิญหน้าอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ส่อว่าจะมีการทุจริต จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยกระทรวงมหาดไทย โดยเมื่อกลางปี 2564 เพจข้าราชการปลดแอกได้โพสต์หนังสือร้องเรียนการทุจริตเบี้ยเลี้ยงและงบประมาณซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันโควิดในสำนักงานจังหวัดอุดรธานี ก่อนที่ข้าราชการ 4 ราย ที่มีชื่อปรากฏในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว จะได้มอบอำนาจให้ทนายเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับแอดมินและผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว อ้างว่าเป็นการใส่ร้ายผู้เสียหายด้วยข้อมูลเป็นเท็จ ทําให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหน้าที่การงานของผู้เสียหาย และต้นตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี
ต้นแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดีย ทำให้การเปิดโปงทุจริตง่ายขึ้น ผู้กระทำก็ต้องระมัดระวังกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นแม้การทุจริตยังมีเหมือนเดิม แต่ประชาชนกล้าส่งเสียงมากขึ้น เขาคิดด้วยว่า การต่อสู้ในเรื่องนี้ต้องยกระดับไปสู่ภาคการเมืองให้ได้ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนสามารถที่จะเปิดโปงหรือตรวจสอบคอร์รัปชั่นได้มากขึ้น
.
เมื่อข้าราชการจะปลดแอก ก็เกิดคดีแชร์โพสต์ทุจริตโควิด
พอได้รับหมายเรียกช่วงกลางปี 2564 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง สภ.เมืองอุดรธานี ต้นเล่าว่า สิ่งแรกคือ พยายามอ่านให้ละเอียด “เขาเขียนชื่อว่า เพจข้าราชการปลดแอก เราก็โอเคเคยแชร์เพจนี้ เราก็เปิดกลับไปดูว่าอันไหน พอรู้ว่ามาจากอุดรฯ จึงเปิดดูโพสต์นั้น แต่ว่าเราก็ไม่ได้ฉุกคิดว่าเป็นการหมิ่นประมาทใครหรอกนะ ไม่งั้นเราก็ไม่แชร์หรอก”
ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการถูกดำเนินคดีที่เขาคิดว่า “เรื่องของประชาชนติดตามข่าวสารการทำงานของระบบราชการมันสุจริตอยู่แล้ว ไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร แต่ระบบยุติธรรมเมืองไทยเปิดช่องให้ตีความกันได้ นักกฎหมายบางคนก็เห็นว่าอันนี้หมิ่นประมาท มันก็มีการฟ้องร้องกันอยู่เยอะแยะ ปิดปากกันอยู่ทั่วไป ก็พอเข้าใจสถานการณ์ระดับหนึ่ง”
เมื่อพูดถึงสาเหตุที่แชร์โพสต์นั้น “ก็ดูก็แชร์ข่าวการทุจริตอยู่บ้างเป็นระยะอยู่แล้ว เป็นความเดือดร้อนของเหล่าข้าราชการ เพราะว่าพ่อแม่ผมก็เป็นข้าราชการ พอเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว พอเจอเพจนี้ก็กดติดตามไว้ มีอะไรน่าสนใจเราก็แชร์เก็บไว้เพื่อหาข้อมูลต่อหรือติดตามความคืบหน้า”
.
.
กับการเดินทางไปต่อสู้คดีที่จังหวัดอุดรธานี ที่สถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล สิ่งที่เขากังวลเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย ต้นเปรยว่า “ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราไม่มีรายได้ และมีหน้าที่ต้องเลี้ยงลูกด้วย ถ้าเราไป ภรรยาต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง แล้วตอนนี้ก็มีลูกเล็กอีกคน ถ้าหลังจากนี้ต้องไปศาลอีกจะยุ่งแล้ว ต้องหาคนมาเลี้ยง”
ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หากต้องชำระค่าปรับในอัตราสูง น่าจะสร้างความยุ่งยากให้คนทำโฮมสคูลอย่างเขา และเป็นอีกเรื่องที่เขากังวล “เราจะไปหาจากไหนมาง่าย ๆ ไม่ได้มีเงินเก็บอะไรมากมาย ก็ต้องไปตามแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อถ้าเกิดถูกปรับขึ้นมา”
ต้นย้ำอีกว่า กระบวนการฟ้องปิดปาก ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลา เสียเงิน เสียหน้าที่การงาน ทำให้คนหวาดกลัวไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่กล้าหือกับรัฐ สำหรับในคดีที่เขาและคนอื่นๆ อีก 6 คน เจอ ตั้งแต่วันที่ถูกฟ้อง นัดคุ้มครองสิทธิ นัดฟังผลเจรจา นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ไม่ปรากฏตัวผู้เสียหายทั้งสี่ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี แม้ศาลพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหลายครั้ง ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายก็เพียงแต่แจ้งเงื่อนไขว่า ให้จำเลยลบโพสต์ที่แชร์ และให้ติดต่อสำนักข่าวลบข่าวที่เผยแพร่ในทำนองว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้งจำเลย โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่า หากทำตามเงื่อนไขแล้วจะถอนฟ้อง ในที่สุดจำเลยทุกคนจึงยืนยันจะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
“มีบางช่วงรู้สึกได้ว่า เขาอยากให้เรารับสารภาพ แต่ถ้าเรารับสารภาพก็โดนปรับอยู่ดี ไม่รู้ด้วยว่าเขาจะปรับเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันไม่ต่างกัน มองแง่ร้ายโดนเท่าไหร่ก็ว่ากัน แต่มันมีปัญหาเรื่องการเงินที่ติดขัด ที่ทำให้เราอยากจะลองทางอื่น เช่น ถ้าเจรจากันได้ก็อยากเจรจา แต่ในเมื่อทางเขาไม่เจรจา เราก็สู้ แค่นั้นแหละ” ต้นกล่าวความรู้สึกไว้อีกตอนหนึ่ง
ต้นเปิดใจอีกว่า สิ่งที่ทำให้ยืนหยัดต่อสู้ นอกจากจะเห็นว่ามันไม่ผิด อย่างที่สองคือได้พบเพื่อนร่วมทางด้วย ทั้งแอบ ๆ ดีใจที่มีโอกาสได้เจอทนายด้านสิทธิมนุษยชน ถึงจะได้เจอกันเพราะถูกดำเนินคดีก็ตาม
กระทั่งนัดสืบพยานจำเลยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ในฐานะจำเลยที่ 7 เขาเบิกความว่า ปกติดูข่าวจากสื่อโซเชียลทุกข่าวเป็นจำนวนมาก เมื่อเห็นโพสต์ตามฟ้องนี้ ตั้งใจแชร์เพื่อจะเก็บไว้อ่านและติดตามผลการดำเนินงาน เพราะก็พบปัญหาด้วยตัวเองจากการไปซื้อเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยที่ร้านขายยาแถวบ้านแล้วไม่สามารถซื้อได้
เห็นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการตั้งข้อสงสัยว่ามีการทุจริตหรือไม่ และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ พร้อมทั้งชวนให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแชร์โพสต์ไปโดยไม่ได้พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมและไม่มีใครมากดไลค์หรือกดแชร์หรือแสดงความเห็นต่อด้วย อีกทั้งไม่ได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการแชร์โพสต์ดังกล่าว แต่ที่แชร์ไปนั้นเป็นเพียงความสนใจติดตามสถานการณ์โควิดทั่วประเทศและเห็นว่า น่าจะเป็นที่สนใจของคนอื่นด้วย
.
ฉากที่อยากให้ปรากฏ หลังเรื่องราวคดีความ
นับจากการสืบพยานเสร็จสิ้น ในทางออกของคดีคงเป็นไปตามคำตัดสิน แต่หากเกิดว่าตัดสินว่าเขาผิดก็ต้องมีการอุทธรณ์อยู่แล้ว ในฐานะคนออกมาจัดการศึกษาให้ลูก ไม่มีรายส่วนตัว คาดหวังจะดึงไปให้ยาวที่สุด เผื่อมีค่าปรับจะได้มีเวลาหาเงิน
“ผมว่าสังคมตัดสินได้แล้ว แชร์หนังสือราชการไม่ควรผิด ทั้งเห็นตลอดว่า เวลาเรามีเรื่องกับคนในระบบราชการมันเป็นอย่างนี้ ถ้าสังคมอยากจะทำให้มันดีกว่านี้อาจจะต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องการแก้ไขระเบียบกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ มาพิทักษ์สิทธิประชาชน เรียกว่าให้คนที่สู้กับคอร์รัปชั่นมีเกราะป้องกันมากขึ้น” เขาเล่าถึงวิถีที่ควรจะปรับใน ‘รัฐราชการ’ แบบนี้
.
ภาพจาก: มติชน
.
ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมถึงสนใจเรื่องทุจริตในอุดรธานี เขาชิงตอบ “ถ้าพูดถึงกับตัวเรา มันทำให้สนใจเรื่องราวต่าง ๆ ถึงแม้มันจะไม่ใช่โดยตรงนะ ไม่ใช่เรื่องของจังหวัดเรา แต่มันก็อยู่ในเขตประเทศเดียวกัน ปัญหาใดปัญหาหนึ่งมันเกิดจากจุดไหนจุดหนึ่งมันส่งผลต่อจุดอื่นได้ ไม่แปลก อย่างบริหารห่วยที่อุดรฯ กรุงเทพฯ จะไม่เดือดร้อนเหรอ แล้วถ้าอุดรฯ จัดการโควิดไม่ดี มีคนติดเชื้อจากอุดรฯ มาแพร่โควิดที่กรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ก็เดือดร้อนเหมือนกัน”
ก่อนย้ำทำนองเดียวกันว่า “เพราะปัญหามันอยู่ในเขตอำนาจบริหารเดียวกัน เวลามันเดือดร้อนก็เดือดร้อนด้วยกัน จะไปคิดว่า ไม่ควรไปยุ่งไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นสุดท้ายแล้วเป็นความเดือดร้อนด้วยกันทั้งหมดนั่นแหละ เราก็รู้สึกอินเท่ากันไม่ว่าจะเกิดที่บ้านเราหรือบ้านเพื่อนข้าง ๆ เห็นปัญหามันมีความสำคัญเท่าเทียมกัน”
กับชีวิตทุกวันนี้ ปกติก็เลี้ยงลูกอยู่บ้าน พาลูกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้าง โฮมสคูลไม่ได้หมายถึงอยู่แค่ในบ้าน กับความสนใจการเมือง ยังเป็นต่อไปไม่หยุด พอรู้แล้วก็อยากจะรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าได้เห็นภาพก็จะวางอนาคตให้ลูกได้ ต้นกล่าวด้วยว่า “ถ้ามันเป็นอย่างนี้อยู่เราก็ต้องคิดว่าเราจะทำไงดี มันมีความเกี่ยวพันกับชีวิตเราไง มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรู้”
หากสมมติย้อนกลับไปตอนที่ยังเขียนบทงิ้วอยู่ “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะเขียนว่า มีชาวบ้านไปร้องเรียนกับศาลไคฟง บอกว่าถูกข้าราชการกลั่นแกล้ง เริ่มต้นแบบนี้แล้วใส่สีสัน ใส่ลูกเล่นให้มันสนุกสนาน มาให้ศาลไคฟงรับเรื่องไว้แล้วก็มาตรวจสอบ ให้มาที่ศาลนี้ ให้เจอข้าราชการ เจออะไรก็ว่ากันไป เพิ่มฉากบู๊นิดหนึ่ง ว่าให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐมาบู๊กับประชาชน จะได้มีอะไรที่ดึงดูดไม่ให้หนังกลายเป็นหนังเครียดเกินไป มีแอ็คชั่นหน่อย นี่แหละครับ ตำรวจ อัยการ อะไรก็จะโดนใส่เข้ามาในนี้ ทำได้เพราะโครงเรื่องให้อยู่แล้ว”
สำหรับตอนจบของอุปรากรจีนล้อเลียนคดีที่เขาเผชิญ “ไม่มีบทสรุป ทิ้งไว้ให้คนคิดเลยว่ามันควรจะเป็นยังไง ให้คนคิดเองว่า ศาลไคฟงจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบ หรือว่าจะยึดหลักการตามกฎหมายแล้วคืนความยุติธรรมตามหลักการให้ประชาชน”
.