19 ต.ค. 2564 ประชาชน 6 ราย เดินทางจากกรุงเทพฯ นนทบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองอุดรธานี หลังถูกข้าราชการและอดีตข้าราชการระดับสูงในจังหวัดอุดรฯ 4 ราย มอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”
โดยกล่าวหาว่าแชร์โพสต์จากเพจ “ข้าราชการปลดแอก – Free Thai Civil Servant” ที่กล่าวถึงการร้องเรียนและตั้งกรรมการตรวจสอบการทุจริตเบี้ยเลี้ยงและงบประมาณของสำนักงานจังหวัดอุดรฯ ทำให้ทั้งสี่เสียหาย
คดีนี้มีประชาชนถูกออกหมายเรียกรวม 8 ราย ได้แก่ เค้ก (นามสมมติ), ปลั๊ก (นามสมมติ), ป๊อป (นามสมมติ), สมภพ จิตต์สุทธิผล, สุวรรณ จ้อยกลั่น, ปาริชาติ ผลเพิ่ม, ไพโรจน์ ภัทรนรากุล และฐิระวัชร์ (สงวนนามสกุล)
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 เค้ก ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลอุดรธานี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนแล้ว ส่วนอีก 1 ราย คือ ฐิระวัชร์ ซึ่งจะต้องเดินทางมาจากจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากคืนก่อนหน้ามีอาการทางหัวใจ ต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล จึงไม่สามารถเดินทางมาตามนัดได้ และได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน
ทั้ง 7 ราย ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ให้การปฏิเสธ และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หลังพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อนำไปตรวจสอบประวัติ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากทุกคนมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก
จากการพูดคุยเบื้องต้น ประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 8 ราย ไม่คาดคิดว่าจะถูกดำเนินคดี เนื่องจากเห็นว่าข้อความที่โพสต์เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ การแชร์โพสต์ดังกล่าวซึ่งเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมจับตามองการทุจริตในหน่วยงานรัฐ ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาประโยชน์ของสาธารณะ รวมทั้งเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งหมดจึงประสงค์จะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด แม้ว่าเกือบทุกคนจะต้องเดินทางนับร้อยกิโลเมตรเพื่อมาจังหวัดอุดรฯ อีกหลายครั้งหลังจากนี้
ทั้งนี้ ความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท อย่างไรก็ตาม มาตรา 329 ระบุ เหตุในการยกเว้นความผิดไว้ว่า หากทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ให้ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิด
บรรยากาศโดยทั่วไปในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นไปโดยเรียบร้อย สภ.เมืองอุดรฯ ไม่ได้มีการเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตั้งแนวปิดกั้นทางเข้า หรือควบคุมสถานการณ์เหมือนเช่นในหลายจังหวัด แต่ยังมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายอยู่ทั่วบริเวณด้านหน้า สภ.เมืองอุดรฯ พร้อมทั้งถ่ายรูป
ด้านนักกิจกรรมกลุ่ม “อุดรพอกันที” และกลุ่ม “ดึงดิน” จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้กำลังใจประชาชนผู้ที่ถูกดำเนินคดี โดยการสวดชุมนุมเทวดา อัญเชิญเทวดามาอวยชัยให้พรขณะประชาชนทั้ง 6 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา รวมทั้งมีการแสดง Performance Art สะท้อนปัญหารัฐใช้กฎหมายคุกคามประชาชน
กล่าวหาเพจ “ข้าราชการปลดแอก” โพสต์เอกสาร “ลับ” เจตนาประจานข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งสี่ จึงแจ้งความดำเนินคดี 8 ประชาชน เหตุแชร์โพสต์ไปในวงกว้าง
พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาทั้งหมดเหมือนๆ กัน มีใจความโดยสรุปว่า
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 นายจํารัส กังน้อย, นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์, นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล และนายปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ผู้เสียหายทั้ง 4 คน ที่เป็นผู้มีชื่อถูกร้องเรียนในหนังสือที่มีผู้ร้องเรียนในลักษณะบัตรสนเท่ห์ ได้พบเห็นข้อความอันเป็นการใส่ร้ายใส่ความ หมิ่นประมาท ผ่านเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ “ข้าราชการปลดแอก-Free Thai Civil Servant” ที่นําเอกสารราชการ ลับ มีข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทต่อผู้เสียหาย มาโพสต์ ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ทําให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หน้าที่การงานของผู้เสียหายทั้ง 4 คน ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กล่าวคือ
ปรากฏมีบุคคลที่ยังไม่ทราบชื่อที่อยู่ ระบุเพียงตําแหน่งว่า เจ้าหน้าที่สํานักงานจังหวัดอุดรธานี จัดทําหนังสือแบบภายนอก (ในรูปแบบหนังสือราชการ) ที่ อด 0017.2/ว ลงวันที่ 8 ก.ค. 2563 ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา หัวหน้าสํานักงานจังหวัดอุดรธานี ว่าอาจมีการทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดย 1. ตัดเงินเบี้ยเลี้ยงผู้ใต้บังคับบัญชา โดยให้ค่าตอบแทนไม่ครบตามจํานวนที่ลงลายมือชื่อ 2. เบิกจ่ายงบประมาณในส่วนต่างๆ เกินความจําเป็นและมีราคาที่สูงเกิน เช่น วัสดุครุภัณฑ์สํานักงาน, วัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันและยับยั้งโรคระบาด
ทั้งนี้ มีหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ตรวจสอบ คือ นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล สํานักงานจังหวัดอุดรธานี, นายจํารัส กังน้อย ที่ทําการปกครองจังหวัด, นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ สํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และนายปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด
จากนั้นกระทรวงมหาดไทย โดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ “ลับ” ลงวันที่ 2 มี.ค. 2564 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวภายใน 30 วัน ต่อมา จังหวัดอุดรธานี มีคําสั่ง “ลับ” ที่ 3/2564 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
แต่ปรากฏว่าหนังสือราชการ “ลับ” ทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวมาปรากฏอยู่ในเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ “ข้าราชการปลดแอก-Free Thai Civil Servant” จนมีผู้โพสต์, แชร์, คอมเมนท์ด้วยข้อความอันเป็นการใส่ความ ใส่ร้าย หมิ่นประมาท ต่อผู้เสียหายทั้ง 4 คน จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหน้าที่การงาน กระทบต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัวของผู้เสียหายด้วย ทั้งที่เป็นหนังสือราชการลับนั้นไม่อาจนํามาเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล อันไม่ใช่ขั้นตอนการตรวจสอบตามระเบียบคําสั่งของทาง ราชการ แต่เป็นการเจตนาป่าวประกาศประจานให้สังคมตัดสินผู้เสียหายทั้ง 4 คน แล้วว่า เป็นคนทุจริตต่อหน้าที่ จึงเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ทําให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสี่
โดยผู้ต้องหาแต่ละคนได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแชร์โพสต์ดังกล่าว ตั้งค่าเป็นสาธารณะ อันเป็นการส่งต่อให้ข้อความนั้นแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง ผู้เสียหายทั้ง 4 คน จึงมอบอํานาจให้ผู้กล่าวหา (นายพิทิศ ชัยคำจันทร์) มาร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหา
จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาว่า “หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” ผู้ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
.
4 ข้าราชการระดับผู้ใหญ่ มอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความ
จากการค้นข้อมูลจากกูเกิล พบว่า ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งมอบอำนาจให้พิทิศ ชัยคำจันทร์ ทนายความ เข้าแจ้งความเป็นข้าราชการระดับผู้ใหญ่ในจังหวัดอุดรฯ ในช่วงที่มีผู้ทำหนังสือร้องเรียน โดย รณิดา เหลืองฐิติสกุล เป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันย้ายไปดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ หนองคาย, จํารัส กังน้อย เป็นปลัดจังหวัดอุดรฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ อุดรฯ, ธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ เป็นหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรฯ จนถึงปัจจุบัน และปรเมษฐ์ กิ่งโก้ เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรฯ จนถึงปัจจุบัน
.