26 ก.ค. 2566 เป็นวันที่ประชาชนจากกรุงเทพฯ นนทบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา รวม 6 ราย ต้องเดินทางข้ามภาคมาที่จังหวัดอุดรธานี เป็นครั้งที่ 6 เพื่อมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์ชาวอุดรฯ อีก 1 ราย ในคดีที่ถูกกล่าวหาและถูกฟ้องว่า “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ข้าราชการผู้ใหญ่ในจังหวัดอุดรฯ 4 ราย จากการแชร์โพสต์ของเพจ “ข้าราชการปลดแอก – Free Thai Civil Servant” เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564
ทั้ง 7 คน ได้แก่ เค้ก (นามสมมติ), ปลั๊ก (นามสมมติ), ป๊อป (นามสมมติ), สมภพ จิตต์สุทธิผล, สุวรรณ จ้อยกลั่น, ปาริชาติ ผลเพิ่ม และไพโรจน์ ภัทรนรากุล ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว หลังข้าราชการผู้ใหญ่ในจังหวัดอุดรฯ 4 ราย ซึ่งมีชื่อปรากฏในเอกสารที่แนบมาในโพสต์ดังกล่าวว่าถูกตั้งคณะกรรมการสอบ กรณีมีหนังสือร้องเรียนการทุจริตเบี้ยเลี้ยงและงบประมาณซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันโควิดในสำนักงานจังหวัดอุดรฯ ได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความ โดยกล่าวหาว่า การแชร์โพสต์ดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาใส่ร้ายผู้เสียหายด้วยข้อมูลเป็นเท็จ ทําให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหน้าที่การงานของผู้เสียหายทั้งสี่ และพนักงานสอบสวน ตลอดถึงพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี
ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกกล่าวหายืนยันต่อสู้คดีว่า การแชร์โพสต์ตามที่ถูกกล่าวหาเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ และยังเป็นการทำหน้าที่ช่วยสอดส่องป้องกันการทุจริต ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทบุคคลใด เนื่องจากข้อความและข้อมูลที่แชร์ไม่ได้ยืนยันว่ามีการทุจริต
การสืบพยานมีขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายน 2566 แม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะพยายามให้ผู้เสียหายและจำเลยได้เจรจาไกล่เกลี่ยกันเพื่อยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษา เนื่องจากฐานความผิด หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เป็นความผิดอันยอมความกันได้ แต่การไกล่เกลี่ยไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งการสืบพยานเสร็จสิ้น
ชวนอ่านเรื่องราวในระหว่างการพิจารณาคดี และปากคำพยานทั้งสองฝ่าย ก่อนศาลมีคำพิพากษาชี้ว่า การแชร์โพสต์เพื่อหวังให้เกิดการตรวจสอบทุจริตในหน่วยงานรัฐนั้น เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่
.
รู้จักฐานความผิด “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท อย่างไรก็ตาม มาตรา 329 ระบุเหตุในการยกเว้นความผิดไว้ว่า หากผู้ใดแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมด้วยความเป็นธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ให้ถือว่าผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท |
.
จากจุดเริ่มต้นการแชร์โพสต์สู่การต่อสู้คดี ไร้วี่แววเจรจาไกล่เกลี่ย
15, 19 ต.ค. 2564 ประชาชน 7 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองอุดรฯ โดยให้การปฏิเสธ 21 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง และส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการ โดยผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการอีก ขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี 16 ส.ค. 2565 อัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดต่อศาลจังหวัดอุดรฯ กล่าวหาว่า การที่จำเลยแชร์โพสต์ดังกล่าวโดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าผู้เสียหายทั้งสี่เป็นข้าราชการทุจริต อันเป็นการใส่ความ โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้เสียหายทั้งสี่ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง หลังศาลรับฟ้องอนุญาตให้ประกันจำเลยในวงเงินคนละ 10,000 บาท 21 ก.ย. 2565 นัดคุ้มครองสิทธิ จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายเสนอเงื่อนไขว่า หากจำเลยยอมโพสต์ขอโทษ ผู้เสียหายจะถอนฟ้อง ฝ่ายจำเลยเสนอข้อความที่จะโพสต์ว่า “การแชร์โพสต์ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท เป็นการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่หากส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายต้องขออภัยด้วย” ศาลจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ประสานผู้เสียหายและส่งข้อความขอโทษให้พิจารณา ก่อนนัดฟังผลใน 5 วันถัดไป 26 ก.ย. 2565 นัดฟังผลการเจรจา ศาลแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ติดต่อผู้เสียหายทั้งสี่แล้ว มีบางรายติดต่อไม่ได้ ส่วนรายที่ติดต่อได้ก็ไม่ได้แจ้งความประสงค์มา ถือว่าผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ประสงค์เจรจาไกล่เกลี่ย จึงนัดสืบพยานในวันที่ 21-24 ก.พ. 2566 21-22 ก.พ. 2566 นัดสืบพยานโจทก์ จำเลยขอพิจารณาคดีลับหลังจึงไม่ได้มาศาล ด้านผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นพยานโจทก์ติดราชการและป่วยไม่ได้มาศาลเช่นกัน ศาลพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้ง ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายแจ้งเงื่อนไขว่า ให้จำเลยลบโพสต์ที่แชร์ และให้ติดต่อสำนักข่าวลบข่าวที่เผยแพร่ในทำนองว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้งจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่า หากทำตามเงื่อนไขแล้วจะถอนฟ้อง ทนายจำเลยรับนำไปเสนอจำเลย แต่คัดค้านการเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยได้จองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และลางานไว้แล้ว ศาลปรึกษาหัวหน้าศาลแล้วให้เลื่อนสืบพยานไปวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2566 แต่กำชับโจทก์ให้ติดต่อผู้เสียหายมาศาลในวันนัด มิฉะนั้นศาลจะพิจารณาตัดพยาน พร้อมทั้งให้จำเลยมาพบผู้เสียหายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันได้และผู้เสียหายถอนฟ้องก็จะดีกว่าสืบพยานต่อ 31 พ.ค. 2566 นัดสืบพยานโจทก์ ผู้เสียหายทั้งสี่ไม่มาศาล ศาลแจ้งว่า ผู้เสียหายไม่น่าจะถอนฟ้อง แล้วถามคำให้การอีกครั้ง จำเลยทุกคนยืนยันต่อสู้คดี ศาลจึงให้สืบพยานต่อไป แต่เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนนัด ระบุว่า ติดเข้ารับโล่จากผู้แทนพระองค์ ซึ่งเป็นเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องให้เลื่อน แต่ถ้าเลื่อนไปจะกระทบจำเลย จึงขอให้ฝ่ายจำเลยรับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายทั้งสี่แทน ทนายจำเลยแถลงไม่รับคำให้การของผู้เสียหาย และคัดค้านการเลื่อนคดีของผู้เสียหายที่ 1 เนื่องจากไม่ใช่เป็นกรณีการรับเสด็จที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากศาลไปปรึกษาผู้บริหาร ได้มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไปสืบผู้เสียหายที่ 1 ในวันถัดไป และตัดพยานปากผู้เสียหายที่ 2-4 1 มิ.ย. 2566 นัดสืบพยาน ผู้เสียหายที่ 1 ไม่มาศาล ศาลจึงให้ตัดพยานปากนี้ ผู้เสียหายทั้งสี่ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม โจทก์นำพนักงานสอบสวนเข้าสืบอีก 1 ปาก หลังสืบผู้กล่าวหาไป 1 ปาก ในนัดก่อน ทนายจำเลยนำพยานผู้เชี่ยวชาญและจำเลยเข้าเบิกความรวม 6 ปาก เหลือจำเลยอีก 3 ปาก สืบต่อในวันถัดไป 2 มิ.ย. 2566 นัดสืบพยานจำเลย ก่อนเริ่มสืบพยานศาลแจ้งว่า ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี โดยยังประสงค์จะเข้าเบิกความ แต่ศาลแจ้งแล้วว่า ศาลมีคำสั่งตัดพยานแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 ยังประสงค์จะเดินทางมาที่ศาล และอาจจะมีคำแถลงต่อศาล ทนายจำเลยนำจำเลยอีก 3 ปาก เข้าเบิกความ คดีเสร็จการพิจารณา ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 ก.ค. 2566 ก่อนแจ้งอีกว่า ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 จะมาถึงเวลา 14.00 น. จำเลยที่เหลืออยู่ 3 คน จะมีใครอยู่รอบ้าง เพราะถ้าได้พูดคุยปรับความเข้าใจกันก็น่าจะเป็นผลดีกับจำเลย แต่จำเลยยืนยันว่ามีธุระต้องรีบเดินทางกลับ |
ปากคำพยาน ฝ่ายโจทก์อ้าง เนื้อหาโพสต์ใส่ร้ายผู้เสียหายว่าทุจริต – ฝ่ายจำเลยยืนยัน แชร์เพื่อให้เกิดการตรวจสอบประโยชน์สาธารณะ ไม่มีลักษณะหมิ่นประมาทตัวบุคคล
ในการสืบพยาน อัยการนำพยานโจทก์ 2 ปาก ได้แก่ ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายเข้าแจ้งความกล่าวหาจำเลยทั้งเจ็ด และพนักงานสอบสวน เข้าเบิกความยืนยันว่า การที่จำเลยทั้งเจ็ดแชร์โพสต์ตามฟ้องเป็นแบบสาธารณะ ทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นภาพเอกสารลับ 3 ฉบับ พร้อมข้อความ “มีมูลความจริง” เข้าใจว่า ผู้เสียหายทั้งสี่ทุจริต ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายในวงกว้าง แม้ว่าจำเลยจะเพียงแค่แชร์โพสต์โดยไม่ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติม และโพสต์ที่จำเลยแชร์ไปนั้นไม่มีผู้มาแสดงความเห็นด่าทอผู้เสียหายในลักษณะเชื่อว่าผู้เสียหายทุจริต
ด้านจำเลยทั้งเจ็ดเบิกความว่า การแชร์โพสต์ตามฟ้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต และเป็นการทำหน้าที่ประชาชนในการติดตามเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ รวมถึงรณรงค์ให้สังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ ในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งข้อความที่แชร์ก็ไม่ได้มีลักษณะหมิ่นประมาทบุคคลใด
สอดคล้องกับพยานผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งให้ความเห็นว่า โพสต์ตามฟ้องเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนตามปกติ ไม่ใช่การหมิ่นประมาท นอกจากนี้ ตามหลักการประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลและประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ
คำเบิกความของพยานแต่ละปากมีรายละเอียดดังนี้
.
ผู้กล่าวหาอ้าง “ข้าราชการปลดแอก” โพสต์ “มหาดไทยพบว่ามีมูลความจริง” เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายทุจริต ทำให้เสียหาย – จำเลยแชร์โพสต์แบบสาธารณะ ผู้เสียหายยิ่งได้รับความเสียหายในวงกว้าง
พิทิศ ชัยคำจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายเข้าแจ้งความ เบิกความว่า พยานมีอาชีพเป็นทนายความ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 พยานได้รับการติดต่อจากผู้เสียหายที่ 1 ทราบว่า มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กเพจ ข้าราชการปลดแอก ซึ่งผู้เสียหายเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท
เนื้อหาในโพสต์ดังกล่าวระบุว่า ในช่วงการระบาดของโควิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 มีบัตรสนเท่ห์ส่งไปที่กระทรวงมหาดไทยขอให้ตรวจสอบผู้เสียหายเรื่องตัดเบี้ยเลี้ยงและเบิกค่าใช้จ่ายเกินจริง กระทรวงมหาดไทยจึงมีหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรฯ ดำเนินการตรวจสอบ ขณะเกิดเหตุยังไม่มีผลสรุปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ผู้เสียหายระบุว่า เอกสาร 3 แผ่น ที่แนบมาในโพสต์เป็นเอกสารลับในหน่วยงาน โดยปกติไม่สามารถนำมาเผยแพร่
พยานเห็นว่า ข้อความว่า “อาจมีการทุจริต” ยังไม่เป็นการหมิ่นประมาท แต่ข้อความว่า “กระทรวงมหาดไทยพบว่ามีมูลความจริง” เหมือนเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ทำให้คนอ่านเข้าใจว่า มีมูล ซึ่งผู้เสียหายทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ไม่มีการทุจริต ทำให้ผู้เสียหายต้องได้รับความเสียหาย บุคคลรอบข้าง ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา เข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนทุจริต
ผู้เสียหายทั้งสี่จึงมอบให้พยานแจ้งความดำเนินคดีแอดมินเพจข้าราชการปลดแอก ผู้แชร์ และผู้ที่คอมเมนท์ในลักษณะที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ผู้เสียหายทุจริต ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดบ้าง ต่อมา พนักงานสอบสวนยืนยันตัวบุคคลได้ 8 คน ซึ่งแชร์โพสต์เป็นสาธารณะ ไม่ได้เขียนข้อความเพิ่มเติม ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายในวงกว้าง แต่มี 1 คน หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง
วันที่จำเลยรับทราบข้อกล่าวหาได้มีการลงข่าวเป็นคลิปว่า ผู้เสียหายทั้งสี่กลั่นแกล้งจำเลยโดยการดำเนินคดี ทั้งที่จริงเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้รับการติดต่อเพื่อบรรเทาความเสียหายแม้ได้ทิ้งเบอร์โทรไว้กับพนักงานสอบสวนแล้ว
ต่อมา พิทิศตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่า ช่วงโควิดแพร่ระบาด มีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ไม่ทราบว่า บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานล่วงเวลาและต้องได้รับค่าทำงานล่วงเวลา รวมถึงค่าเสี่ยงภัยด้วย
พยานไม่แน่ใจว่า ผู้เสียหายทั้งสี่เป็นข้าราชการหรือไม่ และไม่ทราบว่า เงินเดือนข้าราชการ ตลอดจนเบี้ยเลี้ยงและงบจัดซื้ออุปกรณ์โควิดตามที่หนังสือร้องเรียนอ้างถึงนั้น เบิกจ่ายมาจากงบประมาณแผ่นดิน ทั้งไม่แน่ใจว่า งบประมาณแผ่นดินมาจากภาษีประชาชนหรือไม่ ส่วนการที่จำเลยซึ่งเป็นประชาชนจะมีสิทธิติดตามการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย
พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในมาตรา 50(2)(10) ว่า ต้องไม่ให้ความร่วมมือกับการทุจริต แต่ไม่ทราบว่า ถ้ามีการตรวจสอบตามที่เพจโพสต์แล้วพบการทุจริต ผลประโยชน์จะตกอยู่กับหน่วยราชการ
จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้แสดงความเห็นในโพสต์ที่แชร์ แต่การแชร์ทำให้โพสต์ดังกล่าวปรากฏต่อสาธารณะ ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผู้เสียหายทุจริต อย่างไรก็ตาม โพสต์ที่จำเลยทั้งเจ็ดแชร์ ไม่มีผู้มาแสดงความเห็นด่าทอในลักษณะเชื่อว่าผู้เสียหายทุจริต
ตามรายงานประจำวันพยานแจ้งความผู้ดูแลเพจและทวิตเตอร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้ระบุว่า รวมถึงผู้แชร์และผู้คอมเมนท์ หนังสือมอบอำนาจก็ไม่ได้ระบุให้แจ้งความผู้แชร์และคอมเมนท์ แต่คำว่า ผู้เกี่ยวข้อง พยานหมายถึงคนแชร์และคอมเมนท์ด้วยแล้ว
เฉพาะเอกสารลับ 3 ฉบับ ยังไม่เป็นการหมิ่นประมาท แต่จำเลยแชร์ทั้งข้อความและภาพเอกสาร ทั้งนี้ คำให้การของพยานที่เข้าแจ้งความ ไม่ได้ระบุถึงข้อความที่เป็นแคปชั่น แต่พยานได้แนบภาพโพสต์ไปด้วยแล้ว
ข้อความ “มีมูลความจริง” เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ทำให้เป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหาย อย่างไรก็ตาม ในคดีอาญาที่ราษฎรฟ้องเอง ถ้าคดีมีมูลศาลจะประทับรับฟ้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจำเลยผิดจริง บางครั้งศาลอาจยกฟ้องก็ได้
ทนายจำเลยถามว่า ข้อความที่เพจโพสต์ในย่อหน้าที่ 3 เป็นเพียงความเห็นที่จะชวนให้ประชาชนร่วมตรวจสอบใช่หรือไม่ ศาลแย้งว่า เป็นความเห็นที่ศาลวินิจฉัยเองได้
ผลการตรวจสอบการทุจริตเป็นเอกสารลับ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้
.
พนักงานสอบสวนเบิกความ จำเลยทั้งเจ็ดเพียงแชร์โพสต์ ไม่ได้ใส่คอมเมนท์ ทั้งให้การปฏิเสธ อ้างแสดงความเห็นโดยสุจริต
พ.ต.ท.นิวัตร กุลศรี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรฯ เบิกความทำนองเดียวกับพิทิศว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 พิทิศได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายทั้งสี่เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ดูแลเพจข้าราชการปลดแอก และผู้ที่แชร์ภาพและข้อความตามฟ้อง ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด พยานจึงทำหนังสือถึงกระทรวงดิจิตอล (DE) และ บก.ปอท. ทั้งสองหน่วยงานมีหนังสือตอบกลับว่า ไม่สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ดูแลและผู้ที่แชร์ข้อความได้
ผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรฯ จึงมีคำสั่งให้ฝ่ายสืบสวน สืบสวนหาข้อมูลอีกทาง ผลการตรวจสอบไม่สามารถหาตัวผู้ดูแลเพจได้ แต่สามารถยืนยันตัวบุคคลผู้แชร์โพสต์แบบสาธารณะได้ 8 คน ซึ่งทั้งแปดไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติมในโพสต์ที่แชร์ไป
ข้อมูลและข้อความที่มีการโพสต์สื่อว่า ผู้เสียหายทั้งสี่ทุจริต พยานจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปที่ผู้ว่าฯ ต่อมา ผู้ว่าฯ มีหนังสือตอบกลับมาว่า มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในทางลับ ผลการตรวจสอบไม่พบว่า ผู้เสียหายทั้งสี่ทุจริต
พยานจึงออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งแปดมารับทราบข้อกล่าวหา จำเลยทั้งเจ็ดมาพบ ให้การปฏิเสธ และส่งบันทึกคำให้การ โดยอ้างสิทธิในการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ส่วนอีก 1 ราย ไม่ได้มาพบ พยานได้ขอออกหมายจับแล้ว
จากนั้น พ.ต.ท.นิวัตร เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันในการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ถือว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนควรให้การใส่ใจ พยานทราบด้วยว่า ผู้เสียหายทั้งสี่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขและป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
คำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรฯ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีร้องเรียนที่โพสต์ในเพจ ข้าราชการปลดแอก อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ และ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการระบุว่า มีคนที่ได้เบี้ยเลี้ยงไม่ครบตามที่มีการร้องเรียนจริง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำของผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายถูกร้องเรียนในฐานะหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว
เอกสาร 3 ฉบับ ที่มีการนำมาโพสต์ก็เป็นการดำเนินงานตามขั้นตอนปกติของหน่วยงานราชการ โดยหน่วยงานที่ได้รับหนังสือร้องเรียนต้องมีการตรวจสอบ หากเห็นว่าเป็นเรื่องกลั่นแกล้งกันก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ที่ถูกร้องเรียน อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก็ยังไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้เสียหายผิดหรือถูก แต่พยานเห็นว่า การตรวจสอบต้องเป็นไปในทางลับ การนำเอกสารลับไปเผยแพร่ ผู้เสียหายเห็นว่า ทำให้เกิดความเสียหาย
ข้อความ “อาจมีการทุจริต” ในโพสต์ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ส่วนข้อความ “พบว่ามีมูลความจริง” ไม่ใช่การเล่าเรื่องจากเอกสาร เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีผลการตรวจสอบว่า เรื่องร้องเรียนมีมูลความจริงหรือไม่
ทนายจำเลยถามว่า ข้อความในวรรคที่ 3 เป็นการเชิญชวนประชาชนให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการตรวจสอบหน่วยงานรัฐใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เมื่ออ่านข้อความและเอกสารเข้าใจว่าให้ช่วยตรวจสอบผู้เสียหายทั้งสี่ ทำให้เกิดความเสียหาย
ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งเจ็ด ไม่มีการระบุพฤติการณ์การกระทำผิดในส่วนที่เป็นข้อความ (แคปชั่น) และจากการสอบสวน ไม่พบว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นแอดมินเพจหรือผู้เขียนแคปชั่นดังกล่าว นอกจากนี้ โพสต์ของจำเลยทั้งเจ็ดที่แชร์ไปไม่มีผู้มาแสดงความเห็นในลักษณะเกลียดชังผู้เสียหายทั้งสี่
พยานเห็นว่า บุคคลที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊กจะเห็นโพสต์ที่ผู้อื่นโพสต์เป็นสาธารณะได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูในโปรไฟล์ของผู้นั้น หรือไม่จำเป็นว่าผู้โพสต์ต้องมีคนติดตามจำนวนมาก เพียงแต่เป็นเพื่อนของเพื่อนๆ ก็อาจจะเห็นโพสต์ได้ และสามารถแชร์ต่อ แสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวาง ส่วนโพสต์ของจำเลยทั้งเจ็ดที่แชร์ไป จะมีการแชร์ต่อหรือไม่ เป็นไปตามพยานเอกสารโจทก์ แต่พยานเห็นว่า การโพสต์ในเพจข้าราชการปลดแอกก็ทำให้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งเจ็ดมาแชร์ต่อก็ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น แต่พยานไม่ทราบว่า ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับผลกระทบโดยถูกดำเนินการทางวินัยหรือไม่
หลังจำเลยทั้งเจ็ดเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พยานไม่ได้แจ้งว่าจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามระเบียบ สตช. แจ้งแต่ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหาย เนื่องจากพยานเห็นว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต้องเป็นความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย แต่ผู้รับมอบอำนาจได้แจ้งพยานแล้วว่าไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สมัครใจที่จะไกล่เกลี่ย แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นสิทธิที่สามารถทำได้
.
จำเลยทั้งเจ็ดยืนยัน ใช้เสรีภาพแสดงออกโดยสุจริต ติดตามตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานรัฐ ไม่ได้มุ่งร้ายส่วนบุคคล
จำเลยทั้งเจ็ดเบิกความยืนยันว่า เจตนาที่แชร์โพสต์ตามฟ้องก็เพื่อติดตามให้เกิดการตรวจสอบ รวมถึงรณรงค์ให้สังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ โดยเห็นว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริตของประชาชนและเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ได้พิมพ์ข้อความแสดงความเห็นไปในทางมุ่งร้ายผู้เสียหายทั้งสี่แต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อทราบผลการตรวจสอบของคณะกรรมการว่า ผู้เสียหายทั้งสี่ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ก็ได้ลบโพสต์ไปแล้ว จำเลยยังเบิกความว่า ในวันที่รับทราบข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาในส่วนที่เป็นข้อความในแคปชั่นของเพจข้าราชการปลดแอก
จำเลยที่ 1 ป๊อบ (นามสมมติ) พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เบิกความว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมีผู้ป่วยผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักมากขึ้น
พยานเพียงแต่แชร์โพสต์ตามฟ้องโดยไม่ได้พิมพ์ข้อความแสดงความเห็นไปในทางมุ่งร้ายผู้เสียหายทั้งสี่แต่อย่างใด เจตนาก็เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเมื่อพยานดูเอกสารในโพสต์แล้วเข้าใจว่า มีบุคคลร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงาน เรื่องการตัดเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเบิกงบประมาณไม่ตรงตามจริง พยานเข้าใจว่า การแชร์โพสต์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ซึ่งงบประมาณที่เบิกจ่ายก็เป็นภาษีของประชาชน
พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายทั้งสี่ พยานเห็นว่า การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตเป็นสิ่งที่ทำได้เพราะภาษีของประชาชนก็เป็นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ
จำเลยที่ 2 ไพโรจน์ ภัทรนรากุล พนักงานมหาวิทยาลัย เบิกความว่า ปัจจุบันพยานเป็นข้าราชการเกษียณ แต่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยต่ออายุปีที่ 5 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการวางแผนพัฒนาภูมิภาค จากนั้นเข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน สอนเรื่องการบริหารภาครัฐและธรรมาภิบาลเป็นหลัก
พยานแชร์โพสต์ตามฟ้องในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งช่วงนั้นสื่อมีบรรยากาศตื่นตัวในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่องหน้ากากอนามัย ถุงมือ เบี้ยเลี้ยงตำรวจ พยานเห็นว่า เพจ ข้าราชการปลดแอก ทำหน้าที่เป็นสื่อพลเมือง ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี พยานเห็นว่าสาระสำคัญ คือ การแสวงหาความจริงและการให้ความเป็นธรรมแก่คนที่มีชื่อถูกร้องเรียน ทั้งยังเห็นว่าเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล
การที่พยานแชร์โพสต์ดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ให้การรับรองไว้
พื้นฐานของการบริหารภาครัฐ คือ ประโยชน์สาธารณะ หน่วยงานราชการเป็นที่คาดหวังของประชาชนในการทำงานให้เกิดประโยชน์สาธารณะแก่ประชาชน
ในวันที่พยานเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้ดูภาพโพสต์ที่แคปมาจากหน้าจอโทรศัพท์
เมื่อพยานทราบว่าถูกแจ้งความดำเนินคดี พยานเสียความรู้สึก เพราะแทนที่จะได้เป็นพลเมืองดีที่ได้ทำหน้าที่ แต่กลับถูกดำเนินคดี ช่วงแรกพยานยังคิดว่าจะได้รับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ พยานกับเพื่อนจำเลยจึงให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด จนบางครั้งต้องยกเลิกนัดหมอ
พยานไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีต่อผู้ที่มีรายชื่อในโพสต์ตามฟ้อง พยานยังหวังว่า หน่วยงานราชการจะเป็นความหวังและมีการตรวจสอบ ซึ่งพยานหวังว่า จะได้รับความยุติธรรมจากศาล
ต่อมา ไพโรจน์ตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า พยานไม่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พยานเข้าใจว่า กรณีที่มีการร้องเรียนดังกล่าว จะมีการตั้งกรรมการสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเป็นเรื่องปกติ
นิด้ามีศูนย์ที่จังหวัดอุดรธานีด้วย มีข้าราชการจากทุกภาคมาเรียน พยานรู้จักข้าราชการในจังหวัดอุดรธานีในฐานะศิษย์-อาจารย์ แต่ไม่ได้รู้จักสนิทสนมเป็นการส่วนตัว อาจมีลูกศิษย์ที่เป็นข้าราชการในจังหวัดอุดรฯ มาขอแอดเป็นเฟรนด์ในเฟซบุ๊กบ้าง แต่พยานไม่เคยตรวจสอบ และไม่ทราบว่ามีใครเห็นโพสต์ที่พยานแชร์บ้าง ซึ่งในการแชร์โพสต์ดังกล่าวก็ไม่มีใครทักท้วงแต่อย่างใด
จำเลยที่ 3 เค้ก (นามสมมติ) นักรังสีการแพทย์ชาวอุดรฯ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ พยานทำงานอยู่แผนกรังสีวิทยา ทำหน้าที่เอกซเรย์ผู้ป่วยโควิดโดยตรง ขณะนั้นสถานการณ์โควิดวิกฤตมาก และเป็นโรคอุบัติใหม่ พยานเป็นผู้เอกซเรย์ผู้ป่วยรายที่ 5-8 ของ จ.อุดรฯ ขณะนั้นชุด PPE ยังมีไม่เพียงพอ พยานได้รับบริจาคชุด PPE และหน้ากากอนามัยจากเพื่อนในสาขาวิชาชีพอื่นและเอกชน หน้ากาก N95 ต้องนำมารียูส โดยการอบฆ่าเชื้อ ทั้งได้รับการจัดเวรหรือทำโอทีหลัง 18.00 น. ถึง 30 เวรต่อเดือน
พยานและเพื่อนร่วมงานวิตกกังวลมาก ถ้ามีข่าวเกี่ยวกับโควิดและวัคซีน พยานก็จะแชร์ทุกโพสต์ โดยเฉพาะพยานเป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็จะมีคนมาถามข่าวสารอยู่เป็นประจำ
ที่พยานทำโอทีต้องได้เบี้ยเลี้ยงค่าเสี่ยงภัยเดือนละ 1,500 บาท รวม 7 เดือน ซึ่งตอนนี้พยานก็ยังได้รับไม่ครบ เบี้ยเลี้ยงในส่วนอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสนาม ก็เพิ่งได้รับเมื่อเดือนสิงหาคม 2565
พยานไม่รู้จักผู้เสียหายทั้งสี่เป็นการส่วนตัว เจตนาของจำเลยในการแชร์โพสต์ตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ประสบเหตุการณ์จึงคิดว่า การแชร์เรื่องดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ โพสต์ที่พยานแชร์ พยานได้พิมพ์ข้อความว่า ปังไม่ไหวอุดรธานี ซึ่งไม่มีผู้ใดมาแสดงความเห็น
เค้กตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า พยานไม่แน่ใจว่า ผู้เสียหายที่ 4 มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพยานหรือไม่ เรื่องการทุจริตที่มีการร้องเรียนเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยไม่เกี่ยวกับหน่วยงานของพยาน แต่เป็นเรื่องเบี้ยเลี้ยงของบุคลากร ซึ่งพยานเป็นบุคลากรเหมือนกันจึงเข้าใจความรู้สึก และเห็นว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม
หลังจากพยานแชร์โพสต์แล้วไม่ได้ย้อนดูว่า มีเพื่อนมากดไลค์หรือไม่ เนื่องจากพยานแชร์โพสต์เป็นจำนวนมาก
โพสต์ที่แชร์มีข้อความว่า “อาจมีการทุจริต” ซึ่งพยานเข้าใจว่า อาจจะมีการทุจริตหรือไม่ก็ได้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ส่วนคนอื่นอ่านแล้วจะคิดอย่างไร พยานไม่ทราบ
จำเลยที่ 4 สุวรรณ จ้อยกลั่น ประกอบธุรกิจส่วนตัวในกรุงเทพฯ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานรู้จักเพจ ข้าราชการปลดแอก เนื่องจากมีคนแชร์กัน โดยเพจดังกล่าวจะมีการโพสต์เกี่ยวกับการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐ
เหตุที่พยานแชร์โพสต์ตามฟ้อง เนื่องจากอ่านคร่าวๆ แล้วรู้สึกไม่ดี อยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และอยากให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หลังจากพยานแชร์โพสต์ดังกล่าวก็ไม่มีใครมากดไลค์หรือแสดงความเห็น
ถ้อยคำในโพสต์ซึ่งมีข้อความว่า “อาจมีการทุจริต” พยานก็เชื่อโดยสุจริตใจว่า อาจมีการทุจริต และอยากให้มีการตรวจสอบก่อน
จากนั้นสุวรรณเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า พยานแชร์โพสต์เป็นสาธารณะไปแล้วไม่ทราบว่า มีใครเห็นโพสต์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะพยานไม่ได้ตรวจสอบ ก่อนที่จะแชร์พยานก็ได้อ่านเอกสารในโพสต์คร่าวๆ แล้ว เข้าใจว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
จำเลยที่ 5 ปาริชาติ ผลเพิ่ม ประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่ จ.ลพบุรี เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เคยทำงานในองค์กรไม่แสวงหากำไร ก่อนออกไปเป็นแม่บ้านพยานเป็นผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พยานเชื่อในเรื่องคนเท่ากันตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง 1 คน มีสิทธิ 1 เสียงเท่ากัน ปกติพยานจะติดตามข่าวสารจากเฟซบุ๊กของสำนักข่าวต่างๆ หลายบัญชี โดยไปกดไลค์ไว้ รวมถึงแชร์ในข่าวที่สนใจเพื่อกลับมาดูในภายหลัง
ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงโควิดระบาด พยานเป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากเป็นเบาหวาน จึงสนใจข่าวเรื่องโควิด เมื่อพยานเห็นโพสต์ตามฟ้อง และเห็นว่ามีความผิดปกติในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิดในหน่วยงานภาครัฐ จึงแชร์โพสต์ดังกล่าวไว้เพื่อติดตามภายหลัง
พยานเห็นว่า การแชร์โพสต์ดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีในการมีส่วนร่วมตรวจสอบเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งเป็นประโยชน์กับผู้เสียหายทั้งสี่ เพราะเมื่อมีการแชร์ไปในวงกว้างก็จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นธรรมกับผู้เสียหายทั้งสี่ นอกจากนี้ยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามที่บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 19 ของ ICCPR รวมทั้งเป็นไปตามความเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 34
พยานได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้ไม่ฟ้องคดี เพราะพยานรู้สึกว่า แชร์โพสต์ไปโดยสุจริตใจ ชื่อเฟซบุ๊กก็เป็นชื่อจริง ไม่น่าที่จะถูกดำเนินคดี พยานไม่รู้จักและไม่มีสาเหตุเกิดเคืองกับผู้เสียหายทั้งสี่
ปาริชาติตอบโจทก์ถามค้านว่า พยานทราบว่าการแชร์ข้อความเป็นการกระจายข่าว และปกติพยานก็แชร์เพื่อเอาไว้อ่านเอง ซึ่งบางครั้งอาจจะยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และไม่ได้คำนึงว่าจะมีผลกระทบต่อตัวบุคคลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการแชร์โพสต์ตามฟ้อง พยานเห็นว่าเป็นผลดีกับผู้เสียหาย เนื่องจากจะได้มีการตรวจสอบและเกิดความเป็นธรรม แต่พยานไม่ได้คำนึงถึงผลลบที่อาจจะเกิดขึ้นได้
หากบุคคลในข่าวเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือตัวพยานเอง พยานก็จะแชร์ข่าวดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าหากพยานหรือญาติพี่น้องไม่ได้มีเจตนาทุจริต การแชร์ข่าวไปก็จะเป็นการให้ผู้อื่นนำข้อมูลมาร่วมตรวจสอบได้
จำเลยที่ 6 ปลั๊ก (นามสมมติ) ประกอบธุรกิจส่วนตัวใน จ.ฉะเชิงเทรา เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต พยานเห็นโพสต์ตามฟ้องที่หน้าเพจ ข้าราชการปลดแอก โดยเห็นว่า ไม่ได้มีข้อความหมิ่นประมาท และเห็นว่าเอกสารมีตราครุฑ ประกอบกับพยานเห็นยศ นายกองเอกปราโมทย์ ธัญพืช เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พยานจึงสงสัยว่ามียศดังกล่าวด้วยหรือไม่ จึงไปค้นดูพบว่า ปราโมทย์ ธัญพืช มีตัวตนจริง และมียศนายกองเอกจริง จึงเชื่อว่าเอกสารที่มีการโพสต์เป็นเอกสารราชการจริง พยานเห็นว่า การแชร์ข่าวดังกล่าวออกไปจะช่วยให้เกิดการตรวจสอบและป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริตในอนาคต
ก่อนเกิดเหตุ พยานเคยเห็นโพสต์อื่นๆ ในเพจข้าราชการปลดแอก พยานเห็นว่า แอดมินน่าจะเป็นข้าราชการที่คับข้องใจกับระบบราชการ จึงทำเพจเป็นช่องทางให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยและประชาชนอื่นๆ ได้ร้องเรียน
ช่วงวิกฤตโควิดพยานพบเหตุการณ์ว่า โรงพยาบาลแถวบ้านมาขอรับการสนับสนุนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและวัสดุบางอย่างเพื่อไปดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วย โดยได้รับแจ้งว่า งบประมาณมาช้า มาไม่ทัน ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยล้นเตียง พยานจึงอยากให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิดโปร่งใส เมื่อเห็นโพสต์ตามฟ้องที่น่าเชื่อถือ จึงคิดว่า ต้องการแชร์ไปเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบว่า มีการตรวจสอบ เพื่อให้ประชาชนสบายใจ พยานไม่ได้พิมพ์ข้อความเพิ่มเติม และไม่มีใครมาแสดงความเห็นหรือกดไลค์ในโพสต์ที่พยานแชร์ไป
พยานไม่รู้จักผู้เสียหายทั้งสี่ แต่เข้าใจว่าเป็นข้าราชการซึ่งมีเงินเดือนมาจากภาษีของประชาชน
พยานได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ เพื่อให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากพยานกระทำโดยสุจริตใจ ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความผู้เสียหายทั้งสี่ และตอนไปรับทราบข้อกล่าวหา พยานทราบว่า ผู้เสียหายทั้งสี่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงต้องการให้สำนักงานอัยการตรวจสอบสำนวนอีกครั้งและยุติการฟ้องคดี
เมื่อทนายโจทก์ร่วมถามค้าน ปลั๊กตอบว่า พยานแชร์โพสต์เป็นสาธารณะ โดยพยานมีเพื่อนในเฟซบุ๊กจำนวน 764 คน ซึ่งไม่จำเป็นว่าเพื่อนทุกคนต้องมองเห็นโพสต์ที่พยานแชร์ เนื่องจากเฟซบุ๊กจำกัดการมองเห็น ส่วนจะมีใครเห็นบ้าง พยานไม่ทราบเพราะไม่ได้ตรวจสอบ
การร้องเรียนในกรณีนี้เป็นแบบบัตรสนเท่ห์ และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไม่มีผลการตรวจสอบยืนยันว่า ผู้เสียหายผิดจริงหรือไม่ พยานตรวจสอบยศนายกองเอก แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวมีมูลความจริงหรือไม่ เพราะพยานอยู่ในภาคเอกชนไม่มีอำนาจไปตรวจสอบ แต่การแชร์โพสต์จะเป็นการทำหน้าที่พลเมืองที่ช่วยให้มีการตรวจสอบและป้องปรามการทุจริต
พยานเรียนนิติศาสตร์ เข้าใจว่า คำว่า “มีมูล” ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง เพียงแต่มีความเป็นไปได้ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบต่อไป ซึ่งผลอาจจะเป็นไปได้ทั้งมีความผิดและไม่มีความผิด
จำเลยที่ 7 สมภพ จิตต์สุทธิผล พ่อบ้าน เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปัจจุบันจัดการศึกษาที่บ้าน (Home school) ให้ลูกสาว
ปกติพยานดูข่าวจากสื่อโซเชียลทุกข่าวเป็นจำนวนมาก เมื่อพยานเห็นโพสต์ตามฟ้องนี้พยานตั้งใจแชร์เพื่อจะเก็บไว้อ่านและติดตามผลการดำเนินงาน เพราะพยานก็พบปัญหาด้วยตัวเองจากการไปซื้อเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยที่ร้านขายยาแถวบ้านแล้วไม่สามารถซื้อได้
พยานเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการตั้งข้อสงสัยว่ามีการทุจริตหรือไม่ และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ พร้อมทั้งชวนให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พยานแชร์โพสต์ไปโดยไม่ได้พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมและไม่มีใครมากดไลค์หรือกดแชร์หรือแสดงความเห็นต่อด้วย
พยานไม่ได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการแชร์โพสต์ดังกล่าว แต่ที่แชร์ไปนั้นเป็นเพียงความสนใจติดตามสถานการณ์โควิดทั่วประเทศและเห็นว่า น่าจะเป็นที่สนใจของคนอื่นด้วย
พยานตั้งค่าโพสต์เป็นสาธารณะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเห็นโพสต์ดังกล่าว ผู้ที่จะเห็นโพสต์ต้องเป็นคนที่เคยมากดไลค์โพสต์ของเรา หรือเป็นคนที่เคยมาดูที่โปรไฟล์ของเรา หรือเราซื้อโฆษณา
.
ผู้เชี่ยวชาญการเมืองการปกครองชี้ ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีอำนาจสูงสุด มีสิทธิตรวจสอบราชการ ทั้งข้อความไม่ใช่หมิ่นประมาท ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหาย
วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองไทย เบิกความให้ความเห็นว่า พลเมืองที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีความกระตือรือร้น การแสดงออกของประชาชนจึงเป็นเรื่องปกติ ทำได้เท่าที่ไม่เป็นอันตรายหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หลักการนี้บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ นักปรัชญาต่างประเทศก็รับรองเรื่องนี้ไว้
การก่อตั้งสังคมการเมืองต้องมีการทำพันธะสัญญาเลือกตัวแทน แต่อำนาจสูงสุดยังอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่ตัวแทน ระบบราชการก็เป็นกลไกในการบริหารบ้านเมืองตามความมุ่งหมายของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ โดยงบประมาณในการบริหารราชการก็เป็นเงินภาษีที่เก็บมาจากประชาชน ประชาชนจึงมีสิทธิตรวจสอบ ทั้งตามหลักการและกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญก็บัญญัติรับรองไว้
วิธีการในการตรวจสอบการบริหารราชการแต่ละหน่วยงานอาจจะแตกต่างกันไป แต่ตามหลักการประชาชนต้องมีอำนาจตรวจสอบอย่างเต็มที่ และสามารถตั้งคำถามต่อการทำงานของข้าราชการบนพื้นที่สาธารณะได้ สำหรับโพสต์ตามฟ้องพยานก็เห็นว่า เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามปกติ แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานราชการ
การบริหารจัดการของรัฐบาลในสถานการณ์โควิดซึ่งเป็นสถานการณ์พิเศษ การเข้าถึงข้อมูลของข่าวสารของประชาชนทำได้น้อย เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับความผิดปกติในการทำงานของรัฐบาลหรือแม้แต่หน่วยงานราชการก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ประชาชนจะเข้าไปตั้งคำถาม
ผู้ที่รู้เห็นความผิดปกติในช่วงเวลาดังกล่าว หากสามารถใช้ช่องทางของทางราชการได้ก็ดำเนินการไปตามช่องทางดังกล่าว แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการนั้น แล้วได้รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียก็สามารถแชร์ข่าวสารเพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบการทำงานของราชการได้
ในการตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้าน อ.วินัย ระบุว่า พยานเบิกความให้ความเห็นทางวิชาการเท่านั้น โดยไม่รู้จักจำเลยทั้งเจ็ด และไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงในการแชร์โพสต์ตามฟ้อง แต่พยานอ่านข้อความแล้วเข้าใจได้ว่า เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ทั้งเห็นว่า ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายจากโพสต์ดังกล่าว เพราะมีข้อความว่า “อาจมีการทุจริต” แล้วให้ช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งอาจจะมีการทุจริตหรือไม่ก็ได้
.
พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศระบุ ตาม ICCPR กฎหมายต้องเอื้อให้ประชาชนมีเสรีภาพในการวิจารณ์บุคคลสาธารณะโดยสุจริต – โพสต์ตามฟ้องจำเลยเพียงตั้งคำถาม จนท.รัฐต้องยอมรับการตรวจสอบ
เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เบิกความว่า พยานทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาเป็นเวลา 10 ปี และรับทำงานวิจัยเกี่ยวกับการฟ้องคดีปิดปากให้กับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ และองค์การสหประชาชาติเห็นปัญหาการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการระงับยับยั้งไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ลงนามไว้ โดยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบัญญัติอยู่ในมาตรา 19 ของ ICCPR ซึ่งมีปัญหามาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงมีความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 เพื่ออธิบายมาตรา 19 ว่า ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้จะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์บุคคลและประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ แม้ว่าข้อความที่เผยแพร่จะบิดเบือน แต่หากผู้เผยแพร่มีเจตนาสุจริต กฎหมายก็จะต้องเอื้อให้การแสดงออกดังกล่าว
บุคคลสาธารณะ หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีเอกสิทธิคุ้มกันต่ำกว่าบุคคลทั่วไป เพราะมีอำนาจหน้าที่ ประชาชนจึงต้องมีสิทธิที่จะตรวจสอบ แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริต ถ้าผู้แชร์ข้อความเชื่อโดยสุจริตใจว่าเป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะก็ควรได้รับการยกเว้นทางกฎหมาย
พยานมีความเห็นต่อโพสต์ตามฟ้องว่า ประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ตามโพสต์เป็นจริงหรือไม่ เป็นการตั้งคำถามในฐานะประชาชนว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ ไม่ได้ฟันธงว่า ทุจริตจริง และให้ประชาชนมาช่วยกันตรวจสอบ
รัฐเองก็มีข้อห่วงกังวลในประเด็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน ป.ป.ช.จึงมีการร่างกฎหมายคุ้มครองประชาชน โดยปัจจุบัน ครม.อนุมัติในหลักการแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือ ถ้าประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐต้องให้การปกป้องคุ้มครองประชาชนที่แจ้งเบาะแส
ในงานวิจัยของพยานพบว่า การใช้กฎหมายปิดปากทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมากมาย จึงมีการผลักดันกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก ที่ผ่านมามีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเพิ่มเติมมาตรา 161/1 และ 165/2 ประกาศใช้ในปี 2562 แต่ผู้พิพากษายังไม่กล้าใช้มาตราดังกล่าว
พยานเห็นว่า การโพสต์และแชร์โพสต์ตามฟ้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติของประชาชน ต่อให้เป็นข้อความบิดเบือน แต่เป็นเจตนาสุจริต ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะและเป็นตัวแทนประชาชน
หลังพยานได้รับการติดต่อให้มาเป็นพยานในคดีนี้ พยานถึงกับน้ำตาไหล และเต็มใจมา เพราะไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับใคร โดยเฉพาะเมื่อมาเห็นว่า จำเลยเป็นประชาชนทั่วไป พยานไม่ได้รู้จักจำเลยทั้งเจ็ด แต่เป็นประเด็นที่พยานทำงานวิจัยจึงมาให้การเป็นพยาน
เสาวณีย์ตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า ในงานวิจัยที่ทำได้ศึกษาผลกระทบของผู้ถูกวิจารณ์ด้วย ซึ่งพบว่า ผู้ถูกวิจารณ์ก็ได้รับความเสียหาย แต่ไม่เท่ากับประชาชน หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐใช้อัยการฟ้องคดีแทน แต่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีต้องจ้างทนายความเอง ซึ่งก่อให้เกิดความกลัวและส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยที่จะไม่มีใครกล้าแสดงความเห็น
ตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้เจ้าหน้าที่รัฐถูกวิจารณ์โดยข้อความที่บิดเบือน ตราบเท่าที่ประชาชนวิจารณ์โดยสุจริตก็ยังถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
พยานไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งเจ็ด ไม่เคยเห็นโพสต์ตามฟ้องและไม่รู้จักเพจข้าราชการปลดแอกมาก่อน ทั้งไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงในการแชร์โพสต์ แต่ทราบจากการอ่านข้อความ ซึ่งวิญญูชนทั่วไปอ่านแล้วเห็นว่า เป็นการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่การกล่าวหาส่วนตัว เป็นความเห็นตามมาตรฐานของวิญญูชน ซึ่งพยานก็เป็นวิญญูชน
พยานอ่านเอกสารที่โพสต์แล้วก็เข้าใจว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ยังไม่มีผลการตรวจสอบว่า มีการกระทำผิดตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่
.
แถลงการณ์ปิดคดี ขอให้ศาลยกฟ้อง เหตุจำเลยแชร์โพสต์ด้วยเจตนาสุจริต ทั้งข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหาย
ภายหลังสืบพยานเสร็จสิ้น จำเลยทั้งเจ็ดได้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดี มีเนื้อหาโดยสรุปว่า
1. คดีนี้จำเลยทั้งเจ็ดแชร์โพสต์ข้อความและรูปภาพพิพาทด้วยเจตนาสุจริต อันเนื่องมาจากจำเลยทั้งเจ็ดเห็นว่า ปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อพลเมืองทุกคน การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยชอบด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ทั้งเป็นการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่อง ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50, 63 และ 78 ของรัฐธรรมนูญ
ประกอบกับพยานจำเลยปากเสาวนีย์ แก้วจุลกาญจน์ ได้ตอบคำถามทนายโจทก์ร่วมไว้ว่า “จากการอ่านเอกสารดังกล่าว เป็นไปในทำนองที่ว่า จำเลยทั้งเจ็ดโพสต์เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เป็นการกล่าวร้ายบุคคลโดยส่วนตัว” ย่อมเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดย่อมได้รับการยกเว้นตามมาตรา 329 ของประมวลกฎหมายอาญา
2. ถ้อยคำในโพสต์พิพาทยังมิได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่า มีการทุจจริตอันเนื่องมาจากการกระทำของโจทก์ร่วมทั้งสี่ พยานจำเลยปาก วินัย ผลเจริญ ได้ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ร่วมไว้ว่า “ผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะทางเพจใช้คำว่าอาจมีการทุจริต ซึ่งอาจจะหมายความว่ามีการทุจริตหรือไม่ก็ได้” การที่จำเลยทั้งเจ็ดแชร์โพสต์พิพาทจึงไม่ใช่การหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมทั้งสี่
ประกอบกับพยานโจทก์ปากพิทิศ ชัยคำจันทร์ เองยืนยันว่า ข้อความที่ทำให้ผู้เสียหายทั้งสี่เชื่อว่า หากบุคคลทั่วไปอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว จะทําให้เข้าใจว่าผู้เสียหายทั้งสี่นั้นทุจริต มีเพียงข้อความว่า “จากการติดตามล่าสุด มหาดไทยพบว่ามีมูลความจริงและได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว” ขณะที่ข้อความดังกล่าว ผู้โพสต์คือแอดมินเพจข้าราชการปลดแอก โพสต์ไปตามกระบวนการขั้นตอนตามที่ปรากฏใน กฎ ก.พ. ซึ่งอ้างถึงในเอกสารของกระทรวงมหาดไทย และเป็นเอกสารที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าได้ จึงไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงที่จะเป็นการใส่ความ และเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายทั้งสี่ได้
ด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยทั้งเจ็ดจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องของโจทก์ด้วย
.