8 ธ.ค. 2565 ศาลจังหวัดนครพนมนัดพร้อมคดีที่ วารียา โรจนมุกดา นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม “นครพนมสิบ่ทน” วัย 19 ปี ถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 จากโพสต์ในเฟซบุ๊กเพจ “นครพนมสิบ่ทน” วิจารณ์ ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดนครพนม ในช่วงครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยา รวม 4 โพสต์ หลังจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ราย ได้แก่ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดนครพนม พรรคภูมิใจไทย, ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม และอลงกต มณีกาศ รองนายก อบจ.นครพนม ให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าแจ้งความดำเนินคดีแอดมินเพจ “นครพนมสิบ่ทน”
คดีนี้หลังจากอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 และศาลให้ประกันวารียาระหว่างพิจารณาคดี โดยให้สาบานตัวแทนการวางหลักประกัน ศาลได้นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 ก.ย. 2565 ต่อมาในนัดดังกล่าวซึ่งวารียายืนยันให้การปฏิเสธ ศาลได้กล่าวกับอัยการว่า อยากให้เรียกผู้เสียหายมาเจรจาไกล่เกลี่ยกับจำเลยด้วย เนื่องจากศาลเห็นว่าพฤติการณ์ไม่ได้ร้ายแรง จำเลยยังเป็นวัยรุ่น และไม่มีนักการเมืองผู้ใหญ่คนไหนไม่ถูกวิจารณ์ ก่อนเลื่อนไปนัดพร้อมในวันที่ 14 พ.ย. 2565
ในนัดต่อมา ผู้รับมอบอํานาจจากผู้เสียหายทั้งสามเดินทางมาศาล และแจ้งเงื่อนไขในการยอมความว่า วารียาจะต้องเข้าไปขอโทษพร้อมทั้งมอบพวงมาลัยให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม และให้โพสต์ภาพถ่ายขณะเข้าขอโทษพร้อมข้อความขอโทษลงในเฟซบุ๊กของจําเลยติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายได้นำร่างข้อความขอโทษมาให้ดู มีข้อความว่า
“ตามที่…………ได้เคยลงรูปภาพและข้อความที่กล่าวถึง (ลงชื่อ ผสห. ทั้ง 3 ท่าน) โดยมีเนื้อหาและความหมายที่ไม่เหมาะสม อันถือได้ว่าเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลทั้งสาม ซึ่งบัดนี้ ข้าฯ ได้น้อมรับในความผิดพลาด และขออภัยแก่ท่านทั้ง 3 ด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งข้าฯ จะพึงระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนเช่นครั้งนี้อีก
ข้าฯ ขอขอบพระคุณท่านทั้ง 3 ที่ให้โอกาสข้าฯ ในการประพฤติปฏิบัติตัวเป็นเยาวชนที่ดี และได้ให้คําแนะนําสั่งสอนในสิ่งที่ถูกต้อง”
หลังทราบเงื่อนไขการยอมความดังกล่าว วารียาแถลงต่อศาลว่าประสงค์จะเข้าไปขอโทษด้วยวาจาต่อหน้าผู้เสียหายทั้งสามเท่านั้น เงื่อนไขอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่อาจทำตามได้ ผู้รับมอบอํานาจผู้เสียหายทั้งสามแถลงว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องนําข้อเท็จจริงตามที่จําเลยแถลงไปแจ้งให้ผู้เสียหายทั้งสามทราบ ศาลจึงให้เลื่อนนัดพร้อมไปวันที่ 8 ธ.ค. 2565 เพื่อฟังผลการตัดสินใจของผู้เสียหาย โดยฝากบอกผู้เสียหายให้พิจารณาด้วยว่า ส.ส.ต้องอาศัยเสียงของประชาชน
ในนัดพร้อมครั้งที่ 3 ล่าสุดนี้ วารียาพร้อมทนายจำเลยเดินทางมาศาล ด้านผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายเดินทางมาพร้อมทนายความเช่นกัน เมื่อศาลออกพิจารณาได้สอบถามว่า ผู้เสียหายว่าอย่างไร ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายทั้งสามแถลงยืนยันเงื่อนไขเดิม ด้านวารียาก็ยืนยันว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอมาได้ และให้การปฏิเสธเช่นเดิม ศาลจึงให้ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน
ศาลแจ้งด้วยว่า ทนายผู้เสียหายทั้งสามยื่นคําร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี อัยการแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้ผู้เสียหายทั้งสามเข้าเป็นโจทก์ร่วม
อัยการแถลงว่า มีพยานบุคคลที่จะนําเข้าสืบ 7 ปาก เป็นผู้เสียหาย 3 ปาก ใช้เวลา 1 นัดครึ่ง ด้านทนายจําเลยแถลงว่า จะนำสืบพยานจําเลย 5 ปาก เป็นจำเลยเอง 1 ปาก ที่เหลือเป็นผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, IT และมนุษยศาสตร์ คาดว่าใช้เวลาในการนําสืบประมาณ 1 นัดครึ่งเช่นกัน
นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 25, 27 และ 28 เม.ย. 2566
คำฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมบรรยายว่า จําเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลเพจเฟชบุ๊คชื่อ “นครพนมสิบ่ทน-Nakorn Phanomsiborton” โพสต์ภาพพร้อมข้อความในระหว่างวันที่ 19 ก.ย. 2564 รวม 4 โพสต์ อันเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 นอกจากนี้ ภาพในโพสต์ดังกล่าว 3 โพสต์ เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด แล้วนําเข้าเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย จึงถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มีเหตุให้ยกเว้นความผิด หากทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ
.
อ่านคำฟ้องเพิ่มเติม โพสต์วิจารณ์ “ครูแก้ว” รอง ปธ.สภาผู้แทนฯ พร้อมนายก อบจ.นครพนม เป็นเหตุ อัยการยื่นฟ้อง นศ. “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา – พ.ร.บ.คอมฯ”
.