โพสต์วิจารณ์ “ครูแก้ว” รอง ปธ.สภาผู้แทนฯ พร้อมนายก อบจ.นครพนม เป็นเหตุ อัยการยื่นฟ้อง นศ. “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา – พ.ร.บ.คอมฯ” 

26 ส.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วารียา โรจนมุกดา นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม “นครพนมสิบ่ทน” วัย 19 ปี ต่อศาลจังหวัดนครพนม ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 จากโพสต์ในเฟซบุ๊กเพจ “นครพนมสิบ่ทน -Nakhon Phanomsibòrton”  วิจารณ์ ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดนครพนม ในช่วงครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยา รวม 4 โพสต์ ก่อนศาลให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี โดยให้สาบานตัวแทนการวางหลักประกัน นัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 12 ก.ย. 2565

คดีนี้มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ราย ได้แก่ ศุภชัย โพธิ์สุ หรือ “ครูแก้ว” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดนครพนม พรรคภูมิใจไทย, ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม และอลงกต มณีกาศ รองนายก อบจ.นครพนม มอบอำนาจให้ ผศ.(พิเศษ) ธนบวร สิริคุณากรกุล เข้าแจ้งความดำเนินคดีแอดมินเพจ “นครพนมสิบ่ทน” กรณีโพสต์พาดพิงพวกตนเมื่อวันที่ 18-19 ก.ย. 2564 รวม 4 โพสต์ จากนั้น พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม ได้ออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ให้วารียาเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยวารียาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานกว่า 10 เดือน ก่อนสรุปสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นสั่งฟ้อง

เวลาประมาณ 13.30 น. หลังวารียาพร้อมทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดนครพนมตามนัด เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายให้วารียาไปที่ศาลจังหวัดนครพนมเพื่อส่งฟ้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการได้ส่งตัววารียาให้ตำรวจศาลควบคุมตัวไว้ที่ห้องรอประกันซึ่งอยู่บริเวณห้องขังด้านหลังศาล ก่อนนำคำฟ้องยื่นต่อศาล

จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน ให้เหตุผลว่าจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีในทุกข้อกล่าวหา จึงมีความจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานด้วยตนเอง และเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับจำเลยยังเป็นเพียงผู้เยาว์ ไม่มีเหตุที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ทั้งยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา จึงยังไม่อาจหาทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวได้ 

ราว 15.45 น. หลังศาลสอบคำให้การเบื้องต้นและสอบถามว่ามีทนายความหรือยัง โดยวารียายืนยันให้การปฏิเสธและแจ้งว่ามีทนายความแล้ว ศาลได้นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 12 ก.ย. 2565 จากนั้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยให้วารียาสาบานตัวแทนการวางหลักประกัน

ก่อนปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ศาลได้นำวารียาไปสาบานตนต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารศาล โดยให้พนมมือกล่าวคำปฏิญาณ แต่วารียาแจ้งว่า ไม่ได้นับถือศาสนาใด ก่อนยกมือขึ้น 3 นิ้ว และกล่าวปฏิญาณตามเจ้าหน้าที่ว่า จะมาศาลตามนัดทุกครั้ง

.

อัยการอ้าง โพสต์ภาพตัดต่อ – คำฟ้องคดีเลือกตั้งท้องถิ่น – วิจารณ์ “ครูแก้ว” ถูกยื่นตรวจสอบครอบครองที่ดินผิด กม. ทำ 3 บุคคลสาธารณะเสื่อมเสียชื่อเสียง

วีระชัย มณีวงษ์ พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม บรรยายคำฟ้องถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาวารียามีเนื้อหาโดยย่อว่า

จําเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลเพจเฟชบุ๊คชื่อ “นครพนมสิบ่ทน-Nakorn Phanomsiborton” ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กที่เปิดเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 จําเลยได้ใส่ความนายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้เสียหายที่ 1 และ น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ ผู้เสียหายที่ 2 ต่อบุคคลที่สาม โดยใช้เพจเฟซบุ๊กซึ่งจําเลยเป็นผู้ดูแลดังกล่าวโพสต์รูปใบหน้าของผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีการตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงโดยนํารูปอุจจาระไปติดไว้บริเวณศีรษะ และมีข้อความส่วนหนึ่งในรูประบุว่า “POOP HAT” พร้อมโพสต์ข้อความว่า “แจก BG ร่วมกัน ตั้งโปรไฟล์ไว้อาลัย 19 กันยา 15 ปี พี่ชายไอตู้ยึดอํานาจ พวกอัปรีย์ปล้นชิงประชาธิปไตยประชาชน 19 กันยา carmob ไว้เจอกัน” ซึ่งคําว่า POOP HAT หมายความถึง หมวกอุจจาระ ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า อุจจาระเป็นสิ่งสกปรก ไม่ควรนําไปไว้บนศีรษะ 

2. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 จําเลยได้ใส่ความ น.ส.ศุภพานี ผู้เสียหายที่ 2 และนายอลงกต มณีกาศ ผู้เสียหายที่ 3 ต่อบุคคลที่สาม โดยใช้เพจเฟซบุ๊กซึ่งจําเลยเป็นผู้ดูแลดังกล่าวโพสต์รูปคําฟ้องคดีอาญา ระหว่างนายสมชอบ นิติพจน์ โจทก์ กับ นายอลงกต มณีกาศ จําเลยที่ 1 และ น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ จําเลยที่ 2 ในข้อหา พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามฯ พ.ศ.2563 

โดยในคําฟ้องดังกล่าวมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายทั้งสอง และมีข้อความว่า “เอกสารลับที่นี่เดียว ฝากกระจายข่าวสารด้วย แหล่งสื่อดังๆ ยิ่งดี แชร์กันเยอะๆ” โดยจําเลยไม่ได้เป็นคู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว และให้ข้อมูลในคดีไม่ครบถ้วน ทําให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นคนไม่ดี ทําผิดกฎหมาย จึงถูกฟ้องเป็นจําเลยในคดี 

3. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 จําเลยได้ใส่ความนายศุภชัย และ น.ส.ศุภพานี ต่อบุคคลที่สาม โดยใช้เพจเฟซบุ๊กซึ่งจําเลยเป็นผู้ดูแลดังกล่าว โพสต์รูปใบหน้าของทั้งสองซึ่งมีการตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง โดยนําใบหน้าของผู้เสียหายทั้งสองไปติดกับรูปใบหน้าของผู้อื่น และมีข้อความส่วนหนึ่งในรูประบุว่า “โกง” พร้อมโพสต์ข้อความแจ้งกําหนดการ Car Mob นครพนม ในวันที่ 19 ก.ย. 2564 ซึ่งจะเคลื่อนขบวนไปกดดันนายศุภชัย และผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมที่รับเรื่องจาก กมธ.ป.ป.ช. 

โดยตอนท้ายระบุถึงข่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 ว่า “ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีครอบครองที่ดินดงพระทาย จ.นครพนม ซึ่งผิดกฎหมาย สรุปง่ายๆ เป็นพื้นที่ของประชาชนคนจน” ซึ่งคําว่า “โกง” เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าหมายถึงบุคคลที่ไม่ดี และข้อความที่ลงในรูปดังกล่าวมีความหมายว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นคนไม่ดี กระทําผิดกฎหมาย 

4. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 จําเลยได้ใส่ความนายศุภชัยและ น.ส.ศุภพานี ต่อบุคคลที่สาม โดยใช้เพจเฟซบุ๊กซึ่งจําเลยเป็นผู้ดูแลดังกล่าวโพสต์รูปใบหน้าของทั้งสอง ซึ่งมีการตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงโดยนําไปติดที่รูปหัวสุนัขที่มีปลอกคอและสายจูง และมีข้อความส่วนหนึ่งในรูประบุว่า “รู้สึกดีใจมากที่ต่างแนวคิดเข้ามาเม้น ไม่ได้สะเทือนแต่ดีใจ อยากให้ทุกคนลองแบ่งสมองอีก ใช้เวลาไม่กี่นาทีกับความหมายของภาพ สิ่งที่ต้องก…”

จากรูปดังกล่าวซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าสุนัขเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง การนํารูปใบหน้าของผู้เสียหายทั้งสองไปติดที่หัวสุนัขจึงเป็นการไม่สมควร เมื่อบุคคลทั่วไปได้เห็นรูปดังกล่าวรู้สึกได้ว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่มีคุณค่า เป็นเพียงสัตว์เลี้ยง 

อัยการระบุว่า การโพสต์ภาพพร้อมข้อความดังกล่าวนั้น เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 นอกจากนี้ ภาพตามฟ้องข้อ 1, 3 และ 4 เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด แล้วนําเข้าเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อัยการจึงถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 อีกด้วย

.

ทั้งนี้ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มีเหตุให้ยกเว้นความผิด โดยหากทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ให้ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิด  

.

X