ถกทัศนะความคิดกับอดีต ‘นายก อมธ.’  ผู้ถูก ‘ข้าราชการ’ ฟ้องปิดปาก เพียงเพราะแชร์ข่าวทุจริตโควิด

อาจเพราะชีวิตพันผูกกับสังคมการเมือง นับตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยหรืออาจย้อนไปถึงช่วงประถมศึกษาที่พบเห็นหนังสือเกี่ยวกับ 14 ตุลา 2516 บรรจุในชั้นหนังสือที่บ้าน  

เรื่องราวของ “แม้ว” ปาริชาติ ผลเพิ่ม จากวันแรกที่คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2533 พร้อมกับการทำกิจกรรมในนามองค์การนักศึกษา ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปีถัดมาผลพวงการยึดอำนาจ เกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่ถูกโต้แย้งว่าขัดหลักประชาธิปไตย จากบทบัญญัติเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ที่ภายหลัง พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะ รสช. เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเป็น สส. นำไปสู่เหตุการณ์ประท้วงในเดือนพฤษภาคม ปี 2535  

หลังปีพฤษภาทมิฬที่สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มคลี่คลาย เธอได้รับเลือกตั้งเป็น นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ก่อนขยับไปอยู่ในโครงสร้าง สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

จนเรียนจบเมื่อปี 2537 ปาริชาติปักหลักทำงานกับกลุ่ม/องค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคมเรื่อยมา จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ มาสู่มูลนิธิ 14 ตุลา ก่อนขยับมาสู่กลุ่มดินสอสี ขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ  ทำประเด็นส่งเสริมชีวิตชาติพันธุ์  ล้วนเป็นเรื่องรณรงค์ประเด็นทางสังคม อาศัยด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนประเด็น เช่น จัดคอนเสิร์ตให้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และจัดงานรำลึกเหตุการณ์ทางเมืองของประเทศ 

ก่อนชีวิตเลยผ่านงานประชาสังคมหลายปี ปาริชาติโยกย้ายกลับไปทำธุรกิจที่ครอบครัว อยู่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี จนมาถึงวันหนึ่งขณะใช้ชีวิตปกติ แต่ด้วยเคยทำงานด้านรณรงค์ประเด็นสาธารณะมาก่อน จึงชอบติดตามข่าวจากสื่อทีวีและโซเชียลมีเดียอยู่หลายเพจเฟซบุ๊ก กระทั่งกลางปี 2564 ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ‘หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา’ หลังถูกข้าราชการ 4 ราย ใน จ.อุดรธานี แจ้งให้ดำเนินคดี เธอพร้อมประชาชนคนอื่น ๆ รวม 7 คน  ปาริชาติย้อนว่า “ตอนนั้นเราแทบลืมไปแล้วว่า ต้นตอจริง ๆ ของโพสต์นั้นมาจากเพจข้าราชการปลดแอก เรื่อง ทุจริตเกี่ยวกับโควิด-19 ปกติเราก็แชร์ข่าวประเด็นทางสังคมเพื่อเก็บไว้อ่านมาตลอด”

จากวันนั้นตั้งต้นจาก อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ปาริชาติต้องเดินทางไกลถึง จ.อุดรธานี อยู่หลายครั้งในระหว่างต่อสู้คดี กระทั่งคดีที่ศาลชั้นต้นจบลงด้วยศาลพิพากษายกฟ้อง  ระบุ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ

แม้จะผ่านประสบการณ์และเหตุการณ์ทางการเมืองร่วม 30 ปี แต่นี่เป็นครั้งแรกของอดีตนายก อมธ. ที่ถูกฟ้องจากการใช้เสรีภาพการแสดงออก “เป็นคนทำงานประสาน ทำงานธุรการ ทำงานติดต่อผู้คน ถนัดอยู่หลังบ้านมากกว่า” เธอกล่าวถึงตัวตนที่เป็นมาเนิ่นนาน 

ก่อนค่อย ๆ บอกเล่าเรื่องราวการเป็นจำเลยคดีฟ้องปิดปาก (SLAPPs) จากการแชร์เพจข้าราชการปลดแอกในเรื่องตรวจสอบทุจริต ที่เมื่อต่อสู้คดีไปถึงจุดหนึ่ง บางสิ่งบางอย่างที่เคยผ่านพบ ก็ตกตะกอนออกมาเป็นข้อคิดเห็นและบทสนทนาครั้งนี้  

ฉ้อราษฏร์บังหลวง มีมานานแล้ว

“อาจมีการทุจริตเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ Covid เช่น วัสดุครุภัณฑ์ที่ใช้ในสํานักงาน การจัดซื้อจัดจ้างในการป้องกันและยับยั้งโรคระบาดที่มีราคาสูงกว่าความเป็นจริง ของสํานักงานจังหวัดอุดรธานี” บางส่วนของข้อความประกอบภาพหนังสือราชการที่เพจข้าราชการปลดแอกนำมาลง ก่อนมีผู้แชร์โพสต์แล้วถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทฯ

ปาริชาติเล่าถึงเพจข้าราชการปลดแอก ว่า ไม่ต่างจากเพจสื่อสารประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่ติดตามอยู่ “เข้าใจว่าเขาสร้างมาจากความอึดอัดคับข้องใจที่ข้าราชการอยู่ภายใต้ระบบที่เหมือนกับตรวจสอบไม่ได้  แล้วคงอยากหาช่องทางคอยบอกกล่าวหรือว่าขับเคลื่อนตรวจสอบ” ก่อนจะพูดถึงคนเป็นแอดมินเพจดังกล่าวว่า “เขาก็รู้แหละว่าเขาเปิดหน้าไม่ได้หรอกเพราะว่ามันก็จะโดนอำนาจมาเล่นงานเขา”  

กับเรื่องทุจริตในแวดวงข้าราชการ เธอกล่าวว่า “เพราะประเทศเราไม่ได้โปร่งใส ไม่ได้ตรงไปตรงมา การฉ้อราษฏร์บังหลวงมีมานานแล้ว เหมือนฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาโดยตลอด ตอนนั้นเรารู้สึกว่า มันมีกลิ่นของความไม่ปกติ มันมีเรื่องทุจริตถุงมือยาง หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ออกมาตลอดช่วงโควิดระบาด”

มองอย่างผู้มีประสบการณ์ ปาริชาติอธิบายว่า “โดยมากในหน่วยงานราชการ ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง การเสนอราคา ประกวดราคา ที่กำหนดขึ้นมา มีไว้เพื่อปกปิดความผิดทั้งนั้น ยังไม่เห็นเลยว่ามันจะตรงไปตรงมา สุจริตได้จากอะไร คำว่าทุจริตมันมีข้อยกเว้นอยู่ทุกขั้นตอน” 

ก่อนจะชวนคุยถึงระบบที่บางครั้งเธอมักเรียกว่า ‘ข้าราชเผด็จการ’ “เพราะเราไม่ไปอยู่ในความเป็นจริงของสิ่งนั้น สมมติว่าในระบบราชการคุณทำเพื่ออะไร มันไม่ได้มีเนื้อเท่าน้ำ หลายอย่างเป็นเรื่องพิธีการ พิธีกรรม ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างมีมาเพื่อที่จะเคลือบเปลือกเหล่านี้เอาไว้เท่านั้น  ทำขึ้นมาเพื่อไม่ให้คุณจะต้องรับผิด แต่ว่าเอาจริง ๆ เนื้องานมันแทบไม่ได้มีอะไรให้จับต้องและมีประโยชน์ แล้วคุณก็จะไปปริ้นท์ไวนิลโฆษณาชวนเชื่ออยู่ตลอดเวลา คุณก็จะไปตกแต่งสถานที่ตลอดเวลา แท้ที่จริงเนื้องานคืออะไรยังไม่รู้เลย เช่น งานคุณจะพูดเรื่องการแยกขยะ เบื้องหลังนั้นขยะเกิดขึ้นอีกมากมายก่ายกอง” 

“การที่จำเลยแชร์โพสต์ดังกล่าวโดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าผู้เสียหายทั้งสี่เป็นข้าราชการทุจริต อันเป็นการใส่ความ โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้เสียหายทั้งสี่ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง” ถ้อยความบางส่วนจากคำบรรยายฟ้องที่พนักงานอัยการกล่าวถึงจำเลยทั้ง 7 ราย เมื่อเดือนสิงหาคม 2565

ปาริชาติสะท้อนถึงคำฟ้องว่า “ไม่ควรจะฟ้องให้เป็นเรื่องกฎหมายปิดปากตั้งแต่ต้น เพราะการที่เราแชร์ก็ยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ในการช่วยติดตามตรวจสอบ เพราะว่าช่วงนั้นเป็นเรื่องขอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ตั้งกรรมการสอบ ยังรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ควรจะเปิดให้คนช่วยกันเป็นหูเป็นตา แต่กลับกลายเป็นว่า ข้าราชการ 4 รายนั้น เขารู้สึกว่าโดนกระทำ ถูกทำให้เสียชื่อเสียง เลยน่าตั้งคำถามว่า มันไปถึงประเด็นนั้นได้อย่างไร” 

ฉงนใจ คนฟ้องโกรธอะไรนักหนา ?

เมื่อถามถึงผู้เสียหายในคดี 4 ข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งปรากฏชื่อในหนังสือราชการที่เพจข้าราชการปลดแอกนำไปเผยแพร่ ที่ผู้พิพากษาพยายามให้ทั้งสองฝ่ายมาพบกันเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยอยู่หลายครั้ง ครั้งหนึ่งผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายเคยเสนอเงื่อนไขให้ฝ่ายจำเลยโพสต์ขอโทษแล้วผู้เสียหายจะถอนฟ้อง จนฝ่ายจำเลยปรึกษากันแล้วเสนอข้อความที่จะโพสต์ว่า “การแชร์โพสต์ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท เป็นการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่หากส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายต้องขออภัยด้วย” แต่ก็เป็นฝ่ายผู้เสียหายที่ไม่มีการตอบรับใดๆ และไม่เคยเดินทางมาปรากฏตัวที่ศาลแม้แต่ครั้งเดียว ปาริชาติเล่าถึงจุดนี้ว่า 

“ยังไม่เคยเจอหน้าเขาเลย ตั้งแต่ชั้นสอบสวนก็ได้ยินตำรวจบอกว่าหากได้คุยตกลงกันก็ไม่น่าจะฟ้อง เหมือนเจรจายอมความกัน ระยะแรกด้วยความรู้สึกว่าถ้าเขารู้สึกว่าเสียหายก็อาจจะไปขอโทษ แต่พอตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้อง อัยการก็สั่งฟ้องจนไปนั่งห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลในระหว่างรอประกันตัว จึงรู้สึกว่า ไม่ยอม”

คดีดำเนินมาถึงชั้นสืบพยานโจทก์เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ศาลพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้ง ทนายผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายแจ้งเงื่อนไขว่า ให้จำเลยลบโพสต์ที่แชร์ และให้ติดต่อสำนักข่าวลบข่าวที่เผยแพร่ในทำนองว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้งจำเลย แต่ก็ไม่ได้ระบุว่า หากทำตามเงื่อนไขแล้วจะถอนฟ้อง ก่อนศาลเลื่อนสืบพยานออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2566 ที่สุดท้ายผู้เสียหายก็ไม่ได้มาที่ศาล กระบวนการสืบพยานจึงเดินหน้าไป 

“มันมีลักษณะของการอยากเจรจาอยู่ตลอด แต่เราจับความรู้สึกได้ว่า เขาไม่ได้คิดแบบนั้นจริง ๆ สงสัยว่า ตกลงเขาต้องการอะไรกันแน่ มันน่าจะขอโทษแล้วจบ แต่มันไม่เคยจบสักครั้ง หนำซ้ำยังไม่เคยปรากฏตัว ส่งทนายมา แล้วก็โยนหินถามทาง ลองทำอันนี้สิ ถามว่าจำเลยอย่างเราเลือกอะไรได้บ้าง สิ่งที่ทำได้ก็ทำให้เขาแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยมา ขนาดวันที่สืบพยานโจทก์เขายังไม่มาเลย” เธอกล่าวไว้ตอนหนึ่ง

ปาริชาติเล่าสะท้อนอย่างฉงนใจอีกว่า “เพราะเราไม่ได้คุยเลย ถ้าได้คุยจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร  แต่เขาก็ไม่เคยปรากฏตัว หน้าตาเป็นยังไงไม่มีใครเคยรู้เลย เราเองก็อยากรู้ว่า ตกลงที่เขาฟ้องเพราะโกรธอะไรนักหนา จากบ้านเราไปอุดรฯ ไม่ใช่ใกล้ ๆ เลยนะ ความโกรธต้องมากพอนะ จะได้รู้ไงว่าจะทำยังไงให้เขาหายโกรธ พอเขาไม่มาก็เลยไม่รู้ว่าความโกรธชนิดนี้ของเขาคืออะไร” 

เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ 

“พยานเชื่อในเรื่องคนเท่ากันตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง 1 คน มีสิทธิ 1 เสียงเท่ากัน ปกติพยานจะติดตามข่าวสารจากเฟซบุ๊กของสำนักข่าวต่างๆ หลายบัญชี โดยไปกดไลค์ไว้ รวมถึงแชร์ในข่าวที่สนใจเพื่อกลับมาดูในภายหลัง

ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงโควิดระบาด พยานเป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากเป็นเบาหวาน จึงสนใจข่าวเรื่องโควิด เมื่อพยานเห็นโพสต์ตามฟ้อง และเห็นว่ามีความผิดปกติในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิดในหน่วยงานภาครัฐ จึงแชร์โพสต์ดังกล่าวไว้เพื่อติดตามภายหลัง

พยานเห็นว่า การแชร์โพสต์ดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีในการมีส่วนร่วมตรวจสอบเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งเป็นประโยชน์กับผู้เสียหายทั้งสี่ เพราะเมื่อมีการแชร์ไปในวงกว้างก็จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นธรรมกับผู้เสียหายทั้งสี่ นอกจากนี้ยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามที่บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 19 ของ ICCPR รวมทั้งเป็นไปตามความเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 34

พยานได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้ไม่ฟ้องคดี เพราะพยานรู้สึกว่า แชร์โพสต์ไปโดยสุจริตใจ ชื่อเฟซบุ๊กก็เป็นชื่อจริง ไม่น่าที่จะถูกดำเนินคดี พยานไม่รู้จักและไม่มีสาเหตุเกิดเคืองกับผู้เสียหายทั้งสี่

ปาริชาติตอบโจทก์ถามค้านว่า พยานทราบว่าการแชร์ข้อความเป็นการกระจายข่าว และปกติพยานก็แชร์เพื่อเอาไว้อ่านเอง ซึ่งบางครั้งอาจจะยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และไม่ได้คำนึงว่าจะมีผลกระทบต่อตัวบุคคลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการแชร์โพสต์ตามฟ้อง พยานเห็นว่าเป็นผลดีกับผู้เสียหาย เนื่องจากจะได้มีการตรวจสอบและเกิดความเป็นธรรม แต่พยานไม่ได้คำนึงถึงผลลบที่อาจจะเกิดขึ้นได้

หากบุคคลในข่าวเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือตัวพยานเอง พยานก็จะแชร์ข่าวดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าหากพยานหรือญาติพี่น้องไม่ได้มีเจตนาทุจริต การแชร์ข่าวไปก็จะเป็นการให้ผู้อื่นนำข้อมูลมาร่วมตรวจสอบได้”

นัดสืบพยานจำเลย 2 วัน เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 จำเลยทั้ง 7 ราย ต่างเข้าเบิกความ เช่นเดียวกับปาริชาติที่เบิกความยืนยันถึงหลักการการมองผู้คนเท่ากัน พร้อมกล่าว “ก็เชื่อว่าเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าสามารถตรวจสอบ ติดตามเรื่องพวกนี้ได้ ”  

อีกสิ่งที่ปาริชาติประทับใจในการต่อสู้คดีครั้งนี้ คือการมาเบิกความของ เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล พยานผู้เชี่ยวชาญ 

“การโพสต์และแชร์โพสต์ตามฟ้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติของประชาชน ต่อให้เป็นข้อความบิดเบือน แต่เป็นเจตนาสุจริต ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะและเป็นตัวแทนประชาชน 

ในงานวิจัยที่ทำได้ศึกษาผลกระทบของผู้ถูกวิจารณ์ด้วย ซึ่งพบว่า ผู้ถูกวิจารณ์ก็ได้รับความเสียหาย แต่ไม่เท่ากับประชาชน หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐใช้อัยการฟ้องคดีแทน แต่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีต้องจ้างทนายความเอง ซึ่งก่อให้เกิดความกลัวและส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยที่จะไม่มีใครกล้าแสดงความเห็น”

หลังได้ยินคำเบิกความนั้น เธอกล่าวถึงความรู้สึกอย่างท่วมท้นว่า “มันใจฟูเลย ที่มีงานวิจัยและกฎหมายรองรับ ที่มีการยืนยันสิทธิของประชาชนจริง ๆ ซึ่งเราก็เลยนำประโยคท่อนนั้นเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน เรารู้สึกว่า ทั้งอัยการ ทั้งศาล เขาอาจจะไม่รู้กติกาสากลที่ไทยไปลงนามไว้อันนี้ด้วยซ้ำ เขาอาจจะได้ยินพร้อมกับเรา เรารู้สึกว่า ในวงการผู้พิพากษา ควรจะมีหลักอันนี้ไว้เป็นเครื่องมือด้วยซ้ำ”

หากย้อนไป แม้จะถูกกระบวนการยุติธรรมเบรกให้ตัดสินใจว่า จะสู้หรือถอยในหลายครั้ง กับการยืนยันเดินหน้าสู้คดี ปาริชาติกล่าวไว้ว่า “ไม่ได้มีผลต่อเรื่องสู้ไม่สู้ เพราะว่าสู้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยชอบท่าทีของการตั้งธงว่า เหล่าข้าราชการทั้งสี่คนนั้นตกเป็นเหยื่อ เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นเหยื่อ ยิ่งกับมุมของการต้องมาต่อสู้คดีกับรัฐ ทำให้ชวนตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่เป็นเหยื่อ”

เธอย้ำถึงเรื่องราวคดีอีกว่า  “มีจุดหนึ่งที่รู้สึก อัยการพยายามจะบอกว่า ผู้เสียหายสูญเสียนู่นนี่นั่น แต่ตอนที่เราแชร์ เราไม่ได้เจตนาที่จะใส่ร้ายเขาเป็นตัวบุคคล เรามองเขาเป็นส่วนหนึ่งของข่าวเท่านั้นเอง แล้วอัยการยังพยายามจะบอกอีกว่า เนี่ยคุณไม่เห็นหรอว่าเขาเป็นคนๆ หนึ่ง เราก็บอกว่าไม่ได้มองเป็นรายคนจริง ๆ มองเป็นเรื่องปรากฏการณ์ข่าวส่อทุจริตจริง ๆ”

ยิ่งเชื่อมั่นว่าไม่ผิด ยิ่งไม่ต้องกลัวข้อกล่าวหา

กับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ปาริชาติเล่าว่า “เราเจอเพื่อนฝูงแต่ละคน เขาพูดว่า มีอะไรให้ช่วยก็บอก แต่เราก็ติดตามข่าว อย่างบางคนเจอ ม.110 บางคนเจอ ม.112 บางคนเจอ ม.116 คดีแบบเราถือว่าความรุนแรงน้อยมากเลย ก็ถือเป็นประสบการณ์ ถ้าเกิดเขาตัดสินว่าผิดเราก็ต้องสู้ต่อไปแหละ” 

เมื่อพูดถึงความคาดหวังกับผลตัดสินคดี “เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องยกฟ้อง เท่าที่ประเมินจากกระบวนการทั้งสืบพยานโจทก์ สืบพยานจำเลย สิ่งที่เขาแจ้งความมันหละหลวมเกินไป แต่หากตัดสินให้เราผิด ศาลต้องอธิบายเยอะว่าทำไมลงโทษเรา” 

กับการทำงานภาคประชาสังคมมายาวนาน พบเห็นการฟ้องคดีปิดปากหลากหลายกรณี ปาริชาติอยากเห็นสังคมเรียนรู้ว่า กระบวนการฟ้องคดีแบบนี้ช่างสิ้นเปลือง “พอกลายเป็นว่า ข้าราชการมาใช้กฎหมายฟ้องปิดปากประชาชน คุณสามารถให้อัยการฟ้องคดีแทนได้ ใช้ทรัพยากรของรัฐแทบทุกอันเลย ซึ่งตรงนี้มันเป็นธรรมหรือเปล่า ไม่รู้เลยว่ากฎหมายเรื่องพวกนี้มันจะไปยังไงต่อ” 

เธอยังคาดหวังเห็นสังคมไทยจะตั้งคำถามเรื่องเหล่านี้  “ข้าราชการกินเงินเดือนจากภาษีของพวกเรา แล้วเรื่องพวกนี้ทำไมเราที่เป็นประชาชนถึงช่วยกันตรวจสอบไม่ได้ เราตั้งคำถามไป กลายเป็นว่าเราไปดูหมิ่น เขาก็แจ้งความให้ตำรวจ อัยการ ซึ่งเป็นข้าราชการเหมือนกันมาฟ้องเราเพื่อกดเราอีกทีหนึ่ง มันดูไม่เป็นธรรมยังไงไม่รู้”

กับประชาชนอีก 6 ราย ที่ถูกฟ้อง ทั้งนักรังสีวิทยา, กราฟิกดีไซน์เนอร์, พ่อบ้านที่ทำโฮมสคูลให้ลูก, อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่คนทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนร่วมทางต่อสู้คดี  ที่แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ปาริชาติเชื่อมั่นว่า ทุกคนต่างมีจุดร่วมกัน คือ เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน “เข้าใจว่าแต่ละคนที่ถูกดำเนินคดี เขารักษาสิทธิความเป็นประชาชนมากเลย เขามีมุมเป็นของตัวเองทั้งนั้น คนเหล่านี้ก็เป็นตัวแทนของสังคมที่อยากเปลี่ยนแปลง ” 

กับตัวเองหลังฟังคำพิพากษา แม้จะยินดีกับคำตัดสินให้ยกฟ้อง แต่ลึก ๆ ก็คิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรถูกฟ้องตั้งแต่แรก และควรรณรงค์แก้ไขเรื่องปัญหากฎหมายปิดปากต่อไป  ก่อนท้ายที่ปาริชาติก็ตกผลึกว่า “ยิ่งเชื่อมั่นว่าไม่ผิด ยิ่งไม่ต้องกลัวข้อกล่าวหา ตำรวจ อัยการ ไม่ได้ถูกต้องขนาดนั้นเสมอไป ใด ๆ ต้องมาพิสูจน์กันอีกที”

X