“หยก” ยาแรงของระบบการศึกษา หรือแค่เด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ผู้ใหญ่ไม่คุ้นเคย

การที่หยกทำแบบนั้นจะทำให้เด็กคนอื่นเห็นแล้วทำตาม…

ต้องมีใครคอยบงการอยู่แน่ๆ เด็กอายุแค่ 15 จะคิดแบบนี้ได้ยังไง…

กฎก็ต้องเป็นกฎ…

ถ้ายังทำตามกฎในโรงเรียนไม่ได้ แล้วจะใช้ชีวิตในสังคมได้ยังไง…

_____________________________________________________________________________________________

“หนูว่าหนูก็เป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่งนะ” คำตอบสั้นๆ ที่อธิบายคำถามยาวเหยียดได้อย่างครอบคลุม เมื่อหยกถูกถามว่าคิดเห็นอย่างไรที่หลายคนมองว่าเธอคือยาแรงของระบบการศึกษาไทย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้มีโอกาสกลับมาพูดคุยกับหยกอีกครั้ง เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางปล่อยตัวเธอโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 หรือกว่า 51 วันที่หยกต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านปรานี

ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน เด็กหญิงเล่าว่าตัวเองเดินทางปรี่มาจากโรงเรียนย่านพัฒนาการ ด้วยชุดเสื้อผ้าไปรเวทที่คุ้นเคย กระเป๋าสะพายข้างและรองเท้าเบรกเกอร์สีดำคู่ใจ เธอยังคงแสดงออกอย่างกระตือรือร้นว่ายังคงมุ่งมั่นในความตั้งใจว่าระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

“ผื่นที่หลังของหนูก็ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังต้องไปหาหมออยู่ค่ะ” 

“ตอนนี้ที่โรงเรียนราบรื่น ไม่ค่อยรุนแรงกับหนูแล้ว”

“ยังเข้าเรียนได้ตามปกติค่ะ”

หยกพูดคุยและตอบคำถามด้วยความซื่อตรงอย่างนักเรียนทั่วๆ ไป นอกจากนี้ เธอกล่าวว่าตัวเองไม่ได้รู้สึกว่าต้องการความพิเศษกว่าใคร เรื่องราวของเธอที่เราได้เห็นและได้ยินผ่านสื่อ สิ่งเหล่านั้นเธอยืนยันว่าไม่ต้องการอภิสิทธิ์เหนือนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียน ทุกสิ่งที่เธอทำมีเหตุผลและไม่รุนแรงอย่างที่ผู้ใหญ่บางกลุ่มตราหน้าว่าเธอเป็นเด็กก้าวร้าว

“หนูก็ปล่อยวางไปแล้วหลายเรื่องนะ” เธอกล่าวเมื่อถามถึงกระแสทางสังคมในเชิงลบ ที่คอยเข้ามาต่อว่าและวิจารณ์ ถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ของเธอ “มันไม่มีประโยชน์ที่จะเอามาใส่ใจ เราใส่ใจกับคนที่มีค่ากับเราดีกว่า” 

ถึงอย่างนั้น เสียงที่ใครหลายคนหาว่าขบถ ก็จุดประกายให้สังคมและสื่อมวลชน ต้องหันหน้ารื้อปัญหาอำนาจนิยมและการกดทับของนักเรียนมาพูดคุยกันอีกครั้ง และในวันที่ 23 มิ.ย. 2566 กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ แนวทางการแต่งกายของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยอนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่งกายด้วยสุดอะไรก็ได้ 1 วันต่อสัปดาห์ 

หยกกล่าวว่าในเรื่องดังกล่าวเธอไม่ได้รู้สึกยินดียินร้ายเท่าไหร่นัก “มันก็แค่ในกรุงเทพฯ แต่โรงเรียนอื่นยังไม่ได้รับอะไรแบบนี้ ตามที่ กทม.ออกมา หนูว่ามันก็เป็นการเปิดโอกาสดี แต่สุดท้ายมันก็แค่นั้น แล้วเด็กๆ โรงเรียนอื่นๆ ล่ะ?” เธอตั้งคำถาม

“มันเป็นมากกว่านี้ได้ หนูอยากให้มีประชามติกับนักเรียนมากกว่า ซึ่งจริงๆ ถ้าทำประชามติแล้วมันออกมาเป็นชุดนักเรียนเหมือนเดิม หนูก็โอเค” หยกอธิบายเรื่องการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนของเธอ 

เมื่อขอให้เล่าอุปสรรคในโรงเรียน หยกบอกว่าตัวเธอตอนนี้ ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรคในการเข้าเรียนอีกแล้ว ครูบางคนก็ยังคงรับการบ้านที่เธอทำส่ง หรือแม้แต่งานกลุ่มต่างๆ ก็ยังมีเพื่อนที่รับเธอร่วมทำงานด้วย เธอไม่รู้ว่าในสัปดาห์สอบกลางภาคที่จะมาถึงนี้ (18-20 ก.ค.66) ตัวเองจะมีสิทธิเข้าสอบหรือไม่ แต่ก็ยังยืนยันว่าจะยังคงไปโรงเรียนเหมือนเดิม แม้ท้ายที่สุดเธอจะไม่มีรายชื่อเข้าสอบกับเพื่อนๆ ก็ตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ในฐานะนักเรียนคนหนึ่ง หยกตอบอย่างจริงใจที่สุดเท่าที่จะเป็นได้แล้ว

“หนูไม่ได้ซีเรียสอะไร ก็สู้ไปเรื่อยๆ ต้องรอดูกันต่อไป ก็เรียนกันต่อไป”

หลังจากที่ทางโรงเรียนพยายามหาทางออกเรื่องของเธอกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยทางเธอและผู้ปกครอง ไม่ได้ถูกรับเชิญให้เข้าไปร่วมในการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวด้วย หยกก็ได้รับทราบจากทางโรงเรียนว่าเธอจะไม่มีสิทธิเข้าสอบกลางภาคกับเพื่อนๆ ในเทอมนี้ แม้เธอจะเขียนจดหมายถึงครูประจำชั้น เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ พม. จะพยายามเข้ามาลดความรุนแรงเรื่องของเธอ  แต่กระแสการต่อต้านของกลุ่มผู้ปกครองและครูหลายคนก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะให้นักเรียนเช่นเธอ มีตัวตนในระบบการศึกษาของโรงเรียน โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ผอ.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงสภาชิกวุฒิสภา กรณีที่หยกเป็นคนนอกของโรงเรียน อ้างว่าสร้างความกังวลและไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน 

อ่านข่าว >> ผอ.เตรียมพัฒน์ฯ ยื่นหนังสือให้ ส.ว. หวังเร่งหาทางออกกรณีหยก ย้ำ หยกคือคนนอกที่เข้าไปเรียน

หยกทิ้งทวนเรื่องที่โรงเรียน โดยบอกว่าอันที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในโรงเรียน มันไม่ใช่ความรุนแรง เป็นสันติวิธีที่สุดแล้วที่เธอจะเรียกร้องสิทธิของนักเรียนได้ “สิ่งที่หนูทำมันธรรมดามาก ถ้าเทียบกับที่ผู้ใหญ่เขาทำกับหนู จะบอกว่ามันเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งก็ได้”

การที่เด็กอายุ 15 จะคิดได้แบบนี้ เพราะมีคนครอบงำ?

หนึ่งในข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด จนกระทั่งทุกวันนี้หยกก็ยังหนีไม่พ้นการถูกตั้งคำถามซ้ำๆ จากสังคม อันที่จริงเธอบอกว่าเรื่องนี้ก็เบื่อที่จะพูดเยอะแล้วเหมือนกัน

“ใครจะมาครอบงำหนูได้ หนูมั่นใจว่าไม่มีใครมาครอบงำหนูได้หรอก หรือถ้าเขาอยากลองดู ก็ให้เขาลองว่ามันจะเป็นยังไง” หยกหัวเราะในขณะที่พูด หลังจากที่คุยกันถึงประเด็นที่ผู้ใหญ่บางคนก็คิดว่าเธอมีกลุ่มนักกิจกรรมหรือนักการเมืองคอยบงการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งแท้จริงแล้วคือกลุ่มเพื่อนๆ ที่ตัวเธอเลือกที่จะอยู่ด้วยความสบายใจและปลอดภัยเป็นที่สุดสำหรับตัวเอง

มากไปกว่านั้น หยกกล่าวว่าเป็นเธอเสียมากกว่าที่ต้องการยุติการครอบงำทางอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ในวงการศึกษา ด้วยการขอใช้สิทธิแต่งกายด้วยชุดไปรเวท หรือการตั้งคำถามกับวิชาจริยธรรมของหลักสูตรการศึกษา ตลอดจนการศึกษาบริบทวิธีการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม

ในวันที่ 28 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา หยกถูกควบคุมตัวและถูกจับตามหมายจับในคดีมาตรา 112 ของ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งมี อานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้ เธอถูกนำตัวขึ้นศาลเยาวชนฯ ในวันถัดมา ก่อนที่จะเลือกวิธีการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมและอำนาจศาล พร้อมทั้งไม่เซ็นแต่งตั้งทนายความให้กับตัวเอง จนกระทั่งศาลส่งตัวเธอเข้าบ้านปรานีเป็นระยะเวลารวมกว่า 51 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมา

เมื่อถามถึงแรงผลักดันที่กล้าทำให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งทดลองเสี่ยงกับโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมที่ใหญ่ขนาดนี้ และหากให้มองย้อนกลับไปเธอคิดบ้างหรือไม่ว่าตัวเองอาจมีโอกาสได้กลับไปอยู่บ้านปรานีอีกครั้ง 

“การที่เด็กคนหนึ่งไปอยู่ในนั้น มันเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในชีวิตแล้ว” เธอตอบความรู้สึกสั้นๆ หลังจากเผชิญหน้ากับเรื่องราวมากมายในบ้านปรานี 

หยกบอกว่าตั้งแต่อยู่ในนั้น เธอก็พยายามใช้ช่วงเวลาของการเยี่ยมบอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ มากมายที่ได้เจอให้ได้มากที่สุด บันทึกเยี่ยมในแต่ละครั้งเธอเห็นว่าได้พูดมันออกไปแล้วบนเฟซบุ๊กของตัวเองอย่างไม่มีหมกเม็ด 

“ตอนเราถูกจับ หนูคิดแค่ว่าได้ทำตามสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้ว หนูไม่ได้ต้องการคัดลอกเลียนแบบใคร หนูแค่เรียนรู้และเข้าใจวิธีการปฏิเสธอำนาจศาลยังไงตามกฎหมาย และเอามาปรับใช้ให้เป็นตัวเองมากที่สุด” หยกอธิบายถึงวิธีการปฏิเสธอำนาจศาลที่ครั้งหนึ่งเคยมีทนายประเวศ ประภานุกูล หนึ่งในอดีตจำเลยคดีมาตรา 112 ในสมัยการรัฐประหารของ คสช. เคยใช้วิธีนี้มาแล้ว 

เธอคิดเพียงว่าทนายประเวศเป็นหนึ่งในร่องรอยของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมรูปแบบหนึ่งที่เธอสนใจจะเรียนรู้เท่านั้น

“ตอนที่อยู่ในนั้น หนูไม่กลัวเลย ถ้าเขาคิดว่าคนอย่างหนูสมควรจะต้องกลับเข้าไป เราโอเค เข้าไปก็ได้ เพราะยังไงหนูก็ต้องผ่านมันไปให้ได้” เพื่อต่อกรกับความไม่เป็นธรรม ในหลายๆ ครั้งระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในบ้านปรานี หยกบอกผ่านบันทึกเยี่ยมถึงความหนักแน่นในการไม่ขอใช้สิทธิประกันตัว หรือร้องขอความเห็นใจจากศาล 

“ทำไมเราต้องยอมรับมันด้วย ในเมื่อมันไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก เรื่องบ้านปรานี หนูไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้กลับไปไหม ถ้าต้องกลับก็กลับ หนูคิดแค่ว่าทำทุกวินาทีให้ดีที่สุด เพราะเราไม่สามารถย้อนอะไรได้อีกแล้ว เราเลยจุดนั้นมาแล้ว อยากทำทุกอย่างให้คุ้มในขณะที่เราอยู่กับปัจจุบัน” หยกยังบอกอีกว่า หากในอนาคตมีการสั่งฟ้องคดีเกิดขึ้น เธอก็ขอยืนยันที่จะทำตามหลักการเดิมที่เคยทำมา 

“มันไม่มีใครสมควรถูกโดนแจ้งความในมาตรา 112 แบบนี้ และทุกวันนี้ก็เอามาใช้กับคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ มันยิ่งแสดงความไม่เป็นธรรมออกมา มันแสดงให้เห็นถึงการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน” 

วันหยุดสุดสัปดาห์ของเด็กนักเรียนธรรมดาๆ 

นอกจากบทบาทนักกิจกรรมเยาวชน หยกบอกเล่าถึงวันสบายๆ ของตัวเองที่ไม่ต้องไปโรงเรียนว่าเธอเป็นคนที่ชอบใช้พลัง โดยมักกีฬาโลดโผน ฟังเพลง และจะสนุกมากเมื่อได้ออกไปทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์กับเพื่อนๆ 

“ทุกวันนี้สนใจหลายอย่างทั้งเพลง ปั่นจักรยาน ปีนผาจำลอง พายเรือ ตีแบต” 

“แล้วก็อยากขับบิ๊กไบค์ด้วย หนูไปศึกษามาว่า อายุ 15 เราสามารถทำใบขับขี่ชั่วคราวได้ เพราะกฎหมายมีกำหนดว่าถ้าเราไปฝึกกับศูนย์สอนขับรถ เราขอใบรับรองไปขี่บิ๊กไบค์ได้” แววตาของหยกเป็นประกายที่สุดตอนพูดถึงบิ๊กไบค์คันใหญ่ เธอตื่นเต้นที่อยากจะลองขับมันดูให้ได้จริงๆ สักครั้ง ถึงขนาดว่าไม่สามารถนั่งอยู่ติดกับที่ได้ แต่เธอไม่กล่าวถึงความฝันเลย ตลอดบทสนทนานี้ เมื่อถามว่าการมีบิ๊กไบค์เป็นของตัวเองสามารถเรียกว่าเป็นความฝันของหยกได้หรือไม่ เธอตอบว่า

“มันไม่เป็นความฝันนะคะ แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้ได้ ช่วงนี้เล่นกีฬาเยอะ และการสนใจการเมืองตลอด แต่เอาจริงๆ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะอยากทำอาชีพอะไร ขอค้นหาตัวเองก่อน ตอนนี้หนูยังไม่เจอ” 

ถึง เพื่อนนักเรียนทั้งประเทศนี้

“มันอยู่ที่คุณแล้วนะ ว่าคุณจะกล้าไหม ถ้าคุณกล้าประเทศนี้ก็เปลี่ยน แต่ถ้าคุณไม่กล้า ทุกอย่างก็จะย่ำอยู่ที่เดิม แล้วในวันหนึ่งคุณจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นผู้ใหญ่ที่ต้องมานั่งหนุนคนอย่างเรา เพื่อให้พวกเราออกมาเรียกร้องแทน”

นอกจากนี้ เมื่อถามว่าภาพของประเทศไทยแบบไหนที่หยกอยากจะเห็น เธอใช้เวลานึกอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะพูดออกมา

“หนูอยากเห็นรัฐสวัสดิการ มีถนนที่ดี มีคมนาคมที่ดี มีเสรีภาพทางความคิดเห็น และต้องไม่ล่วงละเมิดใครจนเกินไป โทษจำคุกจะต้องไม่หนักจนเกินไป ประเทศนี้จะมีศักดินาเข้ามาเล่นเกมเพื่อช่วงชิงอำนาจกันอีกเรื่อยๆ เราในฐานะประชาชนจะต้องช่วงชิงพื้นที่การปฏิวัติตรงนี้ ซึ่งหนูคิดว่ามันน่าสนุกและเป็นเรื่องท้าทาย”

“ถ้าผู้ใหญ่อยากสนับสนุน หนูคิดว่าต่างคนต่างทำได้ หนูดีใจแล้ว เพราะหนูไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าตัวเองต้องทำยังไง ทำไมหนูต้องไปอยู่กับคนนู้นคนนี้ ชีวิตหนูทำไมจะต้องทำแบบนี้ ทำไมไม่รอเวลาก่อน ทำไมไม่เปลี่ยนผู้ปกครอง คือเพื่ออะไร? ในเมื่อหนูเลือกที่จะเป็นแบบนี้”

หยกทิ้งทวนความรู้สึกของตัวเองถึงเพื่อนนักเรียน และเยาวชนในประเทศนี้ ตลอดจนถึงผู้ใหญ่ที่ยังคงไม่คุ้นเคยกับภาพของเธอที่โลดแล่นอยู่ในวงการนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอยังเชื่อว่าประชาชนจะชนะได้ มาตรา 112 จะต้องถูกยกเลิกไปได้ หากทุกคนเข้มแข็งกันมากพอ และไม่ถอดใจกันไปเสียก่อน  

“หนูไม่กลัวนะ ถ้าต้องแพ้ เพราะยังไงชีวิตนี้ก็ต้องสู้ให้ชนะ ทำไมต้องถอดใจเพราะกลัวด้วยล่ะ? สุดท้ายเราก็ต้องพยายามสู้ให้ชนะให้ได้อยู่ดี”

เพราะสำหรับหยกแล้วการเข้าไปอยู่ในบ้านปรานี และการถูกกีดกันให้เธอต้องออกจากระบบการศึกษา ในวัยเพียงแค่ 15 ปี มันทำให้เธอคิดว่าคงไม่มีอะไรจะต้องเสียไปมากกว่านี้อีกแล้ว

.

ย้อนอ่านเรื่องราวของหยก

รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า

X