ยกคำร้อง!  ศาลไม่ถอนประกัน “สายน้ำ – ออย” เหตุร่วมกิจกรรม 3 ครั้ง ช่วง พ.ค.66 ชี้พยานหลักฐานบางส่วนไม่หนักแน่น – เห็นควรให้ปฏิบัติตัวใหม่ และสั่งปรับออย 2,000 บาท

วันที่ 8 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนถอนประกันในคดีมาตรา 112 ของ “สายน้ำ” นภสินธุ์ (สงวนนามสกุล) และ “ออย” สิทธิชัย (สงวนนามสกุล) 2 นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 และ 25 ปี จากเหตุโพสต์ภาพชูสามนิ้วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 

คดีนี้มี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ทั้งสองคนเข้าแสดงตัวกับตำรวจ สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566 หลังทราบว่ามีหมายจับ ก่อนถูกควบคุมตัวขอฝากขังในวันถัดมา และศาลให้ประกันตัว โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้ผู้ต้องหาทั้งสองกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมา พบว่า พ.ต.ท.พงศพัศ บัวรุ่ง พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนการประกันตัวทั้งคู่ ทำให้ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าว แต่ในวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ซึ่งสายน้ำกับออยเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลนั้น ไม่ได้มีทนายความมาด้วย จึงประสงค์ขอให้ศาลเลื่อนไต่สวนออกไป โดยมีการตกลงวันนัดใหม่ เป็นวันที่ 8 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. 

>> อ่านรายละเอียดคำร้องที่พนักงานสอบสวนยื่นถอนประกัน ศาลอาญานัดไต่สวนถอนการประกันตัวคดีม.112 “สายน้ำ-ออย” 8 มิ.ย. 2566

พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ยื่นคำร้องขอถอนประกัน 2 ผู้ต้องหา ชี้จากเหตุเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม 3 ครั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 แม้ไม่มีพยานหลักฐานระบุได้ว่า สายน้ำ – ออย กระทำผิดเงื่อนไขสร้างความเสื่อมเสียต่อกษัตริย์อย่างไร 

เวลา 10.00 น. สายน้ำและออย ได้เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 903 พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งที่มาเข้าร่วมฟังการไต่สวนในวันนี้ด้วย อาทิเช่น “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, “แบม” อรวรรณ และเอกชัย หงส์กังวาน 

10.15 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้ถามทนายผู้ต้องหาว่า มีข้อคัดค้านอะไรบ้าง ซึ่งทนายได้ชี้แจงต่อศาลว่า ในคำร้องขอถอนประกันของตำรวจผู้ร้อง ไม่มีมูลความจริงที่จะเพิกถอนประกันตัวผู้ต้องหา โดยผู้ต้องทั้งสองคนรับว่า ตนเองได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทั้ง 3 ครั้งจริง แต่ไม่ได้มีกิจกรรมใดที่ผู้ต้องหากระทำการที่ผิดเงื่อนไขการประกันตัวในคดีนี้

ทั้งนี้ ศาลได้ให้ พ.ต.ท.พงศพัศ บัวรุ่ง ผู้ร้องขอถอนประกัน เบิกความถึงเหตุที่มาร้องขอให้ถอนประกันสายน้ำและออย พ.ต.ท.พงศพัศ แถลงว่า ในคำร้องขอถอนประกันนั้นได้มีมูลเหตุให้ร้องถอนประกันตัวผู้ต้องหาอยู่ 3 ประการ ดังนี้ 

  1. เหตุจากวันที่ 3 พ.ค. 2566 สายน้ำ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่บริเวณหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าว คือกิจกรรม “เดินเพื่อเพื่อน”เป็นการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว “หยก” นักกิจกรรมเยาวชน ผู้ต้องหาคดี ม.112  วัย 15 ปี ซึ่งในวันดังกล่าวสายน้ำได้เข้าร่วมชุมนุมโดยการใช้เท้ายกขึ้นใส่ป้ายศาลเยาวชนฯ และนำป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “เยาวชนอายุ 15 อยู่ในคุกเพราะ 112” ไปติดบริเวณป้ายศาลเยาวชนฯ
  2. เหตุจากวันที่ 9 พ.ค. 2566 ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ร้องได้ระบุว่า สายน้ำและออย ร่วมกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ชักธงสีดำ ซึ่งมีข้อความต่อต้านสถาบันกษัตริย์ โบกสะบัดไปรอบบริเวณพระบรมมหาราชวัง และได้ทำการถ่ายทอดสดทางสื่อโซเชียล อันเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกระทำการในพื้นที่ใกล้กับวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นพระบรมมหาราชวัง ซึ่งไม่แตกต่างจากการกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีชู 3 นิ้วในเขตพระราชฐาน (ลานพระบรมรูปทรงม้า) ในคดีที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่ง สน.พระราชวัง ได้รับคําร้องทุกข์ไว้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสอง ในความผิดฐาน “ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวังฯ และไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายกําหนด” และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก
  3. เหตุจากวันที่ 10 พ.ค. 2566 สายน้ำและออย ได้ร่วมกิจกรรมที่ชื่อว่า “ใครใคร่ด่า ด่า ใครใคร่สาด สาด #Saveหยก” โดยกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งสองเป็นแกนนำในการจัดชุมนุมดังกล่าวที่บริเวณหน้า สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวได้มีการนำสี กระป๋องสเปรย์ และเลือด มาสาดใส่บริเวณบันไดทางขึ้น และโดยรอบของสถานีตำรวจดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ศาลได้กล่าวกับผู้ร้องว่า ในเหตุการณ์วันที่ 10 พ.ค. 2566 ศาลได้อ่านสำนวนมาเรียบร้อยแล้ว และเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ร้องบรรยายเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก และได้ทราบว่าในเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลนี้

ทั้งนี้ พ.ต.ท.พงศพัศ ได้แจ้งต่อศาลว่า คดีนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการฝากขังเป็นครั้งที่ 5 แล้ว และใกล้จะสรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการได้แล้ว ซึ่งแม้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนนี้ แต่เหตุที่ทำให้ต้องมาแจ้งถอนประกัน เนื่องจาก 3 เหตุการณ์ข้างต้น เป็นการสร้างความวุ่นวายและไม่สงบในบ้านเมือง

ทนายถามค้าน

ทนายผู้ต้องหาได้แถลงต่อศาลว่า ในคำร้องขอถอนประกันสายน้ำและออย ผู้ร้องได้ระบุว่า การร้องขอถอนประกันนั้นเป็นเหตุเนื่องมาจากเกรงว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานที่ตำรวจได้รวบรวมไว้แล้ว ซึ่งทนายขอใช้สิทธิคัดค้านเพิ่มว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีอิทธิพลและไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ได้ 

ต่อมา ทนายได้ถามค้าน พ.ต.ท.พงศพัศ ว่า ในกิจกรรมเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ที่ผู้ต้องหาทั้งสองคนเข้าร่วม พยานทราบหรือไม่ว่า ผู้จัดกิจกรรมได้มีการแจ้งการชุมนุมแล้ว และผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมเท่านั้น ไม่ได้เป็นแกนนำในการทำกิจกรรมแต่อย่างใด พยานตอบว่า ทราบแล้ว แต่ในการแจ้งการชุมนุมกับการอนุญาตให้ชุมนุมก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งพยานไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ ได้อนุญาตให้จัดได้หรือไม่ ทนายจึงได้ค้านพยานผู้ร้องว่า ในการแจ้งการชุมนุมเป็นการแจ้งให้ทราบเท่านั้น และตามกฎหมายไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตำรวจในท้องที่

ทนายถามต่อไปว่า พยานทราบหรือไม่ว่า กิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นกิจกรรมอะไร พยานได้หันไปถามคณะเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมาพร้อมกัน ก่อนจะตอบทนายว่า น่าจะเป็นการเรียกร้องให้ปล่อยตัว “หยก” ผู้ต้องหาคดี ม.112 โดยในกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน 

อย่างไรก็ตาม พยานรับข้อเท็จจริงตามที่ทนายผู้ต้องหาถามว่า ในเหตุการณ์วันดังกล่าว พยานไม่มีหลักฐานอื่นนอกจากภาพถ่ายมายืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งหลักฐานที่ผู้ร้องนำส่งศาลมีเพียงภาพถ่ายของสายน้ำ แต่ไม่มีภาพของออย ซึ่งพยานรับว่า ไม่ทราบว่า ออยได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วยหรือไม่

พ.ต.ท.พงศพัศ ยังรับว่า ในกิจกรรมวันที่ 3 พ.ค. 2566 ยังไม่มีการดำเนินคดีกับบุคคลใด มีเพียงรายงานการสืบสวน และอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีว่าจะดำเนินการแจ้งความหรือไม่ 

นอกจากนี้ พยานยังได้ทราบตามที่ทนายผู้ต้องหาถามว่า หยก นักกิจกรรม วัย 15 ปี ได้รับการปล่อยตัวออกจากบ้านปรานีแล้ว โดยได้ทราบว่าจากข่าวทั่วไป

ต่อมา ทนายผู้ต้องหาได้ถาม พ.ต.ท.พงศพัศ ถึงเหตุในวันที่ 9 พ.ค. 2566 ว่า ตามรายงานของผู้ร้อง พบว่ามีการชี้ตัวผู้ถือธงดำ เป็นผู้ต้องหาที่ 1 หรือ สายน้ำ แต่ในภาพหลักฐาน ธงดังกล่าวไม่ได้มีสัญลักษณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบว่า ใช่

ทำให้ทนายถามต่อไปว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว พยานทราบหรือไม่ว่าเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องใด พยานจึงได้อ่านตามรายงานการสืบสวนของ สน.พระราชวัง โดยตอบว่า มีการชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ซึ่งการชุมนุมอยู่ใกล้พระราชวังไม่เกิน 150 เมตร ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว หรือจะมีใครเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ และไม่ทราบว่าในพยานหลักฐานที่นำส่งศาล ภาพของสายน้ำจะเป็นภาพที่ทำกิจกรรมอยู่บริเวณวัดพระแก้วหรือไม่ และออยอยู่บริเวณใด ซึ่งนอกจากภาพถ่ายที่ส่งต่อศาลแล้ว พ.ต.ท.พงศพัศ ก็ไม่ได้มีหลักฐานอื่นใดมายื่นให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมอีก

นอกจากนี้ ตามคำร้องที่ได้ระบุว่า เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ตามพยานหลักฐานก็ไม่ได้ปรากฏว่า ผู้ต้องหาทั้งสองได้มีการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร ซึ่งพยานตอบได้แค่ว่า เป็นการทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวเท่านั้น 

สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ทนายได้ถามพยานผู้ร้องว่า มีการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ซึ่งมีสายน้ำและออยรวมอยู่ด้วย และทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ อีกด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว 

ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ พยานยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่า ไม่ได้เรียกพยานบุคคลอื่นมาสอบปากคำเพิ่มเติม และไม่ทราบว่าในการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ได้ยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่า ในท้ายคำร้องที่แนบประวัติการกระทำผิดของสายน้ำมาด้วย ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุที่ขอถอนประกันในครั้งนี้

ในช่วงสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดการไต่สวน ทนายผู้ต้องหาแถลงต่อศาลว่า ขอให้ผู้ต้องหาทั้งสองคนได้แถลงข้อเท็จจริงต่อศาลเพิ่มเติม ซึ่งศาลได้ตอบว่า ขอให้ยื่นคำร้องเข้ามาแทน จะได้ไม่ต้องเบิกความ และศาลจะรวบรวมบันทึกการไต่สวนวันนี้ไปพิจารณาพร้อมกับคำร้องของผู้ต้องหา โดยจะนัดฟังคำสั่งในวันถัดไปคือวันที่ 9 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น.

อย่างไรก็ตาม สายน้ำและออยยืนยันว่า ต้องการแถลงต่อศาลในห้องพิจารณานี้ โดยสายน้ำแถลงว่า ในเหตุการณ์วันที่ 3 พ.ค. 2566 ตนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และได้มีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว อีกทั้งในวันดังกล่าวยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกตลอดการจัดกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็คงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาอำนวยความสะดวกในวันดังกล่าว

อีกทั้ง ในวันที่ 9 พ.ค. 2566 เป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง โดยเป็นการเรียกร้องต่อศาลให้คืนความยุติธรรมให้กับ หยก นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 15 ปี ไม่มีการสร้างความวุ่นวายแต่อย่างใด และไม่มีการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวในคดีนี้ตามคำร้องขอถอนประกันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา

และสุดท้าย ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 สายน้ำและออยได้รับการประกันตัว โดยไม่มีกำหนดเงื่อนไขใดๆ จากศาลนี้ ทำให้ตนไม่ทราบว่าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาร้องขอถอนประกันด้วยเหตุผลใด ซึ่งออยได้ยืนขึ้นแถลงและยืนยันข้อเท็จจริงตามที่สายน้ำพูดทุกประการ 

ศาลสั่งไม่ถอนประกัน “สายน้ำ – ออย” ชี้แม้ผิดเงื่อนไขประกันตัวบางส่วน เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขครั้งแรกเห็นสมควรให้ปฏิบัติตัวใหม่

วันที่ 9 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่ง กรณีที่พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ยื่นคำร้องขอถอนประกันผู้ต้องหาทั้งสอง ซึ่ง กีรติ กีรติยุติ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้อ่านคำสั่งด้วยตัวเอง มีรายละเอียดคำสั่งระบุว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสอง 3 ข้อ ได้แก่ (1) ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก (2) ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และ (3) ห้ามกระทำการให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี หรือก่อความเสียหายในระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (3) เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเหตุตามคำร้องว่า มิได้กระทำแล้ว จึงเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองกระทำจริง แม้เหตุในวันที่ 3 พ.ค. 2566 และวันที่ 9 พ.ค. 2566 ผู้ต้องหาทั้งสองจะไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และมีการแจ้งการชุมนุมแล้ว แต่การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวของสายน้ำที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นพฤติการณ์ที่เกินเลยไปจากความเหมาะสม ส่อไปในทางกดดันศาลนอกเหนือขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

จึงไม่ใช่การชุมนุมที่แสดงออกด้วยความสงบหรือสันติตามกฎหมาย และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ยังมิให้จัดการชุมนุมภายในพื้นที่ของศาล เว้นแต่มีการจัดให้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมภายในพื้นที่นั้น จึงถือว่าเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามเงื่อนไขที่ 2 

นอกจากนี้ ในเหตุวันที่ 9 พ.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเพียงบันทึกข้อความจาก สน.พระราชวัง โดยไม่ได้มีประจักษ์พยานว่า ผู้ต้องหาเข้าร่วมกิจกรรมจริง ประกอบกับผู้ร้องเบิกความว่า ธงดำ ซึ่งสายน้ำเป็นผู้ถือ ก็ไม่ได้มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์ด้วย และศาลตรวจสอบรูปภาพใกล้เคียงแล้วพบแต่ธงดำที่มีข้อความว่า “Save หยก สหายน้อย” ทำให้พยานหลักฐานตามเหตุครั้งที่ 2 นี้ ไม่หนักแน่นพอ สมควรยกประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องหาทั้งสอง 

ในส่วนเหตุครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566  ศาลได้นำสำนวนในคดีดังกล่าวมาพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกในเหตุการณ์ดังกล่าวจริง เนื่องจากมีความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จะต้องหมายขัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 แสดงว่ามีหลักฐานพอสมควรว่า น่าจะได้กระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 1 และมาตรา 66 (1) โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 2 หรือ ออย มีพฤติการณ์ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บด้วย จึงเข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่ 2  

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาในชั้นสอบสวนที่ใกล้จะครบระยะเวลาฝากขัง 84 วัน และผู้ร้องได้เคยเบิกความว่า ใกล้จะสรุปสำนวนการสอบสวนแล้ว การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่น่าเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนอีก ประกอบกับผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีนี้ จึงไม่มีเหตุให้สั่งเพิกถอนคำสั่งประกันระหว่างฝากขังแต่อย่างใด 

ดังนั้น ผู้ต้องหาทั้งสองจึงทำผิดสัญญาประกันบางส่วน โดยสายน้ำ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลเป็นคราวแรก จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันตัวใหม่ สมควรว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกิจกรรมเพื่อเรียกร้องต้องไปเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เสรีภาพ  หรือศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น เพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง มิฉะนั้น ย่อมเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และกลับไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยเสียเอง และการกระทำนั้นย่อมกลับมาเป็นโทษแก่ตนเองและครอบครัวในอนาคต

ส่วนออย หรือผู้ต้องหาที่ 2 อายุกว่า 25 ปี มีวุฒิภาวะ ความสามารถ รู้ผิดชอบชั่วดีโดยสมบูรณ์แล้ว แต่กลับฝ่าฝืนเงื่อนไขประกันบางส่วน นอกจากตักเตือนเพื่อไม่ให่ไปกระทำผิดประการอื่นแล้ว อาศัยอำนาจตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรค 1 ปรับ 2,000 บาท มิฉะนั้น ให้ขังระหว่างนี้ระยะเวลา 4 วัน เสร็จแล้วจึงอนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยใช้สัญญาประกันและหลักประกันเดิมต่อไป

X