TW : Sexual Harassment
หากคุณถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แล้ววันนี้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คุณจะดีใจมากแค่ไหนกัน?
คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้ดีกว่า “สุชานันท์” (สงวนนามสกุล) ประชาชนหญิงข้ามเพศ วัย 40 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) เหตุจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ อยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรม จ่านิว-ฟอร์ด-เอกชัย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2562
ในวันที่ 19 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาฎีกา สุชานันท์กล่าวย้ำตลอดว่าเธอเตรียมใจมาแล้วและไม่กลัวการต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่ในฐานะที่เป็นหญิงข้ามเพศคนหนึ่ง เธอเกรงกลัวการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเรือนจำเสียมากกว่า โดยหากศาลฎีกายังมีคำพิพากษายืนให้จำคุก เธอต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำชาย ตามเพศกำเนิดของตัวเอง
อย่างไรก็ตามในวันดังกล่าว ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดี ระบุเหตุผลว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตามฟ้อง
สุชานันท์ถึงกับร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจ ความกดดันอันหนักอึ้งที่เธอแบกไว้มาตลอดการต่อสู้คดีกว่า 4 ปี ถูกยกออกไปเสียที
สุชานันท์แนะนำตัวให้ฟังว่า พื้นเพของเธอเป็นคนจังหวัดบึงกาฬ แต่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2557 เธอจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเคยเรียนต่อในระดับวิทยาลัย แต่ก็เรียนไม่จบ เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน เธอจึงย้ายไปอยู่กับยายและต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ จนกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันเธอทำธุรกิจส่วนตัว โดยขายของออนไลน์เป็นหลัก แต่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจของเธอเกือบไปไม่รอด ทุกวันนี้เธอขายของออนไลน์เล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้พอดำรงชีพอยู่ได้เท่านั้น กิจการของเธอก็ไม่ได้อู้ฟู่จนต้องสั่งของเข้ามาเป็นโกดังเหมือนสมัยก่อน
สุชานันท์นิยามตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นการต่อต้านรัฐประหาร เธอรู้ตัวว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่เกิด ในฐานะที่เธอเป็นหญิงข้ามเพศและออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอไม่เคยโดนเหยียดหรือบูลลี่ (Bully) มาก่อน เพื่อนนักกิจกรรมด้วยกันเคารพและให้เกียรติเธอ แม้กระทั่งครอบครัวเธอก็ไม่รังเกียจเธอเช่นเดียวกัน
เธอเล่าว่า ตัวเองเริ่มออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่ปี 2549 ในช่วงที่รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร ด้วยความไม่พอใจที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาถูกรัฐประหารโดยทหาร
“เราชอบทักษิณที่บริหารประเทศแล้วประชาชนอยู่ได้ เราไม่ชอบรัฐประหาร เกลียดที่สุด สมัยนั้นเราออกมาเคลื่อนไหวโดยการไปม็อบ ไม่มีโซเชียลมีเดีย ก็ไปชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง เราตามดูข่าวในทีวีแล้วก็ออกไปชุมนุมตลอด”
หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งสุชานันท์เองก็อยู่ในเหตุการณ์ เธอเล่าว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เธอปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงออกทางการเมือง โดยยังคงออกไปชุมนุมบ้างตามโอกาสเช่นเดิม แต่เธอก็เริ่มเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร
“เราเคลื่อนไหวในประเด็นต่อต้านรัฐประหารและเรื่องปากท้องเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนเรื่องสถาบันกษัตริย์หรือมาตรา 112 เราไม่ได้พูดถึง เพราะเราพูดแค่นี้ยังโดนคดีหนัก หากเป็นคดีมาตรา 112 คงไม่มีใครมาช่วยเราได้”
อย่างไรก็ตามสุชานันท์เล่าเพิ่มเติมถึงความกลัวต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศว่า เธอเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามด้วยเหตุของเพศสภาวะจากกระบวนการยุติธรรมมาก่อน ย้อนไปในครั้งที่เธอต้องลงไปรอคำสั่งประกันตัวที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญา เธอใส่ชุดแซกรัดรูปและมีบอดี้สูทภายใน ในขณะตรวจร่างกายเจ้าหน้าที่ศาลซึ่งเป็นผู้ชายได้ล้วงเข้าไปภายในเสื้อผ้า เธอจึงดึงมือเจ้าหน้าที่ออก พร้อมบอกว่าหากจะตรวจร่างกายย่อมตรวจได้ แต่ให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงเป็นผู้ตรวจ
“เรามีนม ทำนู่นทำนี่แล้ว ไม่ใช่ว่าจะมาล้วงได้ เราก็จับมือดึงออก บอกว่าไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้พี่เราเป็นคดีการเมือง ไม่ได้โดนคดียาเสพติด ไม่ได้ฆ่าคนตาย ยังไงก็ประกันตัว”
นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในวันฟังคำพิพากษาฎีกา เธอไม่กลัวการต้องติดคุก แต่กลัวการถูกละเมิดทางเพศหากเข้าไปอยู่ในเรือนจำชาย
“เรามีความเห็นว่า ในเรือนจำควรแยกบุคคลที่แปลงเพศ แยกบุคคลที่ไม่แปลงเพศ แต่ไม่ใช่ว่ายังไม่แปลงเพศแล้วจะผลักดันให้ไปอยู่กับผู้ชายได้นะ ตรงนี้คือเรื่องที่เรากลัวมาก เพราะเราโดนมากับตัว ขนาดยังไม่เข้าไปในเรือนจำ อยู่ห้องขังใต้ถุนศาล เรายังโดนละเมิดจากเจ้าหน้าที่ที่ล้วงร่างกาย และตอนที่รอประกันตัวก็มีจำเลยคนอื่นตะโกนแซวเรา”
“ไปมั้ย ไปอยู่แดนเรามั้ย”
“คดีอะไร ค้ายาเหรอ”
การถูกคุกคามด้วยวาจาที่ห้องขังใต้ถุนศาล ทำให้สุชานันท์หวาดกลัวว่าหากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเธอจะถูกคุกคามหนักกว่านี้ เนื่องจากเส้นทางในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้คำนึงถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเธอมากนัก
การต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีนานกว่า 4 ปี ส่งผลกระทบกับชีวิตของเธอด้วยเช่นกัน เธอต้องเสียเวลาและขาดรายได้จากการเดินทางไปรายงานตัวและขึ้นศาล เธอมองว่าผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ตอนถูกตามจับกุม
“มีเจ้าหน้าที่ทั้งจาก กอ.รมน. บก.ปอท. และตำรวจพื้นที่มาล้อมบ้านและคอนโด จะตามจับเราคนเดียว สุดท้ายเราก็ไปมอบตัวเองที่ บก.ปอท. เสียทั้งเงินและเวลาจากการเดินทาง แล้วเวลาเราจะทำธุรกรรมอะไรก็จะมีประวัติอาชญากรรมขึ้น”
หลังศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง เธอเปิดเผยว่า คำพิพากษาในวันนี้เหนือกว่าความคาดหวังของเธอไปอย่างมาก ทำให้เธอรู้สึกว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง และหลังจากวันนี้ เธอก็จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติเสียทีหลังจากต่อสู้คดีมากว่า 4 ปี
“ความยุติธรรมยังมีอยู่ และหากฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ในเวลานี้ ณ ตอนนี้ ประเทศไทยจะกลับมาดี”
“คำพิพากษาเหนือความคาดหมายของเรามาก ในความคิดคือแค่รอลงอาญา เตรียมพร้อมที่จะเข้าเรือนจำ แต่ลึกๆ แล้ว เราอ่านตัวบทกฎหมาย ปรึกษาทนายความ ทุกคนก็บอกว่าคดีของเราไม่น่าถูกฟ้อง ถึงบอกว่าผิดก็ควรรอลงอาญา เอาไปจำคุก 6 เดือน มันน่าเกลียดเกินไป”
สุชานันท์บอกว่าเธอวางแผนว่าจะกลับไปใช้ชีวิตหาเงินเลี้ยงชีพไปตามปกติและเฝ้ารอจะไปเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้
“โล่งใจมาก อย่างน้อยฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังเหลือเสียงเราอีก 1 เสียง ไม่ถูกจับเข้าห้องขัง ปิดปาก ปิดเสียงเรา”
“ในการเลือกตั้งที่จะถึง ฝากเลือกฝ่ายประชาธิปไตย เราคงเจาะจงให้ใครเลือกพรรคนู้นพรรคนี้ไม่ได้ เอาว่าขอให้เลือกฝ่ายประชาธิปไตย”