ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี 6 เดือน คดี 5 ประชาชน ขัดขวางรถตำรวจควบคุมตัว “ไมค์ – เพนกวิน” โดยให้รอลงอาญา

วันที่ 27 มี.ค. 2566 เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชน 5 ราย  ได้เแก่ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าล้อมและทุบรถของควบคุมตัวผู้ต้องขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระหว่างควบคุมตัว “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยัง สน.ประชาชื่น ในช่วงค่ำวันที่ 30 ต.ค. 2563 ทั้งกล่าวหาว่าพยายามชิงตัวผู้ถูกควบคุมทั้งสองด้วย

พฤติการณ์ของคดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ตำรวจฝากขังแกนนำกลุ่มราษฎร ได้แก่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และแบงค์ -ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เป็นครั้งที่ 3 ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ทั้งสี่คนจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำภายในเย็นวันดังกล่าว 

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.ต.ทำเนียบ ขลังธรรมเนียม สารวัตรสืบสวน สน.ประชาชื่น ได้เข้าอายัดตัวรุ้ง ไมค์ และเพนกวินต่อ โดยอ้างหมายจับในคดีการชุมนุมที่จังหวัดนนทบุรี อยุธยา และอุบลราชธานี แม้เป็นคดีที่ตำรวจจากสถานีต่างๆ ทั้งหมดนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสามคนไปแล้วในขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ การออกหมายจับดังกล่าวจึงควรจะสิ้นผลไป ไม่สามารถเข้าอายัดตัวจำเลยได้ 

เมื่อไมค์กับเพนกวินทราบเหตุดังกล่าว จึงได้ปฏิเสธที่จะขึ้นรถตำรวจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการควบคุมโดยมิชอบ แต่เจ้าหน้าที่ยังยืนยันที่จะนำตัวทั้งสองคนขึ้นรถคุมขังไปยัง สน.ประชาชื่น จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนผู้ขับรถจักรยานยนต์ถูกรถตำรวจขับเฉี่ยวชน และได้มีมวลชนพยายามติดตามรถควบคุมคันดังกล่าวไปถึง สน.ประชาชื่น เพราะไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัว 2 แกนนำ

ย้อนอ่านลำดับเหตุการณ์ในคืนวันที่ 30 ต.ค. 2563 >>> ประมวลเหตุการณ์ ตร.อายัดตัว รุ้ง ไมค์ และเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร

ในคดีนี้ ร.ต.อ.นพดล หอมสมบัติ รองสารวัตรสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย มาทยอยรับทราบข้อกล่าวหาจนครบตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 138, 191, 295, 358, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ก.พ. 2564  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด  ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 5 ราย ในฐานความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 191, 215, 295, 296, 358 และ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 6, 10, 14, 16 

และภายหลัง อัยการสั่งฟ้องคดี ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้ง 5 คน ในระหว่างพิจารณาคดี ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 5 คน เป็นเหตุให้ทั้งหมดถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวหลายครั้ง ทำให้พวกเขาถูกคุมขังนานกว่า 3 เดือน โดยระหว่างการคุมขังทั้ง ธวัช, สมคิด, ฉลวย และศักดิ์ชัย ต่างก็ติดโควิดในช่วงขณะนั้น โดยศักดิ์ชัยมีอาการหนักที่สุดถึงขนาดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่ ณัฐนนท์ หลังได้รับการประกันตัวออกมา ก็ตรวจพบว่าติดโควิดเช่นกัน ทำให้ทั้ง 5 คน ติดโควิดจากการถูกคุมขังทั้งหมด

ในวันที่ 13 พ.ค. 2564 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย 3 ราย ได้แก่ สมคิด ฉลวย และศักดิ์ชัย โดยให้วางเงินเป็นจำนวน 25,000 บาท ในขณะที่จำเลยอีก 2 ราย คือ ณัฐนนท์ และธวัช ได้รับการประกันตัวในภายหลัง เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 พร้อมวางเงินจำนวนเท่ากันกับจำเลยอีก 3 ราย โดยมีเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก 

ในวันนี้ (27 มี.ค. 2566) เวลา 09.20 น. ที่ห้องพิจารณา 706 มีผู้เข้าฟังการพิจารณาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการนัดพิจารณาคดีของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ด้วย และยังมีกลุ่มมวลชนและนักกิจกรรม เดินทางเข้าร่วมให้กำลังใจจำเลยทั้ง 5 คนที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ อาทิเช่น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, แซม สาแมท และ ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงาน ธกส. ปัจจุบันสมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

เวลา 09.40 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยให้จำเลยทั้ง 5 ยืนขึ้นแสดงตัว ก่อนจะอ่านคำพิพากษาโดยมีใจความสำคัญระบุว่า “พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรค 2, มาตรา 140 วรรค 1, มาตรา 191 วรรค 1, มาตรา 215 วรรค 2, มาตรา 295, มาตรา 296, มาตรา 358 ประกอบ มาตรา 80, 83, 91 และตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 6, 10, 14, 16, 31 

ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้า เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท

ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ และฐานร่วมกันพยายามให้ผู้ถูกคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขัง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท  และในฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท รวมจำคุกจำเลยทั้ง 5 ราย คนละ 4 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 50,000 บาท  

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ จึงเป็นมีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษลงกระทงละกึ่งหนึ่ง คงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้า คนละ 2 ปี 3 เดือน และปรับคนละ 25,000 บาท โดยจากการพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ใน 1 ปี และให้ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง

อ่านฐานข้อมูลคดีนี้ >> 5 ประชาชนถูกกล่าวหา ขัดขวางรถควบคุมตัว “ไมค์-เพนกวิน”

X