จำคุก 1 เดือน WeVo รื้อลวดหนามแยกอุรุพงษ์ ศาลอาญาชี้ เป็นการมั่วสุมก่อความวุ่นวาย แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี – ยกฟ้องข้อหาอื่น

24 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของทีมการ์ดอาสา We Volunteer หรือ “วีโว่” (WeVo) และประชาชน รวม 19 ราย จากกรณีรื้อถอนลวดหีบเพลงและรั้วสังกะสี บริเวณแยกอุรุพงษ์ ถนนเพชรบุรี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 ช่วงกลางคืน เนื่องจากมีผู้ออกมาร้องเรียนว่าลวดหนามดังกล่าวกีดขวางและเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ใช้ทางสัญจรในละแวกนั้น

พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องจำเลยทั้ง 19 ว่ากระทําความผิดฐาน “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไป และร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138 และ 140

สมาชิก Wevo และประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมกับ Wevo ที่ถูกจับกุมในคืนเกิดเหตุทั้ง 19 ราย ยืนยันให้การปฏิเสธตั้งแต่ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยยืนยันว่า เป็นการใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในละแวกนั้น ไม่ใช่การมั่วสุมก่อความวุ่นวาย และไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่เข้าจับกุม โดยในวันเกิดเหตุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ 2 ราย ด้วย  

ย้อนดูเหตุจับกุม>> การ์ด WeVo จากจิตอาสาเก็บกู้ลวดหนาม สู่การเป็นผู้ต้องหาคดีมั่วสุม-ขัดขวางเจ้าพนักงาน ก่อนได้รับการปล่อยตัว

ที่ห้องพิจารณา 709 เวลา 10.47 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนที่จะเริ่มอ่านคำพิพากษาเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งจับใจความโดยสรุปว่า 

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 จำเลยทั้ง 19 รื้อลวดหนามหีบเพลงที่ตำรวจชายแดนนำมาตั้งเพื่อสกัดกั้นกลุ่มผุ้ชุมนุมที่ชุมนุมทางการเมืองกันตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านั้น 

ต่อมา ผู้กำกับการ สน.พญาไท ได้นำกำลังสายตรวจประมาณ 10 นาย และตำรวจควบคุมฝูงชนประมาณ 50 นาย รวมประมาณ 60 นาย มายังที่เกิดเหตุแล้ว ทำการตั้งแนวโดยการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเป็นแนว มีโล่และแผงกั้นห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10 เมตร ในขณะที่ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแนว กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงรื้อและย้ายลวดหนามหีบเพลงต่อไป 

ต่อมา รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 มายังที่เกิดเหตุและเจรจากับจำเลยที่ 11 หรือ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ให้เลิกรื้อลวดหนาม เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมหยุดการรื้อหรือเลิกชุมนุมแต่อย่างใด

ต่อมา เวลา 22.30 น. ผู้กำกับการ สน.พญาไท ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ยุติการชุมนุม และหยุดรื้อรั้วลวดหนามโดยให้เวลา 5 นาที หลังครบ 5 นาทีตามที่ประกาศ กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ยุติการชุมนุม แล้วตั้งแนวเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน โดยมีแผงเหล็กกั้นระหว่างกัน 

จากนั้นผู้กำกับการ สน.พญาไท ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุม ในการจับกุมมีเจ้าพนักงาน สน.พญาไท และเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมจำเลยทั้ง 19

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 การที่จำเลยทั้ง 19 ร่วมชุมนุมรื้อลวดหนามหีบเพลง ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจะเข้ามาห้ามให้หยุดการกระทำ เพราะลวดหนามเป็นทรัพย์สินทางราชการและเป็นยุทธภัณฑ์อย่างหนึ่ง จำเลยทั้ง 19 กับพวกอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นจำนวนมาก ย่อมจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นได้ง่าย เห็นได้ว่าจำเลยทั้ง 19 มีเจตนามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และกระทำประการหนึ่งประการใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว

เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสั่งให้ผู้ชุมนุมหยุดกิจกรรมที่ทำ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ยุติการชุชุมนุม และมีการตั้งแนวเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน มีการปิดถนนเพชรบุรีขาเข้าที่มุ่งหน้าไปหลานหลวงและเกิดเหตุการณ์ชุลมุน ถือได้ว่าเป็นการก่อเหตุความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว ดังนั้นจำเลยทั้ง 19 จึงมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 1  

ส่วนที่จำเลยทั้ง 19 นำสืบต่อสู้ในทำนองว่า มีอำนาจเก็บรวบรวมลวดหนาม เนื่องจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า ไม่ทราบว่าลวดหนามหีบเพลงที่อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นของใคร และได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาเก็บหลายครั้งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการ จึงเข้าใจว่าเป็นของใช้แล้วทิ้ง 

อีกทั้งก่อนหน้านั้น ได้มีการโพสต์ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กของกลุ่ม WeVo ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะว่าจะไปเก็บลวดหนามส่งคืนเจ้าของ และเมื่อเข้าไปในที่เกิดเหตุแล้ว เฟซบุ๊กของกลุ่ม Wevo ก็โพสต์อีกว่า ภายในเวลา 30 นาที นับแต่มีการโพสต์ประกาศ หากไม่มีผู้เกี่ยวข้องติดต่อประสานมา กลุ่ม Wevo จะดำเนินการเก็บลวดหนามนั้น ศาลเห็นว่า ลวดหนามหีบเพลงและแผงกั้นเหล็กพับได้เป็นทรัพย์สินของทางราชการ และยังเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดหนามหีบเพลงเป็นทรัพย์ที่ใช้ในทางราชการ 

ทั้งปรากฏจากการนำสืบของจำเลยทั้ง 19 เองว่า ภายหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 แล้ว ลวดหนามหีบเพลงที่นำมาใช้สกัดกั้นผู้ชุมนุมได้ถูกเก็บไว้ในบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยทั้ง 19 ย่อมรู้ดีว่าเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ได้เป็นทรัพยสินที่ใช้แล้วทิ้งหรือไม่มีเจ้าของ และทางนำสืบของจำเลยทั้ง 19 ก็ไม่ปรากฏมาก่อนว่า กลุ่ม WeVo ที่จะเข้าไปเก็บลวดหนามหีบเพลง ได้มีการติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดำเนินการ

ส่วนการที่จำเลยที่ 11 เบิกความว่า ได้ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กของกลุ่ม WeVo ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะว่าจะเก็บลวดหนามดังกล่าวเพื่อคืนเจ้าของ โดยมีเงื่อนไขว่าภายในเวลา 30 นาที นับแต่นี้เป็นต้นไป หากไม่มีผู้เกี่ยวข้องติดต่อประสานมายังกลุ่ม WeVo จะดำเนินการเก็บลวดหนาม 

การโพสต์ในเฟซบุ๊กของกลุ่ม WeVo ไม่ใช่การแจ้งโดยตรง ไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทราบข้อความดังกล่าวแล้ว และแม้เฟซบุ๊กของกลุ่ม WeVo จะมีการเปิดเป็นสาธารณะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเฟซบุ๊กของกลุ่มจะเป็นที่นิยมหรือแพร่หลายในวงกว้าง

อีกทั้งบริเวณแยกอุรุพงษ์เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการไปทำเนียบและเขตพระราชฐาน เหตุที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เก็บลวดหนามไป ก็เพื่อหากมีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุมจะได้นำมาใช้ได้ทันท่วงที การที่จำเลยทั้ง 19 เก็บลวดหนามไป อาจจะกระทบกับการปฏิบัติงาน และเป็นที่เสียหายแก่ทางราชการได้ จำเลยทั้ง 19 จึงควรประสานงานแจ้งให้เจ้าพนักงาน สน.พญาไท หรือสำนักงานเขตราชเทวี ซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ หรือแจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขที่เหมาะสม ไม่ใช่มาดำเนินการด้วยตัวเองตามอำเภอใจ การอ้างว่าไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของลวดหนาม และไม่ทราบว่าจะต้องประกาศประสานกับหน่วยงานใด เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก เพราะกลุ่ม WeVo มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก 

อีกทั้งจำเลยที่ 11 เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากต้องการที่จะหาเจ้าของลวดหนามหีบเพลงในที่เกิดเหตุจริง ย่อมเป็นไปได้ไม่ยาก แต่กลับปรากฏว่า ไม่เคยมีการค้นหาเจ้าของลวดหนามดังกล่าวเลย 

นอกจากนี้ตอม่อสะพานใต้ทางด่วนยมราชที่เกิดเหตุ มีข้อความสีแดงประกาศ ห้ามบุกรุกหรือกระทำการใดๆ ในเขตการทางพิเศษ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก และด้านล่างข้อความมีชื่อทางการพิเศษแห่งประเทศไทย กองพัฒนาและรักษาเขตทาง 1 และมีหมายเลขโทรศัพท์ระบุไว้ ดังนั้นหากจำเลยที่ 11 ไม่ทราบว่าจะต้อง แจ้งใครและบริสุทธิ์ใจ อย่างน้อยก็ควรแจ้งทางการพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อประสานงานให้เจ้าของหีบเพลงดังกล่าว มาดำเนินการจัดเก็บ แต่ปรากฏว่า จำเลยทั้ง 19 ไม่ได้ดำเนินการอย่างใดเลย 

การเก็บลวดหนามหีบเพลงต้องใช้อุปกรณ์และผู้มีความรู้ความสามารถ  และจำนวนลวดหนามดังกล่าวมีไม่มาก ไม่จำเป็นต้องใช้สมาชิกมาจำนวนมาก จนกระทั่งมาในที่เกิดเหตุประมาณ 100 คน และยังได้ความว่ายังมีสมาชิกเดินทางมาที่เกิดเหตุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ในการถ่ายทอดสด จำเลยที่ 11 มีการตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางลวดหนามดังกล่าว ทั้งเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาในที่เกิดเหตุและเข้าเจรจาว่า จะขอเก็บลวดหนามหรืออุปกรณ์ดังกล่าวเอง หากจำเลยทั้ง 19 มีเจตนาช่วยเหลือประชาชนจริงก็ควรหยุด และส่งคืนลวดหนามที่เก็บแล้วให้กับเจ้าพนักงานตำรวจ แต่กลับปรากฏว่า กลุ่มของจำเลยที่ 11 นำเหล็กพับได้มาวางขวางเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้เข้าถึงลวดหนามที่เก็บไว้แล้ว และให้เจ้าพนักงานตำรวจยืนยันว่า จะเก็บลวดหนามไปทันที จึงยอมจะเลิก 

ซึ่งขณะนั้นพวกของจำเลยทั้ง 19 มีประมาณ 100 คน วางเหล็กพับได้กีดขวางทางเข้าถนนเพชรบุรี และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจันหน้า เป็นเหตุให้รถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านได้ ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น จำเลยที่ 11 กับพวกก็ยังไม่ยอมเลิกรา แสดงว่า ต้องการให้เจ้าพนักงานตำรวจสลายการชุมนุม ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง การอ้างว่า เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านโดยแท้จริงเพียงอย่างเดียว จึงมีน้ำหนักน้อย 

ที่จำเลยทั้ง 19 ต่อสู้ว่า การชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลมองว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 19 ไม่สมควร ไม่มีอำนาจชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำ และเป็นการกระทำโดยพลการตามอำเภอใจ ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การที่จำเลยทั้งหมดอ้างว่า เจ้าหน้าที่ให้เวลาออกจากที่เกิดเหตุ 5 นาที เป็นการให้เวลาที่น้อย ไม่เพียงพอและเจ้าพนักงานตำรวจยังเข้ามาจับกุมจำเลยทั้ง 19 ก่อนเวลา 5 นาที อีกทั้งจำเลยทั้ง 19 ยินยอมเลิกการชุมนุมแล้ว แต่เจ้าพนักงานยังจับกุมจำเลยทั้ง 19 นั้น ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ต้นแล้ว ถึงแม้จะมีการสั่งให้เลิกการชุมนุม และหากจำเลยทั้ง 19 เลิกชุมนุมแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้การกระทำที่เป็นความผิดไปแล้วกลับเป็นไม่ผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ 

ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุม แต่จำเลยทั้ง 19 ไม่เลิกนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้เลิกการมั่วสุมกัน ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้จำเลยทั้งหมดเลิกมั่วสุม ภายหลังที่มีการกระทำลงมือรื้อลวดหนามหีบเพลงแล้ว แม้จำเลยทั้ง 19 ไม่เลิกการกระทำของจำเลย อันเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ก็คงเป็นความผิดตามมาตรา 215 เท่านั้น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 216 ด้วย

ในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการจับกุมมีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กดันใส่เจ้าหน้าที่ มีการยื้อกระแทกกันในลักษณะขัดขืนไม่ให้จับกุม และพยานได้รับแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เจ้าพนักงานตำรวจบางคนล้มลง ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณแสงสลัว ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นใคร แต่สามารถมองเห็นใบหน้าพอแยกออกได้บ้างว่าเป็นผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่เห็นเหตุการณ์มาเบิกความก็อยู่ไกล ไม่ได้เป็นผู้จับกุมด้วยตนเอง ไม่สามารถบอกได้ว่าตอนกระชับพื้นที่ เจ้าหน้าที่ คฝ.ปะทะกับบุคคลใด จำเลยทั้ง 19 ถูกจับมาโดยบุคคลใด ไม่มีพฤติการณ์ที่จำเลยขัดขวางเจ้าพนักงานอย่างชัดเจน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 1 แม้จำเลยที่ 2, 8, 9, 13, 16 อายุ 19 ปี แต่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ ลงโทษจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 9,000 บาท 

เนื่องจากทางนำสืบของจำเลยทั้ง 19 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 20 วัน ปรับคนละ 6,000 บาท ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้ง 19 เคยจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสปรับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 2 ปี และคุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง 

รวมเป็นเงินค่าปรับที่ต้องชำระต่อศาลทั้งสิ้น 114,000 บาท 

X