ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คดี “ไบรท์” ชินวัตร ร่วม #ม็อบ6ธันวา63 ที่วงเวียนใหญ่ ชี้ขึ้นปราศรัยยังไม่ถือว่าเป็นผู้จัดชุมนุม

28 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงธนบุรีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ“ไบรท์” อายุ 30 ปี นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี กรณีถูกกล่าวหาว่า ขึ้นปราศรัยและร่วมชุมนุมใน #ม็อบ6ธันวา จัดโดยกลุ่มราษฎรฝั่งธนฯ และกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563

คดีนี้ชินวัตรถูกอัยการฟ้องใน 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, กีดขวางการจราจร, ตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

การต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น ชินวัตรยืนยันว่า ตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่ได้มีหน้าที่ดูแลจัดการการชุมนุม การชุมนุมยังเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้นตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ยังกำหนดว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจำเลยไม่ได้เป็นผู้นำให้ผู้ชุมนุมไปทำการปิดถนน ทั้งโดยข้อเท็จจริง รถยังสัญจรไปมาได้ โดยมีผู้ชุมนุมช่วยดูแลการจราจร

โดยคดีนี้ศาลแขวงธนบุรีมีคำพิพากษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 หรือ 1 ปีแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐาน “กีดขวางทางจราจร” ลงโทษปรับ 1,500 บาท และข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ลงโทษปรับ 150 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ศาลจึงลดโทษปรับลงหนึ่งในสาม เหลือปรับข้อหาแรก 1,000 บาท ข้อหาที่สองปรับ 100 บาท ตามลำดับ รวมเป็นค่าปรับ 1,100 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ พิพากษายกฟ้อง 

ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น>> คดี “ไบรท์” ชินวัตร ชุมนุม #ม็อบ6ธันวา63 ศาลยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ชุมนุม แต่ปรับข้อหาจราจร-เครื่องเสียง รวม 1,650 บาท

หลังศาลมีคำพิพากษา อัยการได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 โดยชินวัตรแจ้งว่า เขาไม่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ของอัยการแต่อย่างใด

ช่วงเช้าวันนี้ ที่ห้องพิจารณาที่ 10 ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษา ใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในประเด็นเรื่องฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่อัยการอุทธรณ์ว่า โดยปกติในการชุมนุมย่อมมีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะมีหลายคนแบ่งหน้าที่กันทำ โดยพฤติการณ์ปราศรัยเชิญชวนของชินวัตรมีลักษณะเป็นแกนนำ หรือผู้จัดให้มีการชุมนุมนั้น 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ลำพังเพียงชินวัตรขึ้นพูดปราศรัย รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม เพราะว่าอาจจะถูกเชิญชวนให้ขึ้นปราศรัยก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์แก่ความสงสัยให้จำเลย พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

อนึ่ง ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ที่วงเวียนใหญ่นี้ นอกจากการฟ้องร้องชินวัตรที่ศาลแขวงธนบุรีแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผาราม ยังมีการดำเนินคดีต่อ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และ “เพชร” ธนกร (สงวนนามสกุล) ซึ่งขณะนั้นเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเนื้อหาคำปราศรัยของทั้งสามคนในวันดังกล่าวอีกด้วย

X