อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี “บอย ธัชพงศ์” ชุมนุม #ปทุมธานีไม่ปรานีเผด็จการ ชี้ไม่เคยปรากฏการแพร่เชื้อจากการชุมนุม แต่เกิดจากบ่อนพนัน-สถานบันเทิง-ตลาดสด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ในคดีของ “บอย” ธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กรณีร่วมปราศรัยในการชุมนุม #ปทุมธานีไม่ปรานีเผด็จการ บริเวณลานรถตู้ตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงภายหลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก ในช่วงกลางปี 2563 จนนำไปสู่การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อการชุมนุมที่ใช้ชื่อ “แฮซแท็ก” (#) ต่างๆ กิจกรรมที่ธัชพงศ์ถูกกล่าวหาเป็นกิจกรรมที่เครือข่ายนักศึกษา 3 สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี พร้อมกลุ่มแรงงานภาคประชาชน ร่วมกันจัดขึ้น 

ภายหลังกิจกรรม ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดย พ.ต.ท.วรยุทธ พงษ์ตัน กล่าวหาดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม 2 ราย โดยธัชพงศ์ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563

ล่าสุดพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งยุติคดี ลงวันที่ 6 ม.ค. 2566 โดยสรุปอัยการเห็นว่า การชุมนุมในคดีนี้จัดขึ้นบนทางเท้าบริเวณท่ารถตู้ต่างจังหวัด ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ซึ่งเป็นสถานที่เปิด มิใช่เป็นสถานที่แออัด และมิได้เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ข้อ 5 

การชุมนุมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ต้องยุบองค์กรอิสระ, ต้องการให้ยกเลิก ส.ว. จำนวน 250 คน ที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน และต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากเสียงประชาชน ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวอยู่ในกรอบตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 บัญญัติรับรองไว้ การชุมนุมเริ่มหมุนเวียนให้มีการพูดปราศรัยตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึง 19.45 น. มิได้ยืดเยื้อปักหลักพักค้าง หากแต่เป็นการชุมนุมมีกำหนดเวลาเริ่มต้นและเลิกที่แน่นอน 

การชุมนุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมได้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองจากการแพร่เชื้อ ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่าเกิดการแพร่เชื้อจากการชุมนุม หากแต่เกิดจากบ่อนการพนัน สถานบันเทิง ตลาดสด ซึ่งเป็นสถานที่แออัด ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดออกตามความมาตรา 2 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ข้อ 5 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมเพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมได้รับฟังการปราศรัย ปราศจากอาวุธ มิได้มีการใช้ความรุนแรง จึงมิใช่เป็นการชุมนุมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) และไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐโดยตรงและมิได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติสาธารณะ ตามที่บัญญัติไว้ในเหตุท้าย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์หรือเหตุผลในการประกาศพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว คดีจึงมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

สำหรับข้อกล่าวหาร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี มีคำสั่งยุติการดำเนินคดี เพราะคดีขาดอายุความไปแล้ว

พนักงานอัยการผู้จัดทำคำสั่งไม่ฟ้องคดี ได้แก่ นายสุนัยต์ คงแสงดาว อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ปฏิบัตราชการแทนอัยการจังหวัดธัญบุรี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยภาพรวมจนถึงวันที่ 23 ก.พ. 2566 มีคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 37 คดี และมีคดีที่อัยการสั่งฟ้อง แต่ศาลยกฟ้องหลังต่อสู้คดีไปแล้วอย่างน้อย 59 คดี 

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X