ยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 นักกิจกรรม กรณีปราศรัยใน #ม็อบ23กุมภา64 #ม็อบตำรวจล้มช้าง ชี้ไม่ใช่ผู้จัด-ไม่เสี่ยงต่อโรค-ชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 22 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของนักกิจกรรม 4 ราย ได้แก่ “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ, ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์, นันทพงศ์ ปานมาศ และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา กรณีเข้าร่วม #ม็อบ23กุมภา หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ซึ่งมีการเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังจากที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา กล่าวถึงการเลื่อนขั้นภายในองค์กรตำรวจอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง”

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 702 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนเดินทางมาฟังคำพิพากษา จากนั้นผู้พิพากษาได้ออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า 

พยานโจทก์สันนิษฐานว่าจำเลยทั้ง 4 คนเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่มีพยานหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยทั้ง 4 คนเป็นผู้โพสต์ โฆษณา ชักชวนให้มาชุมนุม หรือเกี่ยวข้องกับบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ภาคีนิรนาม–Anonymous Party” ซึ่งโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนให้มาเข้าร่วมชุมนุม ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นำสืบให้แน่ชัดว่าในวันเกิดเหตุจำเลยทั้ง 4 คนเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมตั้งแต่เวลากี่โมงและเดินทางกลับในเวลาใด ข้อเท็จจริงจึงไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 4 คนเป็นผู้จัดการชุมนุม

พยานโจทก์เบิกความอีกว่ามีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันประมาณ 500 คน ทำให้เกิดความแออัด แต่พยานหลักฐานไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าความแออัดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคตามที่พยานโจทก์เบิกความหรือไม่ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย ระหว่างผู้ชุมนุมยังมีช่องว่างระหว่างกัน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวาย 

เห็นว่าการชุมนุมยังเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ประกาศหัวหน้าหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 ไม่สามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่ากฎหมายที่ให้อำนาจได้

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 4 มีการใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัย เป็นการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับคนละ 200 บาท ข้อหาอื่นพิพากษายกฟ้อง 

ภายหลังจากฟังคำพิพากษา วรรณวลีเปิดเผยว่า สำหรับเธอที่เคยถูกดำเนินคดีมาหลายคดี คำพิพากษาเช่นนี้หาได้ยากมาก ที่ผ่านมาเมื่อผู้พิพากษาหรืออัยการพูดอะไร เธอในฐานะจำเลยจะรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นรอง และในหลายๆ ครั้งที่มีการสืบพยาน ผู้พิพากษาแทบจะไม่บันทึกคำเบิกความที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย แต่ในคดีนี้ เธอรู้สึกดีใจที่ในการสืบพยานผู้พิพากษาบันทึกคำเบิกความของเธอไว้ทั้งหมด รวมทั้งเรื่องที่เธอกล่าวถึงเหตุผลในการออกมาชุมนุมว่า ตนเองอยากเป็นตำรวจและมีความรักในอาชีพนี้ จึงตัดสินใจออกมาชุมนุมและปราศรัยตามข้อเท็จจริงจากอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเรื่องตั๋วช้าง ซึ่งตำรวจชั้นผู้น้อยไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของการโยกย้ายตำแหน่ง เธอเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้หากเป็นผู้พิพากษาคนอื่นอาจไม่ได้มีการบันทึกลงในคำเบิกความ แต่ผู้พิพากษาในคดีนี้บันทึกให้ทั้งหมด

วรรณวลีเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลเป็นไปตามหลักการและพยานหลักฐานที่ปรากฎ และยืนยันหลักประชาธิปไตยในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก  ศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาในการออกมาสร้างความวุ่นวาย ซึ่งในวันดังกล่าวก็ไม่ได้มีความวุ่นวายอย่างที่พยานโจทก์ได้เบิกความและโจทก์ก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ตามที่กล่าวหา ศาลจึงตัดสินตามหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยไม่ได้มีการใส่ความรู้สึกหรือการสันนิษฐานของโจทก์มาร่วมด้วย

“รู้สึกดีกับคำพิพากษาในวันนี้มาก หากทุกศาลยึดตามหลักเช่นนี้ กระบวนการยุติธรรมก็จะดูน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น และประชาชนก็จะไม่หมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมแน่นอน” วรรณวลีกล่าว

ส่วนนันทพงศ์เห็นว่า คำพิพากษาเขียนออกมาได้ดี โดยศาลอ้างว่าการชุมนุมเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่โจทก์ฟ้องมาไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมากพอ ข้อหาหลักๆ ในคดีนี้ ศาลจึงยกฟ้องทั้งหมด เหลือเพียงแค่ปรับคนละ 200 บาทจากการใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งส่วนที่ดีมากในคำพิพากษาคือศาลพูดถึงสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญมากขึ้น

ทั้งนี้ คดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 59 แล้ว ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องออกมา (ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง)

.

ทบทวนบันทึกการสืบพยาน ต่อสู้คดีรวม 2 ปี พอดี

สำหรับคดีนี้ อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อ 1 ปีที่แล้วพอดี คือเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ก่อนศาลทำการสืบพยานเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 27, 28 ต.ค. และ 21 ธ.ค. 2565 

ภาพรวมการสืบพยาน ฝั่งโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบจำนวน 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่สืบสวน, พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน และเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทั้งหมดเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งหมดมีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุมและการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาต จำเลยทั้งหมดได้ให้การปฎิเสธ ยืนยันว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

.

เทศกิจเบิกความเป็นพยานโจทก์ แต่เห็นว่าการชุมนุมสงบเรียบร้อย ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด

พยานโจทก์ปากแรกคือ อภิวัติ ไชยทองพันธ์ เจ้าพนักงานเทศกิจ สำนักงานเขตบางซื่อ เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2563 ขณะนั้นพยานทำงานเป็นเทศกิจสำนักงานเขตปทุมวัน มีหน้าที่ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการเขต ให้ร่วมปฎิบัติภารกิจในการร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม

พยานทราบว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมในหัวข้อ “ตั๋วช้าง” ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พยานกับเจ้าหน้าที่เทศกิจรวม 10 คน พบว่ามีผู้มาร่วมการชุมนุมประมาณ 500 คน โดยมีการใช้รถกระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียงในการชุมนุมประมาณ 2 คัน ก่อนมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประมาณ 10 นาที

พยานเบิกความว่า การชุมนุมบริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แต่บริเวณที่ใกล้ระยะเครื่องขยายเสียงและมีการปราศรัย จะเริ่มไม่มีการเว้นระยะห่างเท่าไรนัก 

พยานได้ตรวจสอบกับสำนักงานเขตปทุมวันแล้วพบว่า ไม่ได้มีการแจ้งขออนุญาตการชุมนุม ไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และขออนุญาตปิดกั้นถนนแต่อย่างใด

ในระหว่างการชุมนุม พยานไม่ได้เข้าไปตักเตือนให้หยุดการชุมนุม เพียงแต่มีหน้าที่สังเกตการณ์เท่านั้น พยานไม่ทราบว่าใครจะขึ้นปราศรัยได้บ้าง รวมถึงไม่สามารถระบุตัวตนผู้ปราศรัยได้ การชุมนุมยุติเมื่อประมาณ 20.20 น.

เนื้อหาการชุมนุมเป็นเรื่องเกี่ยวกับตั๋วช้าง เป็นเรื่องการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ ในการชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรง ไม่มีการปะทะกับตำรวจ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้มีการเข้าจับกุมผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พยานอยู่ในเหตุการณ์แค่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิร์ล ไม่ได้ติดตามไปจนถึงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างการชุมนุม มีทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจและตำรวจ สน.ปทุมวัน มาดูแลความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกทางจราจร รถสามารถสัญจรไปมาได้ ผู้คนสามารถเดินผ่านไปมาได้

ระยะห่างจากห้างเซ็นทรัลเวิร์ล ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห่างกันประมาณ 500 เมตร ผู้เข้าร่วมได้กระจายตัวกันระหว่างเดินไป โดยพยานไม่ทราบว่าในวันดังกล่าว ทางตำรวจจะมีการประกาศให้เลี่ยงการจราจรในเส้นทางนี้หรือไม่ 

พยานเห็นว่าผู้ที่จะใช้เครื่องขยายเสียงได้จะต้องเป็นแกนนำ แต่ยอมรับว่าพนักงานฝ่ายปกครองสามารถประกาศให้ยุติการใช้เครื่องขยายเสียงได้ หากมีการทำผิดกฎหมาย แต่วันดังกล่าวไม่ได้มีการประกาศแต่อย่างใด ทั้งนี้หลังประกาศยุติการชุมนุมเวลาประมาณ 20.00 น. การจราจรก็กลับมาเป็นปกติ

.

ตำรวจฝ่ายสืบสวนเห็นว่า 4 จำเลยมีลักษณะเป็นผู้จัดชุมนุม ผลัดกันขึ้นปราศรัย ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พ.ต.ท.นพดล สินศิริ สารวัตรสืบสวนจาก สน.ปทุมวัน เบิกความระบุว่าเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 ตำรวจฝ่ายสืบสวนพบว่าในสื่อสังคมออนไลน์มีเพจเฟซบุ๊ก “ภาคีนิรนาม” ประกาศให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 23 ก.พ. 2564 โดยทราบว่าจะเป็นกิจกรรมที่พูดถึงปัญหาเรื่อง “ตั๋วช้าง” และการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 เวลากลางคืน พยานตรวจไม่พบว่าใครเป็นเจ้าของเพจดังกล่าว หลังจากนั้นพยานได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนลงพื้นที่แยกราชประสงค์ โดยนำกำลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามรวมไม่ต่ำกว่า 6 นาย 

ในวันเกิตเหตุ 15.00-16.00 น. พบชาติชายหรือธัชพงศ์ อยู่ในที่เกิดเหตุพร้อมเครื่องขยายเสียง โดยปราศรัยอยู่บนรถและมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน ก่อนมีผู้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย เนื่องจากที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจ สน.ปทุมวัน พยานจึงไม่ได้ตรวจสอบโดยรายละเอียด

ต่อมาเวลา 18.00 น. หลังชาติชายร้องเพลงชาติจบ ก็มีประกาศว่าจะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของ สน.ปทุมวัน พบว่าธัชพงศ์ได้ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรก ประชาชนที่อยู่กันในขณะนั้นมีประมาณ 500 คน และมีผู้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย เนื้อหาหลักคือเรื่องตั๋วช้าง 

พยานรับว่าเป็นผู้จัดทำบันทึกการสืบสวนในคดีนี้ โดยเห็นว่าบรรยากาศการชุมนุมขณะนั้นเป็นไปอย่างแออัด ถนน 2 ช่องหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเต็มไปด้วยผู้ชุมนุม มีการปิดกั้นการจราจร และไม่พบว่ามีการตั้งจุดคัดกรองโควิด คนส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีเว้นการเว้นระยะห่าง 1 เมตร 

ส่วนการชุมนุมดังกล่าวจะมีการขออนุญาตหรือไม่ พยานไม่ทราบเพราะว่าไม่ได้ตรวจสอบ และในเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงพยานก็ไม่ทราบ 

ในระหว่างปราศรัย พยานระบุว่าได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามเข้าชี้แจงข้อกฎหมาย และขอให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่เลิก ยืนยันว่าจะจัดต่อไปจนถึงเวลา 21.24 น. แต่ไม่ได้พบความรุนแรงในการชุมนุมแต่อย่างใด

สาเหตุที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 4 เป็นเพราะว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุม มีพฤติการณ์ร่วมมือกันมาตั้งแต่ต้น การผลัดกันขึ้นปราศรัย และเป็นผู้ดึงดูดให้คนมารวมตัวกัน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะนั้น

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.นพดล เบิกความว่า ในทางสืบสวนไม่พบว่าจำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องกับการเพจที่ชื่อภาคีนิรนาม 

และในการชุมนุมเวลาประมาณ 15.00 น. แม้พยานอ้างว่าผู้ชุมนุมบางส่วนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่จากภาพถ่ายที่ทนายจำเลยให้พยานดู พบว่าผู้ชุมนุมมีการสวมหน้ากากอนามัย และมีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม พยานยืนยันว่าบรรยากาศโดยรอบมีความแออัด ไม่ได้เว้นระยะห่าง แต่พยานไม่ได้ส่งภาพหลักฐานดังกล่าวเอาไว้ในคดีแต่อย่างใด

เท่าที่พยานสังเกต จำเลยทั้งสี่ไม่ได้มีพฤติการณ์อำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้จัดลำดับการขึ้นปราศรัย แต่เหตุที่ดำเนินคดีเพราะมีการเชิญชวน พยานรับว่ามีผู้ปราศรัยบางส่วนที่ระบุตัวตนได้ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินคดี เพราะจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชุมนุมที่มีพฤติการณ์เป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ต้น

พยานรับว่ามีบางจุดที่ผู้ชุมนุมแน่นหนา และบางจุดก็มีการกระจายตัว เช่น บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเมื่อผู้ชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนด ตำรวจก็ไม่สามารถห้ามได้ เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุรุนแรง จึงได้แต่อำนวยความสะดวกในการชุมนุม 

พยานไม่พบว่าจำเลยทั้ง 4 มีอาวุธ หลังเสร็จสิ้นการชุมนุมพบว่ามีรอยภาพที่เกิดจากการขีดเขียนบนถนน แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากเหตุใด ไม่พบว่ามีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

พยานทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการเรื่องเกี่ยวกับตั๋วช้าง เป็นสิทธิการชุมนุมที่ทำได้ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดในขณะนั้น

พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียง และพยานไม่ได้ตรวจสอบว่าพบผู้ติดโควิดภายหลังการชุมนุมหรือไม่

.

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสี่ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้จัดการการชุมนุม

พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 พยานดำรงตำแหน่งผู้กำกับสอบสวน และมี พ.ต.ท.นพดล จาก สน.ลุมพินี มาแจ้งความคดีในลักษณะฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกีดขวางทางสาธารณะ 

พยานได้สอบสวนผู้กล่าวหาเอาไว้ และได้รายงานการสืบสวน พร้อมภาพถ่ายจำนวนหนึ่ง ต่อผู้บังคับบัญชา ก่อนพยานจะจัดทำภาพถ่ายประกอบคดี มีทั้งภาพผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ยังมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่เทศกิจ ที่ร่วมดูแลความปลอดภัยในวันเกิดเหตุ จากการสอบสวนพบว่าผู้ชุมนุมในที่เกิดเหตุได้ร่วมกันก่อเหตุ จึงออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา จำเลยทั้งสี่ให้การปฎิเสธ จากการตรวจสอบไม่พบว่า จำเลยทั้งสี่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ใช้พื้นที่จราจร และขออนุญาตการชุมนุม 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน จากการตรวจสอบไม่พบว่าจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียงหรือรถเครื่องขยายเสียง พยานตรวจไม่พบว่าจำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องกับเพจ “ภาคีนิรนาม” 

ในทางสอบสวน เจ้าหน้าที่มีการแจ้งเตือนให้ยุติการชุมนุมแล้ว ส่วนกรณีที่พนักงานส่วนปกครองพบว่าใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งให้ยุติการชุมนุมได้ ในทางสอบสวนเกี่ยวกับเนื้อหา พยานทราบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตั๋วช้าง แต่ไม่ทราบรายละเอียด เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุมใครหลังยุติการชุมนุมแล้ว และพยานไม่ได้ตรวจสอบว่าหลังยุติการชุมนุม แล้วจะมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ 

สาเหตุที่พยานดำเนินคดีทั้งสี่คนเพราะเห็นว่าน่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรม ในการชุมนุมดังกล่าวค่อนข้างแออัด และมีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย 

.

จำเลยทั้ง 4 คนอ้างตัวเองเป็นพยาน ยืนยันไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และมีการประกาศมาตรการป้องกันโควิด 

จำเลยทั้ง 4 คนในคดีนี้ ยังได้อ้างตัวเองขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย และเบิกความไปในทำนองเดียวกัน โดยสรุป ในประเด็นเรื่องผู้จัดการชุมนุม พยานจำเลยทั้ง 4 คนเบิกความว่า ตนเองไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว เป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม โดยเห็นโพสต์ที่ถูกส่งมาในโซเชียลมีเดีย เชิญชวนให้ประชาชนออกไปร่วม จึงเดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุม

ในประเด็นเรื่องการชุมนุมแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรค พยานจำเลยทั้ง 4 คนเบิกความว่า การชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เริ่มตั้งแต่ประมาณ 18.00 น. ถึงเวลาไม่เกิน 20.00 น. ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกัน ในที่ชุมนุมก็มีการประกาศให้สวมใส่หน้ากากอนามัย มีบุคคลอื่นเดินแจกจ่ายเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และไม่ปรากฎว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 จากการมาร่วมชุมนุม 

ในประเด็นเรื่องการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ พยานจำเลยทั้ง 4 คนเบิกความว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวาย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงหรือการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในประเด็นเรื่องเครื่องขยายเสียง พยานจำเลยทั้ง 4 คนยอมรับว่า มีการใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็กซึ่งติดตั้งอยู่บนรถกระบะ และมีการใช้โทรโข่ง เพื่อเรียกให้ผู้ชุมนุมอยู่บนทางเท้าให้เรียบร้อย ไม่ให้กีดขวางทางจราจร 

.

X