ทบทวนภาพรวมคดี ม.112 เหตุปลดพระบรมฉายาลักษณ์จนขาด ในชุมนุม มธ.ลำปาง ศาลยกฟ้องจำเลย 1 ราย ให้รอการลงโทษอีกราย

เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านไป ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 ในสองคดี ที่สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปี 2563 ทั้งคดีจากการแขวนป้ายข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก และคดีที่มีการปลดพระบรมฉายาลักษณ์จนฉีกขาดระหว่างการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนที่มาที่ไปของคดีความกรณีหลังนี้ และผลทางคดีที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของนักศึกษาผู้ให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ และส่วนของนักศึกษาที่ต่อสู้คดี ที่ต่อสู้คดีมากว่า 2 ปี และยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำตามที่ตำรวจและอัยการกล่าวหามาตลอด จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด

.

ที่มาที่ไปของคดี

สำหรับคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการปลดรูปดังกล่าว ที่มาที่ไปเกิดขึ้นภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการจับกุมผู้ชุมนุมและแกนนำราษฎร และมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าฉีดน้ำและสารเคมีสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ทำให้ในหลายจังหวัด เกิดการนัดหมายชุมนุมแสดงออกคัดค้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ  

เช่นเดียวกับที่จังหวัดลำปาง ซึ่งมีนักศึกษาหลายร้อยคนออกมาชุมนุมรวมตัวกันในมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ในช่วงเย็นจนถึงค่ำวันที่ 17 ต.ค. 2563 จนมีเหตุการณ์ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ลงจากแท่นจัดแสดงด้านหน้ามหาวิทยาลัย และภาพได้ฉีกขาดออกเป็น 4 ชิ้น

ต่อมาวันที่ 18 ต.ค. 2563 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ติดต่อนักศึกษาสองรายให้ไปพบเพื่อพูดคุย แต่พบว่าได้มีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดลำปางกว่า 30 นาย มาร่วมกระบวนการดังกล่าวทั้งในและนอกห้องประชุมด้วย 

จากนั้นตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 เรื่องการทำให้ทรัพย์สาธารณะเสื่อมค่า ต่อ “เบนซ์” (นามสมมติ) นักศึกษาจากคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ โดยมีทนายความของมหาวิทยาลัยร่วมฟังการสอบสวน 

ส่วนไลลา (นามสมมติ) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์อีกราย ปฏิเสธกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าตนไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหา และยังไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วม ก่อนที่ตำรวจ สภ.ห้างฉัตร จะได้ออกหมายเรียกเธอไปแจ้งข้อหาที่สถานีตำรวจในวันที่ 25 ต.ค. 2563 

จากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เริ่มถูกนำกลับมาใช้กล่าวหาอีกครั้ง ตำรวจได้ออกหมายเรียกทั้งสองคนให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” โดยระบุว่าเนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้แจ้งข้อหานี้เพิ่มเติม โดยทั้งสองคนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

.

ตำรวจนำป้ายประกาศเตือนมาแสดงต่อผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจ ระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหา

.

คำฟ้องโจทก์ระบุจำเลยทั้งสองขึ้นไปบนแท่นพระบรมฉายาลักษณ์ – ใช้มือฉีกรูป พร้อมปลุกระดมผู้ชุมนุมโห่ร้อง “เอาลงๆ” “ออกไปๆ”

วันที่ 28 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการโจทก์ได้ยื่นคำฟ้องนักศึกษาทั้งสองต่อศาลจังหวัดลำปาง ฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองเป็นแกนนำและสมาชิกของกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง ก่อนและขณะเกิดเหตุได้ร่วมกันชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีการปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจที่สลายการชุมนุม จับกุมแกนนำที่กรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาตร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งภาพพิมพ์ไวนิลพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ที่ติดตั้งไว้บริเวณภายนอกประตูรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หันไปทางถนนสาธารณะ

จำเลยทั้งสองได้ขึ้นไปบนฐานของภาพพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว แล้วใช้มือดึงกระชากฉีกภาพจนฉีกขาดได้รับความเสียหาย พร้อมกับใช้คำพูดปลุกระดมผู้ชุมนุมให้เกิดความฮึกเหิมโห่ร้องด้วยคำว่า “เอาลงๆ” และ “ออกไปๆ” จำนวนหลายครั้ง 

ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีเรื่อยมา โดยให้ใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับรอง 

.

นักศึกษา 1 ราย ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอลงอาญา 2 ปี ก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

วันที่ 11 ต.ค. 2564 ศาลจังหวัดลำปางนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในคดี แต่จำเลยทั้งสองขอระยะเวลาต่อศาลในการปรึกษาทนายความและครอบครัว คดีจึงเลื่อนมาจนกระทั่งวันที่ 16 ธ.ค. 2564 “เบนซ์” แถลงกลับคำให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทนายจำเลยจึงขอยื่นคำแถลงประกอบคำให้การรับสารภาพ

27 ม.ค. 2565 ศาลจังหวัดลำปางได้อ่านคำพิพากษาว่า “เบนซ์” มีความผิดตามตามฟ้องในทั้งสองข้อหา เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด คือตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

ต่อมา 11 ก.ค. 2565 ธวัช ไพฑูรย์เจริญสภา อัยการอาวุโส สำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ โดยอ้างว่าการกระทำเป็นการไม่บังควร เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ไม่กล้ากระทำอีก และป้องกันมิให้บุคคลอื่นกระทำการลักษณะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต ตลอดจนความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักร 

31 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลเห็นว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด ได้รับการอบรมสั่งสอนแล้ว และให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี

.

“ไลลา” ยังยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมสืบพยาน

หลังจากที่ “เบนซ์” ให้การรับสารภาพ ส่วนของ “ไลลา” ได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าเธอไม่ได้กระทำตามฟ้อง ศาลจึงสั่งให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่แยกจากคดีของเบนซ์ โดยอัยการได้ฟ้องพฤติการณ์ตามคำฟ้องเดิมเข้ามาใหม่

ต่อมาวันที่ 7 ก.พ. 2565 ศาลจังหวัดลำปางนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของไลลา พนักงานอัยการแถลงต่อศาลขอนำพยานเข้าสืบ 11 ปาก  ส่วนฝ่ายจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบ 6 ปาก แต่เมื่อถึงวันสืบพยาน ฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความเหลือ 3 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย นักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การสืบพยานคดีของไลลา มีขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 มิ.ย. และ 12 ต.ค. 2565 โดยรวม พยานโจทก์ทุกปากให้การไปตามคลิปวิดีโอ ว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนขึ้นไปบนฐานพระบรมฉายาลักษณ์และไม่ใช่ผู้ที่ดึงหรือทำลายรูปภาพ มีเพียงพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้กล่าวหา ที่อ้างว่าได้ยินจำเลยเป็นผู้สั่งการด้วยการพูดว่า “เอาลงๆ” ท่ามกลางเสียงผู้ชุมนุมอื้ออึงที่ตะโกนว่า “ออกไปๆ” อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ส่วนใหญ่ไม่เห็นเหตุการณ์แน่ชัดพอจะระบุได้ว่าใครเป็นผู้ดึงรูปภาพดังกล่าว เพราะเป็นเวลามืดค่ำ มองเห็นไม่ชัด และอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ

ส่วนการสืบพยานจำเลยยืนยันว่า แม้จำเลยอยู่ในที่ชุมนุม แต่ไม่ได้ขึ้นไปบนฐานที่ตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ได้เป็นผู้ดึง ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ และไม่ใช่ผู้สั่งการที่พูดว่า “เอาลงๆ” ให้ใครไปนำรูปภาพลงมา อีกทั้งบริบทคำว่า “ออกไปๆ” ในขณะนั้นเพราะผู้ชุมนุมบางส่วนแสดงความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่แฝงตัวเข้ามาในที่ชุมนุม และพยายามถ่ายภาพและคลิปผู้ชุมนุม

ชวนทบทวนปากคำพยานดังกล่าว ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องในที่สุด

.

จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดึงพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ผู้กล่าวหาอ้างจำเลยพูดว่า “เอาลงๆ” แม้มองอยู่ไกล เวลามืดค่ำ และเสียงอื้ออึงในที่ชุมนุม

พ.ต.ต.เจริญ ฝั้นธรรมครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.ห้างฉัตร ผู้กล่าวหา มีหน้าที่ค้นหาข่าวสารเกี่ยวกับคดีความมั่นคง เบิกความต่อศาลว่า ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดลำปางตั้งแต่ ปี 2555 จนปัจจุบัน

สำหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ ­ในวันที่ 17 ต.ค. 2563 พยานทราบข่าวจากไลน์กรุ๊ป “กองกำกับสืบสวนจังหวัดลำปาง” ว่าจะมีการจัดชุมนุมแฟลชม็อบขึ้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เวลา 18.00 น. จึงมอบหมายให้นำกำลังเข้าสังเกตการณ์และหาข่าว โดยพยานไปกับทีมเจ้าหน้าที่อีกราว 10 นาย และปฏิบัติหน้าที่โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ

เวลา 18.15 น. พยานไปถึงสถานที่จัดการชุมนุม พบกลุ่มนักศึกษาประมาณ 100 กว่าคน รวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าหอพักภายในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มมีการชุมนุมขึ้นแล้ว ในกิจกรรมนั้นได้มีการปราศรัยต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง 

เมื่อการปราศรัยดำเนินไปราว 20 นาที พยานเห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เข้าไปสังเกตการณ์ และกำลังใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพ พยานคาดว่านักศึกษาเกิดความไม่พอใจ พยานจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ทราบและถอนกำลังออกจากที่ชุมนุม โดยอยู่ห่างออกไปราว 70 เมตร

ต่อมาพยานเห็นกลุ่มนักศึกษาเริ่มเคลื่อนตัวมาตามถนนพร้อมตะโกนคำว่า “ออกไปๆ” จากนั้นเมื่อเคลื่อนตัวมายังบริเวณประตูรั้วทางเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 คู่กับพระราชินีองค์ปัจจุบัน เวลานั้นพยานได้ออกมาและยืนสังเกตการณ์อยู่อีกฝั่งถนน และมีการปราศรัยต่ออีกราว 10 นาที และผู้ชุมนุมพากันหันหน้าเข้าหาภาพ  ในเวลานั้นเนื่องจากพยานได้ถอนกำลังออกมายืนอยู่ไกลจากบริเวณที่ผู้ชุมนุมอยู่ ทำให้มองเห็นเหตุการณ์ไม่ชัดเจนนัก จึงเดินเข้าใกล้ผู้ชุมนุมมากขึ้น ระยะห่างราว 12 เมตร เวลานั้นมีจำนวนของผู้ชุมนุมลดลงบ้างแล้วเหลือประมาณ 100 คน

แม้จะเป็นเวลาที่มืดแล้ว แต่ยังมีแสงสว่างจากไฟกิ่งสาธารณะบนถนน ประกอบกับแสงสว่างจากบริเวณที่ตั้งของซุ้มภาพ จึงทำให้สามารถเห็นเหตุการณ์ ในเวลานั้นเองที่พยานอ้างว่าเห็นจำเลยกำลังชูมือขวาขึ้นลักษณะผายมือทางภาพ พร้อมกล่าวคำว่า “เอาลงๆ” พยานเข้าใจว่าคำว่า “เอาลงๆ” หมายถึงต้องการให้นำภาพลงมา

จากนั้นพยานเห็นชายคนหนึ่งลักษณะสูง ผมยาวประบ่า ต่อมาทราบว่าเป็น “เบนซ์” นักศึกษาคณะสหวิทยาการ เนื่องจากพยานเคยรู้จักอยู่แล้ว ได้ปีนขึ้นบนฐานของภาพและใช้มือเปล่าทุบไปที่ภาพนั้น และดึงโครงไม้ของภาพออกหลุดออกมา ทำให้พระบรฉายาลักษณ์ฉีกขาด  เมื่อพยานเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วจึงรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และรอกำลังเสริม ภายหลังจากเหตุการณ์ ผู้ชุมนุมก็เริ่มสลายตัวและพยานไม่เห็นเหตุการณ์อื่นๆ อีก

หลังจากนั้นเวลาใกล้ 21.00 น. ได้มีการชุมนุมขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่ามีกลุ่มนักศึกษาเริ่มเข้ามารวมตัวกันบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย แต่อยู่ภายในประตูรั้ว เพื่อปิดกั้นเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปยังบริเวณมหาวิทยาลัย จากนั้นพยานและทีมเจ้าหน้าที่จึงพากันถอนกำลังออกจากพื้นที่

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.เจริญ ตอบทนายความถามค้าน โดยพยานยืนยันว่า ทราบว่าผู้ชุมนุมไม่พอใจที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์และถ่ายบันทึกภาพผู้ชุมนุมไว้ จึงได้ตะโกน “ออกไปๆ” อย่างต่อเนื่อง ตามเอกสารรายงานของโจทก์ก็ระบุเพียงผู้ชุมนุมปลุกระดมเพื่อโจมตีรัฐบาล ไม่มีรายงานว่าปลุกระดมเพื่อไปปลดภาพแต่อย่างใด อีกทั้งถ้อยคำในชั้นสอบสวนของพยานเอง ก็ไม่ได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเป็นผู้ปลุกระดมผู้ชุมนุมไปหน้ามหาวิทยาลัย และไม่ได้พูดว่า “เอาลงๆ” แต่อย่างใด

นอกจากนี้ พยานยังรับว่าจำเลยไม่ได้ขึ้นไปบนฐานพระบรมฉายาลักษณ์และไม่ได้เป็นผู้ฉีกภาพ เพียงแต่พูดว่า “เอาลงๆ” ซึ่งในขณะเกิดเหตุเป็นเวลามืดค่ำแล้ว พยานอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุพอสมควร แต่พอจะได้ยินเสียงของจำเลย แม้พยานจะอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุและบริเวณนั้นมีผู้ร่วมชุมนุมนับร้อยโดยมีเสียงอื้ออึงมาก นอกจากนี้ขณะผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาด้านหน้ามหาวิทยาลัย พยานก็ไม่ได้ยินว่าจำเลยพูดว่าอะไร

. 

ตำรวจสืบสวนในเหตุการณ์ ไม่เห็นจำเลย ดึงพระบรมฉายาลักษณ์ – ระบุไม่ได้จำเลยพูดสั่งการหรือไม่

พ.ต.ท.เชาวลิต จินดารัตน์ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.ห้างฉัตร ผู้เห็นเหตุการณ์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ 17 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. เชาวลิตได้แต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปที่ชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปาง เห็นนักศึกษารวมตัวกันบริเวณหอพัก ปราศรัยโจมตีรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน จากเหตุที่มีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ

ต่อมา พ.ต.ท.เชาวลิตเห็นว่ามีนักศึกษาตะโกนว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณที่ชุมนุม กลุ่มตำรวจจึงถอยออกมาที่บริเวณสนามฟุตบอล ห่างจากจุดชุมนุมประมาณ 200 เมตร และถอนกำลังออกมา โดยเขาขับรถมาจอดบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยและอยู่บริเวณประตูทางเข้า-ออก

กระทั่งเวลา 19.00 น. พ.ต.ท.เชาวลิต ก็พบว่ามีกลุ่มนักศึกษามารวมตัวกันบริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัย ประมาณ 100-200 คน พร้อมได้ยินคำว่า “ออกไปๆ” โดยตนไม่ได้ยินคำอื่น อาจเพราะอยู่ไกลทำให้ได้ยินไม่ชัดเจน จากนั้นเห็นผู้ชายรูปร่างผอมขึ้นไปบนฐานพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร เพราะอยู่ห่างออกไปราว 80 เมตร

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.เชาวลิต ตอบทนายความถามค้านรับว่า นักศึกษาเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์ในมหาวิทยาลัย ทำให้แสดงออกลักษณะต้องการขับไล่ จึงถอนกำลังออกห่างจากกลุ่มนักศึกษาประมาณ 300-400 เมตร และที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย พ.ต.ท.เชาวลิต อยู่ห่างจากกลุ่มนักศึกษาประมาณ 70-80 เมตร โดยไม่ได้ยินชัดว่าใครพูดว่าอะไรบ้าง เพราะเสียงในที่ชุมนุมอื้ออึง ได้ยินแค่เสียง “ออกไปๆ” จากนักศึกษาที่พูดพร้อมๆ กัน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครพูดบ้าง

นอกจากนี้ พ.ต.ท.เชาวลิต ยังระบุไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในที่ชุมนุมด้วยหรือไม่ เพียงแต่เห็นภาพของจำเลยในที่ชุมนุมที่พนักงานอัยการนำมาให้ดูเท่านั้น

ร.ต.อ.วีระพงษ์ ทาสุภา เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม สภ.ห้างฉัตร ทำหน้าที่ถอดเทปจากวิดีโอบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ในที่ชุมนุม โดยพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ตนได้ร่วมกับทีมสืบสวนนอกเครื่องแบบเข้าไปสังเกตการณ์เหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี พ.ต.ท.เชาวลิต เป็นหัวหน้าชุด 

ร.ต.อ.วีระพงษ์ เบิกความย้อนไปว่ารู้จักจำเลยมาก่อน เนื่องจากชุดสืบสวนมีข้อมูลของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากเคยมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน เมื่อประมาณเดือน ส.ค. 2563 โดยจำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวที ทั้งยังมีสายข่าวของทหารที่เป็นผู้รายงานข้อมูลของจำเลยอีกด้วย

ในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.  2563 จำเลยขึ้นปราศรัย โดยมีเนื้อหาโจมตีการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่มีกระแสในช่วงเวลานั้น แต่เนื่องจากได้รับแจ้งจากปลัดฝ่ายความมั่นคงพื้นที่อำเภอห้างฉัตรว่าการชุมนุมได้เลิกแล้ว พยานจึงได้ถอนกำลังออกมาและทราบเรื่องอีกครั้งหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฯ ไปแล้ว

ร.ต.อ.วีระพงษ์ ได้ตรวจสอบดูวิดีโอบันทึกภาพและเสียงในเหตุการณ์ทั้ง 4 คลิปแล้ว ไม่เห็นจำเลยอยู่ในคลิปวิดีโอ แต่ขณะเดียวกันจากการฟังเสียงที่ได้จากเทปบันทึกนั้นจะได้ยินคำพูดว่า “ระวังๆ, ไอ้กะโหลก, ผีตาโบ๋, ออกไปๆ, เอาลงๆ” แต่พยานไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พูด  เนื่องจากนักศึกษามีจำนวนมาก จนไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นเสียงใคร แต่ทราบเพียงว่าเป็นเสียงของผู้หญิง

.

.

ผู้สื่อข่าวในเหตุการณ์ มองไม่เห็น ไม่ทราบใครดึงรูป ไม่ได้ยินว่าใครพูด “เอาลงๆ” เพราะเสียงในที่ชุมนุมอื้ออึงมาก

อัศวิน วงค์หน่อแก้ว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวมติชนในจังหวัดลำปาง เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ในวันที่ 17 ต.ค. 2563 เวลา 18.00 – 19.00 น. ได้ทราบข่าวว่าจะมารจัดการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จึงรีบเข้าไปบริเวณสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเก็บภาพทำข่าว เมื่อไปถึงพบว่ากิจกรรมได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนเท่าไหร่พยานจำไม่ได้แน่ชัด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่มืด มีแสงสลัวๆ เท่านั้น จากนั้นจึงใช้กล้องของตนเองถ่ายภาพกิจกรรมไว้ แต่ไม่ทราบว่าเวลานั้นใครเป็นผู้ปราศรัยหรือแกนนำ เพราะเห็นเพียงกลุ่มนักศึกษาล้อมวงกันเท่านั้น

จากนั้นไม่นานก็เห็นกลุ่มนักศึกษาค่อยๆ เคลื่อนขบวน เดินไปตามถนนไปยังประตูทางเข้าหน้ามหาวิทยาลัย พยานจึงตามไปจอดรถของตนเองบริเวณฝั่งซ้ายของประตู และเดินไปหยุดอยู่บริเวณอีกฝั่งถนน เชื่อว่าเป็นระยะทางไกลมากราว 100 เมตร หลังจากนั้น 5 นาที พยานเห็นบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจสวมชุดนอกเครื่องแบบยืนอยู่บริเวณนั้นด้วย

ต่อมาจึงเห็นชายคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนฐานของภาพและใช้มือฉีกพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จนหล่นลงมา แต่เนื่องจากตนยืนอยู่ไกลจึงเห็นรายละเอียดไม่มาก โดยชายผู้นั้นจะเป็นใครพยานไม่ทราบ หลังจากเกิดเหตุ พยานจึงเดินทางกลับ

จากนั้นในคืนเดียวกัน พยานได้รับติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคือรองผู้กำกับการ เรียกให้ไปพบที่ สภ.ห้างฉัตร และขอความร่วมมือให้พยานช่วยเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น โดยมีพนักงานสืบสวน และอาจารย์มหาลัยอยู่ด้วย โดยพยานได้ให้การว่าจำหน้าคนที่ฉีกภาพไม่ได้  แต่พยานได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของบรรยากาศในกิจกรรมไว้ด้วย และได้ส่งคลิปที่ตนบันทึกให้แก่ตำรวจชุดสืบสวนจังหวัดลำปาง

อย่างไรก็ตามพยานเบิกความตอบทนายความถามค้านรับว่า ในขณะเกิดเหตุปลดรูปภาพ ตนเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมราว 40-50 เมตร และไม่เห็นว่า พ.ต.ท.เจริญ ฝั้นธรรมครั้ง ผู้กล่าวหา อยู่ใกล้กับกลุ่มนักศึกษา โดยพยานอยู่ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมพอสมควร ทำให้ไม่สามารถจับใจความได้ว่ามีใครพูดว่าอะไรบ้าง และไม่เห็นว่ามีผู้หญิงขึ้นไปร่วมปลดทำลายรูปภาพด้วยแต่อย่างใด

มรรคฤทธิ สุตาลังกา และ วีระวัฒน์ สายปัน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำนองเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ขึ้นไปปลดพระบรมฉายาลักษณ์

อรุณ วงค์คำปวง พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยภายในมหาวิทยาลัย โดยในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่ามีนักศึกษาจัดกิจกรรมการชุมนุมขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวนักศึกษาได้รวมตัวกันบริเวณหน้าหอพักภายในมหาวิทยาลัย

เวลาประมาณ 18.20 น. พยานจึงเดินทางมาที่บริเวณหอพักนักศึกษา พบกลุ่มนักศึกษารวมตัวกันประมาณ 50 คน เท่าที่เห็นก็เป็นการชุมนุมที่สงบ ต่อมากลุ่มนักศึกษาพากันเดินเป็นแถวมุ่งหน้าไปทางอาคารเรียน จึงได้ขับรถตามไป ขณะที่กลุ่มนักศึกษาเดินไปตามถนนที่มีแสงสว่างไม่มากนัก หลังจากนั้นเวลาผ่านไปประมาณ 30 นาที จึงได้ยินเสียงดังขึ้นจึงลงจากรถมาดูเหตุการณ์

อย่างไรก็ตามพยานไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่มีผู้ขึ้นไปฉีกทำลายรูปภาพดังกล่าว แต่เห็นหลังจากที่ถูกทำลายไปแล้ว จากนั้น เห็นผู้หญิงและผู้ชายยืนถือภาพที่ฉีกขาดอยู่ ซึ่งทราบว่าผู้หญิงคือจำเลยในคดีนี้ จึงรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาทราบ นอกจากชิ้นส่วนภาพฉีกขาดที่อยู่ในมือจำเลยแล้ว พยานไม่เห็นชิ้นส่วนอื่นๆ อีก โดยภายหลังเกิดเหตุ ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติว่าจะไม่ดำเนินคดีกับนักศึกษา เนื่องจากเห็นว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม อรุณตอบทนายความถามค้านรับว่า ตนยืนยันว่าไม่เห็นเหตุการณ์ที่มีการฉีกทำลายภาพ รวมทั้งไม่เห็นขณะจำเลยกระทำ สิ่งที่เห็นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่จำเลยและผู้ชายอีกคนกำลังทำการเก็บพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น ส่วนในประเด็นเรื่องทรัพย์สินสาธารณะนั้น พยานเห็นว่าภาพดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้สักการะในทุกๆ วัน เเต่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญ ๆ เท่านั้น

.

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทำลายทรัพย์สาธารณะ ก่อนได้รับคำสั่งจากอัยการให้แจ้ง ม.112 เพิ่มเติม

พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย พนักงานสอบสวน สภ.ห้างฉัตร เบิกความถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 เวลา 21.00 น. ตนได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุให้ไปพบกับรองผู้กำกับการ จึงเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุพบว่ามีเหตุดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งที่ซุ้มบริเวณประตูทางเข้า-ออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง จึงได้ตรวจสอบจุดเกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐาน

ต่อมาทำการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 เนื่องจากสอบสวนได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการให้ “เบนซ์” ไปดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว

พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ เชื่อว่าจำเลยพูดว่า “เอาลงๆ” ตามคำให้การของ พ.ต.ท.เจริญ เป็นการสั่งให้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ และพิจารณาจากวิดีโอในวันเกิดเหตุ ที่ตนเป็นผู้ถอดเสียงจากวิดีโอด้วยตนเอง ทำให้เชื่อว่าเป็นจำเลยที่เป็นผู้สั่งการ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกำลังยกมือขึ้นป้องที่ปากลักษณะเหมือนคนกำลังตะโกน

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ตอบทนายความถามค้านรับว่า ในคลิปวิดีโอมีผู้ชุมนุมอยู่จำนวนมากซึ่งยืนหันหลัง ทำให้ระบุไม่ได้ว่ามีใครตะโกนบ้างหรือไม่ นอกจากนี้รับว่าพยานเป็นผู้ขอออกหมายจับจากศาลจังหวัดลำปาง ข้อหาทำให้เสียทรัพย์สาธารณะ แต่ศาลยกคำร้องไม่ออกหมายจับ เนื่องจากถ้อยคำที่ว่า “ออกไปๆ” ศาลตีความว่าไม่ได้มีความหมายว่าจำเลยให้นำเอาพระบรมฉายาลักษณ์ออก

พ.ต.อ.รุ่งเรืองชัย อุปกาละ พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบคดีต่อจาก พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ เนื่องจากย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเชียงใหม่หลังจากส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว อัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 112 ด้วย จึงได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.รุ่งเรืองชัย ตอบทนายความถามค้าน ยืนยันได้ว่าตามเอกสารบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีในเหตุการณ์วันเกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการดึง ทำลายภาพด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยพูด “เอาลงๆ” แต่อย่างใด 

นอกจากนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมไปบริเวณหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย และสั่งให้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ โดยข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการเพิ่งจะปรากฏเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามมาตรา 112 โดยไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนคนเดิมนำข้อเท็จจริงส่วนของจำเลยมาจากที่ใด และจากคลิปวิดีโอก็ไม่เห็นว่ามีจำเลยขึ้นไปดึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย

.

จำเลยไม่ได้ดึง ทำลาย ไม่ได้พูด “เอาลงๆ” หรือสั่งการใคร ส่วนผู้ชุมนุมตะโกน “ออกไปๆ” เพราะไม่พอใจตำรวจนอกเครื่องแบบมาซุ่มดู ถ่ายคลิป

“ไลลา” จำเลยในคดีนี้ ได้เข้าเบิกความต่อศาลว่า เธอเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีความสนใจในประเด็นทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มมีความสนใจในประเด็นการเมืองอย่างจริงจังนับแต่การเกิดรัฐประหาร 2557 โดยในมหาวิทยาลัยได้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองอยู่ตลอดและก็เข้าร่วมเพียงกิจกรรมบางครั้งที่สนใจเท่านั้น

ไลลาเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า วันที่ 17 ต.ค. 2563 เวลา 18.00 น. ตนไปร่วมชุมนุมที่บริเวณหอพักนักศึกษา ภายในมหาวิทยาลัย ในขณะนั้นเริ่มมีการชุมนุมและปราศรัยแล้ว โดยมีการปราศรัยประเด็นหลักถึงการไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งสลายการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร และปราศรัยถึงรัฐบาลบ้าง

ขณะนั้นสังเกตเห็นกลุ่มคนลักษณะไม่เหมือนนักศึกษา ตัดผมสั้นเกรียน แต่ไม่แต่งเครื่องแบบกำลังยกมือถือขึ้นบันทึกภาพ ในลักษณะซุ่มดูและเริ่มขยับเข้ามาใกล้บริเวณที่ทำกิจกรรมกันเรื่อยๆ ไลลาระบุว่าได้ยินเสียงผู้ชุมนุมพูดว่า “ไม่ปลอดภัยแล้ว” และนักศึกษาทุกคนพร้อมใจกันตะโกนคำว่า “ออกไปๆ”  แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ออกไปทันที 

ไลลาและผู้ชุมนุมรู้สึกไม่ปลอดภัยเนื่องจากเวลาดังกล่าวรเริ่มมืดแล้ว กลุ่มนักศึกษาจึงพยายามเดินไปตามถนนที่มีแสงสว่าง จนกระทั่งไปถึงหน้าประตูรั้วทางเข้าของมหาวิทยาลัยที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ด้วย ไลลาได้เดินผ่านซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ มาจากทางซ้ายเพื่อจะไปหาเพื่อน ขณะนั้นเห็นชายคนหนึ่งกำลังยืนอยู่บนซุ้ม และดึงรูปภาพดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นไลลาไม่ได้เป็นคนพูดคำว่า “เอาลงๆ”

จากเหตุการณ์ดังกล่าวไลลาตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้เข้าไปช่วยเก็บพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์วุ่นวายหรือเกิดความเสียหายหนักกว่าเดิม

ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีมาจำเลยได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปคุกคามจำเลยและรวมถึงไปหาบุคคลในครอบครัวของพยานถึงบ้าน ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามไลลาตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า ตนเองไม่เคยเป็นแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเป็นผู้ปราศรัยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแกนนำเสมอไป เพียงแค่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ก็สามารถขึ้นปราศรัยได้ และจำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” และจำเลยก็ไม่เคยรู้จักกับ “เบนซ์” จำเลยอีกคนมาก่อน

ไลลาเบิกความต่อไปว่าในเหตุการณ์ขณะที่มีการดึงรูปนั้น ไลลาหันไปทางอื่นก่อน เมื่อหันกลับมาก็พบว่ามีคนดึงรูปภาพไปแล้ว จำเลยไม่รู้จักกับชายคนดังกล่าว แต่ด้วยความตกใจ จึงรีบไปเก็บรูปภาพก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายและไม่ให้รูปภาพเสียหายเพิ่ม โดยยืนยันว่าไม่ใช่ผู้สั่งการให้ใครไปนำเอารูปพระบรมฉายาลักษณ์ลงมา

หลังจากนั้นไม่นานได้โทรศัพท์ไปปรึกษาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนำรูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวไปเก็บไว้ที่อาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัย

อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผู้อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าวไปในทำนองเดียวกับไลลา

ในระหว่างร่วมชุมนุม พยานเห็นว่ามีกลุ่มบุคคลคล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบกำลังขยับเข้ามาใกล้กลุ่มผู้ชุมนุมและถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ จนทำให้กลุ่มนักศึกษาเกิดความไม่พอใจและไม่ปลอดภัย เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เกิดกระแสการสลายชุมนุมในกรุงเทพมหานคร และนักศึกษาไม่ทราบมาตรการของเจ้าหน้าที่ นักศึกษาบางคนจึงตะโกนไล่เจ้าหน้าที่ว่า “ออกไปๆ” และเดินขบวนไปตามถนนที่มีแสงสว่าง พร้อมตะโกนว่า “ออกไปๆ” ตลอดทาง จนมาหยุดอยู่ที่หน้าประตูที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลอยู่ ในขณะเดินขบวนนั้น พยานกับจำเลยเดินแยกกัน

เมื่อมาถึงประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัยฯ สังเกตเห็นจำเลยเดินผ่านบริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ มาทางที่พยานยืนอยู่ ขณะนั้นยังได้ยินเสียงของกลุ่มนักศึกษาตะโกนขับไล่เจ้าหน้าที่อยู่ มีทั้งเสียงโห่ร้องและปรบมือ จากนั้นเห็นชายคนหนึ่งยืนอยู่บนซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์และภาพก็ถูกดึงลงมา ซึ่งจำเลยไม่ได้เป็นคนทำเพราะจำเลยยืนอยู่ข้างๆ พยานในขณะเกิดเหตุ

อย่างไรก็ตามพยานได้ตอบพนักงานอัยการถามค้านว่า บริเวณที่จัดกิจกรรมหน้าหอพักในมหาวิทยาลัย เป็นเวลากลางคืนค่อนข้างมืด แต่ก็พอมีไฟจากศาลาหน้าหอพัก และในขณะเกิดเหตุ พยานอยู่ห่างจากพระบรมฉายาลักษณ์ประมาณ 8 เมตร

. 

อาจารย์เล่าเหตุการณ์ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง-ผู้ว่าฯ เข้ามาใน มธ. ให้นักศึกษากราบขอขมาพระบรมฉายาลักษณ์ แต่กลับแจ้งข้อกล่าวหา ด้านไลลาปฏิเสธการขอขมาเพราะไม่ได้ทำ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งรู้จักกับไลลา มาตั้งแต่ปี 2559 -2560 โดยทำงานอยู่ฝ่ายวิจัยและวิชาการระดับมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ดูและเรื่องการทำงานวิจัยของอาจารย์ และดูแลการจัดกิจกรรมของนักศึกษาด้วย

พยานเบิกความต่อศาลถึงในวันเกิดเหตุ ไลลาได้โทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องการจัดสถานที่โดยตนเข้าใจว่าจะมีการจัดกิจกรรมแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง จึงได้ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยไป จนกระทั่งช่วงเวลา 19.00 น. ไลลาได้โทรศัพท์มาปรึกษาพยานหลังเกิดเหตุการณ์ ขณะนั้นพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยฯ โดยจำเลยโทรมาด้วยท่าทีตกใจ ได้ขอคำปรึกษาอาจารย์เรื่องอุบัติเหตุพระบรมฉายาลักษณ์ฉีกขาด จึงแนะนำไลลาว่าให้นำภาพดังกล่าวมาเก็บไว้ก่อน โดยให้นำไปเก็บไว้ที่อาคารเรียนรวม 5

เมื่อฝ่ายบริหารของคณะทราบเรื่องและได้ปรึกษาจนได้ข้อสรุป จึงได้เข้าพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่จวนผู้ว่าฯ โดยส่วนของมหาวิทยาลัยนั้น มีรองคณบดี พยาน ผู้อำนวยการ และส่วนของฝ่ายปกครอง ได้แก่ ผู้ว่าฯ ผู้การภาค และเจ้าหน้าที่ เมื่อได้มีการปรึกษาสรุปได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้อาจารย์แจ้งกับนักศึกษาว่าจะขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวและจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน อาจารย์และทุกคนที่จวนผู้ว่าฯ ได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัย พบว่ามีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 นาย มารออยู่แล้ว ทั้งนี้มีการจัดเตรียมห้องที่จะพูดคุยตกลงกันที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ 4 ห้อง ห้องที่ 1 ไว้สำหรับพูดคุยกับ “เบนซ์” ห้องที่ 2 สำหรับพูดคุยกับ “ไลลา” ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำการแยกห้องทั้งสองแยกกัน และห้องของผู้ว่า ฯ และห้องของผู้การภาค ฯ 

ในวันดังกล่าว กลับปรากฏว่าตำรวจมีการพยายามแจ้งข้อกล่าวหาว่าทั้งสองคน เรื่องทำลายทรัพย์สินสาธารณะ พยานและไลลาได้เข้าไปไปที่ห้องเพื่อพูดคุย แต่เจ้าหน้าที่กลับพยายามแยกตัวไลลาไปอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้ขอขมาโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไลลาปฏิเสธ เพราะยืนยันไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เสียหายแต่อย่างใด

พยานเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ที่จวนผู้ว่าฯ ทั้งไลลายังปฏิเสธกระบวนการ โดยยืนยันจะขอปรึกษากับทนายความก่อน และก็ออกจากห้องมา โดยยังไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว

.

ศาลยกฟ้อง ชี้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย มีเพียงผู้กล่าวหาคนเดียวที่อ้างว่าเห็นจำเลยสั่งการ ทั้งไม่ได้ให้การไว้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน

กระทั่งวันที่ 17 ม.ค. 2566 ในที่สุด ศาลจังหวัดลำปางได้พิพากษายกฟ้องคดีของไลลา โดยสรุปเห็นว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์ มีเพียงพยานปาก พ.ต.ต.เจริญ ฝั้นธรรมครั้ง ที่เบิกความเห็นว่าจำเลยเป็นคนสั่งการและชี้มือให้มีการปีนขึ้นไปดึงรูปลง แต่กลับไม่มีปรากฏในเอกสารคำให้การชั้นสอบสวนที่พยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนในครั้งแรก 

อีกทั้งเอกสารการถอดเทปปราศรัยและภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานในศาล ก็ไม่ปรากฎยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบกับจำเลยไม่เคยรู้จักกับผู้ดึงภาพจนฉีกขาดมาก่อน จึงผิดวิสัยปกติที่จะเป็นการใช้ให้บุคคลอื่นไปกระทำการในเรื่องร้ายแรงเช่นนั้นได้ 

กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

.

X