แจ้งข้อหา ม.112 เพิ่ม คดี “ปลดรูป” ของ 2 นศ.มธ.ลำปาง ยืนยันให้การปฏิเสธ

15 ก.พ. 2564 เวลา 10.00 น. ที่สภ.ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 2 ราย ได้แก่ “ไลลา” (นามสมมติ) นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ และ “เบนซ์” (นามสมมติ) นักศึกษาจากวิทยาลัยสหวิทยาการ พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากถูกออกหมายเรียกเพิ่มเติม ในคดีการปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างการชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563

.

ถูกแจ้งข้อหา ม.360 เพียงข้อหาเดียวก่อน จะถูกเรียกไปแจ้งข้อหา ม.112 เพิ่ม

การชุมนุมวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เกิดขึ้นภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการจับกุมผู้ชุมนุมและแกนนำราษฎร และมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าฉีดน้ำและสารเคมีสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ทำให้ในหลายจังหวัดมีการนัดหมายชุมนุมแสดงออกคัดค้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่มีกลุ่มนักศึกษามาชุมนุมและเดินขบวนไปยังหน้ามหาวิทยาลัย ก่อนจะปรากฏภาพการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และพบว่าภาพดังกล่าวฉีกขาด เป็นที่มาของการถูกกล่าวหาในคดีนี้

ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ติดต่อนักศึกษาสองรายให้ไปพบเพื่อพูดคุย แต่พบว่าได้มีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่ในจังหวัดลำปางกว่า 30 นาย มาร่วมทั้งในและนอกห้องประชุมด้วย ต่อมาได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 เรื่องการทำให้ทรัพย์สาธารณะเสื่อมค่า ต่อ “เบนซ์” โดยมีทนายความของมหาวิทยาลัยร่วมฟังการสอบสวนด้วย 

รวมทั้งยังมีการแจ้งข้อหาดังกล่าวต่อ “ไลลา” โดยที่เธอปฏิเสธกระบวนการ และขอให้ตำรวจออกหมายเรียกอย่างเป็นทางการมาก่อน เพื่อให้ได้ประสานทนายและผู้ไว้วางใจ แต่เจ้าหน้าที่ได้จัดทำเอกสารทางคดีไปโดยเธอไม่ทราบ

ต่อมา พ.ต.ท.ผดุงศักดิ์ ไชยโย พนักงานสอบสวน สภ.ห้างฉัตร ได้ออกหมายเรียกให้ไลลาไปรับทราบข้อกล่าวหาใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 โดยในตอนแรกมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพียงข้อหาเดียว และไลลาได้ปฏิบัติกระบวนการแจ้งข้อหาเดิม พร้อมขอให้การใหม่ โดยยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนและตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนให้กับพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 และคดียังอยู่ในชั้นอัยการ

หากในช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ตำรวจได้พยายามติดตามตัวทั้งสองคน โดยระบุให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม เนื่องจากทางอัยการได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดพิจารณา และอัยการสูงสุดมีคำสั่งมาให้ดำเนินการสอบสวนและแจ้งข้อหาเพิ่ม 

ต่อมาตำรวจสภ.ห้างฉัตร มีการออกหมายเรียกลงวันที่ 13 มกราคม 2564 ให้ทั้งสองคนมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และทั้งสองคนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่สะดวกในการเดิน่ทาง ทำให้ทั้งสองขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนมาเป็นในวันนี้ 

.

ภาพตำรวจนำป้ายประกาศเตือนมาแสดงต่อผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจ ระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหา

.

ปฏิเสธข้อหา ม.112 ขอยื่นคำให้การภายใน 30 วัน  

บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ มีเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ของนักศึกษาทั้งสองคนราว 10 คน เดินทางมาให้กำลังใจ และมีนักศึกษาจัดทำป้าย “Abolish 112” และ 112 ขีดทับออกมาชู 

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการวางกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่า 35 นาย คอยติดตามบันทึกภาพบริเวณสถานีตำรวจ ตำรวจยังมีการจัดทำป้ายข้อความ อาทิ “มั่วสุม ชุมนุม !?! เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จำคุกไม่เกิน 2 ปี” “ชักธงอื่นแทนธงชาติไทยขึ้นเสา จำคุกไม่เกิน 2 ปี” “ติดป้าย ชูป้าย พูดปราศรัย ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จำคุกไม่เกิน 1 ปี” “ติดป้าย รก เลอะเทอะ สถานที่ราชการ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท” มาชูเตือนผู้เดินทางมาบริเวณสถานีตำรวจ พร้อมกับประกาศแจ้งเตือนให้อยู่ในความสงบด้วย

พ.ต.ท.สราวุธ จันมะโน รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร และ ร.ต.อ.รุ่งเรืองชัย อุปกาละ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคน โดยบรรยายพฤติการณ์ของเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงค่ำวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ซึ่งนักศึกษาประมาณ 300 คนชุมนุมกันบริเวณลานหน้าหอพักภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก่อนมีการเดินขบวนมาที่หน้ามหาวิทยาลัย และพบว่ามีผู้ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณภายนอกรั้วทางเข้าออกของมหาวิทยาลัย จนภาพดังกล่าวฉีกขาดเป็น 4 ชิ้น 

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ต่อทั้งสองคน โดยเห็นว่าพฤติการณ์เป็นการจงใจแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี 

นักศึกษาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน แต่ตำรวจระบุว่าจะเร่งทำสำนวนส่งให้อัยการเลย แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนและทนายความยืนยันการขอส่งคำให้การเพิ่มเติมภายในระยะเวลาดังกล่าว 

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และให้ปล่อยตัวทั้งสองคนไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ ทั้งนี้ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งกล้องบันทึกภาพวิดีโอและบันทึกเสียงไว้โดยตลอดด้วย 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้งหมดอย่างน้อย 59 คน ใน 44 คดี

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X