อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 สองนศ.มธ.ลำปาง “ปลดรูป” ศาลให้ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์

วันที่ 28 เม.ย. 2564 เวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดลำปาง พนักงานอัยการจังหวัดลำปางได้มีความเห็นสั่งฟ้อง 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้แก่ “ไลลา” (นามสมมติ) นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ และ “เบนซ์” (นามสมมติ) นักศึกษาจากวิทยาลัยสหวิทยาการ ด้วยข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ “ทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 จากการการปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์และทำให้เสียหาย ระหว่างการชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563

ในวันนี้บริเวณศาลจังหวัดลำปาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 30 นาย กระจายกำลังอยู่รอบบริเวณศาล นอกจากนั้นมี พ.ต.อ.ศราวุธ วะเท ผู้กำกับ สภ.เมืองลำปาง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทีมแพทย์อยู่ในบริเวณศาลด้วย

ก่อนเข้าตัวอาคารศาล เจ้าหน้าที่ได้ให้ไลลาและทนายความ ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอื่น เข้ามาในจังหวัดลำปาง ต้องเข้ากระบวนการขั้นกรองโรคตามมาตรการของศาล ซึ่งจุดคัดกรองโรคตั้งอยู่บริเวณหลังอาคารศาล

จากนั้น นักศึกษาทั้งสองถูกนำตัวไปยังห้องเวรชี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใต้ถุนศาลใกล้ห้องควบคุมตัว เพื่อรอผู้พิพากษา

เวลาประมาณ 11.40 น. ผู้พิพากษาได้เข้าพิจารณาที่ห้องเวรชี้ ระบุว่าวันนี้กระบวนการมีเพียงศาลจะรับคำฟ้องจากพนักงานอัยการไว้ และพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น ส่วนกระบวนการอ่านคำฟ้อง ถามคำให้การ นัดคุ้มครองสิทธิ และนัดตรวจพยานหลักฐาน ไม่สามารถดำเนินการในวันนี้ได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงนัดหมายเลื่อนกระบวนการทั้งหมดไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. 64 เวลา 9.00 น.

จากนั้น ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งสอง โดยใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จำนวน 2 คน เป็นหลักประกัน 

จนเวลาประมาณ 12.10 น. ศาลจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองระหว่างพิจารณา โดยให้ใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หากผิดสัญญาประกันตัวให้ปรับคนละ 100,000 บาท และวางเงื่อนไขห้ามทั้งสองไปกระทำการใดอันมีลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง

.

.

เปิดคำฟ้องคดี

สำหรับการฟ้องคดีนี้ มีพนักงานอัยการจังหวัดลำปางเป็นผู้ฟ้องคดี เนื้อหาในคำฟ้อง โดยสรุประบุโดยเท้าความว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ไม่ได้” และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นสมเด็จพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันประกอบขึ้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ 

อีกทั้งความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาหรือกิริยาใดอันเป็นการจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบ เปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท หามีบุคคลใดกล้าบังอาจทำไม่

คำฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นแกนนำและสมาชิกของกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง โดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก่อนและขณะเกิดเหตุได้ร่วมกันชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และมีการปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจที่สลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำที่กรุงเทพมหานคร และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

ในส่วนต่อมา คำฟ้องระบุเกี่ยวกับพฤติการณ์ของคดีว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 ทั้งสองได้ร่วมกันดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาตร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งภาพพิมพ์ไวนิลพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ที่ติดตั้งไว้บริเวณภายนอกประตูรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง เนื่องจากมีผู้ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว จนฉีกขาดเป็น 4 ชิ้น 

การกระทำของจำเลยทั้งสอง มีลักษณะเป็นการแสดงกิริยาจาบจ้วง ล่วงเกิน มีเจตนาดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และยังเป็นการร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

อัยการจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองคน ในสองข้อหาความผิดดังกล่าว โดยหากจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ทั้งนี้การชุมนุมวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่ทั้งสองถูกกล่าวหาดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการจับกุมผู้ชุมนุมและแกนนำราษฎร และมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าฉีดน้ำและสารเคมีสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ทำให้ในหลายจังหวัดมีการนัดหมายชุมนุมแสดงออกคัดค้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่

อ่านข่าวก่อนหน้านี้ >>  แจ้งข้อหา ม.112 เพิ่ม คดี “ปลดรูป” ของ 2 นศ.มธ.ลำปาง ยืนยันให้การปฏิเสธ

.

X