วันที่ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์’ ซึ่งประชาชน 7 ราย จากกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ได้แก่ วิชญ์ (นามสมมติ), มนทิรา ทุมาภา, ชัชชัย เบียดกลาง, ภควัต รุธีรยุทธ, ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์, กนกพร วิทยเวชอมรชัย และญาชนา โนนเทา เป็นจำเลย กรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ1สิงหา หรือ #CarMob เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564
ในคดีนี้ นักกิจกรรมและประชาชนทั้ง 7 ราย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบริเวณหน้าทางเข้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ขณะเดินทางไปร่วมชุมนุม ก่อนนำตัวทั้งหมดไปทำบันทึกการจับกุมและแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ จากนั้นถูกนำตัวไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมา
ย้อนอ่านข่าวจับกุม >>> ตร.จับกุม ‘เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี’ ร่วม #Carmob ไล่ประยุทธ์ แจ้ง 3 ข้อหา คุมตัวไป ตชด. ก่อนรีบปล่อย
ภายหลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งหมดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันชุมนุมจัดทำกิจกรรมมากกว่า 5 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด, ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และยื่นฟ้องต่อศาลแขวงนนทบุรี ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 3 – 4, 10 – 11 และ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา
เวลา 09.40 น. จำเลยทั้งหมดมาพร้อมทนายความที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ก่อนศาลออกพิจารณาคดี และเรียกให้จำเลยแต่ละคนแสดงตัว
ศาลเริ่มอ่านสรุปประเด็นการสืบพยานและคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ จากนั้นจึงอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์ ตามวันเวลาที่เกิดเหตุในคดีนี้รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และจังหวัดนนทบุรีได้ออกประกาศจังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้กำหนดให้จังหวัดนนทบุรีเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ และไม่ได้เป็นการใส่ความจำเลยแต่อย่างใด แม้ในการนำสืบของจำเลยทั้งหมดจะยืนยันว่า การร่วมชุมนุมเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ แต่ประกาศที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศจังหวัดนนทบุรี เป็นการใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อีกทั้งการนำสืบของพยานโจทก์ยังรับฟังได้อีกว่า จากภาพและวีดิโอในวันเกิดเหตุปรากฏว่าจำเลยบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี และมีการถอดหน้ากากอนามัยคุยกันในระหว่างที่ร่วมการชุมนุม อันเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19 ต่อบุคคลรอบข้างและผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่นได้
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตและส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 1,000 บาท รวมปรับคนละ 6,000 บาท
หลังเสร็จสิ้นการพิพากษาคดี เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาได้แจ้งกับจำเลยทั้งหมดและทนายว่าให้อยู่ที่ห้องพักทนายความก่อน ภายหลังตัวแทนกองทุนราษฎรประสงค์ชำระค่าปรับทั้งหมดรวม 42,000 บาท ทั้งหมดจึงเดินทางออกจากศาล