ศาลยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง “ชลธิชา – ธัชพงศ์ – หมอทศพร” ชี้รวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นเรื่องปกติ พึงกระทำได้

วันที่ 6 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและนักการเมือง รวม 3 ราย ได้แก่ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว, “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ถูกฟ้องร่วมกันในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากการชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563

ในคดีนี้ มีความเกี่ยวเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 หรือ #ม็อบ19ตุลา ที่แยกเกษตรและหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและฝากขังในคดีจากการชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก หลังในช่วงดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ต่อมา ในช่วงค่ำของวันดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองจำนวน 19 คนในคดีชุมนุมของคณะราษฎรอีสาน ทำให้มีประชาชนไปรอรับและร่วมส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังกันอยู่บริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น ได้มีการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมทั้ง 3 คน เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563  โดยพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครหนือ มีชลธิชา เป็นจำเลยที่ 1, ธัชพงศ์ เป็นจำเลยที่ 2 และ น.พ.ทศพร เป็นจำเลยที่ 3  ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, กีดขวางทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้มีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 16, 28-30 ก.ย. 2565 โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 9 ปาก โดยทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำสืบพยานทั้งหมด 4 ปาก ประกอบด้วยตัวจำเลยทั้งสามคน และพยานพยาบาลอาสาในคณะทำงานของจำเลยที่ 3 หรือ น.พ.ทศพร

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน >>> เปิดบันทึกการต่อสู้คดีก่อนพิพากษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง “ลูกเกด-บอย-หมอทศพร” ร่วมติดตามการปล่อยตัวผู้ต้องขังราษฎรอีสานหน้าเรือนจำ เมื่อปี 63

.

ศาลยกฟ้อง วินิจฉัยว่าการร่วมกลุ่มกันหน้าเรือนจำของจำเลยและประชาชนกว่า 300 คน เป็นเพียงการรอให้กำลังใจผู้ต้องขังคดีการเมืองเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติที่สามารถกระทำได้

เวลา 09.30 น.  ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นรายงานตัวเพื่อฟังคำพิพากษา

คำพิพากษาโดยสรุป ศาลพิเคราะห์ว่าการทำกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรม มีเพียงการติดป้ายบริเวณด้านหน้าเรือนจำเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งพยานโจทก์นำสืบว่าเป็นผู้ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกินลาบก้อย โดยการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมเขียนข้อความว่า “วันนี้ไปเยี่ยมเพื่อนเราที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพกันค่ะ” ก็ไมไ่ด้ปรากฏข้อความที่มีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด  อีกทั้ง โจทก์ยังนำสืบว่าธัชพงศ์และทศพร เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีทั้งสองคนอยู่ในกิจกรรมนั้นด้วย 

นอกจากนี้ พยานโจทก์ได้นำสืบว่าจำเลยทั้ง 3 มีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่อนำสืบแล้วพบว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือจากสำนักงานเขตว่าได้รับอนุญาตหรือไม่ และการที่จำเลยพูดผ่านเครื่องขยายเสียงก็เป็นเพียงการพูดเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องขังในเรือนจำที่จะได้รับการปล่อยตัว  ซึ่งกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าว เป็นผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ย่อมเป็นบุคคลที่มีผู้รู้จักเป็นจำนวนมาก การที่มีประชาชนไปรวมตัวกันถึง 300 คน เพื่อต้อนรับกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม จึงนับเป็นเรื่องปกติ 

ศาลพิเคราะห์ว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 3 คน เป็นเพียงการรวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งจะได้รับการปล่อยตัวภายในวันที่ 19 ต.ค. 2563 เท่านั้น ไม่ได้ปรากฏความรุนแรงใดๆ ที่เป็นไปตามความผิดในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อพยานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยมีความผิดอย่างไร จึงยกประโยชน์ให้จำเลย พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

หลังการฟังคำพิพากษา จำเลยทั้ง 3 คน เปิดเผยว่ารู้สึกดีใจและตื่นเต้น โดยเฉพาะในข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ที่เตรียมใจและคาดไว้ว่าน่าจะมีการลงโทษปรับเกิดขึ้น แต่ไม่คิดว่าศาลจะพิเคราะห์ให้ยกฟ้องในข้อหาดังกล่าวพร้อมกับข้อหาหลักอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ด้วย 

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีจากการชุมนุมในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 35 คดีนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วทั้งหมด 10 คดี โดยยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่ต่อสู้คดี แล้วศาลเห็นว่ามีความผิด

X