เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ที่ศาลจังหวัดกำแพงเพรช พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรได้นัดหมายยื่นฟ้องคดีของประชาชน 3 ราย ซึ่งถูกกล่าวหาด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยแต่ละคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกัน จึงแยกฟ้องเป็นจำนวน 3 คดี ก่อนศาลให้ประกันตัวคดีละ 150,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
สำหรับคดีที่ 1 ของ “ธิดา” (นามสมมติ) และ คดีที่ 2 ของ “สายชล” (นามสมมติ) เป็นคดีที่เกิดจากการเผยแพร่คลิปวิดีโอใน TikTok ลิปซิงค์เพลงเกี่ยวกับพระราชาที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือน ส.ค. 2564 ในลักษณะเดียวกัน โดยทั้งสองคดีนี้มีบุคคลชื่อ ชุมพล ศรีวิชัยปัก เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร
ส่วนคดีที่ 3 ของ “พลเมือง” (นามสมมติ) เป็นคดีที่เกิดจากการสนทนาในกลุ่มไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจร่วมกัน แต่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันภายหลัง ทำให้มีการนำข้อความในกลุ่มสนทนามากล่าวหากัน โดยคดีนี้ ณัฐฐ์ เสขะนันทน์ และเอกลักษณ์ สนสิริ เป็นผู้กล่าวหา
ทั้งสามคดีถูกส่งสำนวนคดีพร้อมกับตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 จนกระทั่งล่าสุดพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องทั้งสามคดี ทนายความจึงได้ขอเลื่อนการส่งฟ้องมาเป็นวันเดียวกันเนื่องจาก “ธิดา” และ “สายชล” นั้นไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร ต้องใช้เวลาในการเดินทางมาตามนัดหมายของอัยการ
เวลาประมาณ 10.00 น. ทั้งสามคนได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีญาติๆ เดินทางมาให้กำลังใจด้วย ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถกระบะของสำนักงานอัยการมาที่ศาล ซึ่งห่างออกมาเพียง 500 เมตร และได้ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมไว้ในห้องขังใต้ถุนศาล ระหว่างนั้นเองทนายความและญาติได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามคดี
สำหรับจำเลยทั้งสามคน ระหว่างที่อยู่ในห้องขังใต้ศาล ผู้พิพากษาก็ได้มีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อสอบถามคำให้การของจำเลยทั้งสาม โดยทั้งสามยืนยันให้การปฏิเสธ ก่อนจะได้รับสำเนาคำฟ้องในคดี
คำฟ้องคดีของ “ธิดา” และ “สายชล” อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปเหมือนกันว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์วิดีโอลงในแอพพลิเคชั่น TikTok โดยการลิปซิงค์หรือการขยับปากตามเสียงเพลง โดยมีเนื้อหาไม่ตรงกับเพลงที่แท้จริงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเมื่อบุคคลทั่วไปได้รับชมวิดีโอทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ส่วนคำฟ้องคดีของ “พลเมือง” อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2564 จำเลยได้ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ พิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงในไลน์กลุ่มหนึ่งที่มีสมาชิกจำนวน 5 คน
ทั้งสามคดีบรรยายว่าพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการจาบจ้วงหมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณและโดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง
ตอนท้ายของคำฟ้องทั้งสามคดี อัยการจังหวัดกำแพงเพชรยังได้ระบุว่าหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวจำเลย เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี
จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามคดี ด้วยหลักทรัพย์คดีละ 150,000 บาท รวมเป็น 450,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดีว่า ห้ามกระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานทั้งสามคดีในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ก่อนจำเลยทั้งสามคดีจะได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ศาลและเดินทางกลับ
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในจังหวัดกำแพงเพชร อย่างน้อย 5 ราย ใน 5 คดี ทุกคดีมีบุคคลทั่วไปเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร และ สภ.ขาณุวรลักษบุรี ผู้ถูกกล่าวหา 4 จาก 5 ราย ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด จึงมีภาระต้องเดินทางไปต่อสู้คดีซึ่งดำเนินมากว่า 1 ปีแล้ว โดยนอกจาก 3 คดีที่มีการสั่งฟ้องแล้ว ยังมีคดีของอาร์ม หนุ่มจากเกาะพะงัน และคดีของ “พอล” พนักงานบริษัทจากกรุงเทพฯ ที่คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน