เปิดแฟ้มคดี “อาร์ต ทศเทพ” การ์ดวีโว่ ม.360 เหตุพ่นสีสเปรย์ “ยกเลิก 112” ที่ฐานรูปปั้น ต่อสู้ถูกฟ้องข้อกม.เกินกว่าเหตุ-ถูกตร.คุมตัวเกิน 48 ชม.

วันที่ 30 พ.ย. 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อาร์ต” ทศเทพ ดวงเนตร สมาชิกทีมการ์ด We Volunteer วัย 25 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่า “ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 กรณีพ่นสีสเปรย์สีแดงเป็นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ใส่ฐานประติมากรรมรูปปั้นทั้งสิ้น 3 จุด ในบริเวณ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 10 – 14 ม.ค. 2564

คดีนี้ดำเนินการสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดี 13 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งหมด 2 นัด ระหว่างวันที่ 20-21 ก.ย. 2565 จุดสำคัญที่ต้องจับตา คือประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยว่าการจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยถูกตำรวจควบคุมตัวระหว่างสอบสวนนานเกินกว่า 48 ชั่วโมง

ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้สอบถามจำเลยว่าต้องการเปลี่ยนแนวทางในการต่อสู้คดีหรือไม่ เพระแม้ทนายความจะมีความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าศาล แต่การวินิจฉัยพิพากษาคดีย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง พร้อมย้ำว่าทนายความให้ความรู้และคำแนะนำตามวิชาชีพ ส่วนผลร้ายล้วนตกอยู่แก่ตัวจำเลยเอง ขอให้คิดพิจารณาให้ดี แต่ภายหลังการปรึกษากับทนายความแล้ว จำเลยยังคงยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนแนวทางการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานทั้งสองฝ่ายที่เบิกความต่อศาล

.

กฎหมายที่ควรรู้ประกอบการสืบพยาน

“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 บัญญัติว่า ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”

“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 389 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้ของแข็งตกลง ณ ที่ใดๆ โดยประการที่น่าจะเป็นอันตรายหรือเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคล หรือเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อนตัวบุคคลหรือทรัพย์ หรือแกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม บัญญัติว่า ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ถูกจับมาศาลรวมเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วยในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นและยืดเวลาเกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก็ได้เท่าเหตุจำเป็นแต่มิให้เกิดเจ็ดวัน”

.

ภาพรวมของการสืบพยาน

การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่ นิชาภา วงศ์ใหญ่ นิติกร สังกัด อบต.ราชาเทวะ ผู้กล่าวหา, ธีระเดช สุรางอนางค์ ช่างซ่อมอากาศยานผู้พบเห็นรอยพ่นสี, กัลญา ดวงเนตร แม่ของจำเลย, พงศ์ศักดิ์ กล่างสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน, ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ไหมดี เจ้าหน้าที่สืบสวน และ พ.ต.ต.สมเกียรติ นาเจริญ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว

ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 1 ปาก คือ ทศเทพ ดวงเนตร จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน

ในคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่จำเลยรับไว้ก่อนแล้วว่า จำเลยเป็นผู้กระทำการพ่นสีสเปรย์สีแดงข้อความว่า “ยกเลิก 112” บนฐานประติมากรรมทั้งสามจุดจริง ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์จึงมุ่งเน้นไปที่การชี้ให้เห็นว่า รูปประติมากรรมทั้งสาม ไม่ใช่ทรัพย์สินทั่วไป หากแต่เป็นสาธารณสมบัติ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ การที่จำเลยกระทำความผิดโดยการพ่นสีสเปรย์บนทรัพย์สินเพื่อสาธารณะ ย่อมต้องได้รับโทษที่หนักกว่าการทำให้ทรัพย์สินทั่วไปเสียหาย

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย คือ การชี้ให้เห็นว่า รูปประติมากรรมทั้งสาม ไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นเพียงทรัพย์สินทั่วไปของ อบต.ราชาเทวะ ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นประโยชน์ทางด้านจิตใจเท่านั้น การดำเนินคดีแก่จำเลยควรดำเนินคดีในข้อหาอื่นที่ใช้บังคับกับทรัพย์สินทั่วไปแทน เช่น ข้อหาทำให้ทรัพย์สิ่งของเปรอะเปื้อนโสโครก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 389 ซึ่งมีอัตราโทษที่เบากว่า ประกอบกับการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากควบคุมตัวผู้ต้องหาเกินกว่า 48 ชั่วโมง และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ รวมทั้งเจตนาของจำเลยที่กระทำการพ่นสีลงบนฐานประติมากรรมนั้นเป็นไปเพื่อแสดงออกทางการเมือง เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ จำเลยไม่ได้มีเจตนาจะทำลายทรัพย์สินให้เสียหายหรือคิดเป็นโจรแต่อย่างใด

ย้อนดูรายงานสถานการณ์ควบคุมตัวมิชอบในกรณีนี้ อัยการสั่งฟ้อง “อาร์ต ทศเทพ” การ์ดวีโว่ ข้อหา ม.360 เหตุพ่นสีสเปรย์ “ยกเลิก 112” ศาลให้ประกันตัว

.

ผู้กล่าวหาชี้ แม้ไม่มีรูปประติมากรรมทั้งสาม ก็ไม่เกิดความเสียหายแก่ อบต.ราชาเทวะ

นิชาภา วงศ์ใหญ่ นิติกร สังกัด อบต.ราชาเทวะ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 จำวันที่แน่ชัดไม่ได้ อบต.ราชาเทวะ ได้รับแจ้งว่ามีบุคคลไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดได้พ่นสีสเปรย์ สีแดงเป็นข้อความว่า “ยกเลิกมาตรา 112” บริเวณฐานประติมากรรมทั้งสิ้น 3 จุด ในบริเวณ ถ.กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ ได้แก่ (1) ประติมากรรมรูปยักษ์ (2) ประติมากรรมพานพุ่มพระบรมฉายาลักษณ์ และ (3) ประติมากรรมพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งประติมากรรมทั้งสามเป็นทรัพย์สินของ อบต.ราชาเทวะ นิติบุคคลตามกฎหมาย สร้างขึ้นเพื่อประดับ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นไทยและใช้งานในพระราชพิธีต่างๆ

ต่อมา พยานได้รับมอบอำนาจจากนายก อบต.ราชาเทวะ ให้มาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 12,495 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและทาสีทับประติมากรรมเดิม

ทนายจำเลยถามค้าน นิชาภา เบิกความว่า การนำสีสเปรย์มาพ่นข้อความนั้นไม่ได้ทำให้ประติมากรรมเปลี่ยนแปลงหรือหายไป ประติมากรรมยังคงอยู่ เพียงแต่มีข้อความอันมิบังควรแสดงอยู่บนฐานประติมากรรม ส่วนค่าเสียหายที่เรียกเป็นเงินจำนวน 12,495 บาท เป็นเพียงการประเมินจากกองช่างของ อบต.ราชาเทวะ เท่านั้น พยานไม่ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมจริงจะเป็นจำนวนเท่าใด

นิชาภา ยังยอมรับว่า แม้ไม่มีรูปประติมากรรมทั้งสาม ก็ไม่ได้เกิดความเสียหายแก่ อบต.ราชาเทวะ หน่วยงานและข้าราชการยังคงให้บริการประชาชนตามปกติ

อัยการโจทก์ถามติง นิชาภา เบิกความว่า ตนไม่เคยเห็นใครนำธูปเทียนมากราบไหว้รูปประติมากรรมดังกล่าว

.

ช่างซ่อมอากาศยาน ระบุ รูปประติมากรรมเป็นสาธารณสมบัติ เพราะสร้างโดยใช้งบประมาณของ อบต.

ธีระเดช สุรางคนางค์ ประกอบอาชีพ ช่างซ่อมอากาศยาน เบิกความว่า ในช่วงต้นปี 2564 ขณะที่พยานกำลังขับรถยนต์ผ่านถนนกิ่งแก้วจากแยกสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าบางนาตราดในเวลาใกล้เที่ยง พยานพบเห็นรอยพ่นสีสเปรย์สีแดง เป็นข้อความ เขียนว่า “ยกเลิก 112” ที่ฐานประติมากรรมทั้งสามฐานตามฟ้อง พยานจึงได้นำเรื่องรอยพ่นสีดังกล่าวไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว

เกี่ยวกับฐานประติมากรรม ธีระเดชเห็นว่าเป็นที่ตั้งของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในวโรสกาสต่างๆ ทุกครั้งที่พยานผ่านมาเห็นรูปประติมากรรมดังกล่าว พยานจะแสดงความเคารพอยู่เสมอ การที่มีคนไปพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ยกเลิก 112” อยู่บนฐานประติมากรรมนั้นเป็นการทำให้เกิดความสกปรก เลอะเทอะ

ทนายจำเลยถามค้าน ธีระเดช เบิกความว่า สาเหตุที่พยานนำเรื่องรอยพ่นสีไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเพราะพยานเห็นว่ารูปประติมากรรมทั้งสามจุดเป็นสาธารณสมบัติที่ก่อสร้างขึ้นโดยใช้งบประมาณของ อบต.ราชาเทวะ ซึ่งจัดเก็บมาจากภาษีท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง

ธีระเดช เห็นว่า แม้ไม่มีรูปปั้น ประชาชนก็ยังคงเคารพรักองค์พระมหากษัตริย์อยู่ แต่ถ้ามีก็ดียิ่งกว่า เพราะเปรียบเสมือนว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงทอดพระเนตรเห็นเราอยู่เสมอในทุกๆ ที่

สำหรับการใช้งานของรูปประติมากรรม พยานรับว่าแม้มีรอยพ่นสีสเปรย์เลอะเทอะอยู่ที่ฐาน แต่องค์ประติมากรรมทั้ง 3 จุดยังคงใช้งานได้เช่นเดิม

.

แม่จำเลยงง! กลายเป็นพยานโจทก์เพราะตำรวจบอกให้ลงชื่อ

กัลญา ดวงเนตร แม่ของจำเลย ประกอบอาชีพค้าขาย เบิกความตอบอัยการโจทก์ว่า จำเลยในคดีนี้เป็นลูกคนที่ 2 ของพยาน พักอาศัยอยู่กับพ่อและพยานที่บ้าน ซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวกันกับบ้านหลังที่ปรากฏในรายงานการสืบสวน ที่บ้านมีคนอาศัยอยู่เพียงแค่ 3 คน คือ พ่อ พยาน และจำเลย

พยานรับว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไป ซึ่งโดยปกติจะมีพยานและจำเลยเป็นผู้ใช้งาน

ในวันที่จำเลยถูกจับกุม พยานไม่ได้อยู่ด้วย แต่พ่อของจำเลยอยู่ พ่อของจำเลยบอกกับพยานว่า ในการจับกุมไม่มีหมายจับ แต่ตำรวจได้นำหมายจับมาแสดงให้ดูใหม่ เมื่อจำเลยไปถึงโรงพักแล้ว

ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.บางแก้ว โทรมาแจ้งพยานให้ไปประกันตัวจำเลย เรียกหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 50,000 บาท แต่พยานไม่มีเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำจำเลยไปขัง ภายหลังพ่อของจำเลยได้นำที่ดินไปจำนองแล้วจึงนำเงินมาประกันตัว แต่พยานจำวันเวลาที่จำเลยถูกปล่อยตัวอย่างแน่ชัดไม่ได้ 

ทนายจำเลยถามค้าน กัลญา เบิกความว่า นอกจากเหตุการณ์ในช่วงเย็นที่จำเลยถูกจับกุมแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเคยมาพบพยานที่บ้านในช่วงเช้า โดยแจ้งพยานว่าจะนำตัวจำเลยไปบำบัดยาเสพติด ไม่ต้องให้จำเลยหนี แต่ตอนนั้นจำเลยไม่อยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกลับไปและกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่งในเวลา 17.00 น. และได้นำตัวจำเลยไป

ขณะเข้าจับกุมทั้งช่วงเช้าและเย็น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แต่งกายในเครื่องแบบ และไม่มีการแสดงหมายจับและหมายค้นแต่อย่างใด

กัลญา ตามไปถึง สภ.บางแก้ว ในเวลาประมาณ 22.00 น. เมื่อไปถึงพบว่าจำเลยไม่ได้อยู่ในห้องขัง แต่นั่งอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่มีรายละเอียดการกระทำความผิด แม้กระทั่งในขั้นตอนเรียกหลักทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่มีการอธิบายว่าข้อกล่าวหาคืออะไร และภายหลังเมื่อหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่รับหลักทรัพย์และบอกกล่าวแก่พยานว่าให้ไปต่อสู้ที่ชั้นศาล

แม่ของจำเลยยืนยันว่า ตนไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเหตุในคดีนี้มาก่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจำเลยถูกจับกุมเพราะเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนสาเหตุที่ตนได้มาเป็นพยานโจทก์ เพราะตำรวจบอกกล่าวให้ตนลงชื่อรับเป็นพยาน ตนจึงลงชื่อไปตามที่เจ้าหน้าที่บอก

.

ผู้ใหญ่บ้านเผย รูปประติมากรรมมีประโยชน์ด้านจิตใจ ประชาชนทั่วไปผ่านมายกมือกราบไหว้

เมื่อถึงคราวสืบพยานของ พงศ์ศักดิ์ กล่างสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ต.บางแก้ว พบว่าพงศ์ศักดิ์ได้เข้ามานั่งฟังการสืบพยานโจทก์รายอื่นก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่อัยการและผู้พิพากษาไม่ทราบว่าพงศ์ศักดิ์เป็นพยาน ทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลว่าขอให้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้เป็นหมายเหตุลงในรายงานกระบวนการพิจารณาและขอให้ศาลใช้วิจารณญาณในการรับฟัง แล้วจึงเริ่มการสืบพยานต่อ

พงศ์ศักดิ์ กล่างสวัสดิ์ เบิกความว่า ในช่วงเกิดเหตุ พยานได้ขับรถผ่าน ถ.กิ่งแก้ว มุ่งหน้าวัดกิ่งแก้ว และพบเห็นรอยพ่นสีสเปรย์สีแดงเป็นถ้อยคำ “ยกเลิก 112” ที่ฐานประติมากรรมทั้งสามจุด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ อบต.ราชาเทวะ มีไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านจิตใจ ประชาชนทั่วไปที่ผ่านไปมาใช้เคารพสักการะและยกมือกราบไหว้

ทนายจำเลยถามค้าน พงศ์ศักดิ์ เบิกความรับว่า สาเหตุที่ตนได้มาเป็นพยานในคดีนี้ เป็นเพราะ สภ.บางแก้ว ตั้งอยู่ในที่ท้องที่รับผิดชอบของตน และตนยังเคยพูดคุยเกี่ยวกับการพ่นสีสเปรย์กับประชาชนคนอื่น พนักงานสอบสวนจึงเชิญตนไปเป็นพยาน 

.

ภาพอาร์ต ทศเทพ และโตโต้ ปิยรัฐ หลังได้รับการปล่อยตัวจากสภ.บางแก้ว (ภาพจากเพจ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep)

.

เจ้าหน้าที่สืบฯ สภ.บางแก้ว อ้างยังไม่ได้จับกุม แค่เชิญตัวไปสอบถามแล้วจำเลยเผลอหลับไป  

ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ไหมดี เจ้าหน้าที่สืบสวน สภ.บางแก้ว เบิกความว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการสืบสวนผู้กระทำความผิด กรณีเหตุพ่นสีสเปรย์สีแดง เป็นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ที่ฐานประติมากรรมทั้ง 3 จุดบริเวณ ถ.กิ่งแก้ว พยานจึงได้ลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พบมีรอยพ่นสีสเปรย์จริงตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งหมด 3 จุด

สำหรับกระบวนการสืบสวน ร.ต.อ.อภิวัฒน์ เบิกความว่า พยานได้เดินทางไปตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดที่ อบต.ราชาเทวะ พบว่า ในวันที่ 10 ม.ค. 2564 เวลา 01.00 น. มีชาย 1 คน สวมหมวกนิรภัยขนาดเต็มใบ สวมเสื้อคลุมยาว กางเกงขายาว สะพายเป้ เดินจากทางเท้าบริเวณหน้าโรงเรียนพรมพิกุลทองข้ามมาที่เกาะกลาง นำบล็อกตัวอักษรมาทาบและพ่นสีสเปรย์บริเวณฐานประติมากรรมรูปปั้นยักษ์ แล้วจึงเดินกลับมาขึ้นรถจักรยานยนต์ ไม่ทราบยี่ห้อหรือป้ายทะเบียน เพราะไม่ติดป้ายทะเบียน ขับขี่รถไปตาม ถ.กิ่งแก้ว เลี้ยวเข้าซอยกิ่งแก้ว 41 เข้าหมู่บ้านจามจุรีซอย 10 และไม่พบรถจักรยานยนต์คันนั้นอีก

พยานจึงตรวจสอบกล้องวงจรปิดย้อนหลังกลับไปในวันที่ 9 ม.ค. 2564 เวลา 22.00 น. พบเห็นคนร้ายขับรถจักรยานต์ออกจากหมู่บ้านจามจุรีซอย 10 ขับขี่ไปตาม ถ.กิ่งแก้ว มุ่งหน้า ถ.ลาดกระบัง จนเมื่อถึงบริเวณระหว่างปากซอยกิ่งแก้ว 62 กับ 64 คนร้ายได้จอดรถที่ไหล่ทางและเดินข้ามไปที่เกาะกลาง แต่ภาพช่วงนี้ไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่าคนร้ายข้ามไปทำสิ่งใด ต่อมาคนร้ายข้ามถนนกลับมา ก่อนจะขับรถจักรยานต์ต่อไปจนถึงบริเวณตรงข้ามปั้มน้ำมันเชลล์ ปากซอยกิ่งแก้ว 52 และเดินข้ามไปที่เกาะกลางเช่นเดิม แต่ไม่ปรากฎภาพขณะพ่นสี หลังจากนั้นจึงขับรถกลับมาฝั่งตรงข้ามปากซอยกิ่งแก้ว 64 และเดินข้ามไปที่เกาะกลางเพื่อพ่นสีสเปรย์

ต่อมา พยานจึงได้ลงพื้นที่โดยเดินทางไปที่หมู่บ้านจามจุรีซอย 10 และพบรถจักรยานยนต์จอดอยู่ในบ้านของจำเลย จึงได้สอบถามสายลับ คือ เอกวิทย์ น้อยเพิ่ม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทราบว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ จากนั้น 15 ม.ค. 2564 พยานได้เดินทางไปที่บ้านหลังดังกล่าวอีกครั้งและพบกับพ่อของจำเลย พยานได้พูดคุยและสอบถามว่าจำเลยอยู่ที่บ้านดังกล่าวหรือไม่ พ่อของจำเลยจึงเรียกให้ทศเทพมาพบกับพยาน

พยานสอบถามจำเลยเกี่ยวกับการใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวและจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้พ่นสีสเปรย์จริง โดยพบรถจักรยานยนต์และบล็อกตัวอักษรที่ใช้ในการก่อเหตุอยู่ในบริเวณข้างบ้าน ส่วนเสื้อผ้าที่สวมใส่ขณะก่อเหตุ จำเลยเป็นคนหยิบมาให้ พยานจึงเชิญตัวจำเลยไปที่ สภ.บางแก้ว เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม ขณะสอบปากคำ พยานได้นำภาพถ่ายประติมากรรมที่มีรอยพ่นสีสเปรย์ให้จำเลยดู จำเลยดูแล้วยอมรับว่าเป็นผู้พ่นจริง พร้อมได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ในเอกสารดังกล่าว

ภายหลัง พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้ขอหมายจับต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 ศาลอนุญาตให้ตามคำขอ พยานจึงได้เข้าจับกุมจำเลยตามหมายและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 360 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำเลยให้การรับสารภาพและได้พาไปชี้จุดกระทำความผิด รวมถึงชี้ร้านอุปกรณ์สีที่ขายสีสเปรย์ให้แก่จำเลย

ทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.อภิวัฒน์ เบิกความว่า การเข้าไปพบจำเลยในวันที่ 15 ม.ค. 2564 เวลา 17.00 น. ไม่ใช่การค้นบ้านหรือจับกุม จึงไม่จำเป็นต้องใช้หมายค้นหรือหมายจับ เพียงแต่พยานได้ขออนุญาตบิดาของจำเลยเพื่อเข้าบ้าน และบิดาของจำเลยอนุญาต พยานจึงเข้าไปในบ้านและพบเห็นของกลางในช่องจอดรถจักรยานยนต์ จึงบอกกล่าวเชิญตัวจำเลยไปสอบถามข้อมูลที่โรงพัก ในฐานะผู้ให้ข้อมูลไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย แต่จำเลยกลับให้การรับสารภาพ พยานจึงสอบปากคำจำเลยเอาไว้

ต่อมา เมื่อสอบคำให้การเสร็จแล้ว เป็นช่วงดึกของวันที่ 15 ม.ค. 2564 จำเลยรู้สึกเหนื่อยจนผล็อยหลับไป จนเมื่อเวลาราว 02.00 น. ของวันที่ 16 ม.ค. 2564 พยานได้นำหมายจับเข้าจับกุมจำเลยและแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับ จำเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นบุคคลตามหมายจับและไม่เคยถูกจับกุมในคดีอื่นมาก่อน พยานได้ส่งมอบจำเลยให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อสอบคำให้การและทำสำนวนคดีต่อไป

ในคดีนี้มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รับการปล่อยตัวในเวลา 20.40 น. ของวันที่ 17 ม.ค. 2564 ซึ่งหากนับรวมระยะเวลาที่จำเลยถูกจับกุมตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 15 ม.ค. 2564 จนถึงปล่อยตัวแล้ว พบว่าเกินกว่า 48 ชั่วโมง จึงมีข้อสังเกตจากทนายจำเลยว่า จำเลยอาจถูกควบคุมตัวโดยชอบไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ยืนยันว่า ไม่เกินและไม่เป็นการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขณะสอบคำให้การครั้งแรก เป็นเพียงการเชิญตัว จำเลยยังคงไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่นเดียวกับการผล็อยหลับของจำเลยหลังสอบคำให้การครั้งแรก

ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ยังเบิกความรับว่า ในการสอบคำให้การทั้งสองครั้ง ไม่มีทนายความเข้าร่วมสอบคำให้การ

.

พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ขอศาลออกหมายจับ แม้ตัวผู้ต้องหาถูกสืบฯ ควบคุมตัวอยู่ 

พ.ต.ต.สมเกียรติ นาเจริญ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เบิกความโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ ธีระเดช ได้เดินทางมาแจ้งกับพยานว่าพบข้อความเป็นตัวอักษรสีแดงเขียนว่า “ยกเลิก 112” ที่ฐานประติมากรรมทั้ง 3 จุด บริเวณ ถ.กิ่งแก้ว เมื่อได้รับแจ้งฯ พยานจึงลงไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุพบว่ามีรอยพ่นสีสเปรย์เป็นอักษรสีแดงอยู่จริง จึงจัดทำบันทึกตรวจที่เกิดเหตุและแผนที่แสดงที่เกิดเหตุโดยสังเขป

14 ม.ค. 2564 อบต.ราชาเทวะ โดยนิชาภา วงศ์ใหญ่ รับมอบอำนาจจากนายก อบต.ราชาเทวะ เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์ให้มีการดำเนินคดีแก่บุคคลไม่ทราบว่าผู้ใด ได้กระทำการให้ทรัพย์สินของ อบต.ราชาเทวะ เสียหาย พยานได้สอบปากคำผู้กล่าวหาไว้และประสานเจ้าหน้าที่สืบสวนให้รวบรวมพยานหลักฐานผู้กระทำความผิด ซึ่งพยานหลักฐานทั้งหมดได้บ่งชี้ว่า ทศเทพ ดวงเนตร จำเลยในคดีนี้เป็นผู้พ่นสีสเปรย์ พยานจึงขอหมายจับต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ และให้เจ้าหน้าที่สืบสวนเข้าจับกุมจำเลยตามหมายและส่งมอบตัวให้แก่พยาน พยานแจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาแก่จำเลย จำเลยให้การรับสารภาพ และพาไปชี้จุดเกิดเหตุและร้านจำหน่ายอุปกรณ์สี พร้อมลงลายมือชื่อรับรองไว้ในภาพถ่ายประกอบคดี

นอกจากนี้ พยานได้จัดทำบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย ประเมินค่าความเสียหายตามการประเมินของกองช่าง อบต.ราชาเทวะ เป็นเงินจำนวน 12,495 บาท เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พยานมีความเห็นสั่งฟ้องคดี

ทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.สมเกียรติ เบิกความเห็นด้วยว่า รูปประติมากรรมทั้งสามจุดมีประโยชน์เพียงด้านจิตใจ และการพ่นสีสเปรย์ที่ฐานประติมากรรม ก็ไม่ได้ทำให้สภาพเดิมของประติมากรรมเปลี่ยนแปลงไป ประติมากรรมยังคงใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะได้เช่นเดิม เช่น การเป็นที่ติดประกาศและการปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม

สำหรับคำถามว่าเหตุใดพยานจึงไม่ตั้งข้อกล่าวหาจำเลยว่าทำให้ทรัพย์โสโครกเปรอะเปื้อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 389 แทนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้และมีอัตราโทษหนักกว่า พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีให้เหตุผลว่า เป็นเพราะผู้กล่าวหาแจ้งความดำเนินคดีตาม ม.360 พยานรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าเพียงพอ จึงขอศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายจับตามข้อหาดังกล่าว และศาลก็อนุญาตตามคำขอ

พ.ต.ต.สมเกียรติ ยืนยันกับทนายจำเลย ทราบว่า การตั้งข้อหาเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามที่ผู้กล่าวหาร้องทุกข์

ส่วนประเด็นการขอออกหมายจับจำเลย แม้ว่าตัวจำเลยจะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน. แล้ว พ.ต.ต.สมเกียรติ เบิกความว่า ขณะนั้น พยานในฐานะพนักงานสอบสวน ไม่ทราบว่าจำเลยอยู่ที่ใดหรือถูกควบคุมตัวหรือไม่ พยานได้รับเพียงแต่บันทึกคำให้การจากเจ้าหน้าที่สืบสวน บางทีฝ่ายสืบสวนอาจสอบคำให้การและปล่อยตัวไปแล้วก็ได้ ประกอบกับที่อยู่ของจำเลยไม่เป็นหลักแหล่ง ตรวจสอบทะเบียนราษฎร์พบว่าอาศัยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี พยานจึงขอศาลออกหมายจับ

เรื่องการยึดทรัพย์ของจำเลย พยานทราบว่ามีการตรวจยึดโดยเจ้าหน้าที่สืบสวน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วหากพบว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่ไว้ใช้ในการกระทำความผิด ก็ได้ส่งมอบคืนให้จำเลยแล้ว เช่น รถจักรยานยนต์ แต่สำหรับกรณีโทรศัพท์มือถือที่ทนายจำเลยกล่าวถึงนั้น พยานไม่ทราบ แต่คาดว่าสาเหตุในการตรวจยึดโทรศัพท์มือถืออาจเป็นเพราะเพื่อใช้ในการตรวจสอบสัญญาณมือถือสำหรับใช้ยืนยันตำแหน่งของจำเลยว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริง

พ.ต.ต.สมเกียรติ ยืนยันกับทนายจำเลยอีกว่า ในคดีนี้ พยานเป็นเพียงผู้รับแจ้ง ไม่ได้เป็นผู้สืบสวน ถึงแม้ว่าจะเคยลงพื้นที่แต่ก็เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น ซึ่งต่อมาก็ได้ส่งมอบข้อมูลดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่สืบสวน โดยปกติแล้วพนักงานสืบสวนและพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ทำหน้าที่ร่วมกันในชั้นจับกุมเสมอไป ต้องพิจารณาเป็นรายคดี

.

.

ทศเทพ รับพ่นสีจริง แต่เป็นไปเพื่อแสดงออกทางการเมือง ไม่มีเจตนาทำลาย ระบุถูกจับกุม-ตรวจค้น โดยไม่มีหมายจับ-หมายค้น

ทศเทพ ดวงเนตร การ์ดอาสากลุ่มวีโว่ เบิกความว่า กลุ่มวีโว่ (WeVo) เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือและทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยพยานเป็นสมาชิกของกลุ่มและมีตำแหน่งเป็นการ์ด มีหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ พยานอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากการชุมนุมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวรุ่นพี่ของพยานที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112

ทศเทพ รับว่า ขณะเดินทางกลับ ตนรู้สึกโกรธแค้นและไม่พอใจอย่างมากที่มีการใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดีกับรุ่นพี่ของตน ตนจึงตัดสินใจเข้าไปพ่นสีสเปรย์สีแดงเป็นข้อความ “ยกเลิก 112” ที่ฐานประติมากรรมรูปปั้นทั้งสามแห่ง บริเวณเกาะกลางของ ถ.กิ่งแก้ว เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และต่อสู้ทางการเมือง ตนไม่ได้มีเจตนาจะทำลายหรือทำให้ทรัพย์สินของ อบต.ราชาเทวะ ได้รับความเสียหาย

15 ม.ค. 2564 เวลา 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายนอกเครื่องแบบ จำนวน 5 นายเข้ามาจับกุมพยานที่บ้าน โดยอ้างกับพ่อของพยานว่าจะนำตัวพยานไปบำบัดยาเสพติด พร้อมกับเข้ามาค้นบ้านและจับกุมพยานโดยไม่มีหมายจับและหมายค้น สอบถามพยานว่าได้พ่นสีสเปรย์หรือไม่ พยานรับว่าพ่นจริง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดครองกลางและควบคุมตัวพยานไปถึง สภ.บางแก้ว ในเวลาประมาณ 18.30 น.

จากนั้น เจ้าหน้าที่จับกุมนำตัวพยานไปไว้ที่ห้องสืบสวนและเริ่มสอบคำให้การ ขณะนั้นยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เพียงแต่บอกว่าจะสอบถามเรื่องการพ่นสีสเปรย์ พยานอยู่ที่ สภ.บางแก้ว จนถึงวันที่ 17 ม.ค. 64 เวลา 20.40 น. โดยพนักงานสอบสวนได้เริ่มสอบสวนพยาน เป็นการสอบคำให้การรอบที่สอง เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 64 เวลา 17.00 – 18.00 น. ระหว่างถูกคุมขัง พยานไม่เคยได้พบทนาย เนื่องจากพยานไม่ได้ร้องขอ และยืนยันว่าการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการบังคับขู่เข็ญแต่ประการใด

.

ภายหลังการสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยได้แถลงการณ์ปิดคดีว่าขอให้ศาลพิจารณาถึงประเด็นการจับกุมที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังคงมีข้อกังขาอยู่หลายประการ ประกอบกับเจตนาของจำเลยก็ไม่ได้ต้องการทำลายทรัพย์สินหรือคิดเป็นโจร เพียงแต่ต้องการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการแสดงออกทางการเป็นเมืองก็เป็นเพียงทรัพย์สินทั่วไป ไม่ใช่สาธารณสมบัติแผ่นดินตามที่อัยการโจทก์อ้าง การดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 360 แก่จำเลยเป็นเรื่องที่หนักหนาเกินกว่าพฤติการณ์ของจำเลย

ขณะที่ศาลได้มีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยเพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบการจัดทำคำพิพากษาต่อไปด้วย และได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พ.ย. 2565 นี้

.

X