จับตา ศาลแพ่งนัดพิพากษาคดี 7 นศ.-นักกิจกรรม ฟ้อง ‘ประยุทธ์และพวก’ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พรุ่งนี้ (26 ก.ย. 2565) เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นักกิจกรรมและนักศึกษารวม 7 คนร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, และกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ช่วงระหว่างวันที่ 15-22 ต.ค. 2563

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงดังกล่าวเป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสาเหตุในการประกาศเพียงพอ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสลายการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ มีการประกาศปิดสถานที่และระบบขนส่งมวลชน จับกุมประชาชน สื่อมวลชน และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงห้ามการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน

คดีนี้กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการฟ้องร้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 โดยขอให้ศาลแพ่งสั่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และประกาศที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมชดเชยค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดคน คนละ 500,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 3.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากวันฟ้อง

ศาลแพ่งนัดหมายสืบพยานโจทก์ในคดีไประหว่างวันที่ 14-16 มิ.ย. 2565 และสืบพยานจำเลยวันที่ 21 มิ.ย. 2565

.

ความเสียหายของโจทก์

โจทก์ทั้งเจ็ดคนเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ คนละ 300,000 บาท ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดเสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถเดินทางตามปกติได้ คนละ 50,000 บาท ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร คนละ 50,000 บาท และค่าเสียหายต่อผลกระทบทางร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และการถูกดำเนินคดีอาญา คนละ 100,000 บาท

ทั้งนี้ รายละเอียดจากการสืบพยานโจทก์พบว่า ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล โจทก์ที่ 1 ถูกดำเนินคดีระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง 2 ครั้ง โดยถูกจับกุมในซอยเปลี่ยวยามวิกาลเมื่อ 21 ต.ค. 2563 และนำตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตํารวจตระเวนชายแดนภาค 1 ทั้งที่ตำรวจแจ้งทนายความว่าจะพาตัวไป สน.ลุมพินี การถูกดำเนินคดีทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และถูกสังคมมองว่าเป็นคนไม่ดี ทั้งที่เพียงแค่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

>> ย้อนดู สรุปคำฟ้องโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

.

กิตติ พันธภาค ขณะถูกจับกุมในระหว่างทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวประชาไท ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563

.

ผู้สื่อข่าวถูกฉีดน้ำ ถูกจับ และถูกสั่งปิดสื่อ

คดีนี้ มีผู้สื่อข่าว 3 คน ร่วมเบิกความเป็นพยานโจทก์ ได้แก่ กิตติ พันธภาค อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวจากสำนักข่าว The Standard และฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการสำนักข่าว The Reporters ให้การต่อศาลคล้ายคลึงกันกันว่าผู้สื่อข่าวได้ถูกตำรวจฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ระหว่างสลายการชุมนุมวันที่ 16 ต.ค. 2563 ที่แยกราชประสงค์ ทำให้เสียการทรงตัว และมีอาการระคายเคือง โดยกิตติถูกจับกุมในวันดังกล่าวขณะกำลังถ่ายทอดสดเหตุการณ์ นอกจากนี้ิ ยังมีคำสั่งปิดสื่อในเวลาต่อมา ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวทำงานยาก และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวที่ถูกสั่งปิด

.

ผู้เชี่ยวชาญชี้ฉีดน้ำสลายการชุมนุมอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีและของเสียอันตราย ระบุว่า สารเคมีที่ใช้สลายการชุมนุมมี 2 ขั้นตอน คือ สารเคมีที่ใช้ผสมน้ำ คือ เมทิลไวโอเล็ต 2B  เมื่อสัมผัสจะทำให้ระคายเคือง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ หายใจลำบาก โดยสารเคมีที่ใช้ผสมน้ำส่งผลต่อดวงตา ทำให้ระคายเคือง ซึ่งถ้าผสมเข้มข้นเกินจะทำให้ผิวหนังแสบร้อนและพุพอง หากได้รับสารเคมีผสมน้ำชนิดนี้มากกว่า 5-10 ลิตร อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และถ้าใช้ผ่านเครื่องฉีดน้ำ ระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสร่างกายแล้วจะไม่เป็นอันตรายสั้นมาก น้อยกว่า 1 วินาที โดยความอันตรายขึ้นกับความเข้มข้นของสารเคมี แต่การล้างน้ำจะช่วยเจือจางและบรรเทาอาการได้

อีกรูปแบบ คือ สารเคมีที่ใช้ผสมกันเป็นแก๊สน้ำตา คือ โอ-คลอโรเบนซิลิดีนมาโลไนไตรล์ (CS) และเมทิลีน คลอไรด์ (MC) ส่งผลให้แสบตา น้ำตาไหล ระคายเคืองทางเดินหายใจ แน่นหน้าอก แต่หากมีอาการหืดหอบหลังได้รับสาร อาจมีอาการนานหลายเดือนจนถึง 2 ปี

.

.

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การโดยสรุปว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการให้เหตุผลในการออกประกาศมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และได้ร่วมร่างแถลงการณ์ร่วมกับคณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าประกาศดังกล่าวมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย และสถานการณ์ฉุกเฉินยังไม่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงการคาดการณ์ พร้อมตอบคำถามค้านโดยสรุปว่าการชุมนุมอาจจะผิดกฎหมาย แต่ไม่มีความรุนแรง แต่เป็นได้ที่หากเกิดความรุนแรงจะทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับผลกระทบ แม้จะประกาศยกเลิกภายหลัง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงก็ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดี และส่งผลเสียต่อสิทธิในการชุมนุม

ด้านพัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการชุมนุมและการควบคุมฝูงชนว่า ไม่มีเหตุฉุกเฉินที่จะให้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และหากจะนับการว่าการชุมนุมวันที่ 14 ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เป็นเหตุฉุกเฉิน เหตุนั้นก็ยุติลงแล้วหลังสลายการชุมนุมในช่วงเช้า เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้ก็ขาดความชอบธรรมที่จะออกประกาศต่อไป โดยพยานได้ร่วมจัดทำแถลงการณ์ 2 ฉบับ เพื่อแสดงว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ พัชร์ยังให้การว่า การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ต.ค. 2563 ไม่สอดคล้องกับหลักสากล ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และหลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ที่รับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ

.

(ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

การชุมนุมสันติและปราศจากอาวุธ เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร เบิกความในฐานะพยานโจทก์ โดยสรุประบุว่า การชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 เป็นการชุมนุมโดยสงบ พบการปะทะเล็กน้อยระหว่างผู้เห็นต่างทางการเมือง คือเผชิญหน้าท้าทาย และผลักกัน ก่อนแยกย้ายเพราะมีคนห้าม ก่อนทยอยยุติการชุมนุมเวลา 23.00 น. ไปจนถึง 01.00 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 2563 ส่วนวันที่ 16 ต.ค. 2563 ทราบเหตุการณ์จากข่าวออนไลน์ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมมาชี้แจงในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ก่อนมีความเห็นว่าการจับกุมผู้สื่อข่าวไม่ชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนชานนท์ ชลพันธ์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้การใจความว่า การชุมนุมวันที่ 14-16 ต.ค. 2563 เป็นไปด้วยสงบ หลังมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง กสม. ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสิทธิเด็ก โดยขอให้คำนึงถึงสวัสดิภาพและความลอดภัยของเด็กในที่ชุมนุม

ต่อมา พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังควบคุมการชุมนุมวันที่ 16 ต.ค. 2563 ที่แยกปทุมวัน โดยมีข้อร้องเรียนมายัง กสม. จำนวน 9 คำร้อง โดยพบกรณีการจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไท และการสั่งห้ามรายงานข่าว ถือเป็นการละเมิดสิทธิสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เกินจำเป็น ไม่สอดคล้องกับหลักสากลในการดูแลการชุมนุม โดย กสม. ได้ทำข้อเสนอถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง นำหลักสากลมาใช้ และสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิประชาชนหรือไม่ หากมีการละเมิดให้เยียวยา

ชานนท์ให้การอีกว่า การฉีดน้ำสลายการการชุมนุมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการจะสลายการชุมนุมต้องมีเหตุรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สิน การเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมทำได้เมื่อบุคคลนั้นมีลักษณะจะใช้ความรุนแรง ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงต้องมีเหตุที่กระทบความมั่นคง กระทบความอยู่รอดของชาติ แต่การชุมนุมไม่มีพฤติการณ์เพียงพอถึงขนาดจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

.

.

อ้างเหตุวุ่นวายและกระทบขบวนเสด็จฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ทางด้านฝ่ายผู้ถูกฟ้องได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 5 ปาก ได้แก่ พลากร ดาวเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้การว่า ในทางการข่าวมีรายงานว่า การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรทำให้เกิดความวุ่นวาย มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สิน รวมถึงมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระราชินี จึงมีเหตุให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และรัฐบาลได้ใช้อำนาจตามความจำเป็น และอย่างจำกัดแล้ว

.

จำเลยสู้ว่าทำไปตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นการละเมิด

พ.ต.อ.พีรวุฒิ ปฤษณารุณ ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าว มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม อาคาร และสถานที่ รวม 7 ครั้ง เพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ละครั้งปิดเนื่องจากมีนัดหมายชุมนุม และเมื่อเลิกชุมนุมก็เปิดใช้ตามปกติ และผู้ประกอบการรถไฟฟ้าก็เต็มใจให้มีการปิดรถไฟฟ้า โจทก์และประชาชนทั่วไปอาจเกิดความไม่สะดวก แต่สามารถใช้ขนส่งสาธารณะอื่นแทนรถไฟฟ้าได้ และค่าใช้จ่ายน่าจะถูกกว่า

ส่วนคำสั่งปิดสื่อนั้น เนื่องจากตรวจพบการกระทำผิด รายงานข่าวที่มีเจตนาทำให้ประชาชนหวาดกลัว บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และไม่ใช่การปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากทำไปตามกฎหมาย แต่ พ.ต.อ.พีรวุฒิ ยอมรับว่าการรายงานสดจากสถานที่จริง ไม่ใช่การบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่เห็นว่าสามารถชักชวนคนมาร่วมชุมนุมได้

ด้านกนกรัตน์ ไกรราช นิติกรปฏิบัติการ กองคดี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ให้การว่า กระทรวงการคลังไม่ใช่หน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การปฏิบัติหน้าที่และคำสั่งต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่ถือเป็นการทำละเมิด และโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกสลายการชุมนุม

.

ตำรวจนครบาลเห็นว่าสลายการชุมนุมและจับกุมถูกต้องตามกฎหมาย

พล.ต.ท.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เบิกความสรุปว่าการสลายการชุมนุมและจับกุมเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยวันที่ 14 ต.ค. 2563 ผู้ชุมนุมไม่ได้พกพาอาวุธหรือมีลักษณะจะใช้ความรุนแรง ในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการควบคุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ผู้ชุมนุมปิดเส้นทางการจราจร แต่มีกลุ่มบุคคลไปขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินี แต่ในขณะเกิดเหตุไม่ได้จับกุมผู้กระทำความผิด เพราะมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เกรงจะเกิดเหตุปะทะ

ส่วนเหตุการณ์วันที่ 16 ต.ค. 2563 พยานลงพื้นที่ที่แยกเฉลิมเผ่าถึงแยกปทุมวัน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันดังกล่าวมีประกาศกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ห้ามเข้าอาคาร สถานที่ และพื้นที่คมนาคมบางส่วน โดยผู้ชุมนุมมาถึงจุดที่ห้าม มีความพยายามเข้าพื้นที่ และทำลายแนวกั้นของตำรวจ แต่เข้าไม่ได้ ไม่มีข้าวของเสียหาย ส่วนการจับกุมในวันที่ 16 ต.ค. 2563 เป็นการจับกุมผู้ละเมิดกฎหมาย โดยไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นบุคคลใด

.

(ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

ตำรวจอ้างการสลายการชุมนุมไม่ก่ออันตราย

พ.ต.อ.สุรภัค รอดโพธิ์ทอง กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าสืบใจความว่า พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 16 ต.ค. 2563 ทราบว่ารถฉีดน้ำมีวิถีการฉีดประมาณ 60-70 เมตร ถ้ายิงน้ำใส่ตัวโดยตรงในระยะ 10-20 เมตร จะทำให้เจ็บตัว แต่ตามหลักจะยิงขึ้นให้น้ำกระจาย ไม่ยิงใส่คนโดยตรง และตัวอุปกรณ์ที่ติดอยู่ด้านบนของรถทำให้ไม่สามารถยิงต่ำใส่บุคคลได้โดยตรงอยู่แล้ว

ส่วนสารเคมีที่ใช้ คือ สาร CS ผสม MC ในอัตราส่วน 5% ต่อ 95% ซึ่งผสมมาในแกลลอนตั้งแต่จัดซื้อ ก่อนนำมาใช้เจือจางกับน้ำ สารเคมีนี้ทำให้ระคายเคือง แสบตา หายใจไม่ออก มึนศีรษะ แต่ตัวพยานซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ใช้น้ำล้างประมาณ 5 นาทีก็หาย และจากรายงานของหน่วยงานที่ใช้สารเคมีนี้ในต่างประเทศ เช่น NATO ก็ระบุว่าไม่มีผลกระทบระยะยาวต่อบุคคลที่ถูกสารเคมี โดยวันที่ 16 ต.ค. 2563 พยานทราบหลังเกิดเหตุจากรายงานของตำรวจควบคุมฝูงชนว่ามีการผสมสารเคมีทั้ง CS+MC และเมทิลไวโอเล็ต 2B ในอัตราส่วน 3% ต่อน้ำ 100%

ทั้งนี้ หากทราบว่าสารเคมีที่ใช้เป็นสารอันตราย สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่มีนโยบายสั่งซื้อเข้ามา และความเข้มข้นในการผสมสารเคมีอาจผสมได้ถึง 9% แต่ใช้จริงไม่เกิน 3% เท่านั้น

.

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. ถึง 22 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร การประกาศดังกล่าวเป็นการยกระดับความรุนแรงของการใช้กฎหมายขึ้นไปกว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับปกติ เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมของประชาชนกลุ่มราษฎรที่มีเดินขบวนไปปักหลักที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ทำให้เกิดการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. 2563 พร้อมกับการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม

หลังจากนั้น ยังคงมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในวันต่อๆ มา โดยมีความพยายามสลายการชุมนุม โดยการฉีดน้ำความดันสูงผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 รวมทั้งการจับกุมผู้ชุมนุม ทำให้ในช่วงดังกล่าว จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 72 คน โดยหลายคดียังดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน

.

ย้อนอ่าน

“สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง” ยิ่งทำลายหลักนิติรัฐ ขยายอำนาจจนท.รัฐ ตุลาการตรวจสอบไม่ได้

แถลงการณ์ กรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและสลายการชุมนุม

.

X