แถลงการณ์ กรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและสลายการชุมนุม

ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างเหตุว่า “มีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง กรณีนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม” ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 

พร้อมทั้งเริ่มปฎิบัติการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและใกล้เคียง ประมาณเวลา 04.00 น. ควบคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างน้อย 27 คน ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และสน.ชนะสงคราม โดยมีหมายจับกุมในคดีชุมนุมก่อนหน้า 5 คน และไม่มีหมายจับ 23 คน  ก่อนหน้านี้วันที่ 13 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวผู้ชุมนุมจากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำนวน 21 คนแล้ว โดย 20 คน ไม่ได้รับการประกันตัวจากศาล และยังถูกควบคุมตัวไว้ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว และยึดอายัด ตรวจค้นและรื้อถอนทำลาย ตามอำนาจมาตรา 11 และมาตรา 12 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าว และมีความเห็นดังต่อไปนี้

1. การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตลอดจนการเดินขบวนไปปักหลักยังทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงและเป็นอันตรายใดๆ จึงต้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) 

2. สถานการณ์การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 นั้นไม่เข้าข่ายสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งต้องเป็นกรณีที่กระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตามหากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนโดยการขอให้ศาลออกคำบังคับให้เลิกชุมนุมได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้ข้ออ้างดังกล่าวในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ยกเว้นการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ และยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล และไม่ได้สัดส่วนของความจริงกับมาตรการที่รัฐเลือกใช้

3. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ากำหนดการและสถานที่ชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 นั้น มีการประกาศล่วงหน้านานนับเดือน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีการขบวนเสด็จผ่านพื้นที่ดังกล่าว 

การที่หน่วยถวายรักษาความปลอดภัยตัดสินใจเลือกเส้นทางซึ่งมีการชุมนุม ทั้งที่สามารถใช้เส้นทางอื่นได้หลากหลายเส้นทางนั้น หน่วยงานดังกล่าวย่อมต้องผ่านการประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่าการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบและไม่ก่ออันตรายใดๆ  และขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่านที่ชุมนุมก็สามารถดำเนินผ่านไปแล้วโดยเรียบร้อย ไม่มีการปิดกั้นหรือความวุ่นวายจากผู้ชุมนุม ซึ่งกระทำต่อทรัพย์สินหรือบุคคลใดขณะขบวนเสด็จดำเนินผ่าน มีเพียงการชะลอตัวของการเดินทางและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในพื้นที่ชุมนุม ข้อกล่าวอ้างเรื่องขบวนเสด็จจึงย่อมมิอาจเป็นเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันนี้จึงเป็นเหตุให้ประเทศไทยนั้นมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถึงสามฉบับในช่วงเวลาเดียวกัน ทับซ้อนกันในสองพื้นที่ คือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ก่อให้เกิดผลประหลาด

4. การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ให้อำนาจในการควบคุมตัวถึง 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามการจับกุมต้องกระทำโดยมีหมายฉุกเฉินซึ่งออกโดยศาล ตามมาตรา 12 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น 

ดังนั้นการจับกุมผู้ถูกจับในวันนี้โดยไม่มีหมายนั้น กระบวนการดังกล่าวยังต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต้องให้สิทธิในการเข้าถึงทนายความ และต้องแจ้งข้อหาและพาตัวผู้ถูกจับไปยังที่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุทันที แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีการควบคุมตัวบุคคลไปยังสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจที่ทำการของพนักงานสอบสวน  และแม้หากเจ้าหน้าที่จะอ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ประกาศดังกล่าวนั้นครอบคลุมพื้นที่เพียงพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่รวมถึงกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี การควบคุมตัวดังกล่าวจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม

ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเรียกร้องต่อพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในทันที เนื่องจากไม่มีเหตุเพียงพอในการประกาศสถานการณ์ดังกล่าว

2. ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทันที เนื่องจากผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

3. กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าบุคคลใดกระทำความผิดนั้น ให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการจับกุมควบคุมตัวและดำเนินคดีซึ่งเป็นการประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ชุมนุม

 

 

X