ศาลชี้จำเลยตั้งข้อสงสัยตามกระแสข่าว ยกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ คดีโพสต์ภาพชายคล้าย ‘ศักดิ์สยาม’ เที่ยวผับช่วงโควิด 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เดินทางไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ในนัดฟังคำพิพากษา คดีที่เธอถูกศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบอำนาจให้ทิวา การกระสัง ทนายความ เข้าแจ้งความดำเนินคดี กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม 

โดยซีถูกพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2564 ในฐานความผิด “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใด” ซึ่งอัยการเห็นว่า เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ซีโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ในชื่อ “รำพึง” ปรากฏภาพบุคคลและข้อความว่า “ไทม์ไลน์ที่หายไป อยู่นี่หรือเปล่าน๊าาาาา เอ๊…คนหน้าคล้ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ #ศักดิ์สยามชิดชอบ #โควิด19 #โควิด” โดยทุจริตและหลอกลวง เพื่อให้บุคคลเข้าใจว่าบุคคลในภาพคือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ติดโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโรคระบาดร้ายแรง จากการไปเที่ยวสถานบันเทิง อันเป็นเท็จ ความจริงแล้วศักดิ์สยามไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิง และบุคคลในภาพดังกล่าวไม่ใช่ศักดิ์สยาม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ศักดิ์สยาม 

ก่อนซีจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน โดยเธอยืนยันว่า เป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องจริง แต่ปฏิเสธว่า ไม่เป็นความผิดตามที่ถูกฟ้อง  ซึ่งภายหลังศาลจังหวัดบุรีรัมย์สืบพยานไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 โดยครั้งนั้นสืบพยานโจทก์ไป 3 ปาก และสืบพยานจำเลย 1 ปาก ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 มิ.ย. 2565

.

จำเลยคัดค้านเลื่อนคดี เหตุเสียรายได้และค่าใช้จ่ายเพิ่ม 

ในวันสืบพยาน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วม จำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตตามคำร้อง 

นอกจากนั้น ทิวา การกระสัง ทนายและผู้รับมอบอำนาจศักดิ์สยามได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากศักดิ์สยามในฐานะโจทก์ร่วมติดประชุมคณะรัฐมนตรี จึงไม่สามารถเดินทางมาเบิกความที่ศาลได้ และประสงค์ให้ตนซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจเบิกความถึงข้อเท็จจริงในคดีนี้แทน ขณะที่ตนติดว่าความในคดีของศาลอื่นซึ่งนัดไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้ 

อย่างไรก็ตาม ซีคัดค้านการเลื่อนคดี เนื่องจากตนทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มีรายได้เป็นรายวัน หากต้องเลื่อนคดีจะทำให้เสียรายได้และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลอีกครั้ง ประกอบกับตนยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายตามฟ้องจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี พร้อมทั้งให้งดสืบพยานปากศักดิ์สยามและทิวา หลังสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จ 3 ปาก ระบุว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเพียงพอต่อการวินิจฉัยคดีแล้ว 

.

เพียงคนหน้าคล้าย ชายในภาพไม่ใช่ศักดิ์สยาม แต่หากคนไม่รู้จักศักดิ์สยามดูภาพจะเข้าใจว่าเป็นคนเดียวกัน

สำหรับพยานโจทก์ปากแรก ร.ต.อ.สรรพาวุธ ลำมะนา รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองบุรีรัมย์ เบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้นำภาพและข้อความซึ่งผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “รำพึง” เป็นผู้โพสต์มาให้พยานตรวจสอบ หลังการตรวจสอบพบว่า ภาพดังกล่าวมาจากคลิปวีดีโอที่ถูกถ่ายไว้จากสถานบันเทิงแห่งหนึ่งเมื่อปี 2562 และไม่สามารถยืนยันบุคคลในภาพได้ว่าเป็นผู้ใด อีกทั้งจำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว ซึ่งมีการยืนยันว่าศักดิ์สยามไปเที่ยวสถานบันเทิงและติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีการแพร่กระจายของโรค ทำให้ศักดิ์สยามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมได้รับความเสียหาย 

ก่อนเบิกความตอบคำุถามค้านของทนายจำเลยโดย ร.ต.อ.สรรพาวุธ รับว่า ไม่ทราบว่าจำเลยจะได้ประโยชน์อะไรจากการโพสต์รูปและข้อความตามฟ้อง และไม่ทราบเช่นกันว่า มีใครถูกหลอกลวงจากภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์หรือไม่ ตนไม่ทราบด้วยว่า ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความศักดิ์สยามหรือไม่ ทั้งนี้ บุคคลในภาพถ่ายดังกล่าวมีใบหน้าคล้ายศักดิ์สยาม ซึ่งสามารถทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นศักดิ์สยาม 

ร.ต.อ.สรรพาวุธ ตอบทนายจำเลยอีกว่า ภาพตามฟ้องนั้นเป็นภาพที่มีการโพสต์อย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ โดยตนไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้โพสต์คนแรก แต่ไม่ใช่จำเลย อีกทั้งจำเลยไม่ได้โพสต์ข้อความว่า ศักดิ์สยามติดเชื้อโควิด-19 จากการเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เพียงแต่โพสต์ข้อความว่า คนหน้าคล้ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์  

ขณะที่ ร.ต.อ.อนุเปรม ทุมนานอก พนักงานสอบสวนในคดี มาเบิกความว่า ช่วงเวลาที่ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้บุคคลมาแจ้งความ มีข่าวว่าศักดิ์สยามไปเที่ยวสถานบันเทิงทำให้ติดเชื้อโควิด การที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้อง โดยที่บุคคลในภาพไม่ใช่ศักดิ์สยาม และศักดิ์สยามไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งนั้น ทำให้บุคคลทั่วไปที่ดูภาพและข้อความอาจเข้าใจว่าศักดิ์สยามไปเที่ยวสถานบันเทิงและติดเชื้อโควิด-19 ทำเชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ศักดิ์สยามเสียชื่อเสียง

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนเห็นภาพดังกล่าวมาก่อนที่จำเลยจะโพสต์ในทวิตเตอร์ โดยคนที่ติดเชื้อโควิด -19 ในช่วงนั้น จะต้องแจ้งวันเวลาและสถานที่อยู่ในช่วงติดเชื้อ เพื่อจะได้ทราบว่าเชื้อจะแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง ซึ่งในช่วงเวลานั้นศักดิ์สยามก็ไม่ได้บอกวันเวลาและสถานที่อยู่เพื่อควบคุมและจำกัดการแพร่เชื้อโรค 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนรับในทำนองเดียวกับพยานตำรวจปากแรกว่า คนที่ไม่รู้จักศักดิ์สยาม หากดูภาพดังกล่าวอาจเข้าใจได้ว่าคนในภาพคือศักดิ์สยาม เนื่องจากหน้าคล้ายกัน 

ส่วนอดุลย์ศักดิ์ รังมาศ อีกพยานในฐานะประชาชนใน จ.บุรีรัมย์ เบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายตามฟ้องและภาพศักดิ์สยามมาให้ดูเปรียบเทียบกัน ตนดูแล้วบอกว่า ไม่ใช่บุคคลเดียวกัน แต่หากบุคคลทั่วไปไม่ได้ดูภาพดังกล่าวเปรียบเทียบกับภาพศักดิ์สยามก็อาจเข้าใจว่าบุคคลในภาพเป็นศักดิ์สยาม เนื่องจากมีใบหน้าคล้ายกัน และทำให้เข้าใจว่า ศักดิ์สยามไปเที่ยวสถานบันเทิงและติดเชื้อโควิด

อดุลยศักดิ์เบิกความตอบทนายจำเลยย้ำว่า บุคคลทั่วไปหากดูแต่ภาพตามฟ้องก็อาจเข้าใจว่าเป็นศักดิ์สยาม เนื่องจากมีใบหน้าคล้ายกัน โดยตนเห็นว่า ข้อความและภาพถ่ายดังกล่าวเป็นการใส่ความศักดิ์สยามให้ได้รับความเสียหาย แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะไม่ได้ระบุวัน เวลา และสถานที่ที่อยู่ในภาพ 

อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ช่วงเกิดเหตุมีสื่อโทรทัศน์และออนไลน์ระบุว่า ศักดิ์สยามติดโควิด และมีการเผยแพร่ภาพตามฟ้องอย่างแพร่หลายก่อนที่จำเลยจะนำมาโพสต์ ทั้งนี้ ตนเองไม่ได้ถูกหลอกลวงหรือได้รับความเสียหายจากการดูภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์

.

เพียงตั้งข้อสังเกต เหตุใดไม่แจ้งไทม์ไลน์ โดยเข้าใจว่าเป็นภาพศักดิ์สยาม

ซี เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า ก่อนเกิดเหตุทราบจากสื่อต่างๆ ว่า ศักดิ์สยามติดเชื้อโควิด -19 แต่ไม่ทราบว่าติดเชื้อจากสถานที่ใด ประกอบกับมีข่าวการแพร่กระจายเชื้อโควิด -19 จำนวนมากจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ โดยหลังจากติดโควิดแล้ว ศักดิ์สยามไม่ได้แจ้งวัน เวลา และสถานที่อยู่ในช่วงวันที่ 27-28 มี.ค. และ 2-3 เม.ย. 2564 ซึ่งในช่วงเวลานั้นผู้ติดเชื้อโควิด -19 จะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับวัน เวลา และสถานที่อยู่ในช่วงที่ติดเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 

เมื่อตนได้ดูข่าวทางโทรทัศน์และทางออนไลน์ จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดศักดิ์สยามจึงไม่แจ้งวัน เวลา และสถานที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยที่ศักดิ์สยามเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นบุคคลสาธารณะ หากเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวก็จะไม่มีข้อสงสัย 

สำหรับภาพตามฟ้องเป็นภาพที่ตนเห็นจากเฟซบุ๊ก และตนไม่เคยเห็นศักดิ์สยามมาก่อน จึงเข้าใจว่าบุคคลในภาพคือศักดิ์สยาม และได้บันทึกรูปภาพมาแล้วโพสต์ทั้งภาพและข้อความตั้งข้อสงสัย โดยขณะเกิดเหตุมีการตั้งแฮชแท็กเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว หากกดเข้าไปที่ข้อความที่ติดแฮชแท็กก็จะมีรูปและข้อความที่เกี่ยวข้องกับแฮชแท็กนั้นมาให้ดูทั้งหมด ทั้งนี้ ตนติดแฮชแท็กเพื่อให้ภาพและข้อความไปปรากฏอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยตนไม่มีเจตนาให้ศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย

ซีเบิกความอีกว่า ในช่วงเกิดเหตุมีการห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมร่วมกันหลายคนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากศักดิ์สยามไปเที่ยวสถานบันเทิงก็จะไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นผู้แทนของประชาชน อย่างไรก็ตาม วันที่ 9 เม.ย. 2564 ศักดิ์สยามได้แจ้งวันเวลาและสถานที่อยู่ในช่วงเวลาที่หายไปดังกล่าว ในวันถัดมาตนจึงลบภาพและข้อความที่โพสต์ตั้งข้อสงสัยออกจากทวิตเตอร์ 

ทั้งนี้ซีเบิกความว่า ตนไม่ได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองหรือผู้อื่น และไม่มีเจตนาหลอกลวงผู้ใด เนื่องจากเข้าใจว่าบุคคลในภาพเป็นผู้เสียหายเพราะมีใบหน้าคล้ายคลึงกัน โดยตั้งแต่ในชั้นสอบสวนตนได้ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องจริง แต่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตามกฎหมาย  

ซียังยืนยันกับอัยการว่า ตนเคยเห็นศักด์สยามเพียงทางทีวี เมื่อเห็นภาพตามฟ้องจึงเข้าใจว่าเป็นศักดิ์สยาม เนื่องจากคล้ายกัน ทั้งนี้ ตนเพียงโพสต์ตั้งข้อสงสัย ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า ช่วงเวลาที่หายไปนั้น ศักดิ์สยามอยู่ในสถานบันเทิง 

.

ศาลเชื่อ จำเลยไม่แน่ใจว่าคนในภาพใช่ศักดิ์สยามหรือไม่ จึงตั้งข้อสงสัยไปตามกระแสข่าว ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นความผิด

ในวันนัดฟังคำพิพากษา ปิยะพงษ์ ทองดี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษามีใจความว่า พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ในชื่อ รำพึง โพสต์ภาพบุคคลและข้อความว่า ไทม์ไลน์ที่หายไป อยู่นี่หรือป่าวน๊า เอ๊…คนหน้าคล้าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ #ศักดิ์สยามชิดชอบ #ศักดิ์สยาม #โควิด19 #โควิด คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ 

โจทก์มี ร.ต.อ.สรรพาวุธ ลำมะนา ตำรวจผู้สืบสวนคดีเป็นพยานเบิกความว่า ภาพดังกล่าวมาจากคลิปวีดีโอที่ถ่ายจากสถานบันเทิงแห่งหนึ่งเมื่อปี 2562 และไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ตามภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์มีการยืนยันว่าศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไปเที่ยวสถานบันเทิงและติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วประเทศ อันเป็นความเท็จ ทำให้ศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย 

เห็นว่า การทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตามฟ้องนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาโดยรู้หรือควรได้รู้ว่า ข้อมูลหรือภาพที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเท็จ จำเลยไม่ได้ลงข้อความว่า ศักดิ์สยามติดเชื้อโควิด-19 จากการเที่ยวสถานบันเทิงโดยตรง ข้อความว่า “ไทม์ไลน์ที่หายไป อยู่นี่หรือป่าวน๊า เอ๊…คนหน้าคล้าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ” มีความหมายที่แสดงถึงความสงสัยว่า บุคคลในภาพเป็นศักดิ์สยามหรือไม่ โดยไม่ได้ยืนยันว่า บุคคลในภาพคือศักดิ์สยาม หรือศักดิ์สยามติดโควิด-19 จากการเที่ยวสถานบันเทิงโดยตรง  

ร.ต.อ.สรรพาวุธ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บุคคลในภาพมีใบหน้าคล้ายศักดิ์สยาม ส่วนอดุลย์ศักดิ์ ประชาชนที่พนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายของศักดิ์สยามมาให้ดู ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หากดูเฉพาะภาพถ่ายที่จำเลยโพสต์โดยไม่มีรูปจริงของศักดิ์สยามมาเปรียบเทียบก็อาจจะเข้าใจได้ว่าบุคคลในภาพคือศักดิ์สยาม เนื่องจากมีใบหน้าคล้ายกัน 

ในช่วงเกิดเหตุมีสื่อโทรทัศน์และออนไลน์เผยแพร่ข่าวว่า ศักดิ์สยามติดเชื้อโควิด-19 และมีการนำภาพดังกล่าวมาเผยแพร่อยู่ก่อนที่จำเลยจะโพสต์แล้ว

จำเลยเบิกความว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับวัน เวลา และสถานที่อยู่ในช่วงที่ติดเชื้อ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค แต่ศักดิ์สยามไม่ได้แจ้งวัน เวลา และสถานที่อยู่ในช่วงวันที่ 27-28 มี.ค. และ 2-3 เม.ย. 2564 จำเลยทราบข่าวจากทางโทรทัศน์และออนไลน์ แล้วจึงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดผู้เสียหายจึงไม่แจ้งวันเวลาและสถานที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว วันที่ 9 เม.ย. 2564 ศักดิ์สยามแจ้งวัน เวลาและสถานที่อยู่ในช่วงเวลาที่หายไปแล้ว วันต่อมาจำเลยจึงลบภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์ออกจากทวิตเตอร์ 

คดีน่าเชื่อว่า จำเลยไม่แน่ใจว่าบุคคลในภาพถ่ายเป็นศักดิ์สยามหรือไม่ จึงตั้งข้อสงสัยไปตามกระแสข่าวโดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันจะถือว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยขาดเจตนาจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

.

หลังฟังคำพิพากษา ซีกล่าวสั้นๆ ว่า รู้สึกคุ้มค่าที่อดทนต่อสู้คดีมาราว 1 ปี แม้จะต้องเสียเวลาในการเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ กับบุรีรัมย์อยู่หลายครั้ง 

สำหรับผลคดี ซึกล่าวว่า เป็นที่น่าพอใจ เพราะเป็นการย้ำว่า ที่ตนโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในทวิตเตอร์เป็นการตั้งคำถามในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก และทุกคนต่างหวาดระแวง จึงอยากทราบและตรวจสอบไทม์ไลน์ที่หายไปดังกล่าวของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และเพื่อจะทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ระวังตัวในการเดินทางไปจุดที่มีการแพร่เชื้อ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์ทำให้ใครเสียชื่อเสียง และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว

นอกจากคดีของซี จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่  20 ก.ค. 2565 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ยังมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซน์เนอร์ ที่ถูกศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการแชร์โพสต์ภาพ ‘คนหน้าเหมือน’ ช่วงโควิด-19 ระบาดในช่วงต้นปี 2564 เช่นเดียวกับคดีนี้ 

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ฟ้อง! พนักงานบริษัทเอกชน  ‘พ.ร.บ.คอมฯ’ กล่าวหาโพสต์ภาพชายเที่ยวสถานบันเทิงช่วงโควิด อ้าง ทำให้ ‘ศักดิ์สยาม’ เสียหาย

พนักงานบริษัทโดน พ.ร.บ.คอมฯ เหตุถูกระบุเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์โพสต์โยง ‘ศักดิ์สยาม’ กับสถานบันเทิง

.

X