จับตาคำสั่งศาลอุทธรณ์ หลังทนายยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว “7 ทะลุฟ้า” ของศาลชั้นต้น

วันที่ 8 ก.ย. 2565 เวลา 12.40 น. ทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย  “ป่าน” กตัญญู หมื่นคำเรือง, “คิม” ทศมา สมจิตร์, “เจมส์” ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี, “คาริม” จิตริน พลาก้านตง, “ทู” กฤษณะ มาตย์วิเศษ, “อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ และชาติชาย ไพรลิน หลังถูกฟ้องจากกรณีทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 และยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งหมดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

คดีนี้ได้มีการยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้ง 7 อีกครั้งในวันที่ 1 ก.ย. 2565 และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 6 ก.ย. 2565 โดยระบุว่าให้เตรียมพยาน รวมทั้งให้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดและบุคคลที่ศาลอาจตั้งให้เป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยมาด้วย ก่อนที่จะยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 7 คนในวันถัดมา (7 ก.ย. 2565) ระบุว่า

 “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีศาลเคยไม่อนุญาต จำเลยที่ 3 – 9 เพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกฎ ทั้งใช้ความรุนแรง และทำให้เกิดภยันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุสมควร โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 – 6 เคยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้มาก่อนแล้ว

จึงเชื่อว่าหากปล่อยจำเลยที่ 3 – 9 ไป อาจจะไปก่อภยันตรายอื่นได้อีก ในชั้นนี้ แม้จำเลยทั้งหมดดังกล่าว จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ยินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ EM

แต่ก็ยังตั้งเงื่อนไขในการที่จะออกจากเคหสถาน เพียงช่วงเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ชั้นต้น ซึ่งยังไม่เพียงพอให้ศาลเชื่อว่า จำเลยทั้งหมดจะไม่ก่ออันตรายอื่นอีก โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 (อาทิตย์ ทวี) และ 7 (ป่าน กตัญญู) ได้เสนอบุคคลที่ไม่น่าจะสามารถกำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้ดีเพียงพอ ในชั้นนี้จึงยังถือว่าการร้องขอของจำเลยที่ 3 – 9 ยังไม่มีเหตุผลพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง”

สำหรับคำร้องขออุทธรณ์ คำสั่งไม่ให้ประกันตัว ‘7 ทะลุฟ้า’ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

1. กรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า “ศาลเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 -9 เพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งใช้ความรุนแรง และทำให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยไม่มีเหตุสมควร” จำเลยขออุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด (Presumption of innocence) และจะปฏิบัติเสมือนว่าบุคคลนั้นกระทำผิดมิได้

จำเลยเห็นว่ากิจกรรมในวันที่ 30 ก.ค. 2564 เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากการบริหารงานที่ล้มเหลวในการจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 และส่งผลให้ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

แต่พรรคดังกล่าวก็ไม่ได้มีตัวแทนออกมารับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ทำให้ผู้ชุมนุมใช้สีซึ่งสามารถล้างออกได้ทำกิจกรรมปาสีบริเวณหน้าพรรค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเลือดเนื้อ ชีวิตและความทุกข์ยากเดือดร้อนและความสูญเสียของที่ประชาชนได้รับจากความล้มเหลวของรัฐบาลในชุดนี้ และกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายผู้ใด ไม่ได้มุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย

2. ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า หากปล่อยจำเลยที่ 3 – 9 ไป อาจจะไปก่ออันตรายอื่นได้อีก จำเลยทั้งหมดอุทธรณ์ว่า การได้รับการประกันตัวเป็นกระบวนการที่สำคัญจะทำให้จำเลยสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อีกหลายประการ อาทิเช่น การได้รับสิทธิปรึกษาทนายความ เพื่อต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

นอกจากนี้ ในข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งหมดได้แสดงให้เห็นว่ายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดทุกประการ จึงไม่มีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงใดเลยที่ศาลชั้นต้นจะนำมาใช้อ้างประกอบการวินิจฉัยว่าหากปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดออกไปแล้ว อาจจะไปก่อเหตุอันตรายอื่น

ทั้งนี้ คดีที่จำเลยทั้งหมดถูกฟ้องกล่าวหา ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต สงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สำหรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว 7 ทะลุฟ้า ที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อให้มีคำสั่งต่อไปนั้น  คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2 – 3 วัน 

X