ชวนอ่านเงื่อนไขขอประกันตัว “7 ทะลุฟ้า” พร้อมจับตาคำสั่งและเงื่อนไขให้ประกันของศาล 7 ก.ย. นี้

วันที่ 6 ก.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนขอประกันในคดีของนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย “ป่าน” กตัญญู หมื่นคำเรือง, “คิม” ทศมา สมจิตร์, “เจมส์” ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี, “คาริม” จิตริน พลาก้านตง, “ทู” กฤษณะ มาตย์วิเศษ, “อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ และชาติชาย ไพรลิน หลังถูกฟ้องจากกรณีทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 

สำหรับคดีนี้มี ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สน.บางซื่อ โดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 10 คน ที่ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปี 2564  และอัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งหมด เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ซึ่งมีเพียงแค่ทรงพล, เจษฎาภรณ์ และนวพลที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่อีก 7 คน ไม่ได้รับการประกันตัวมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ก.ย. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้ง 7 คน หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 45 วัน ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันนี้ (6 ก.ย. 2565) โดยให้เตรียมพยาน รวมทั้งบุคคลที่ศาลอาจตั้งเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยแต่ละคนมาให้พร้อม และให้เบิกตัวจำเลยทั้ง 7 คน มาศาลในวันนัดด้วย

.

อ่านคำร้องขอประกันตัวเพิ่มเติม  >>>  จับตาศาลอาญานัดไต่สวนขอประกันตัว “7 สมาชิกทะลุฟ้า” 6 ก.ย. นี้

.

เวลา 10.08 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 708 ประชาชนและญาติจำนวนมากได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนและให้กำลังใจจำเลยทั้ง 7 คน ที่ถูกเบิกตัวมาศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 5 นาย ควบคุมตัวมา ทั้งยังมีบุคคลที่จำเลยไว้วางใจให้แต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีอย่างพร้อมเพียงกัน

ต่อมาเวลา 10.15 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยแจ้งจำเลยและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การไต่สวนคำร้องขอประกันจำเลยทั้ง 7 คนในวันนี้ เป็นการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวของจำเลยทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดการพิจารณาคดีในวันนี้ ศาลเป็นผู้ไต่สวนและตั้งคำถามถึงความยินยอมต่างๆ ของจำเลยทั้ง 7 คนด้วยตนเอง 

ทั้งนี้ ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ยื่นเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ทนายความได้เสนอหลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว เป็นจำนวนเงิน 35,000 บาท พร้อมทั้งระบุว่า หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขประกอบการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยหรือเห็นสมควรให้ตั้งผู้กำกับดูแล จำเลยทั้งเจ็ดยินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามเกี่ยวข้องกับการกระทำใดๆ ที่มีลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา, ห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล, ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้มารายงานตัวต่อศาลตามเวลาที่กำหนด, ติดอุปกรณ์ติดตามตัว (EM) รวมทั้งยินยอมให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแล

จำเลยที่ 3 — คาริม จิตริน แถลงว่าเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี และอยู่ระหว่างรอสอบใบอนุญาตวิชาชีพทนายความ

ศาลเรียกจำเลยที่ 3 หรือคาริมขึ้นถามเรื่องเงื่อนไขการประกันตัวว่าจำเลยยินยอมทำตามเงื่อนไขดังกล่าวทุกประการหรือไม่ ซึ่งคาริมได้ตอบศาลว่ายินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไขต่างๆ แต่ขอแถลงเพิ่มเติมในส่วนข้อจำกัดของตนเอง 

คาริมแถลงว่า ตอนนี้ตนเพิ่งเรียนจบในระดับชั้นปริญญาตรี อยู่ในช่วงการเตรียมสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ ปัจจุบันมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งการทำงานในชีวิตประจำวันต้องใช้เวลาตั้งแต่ 08.00 – 21.00 น. โดยเป็นระยะเวลาในการทำงานและเดินทางกลับบ้าน

นอกจากนี้ คาริมยังได้แถลงต่อศาลว่า ตนเองนั้นมีโรคประจำตัวคือ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งแพทย์ให้คำแนะนำว่าควรมีการออกกำลังกายอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยขอให้ศาลแต่งตั้งพ่อของตนเป็นผู้กำกับดูแล และขอให้กำหนดระยะเวลาในการอยู่บ้านตั้งแต่ 21.00 น. – 05.00 น. ของอีกวัน

จำเลยที่ 4 — เจมส์ ศักดิ์สิทธิ์ แถลงยินยอมรับทุกเงื่อนไขศาล แม้ข้อกำหนดจะกระทบการประกอบอาชีพของตัวเอง

จำเลยที่ 4 หรือเจมส์ แถลงต่อศาลว่า ตนยินยอมทุกเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนดให้จำเลยปฏิบัติตาม ซึ่งศาลได้ถามต่อว่า ในการประกอบอาชีพส่วนตัวนั้น จำเลยทำงานอะไร โดยเจมส์ได้แถลงว่าตนมีอาชีพเป็นช่างไฟในกองถ่าย ซึ่งใช้เวลาในการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันในกองถ่ายละคร หากต้องจำกัดการออกนอกเคหสถาน ขอให้ศาลกำหนดเป็นช่วงเวลา 21.00 น. – 06.00 น. ของวันถัดไป

อย่างไรก็ตาม พี่สาวในฐานะผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลเจมส์ ได้แถลงต่อศาลว่า น้องชายของเธออาจไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เนื่องจากว่างานขอเจมส์เป็นงานฟรีแลนซ์ และมีระยะเวลาการทำงานไม่แน่นอน และในบางกรณีในการรับจ้างงานจำเป็นต้องไปทำงานในช่วงเวลากลางคืน แต่เจมส์ได้แถลงยืนยันว่า ตนสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาดังกล่าวที่บอกต่อศาลไปแล้วได้ ถึงแม้ว่าจะกระทบกับการประกอบอาชีพของตัวเองก็ตาม

จำเลยที่ 5 — อาทิตย์ ทวี แถลงถึงข้อจำกัดในอาชีพผู้รับเหมา หากศาลมีเงื่อนไขให้ติด EM 

อาทิตย์แถลงต่อศาลว่า ยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกอย่างและขอตั้งเจ้าของบ้านที่ตนพักอาศัยอยู่ และเป็นบุคคลที่ตนไว้วางใจให้เป็นผู้กำกับดูแล เพียงแต่แสดงความกังวลในเงื่อนไขของการติดกำไล EM ว่าจะส่งผลต่อการประกอบอาชีพของตนเอง ซึ่งศาลได้ให้อาทิตย์อธิบายถึงลักษณะการทำงานของตัวเอง 

อาทิตย์ได้เล่าว่า เขาประกอบอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และต่อเติมบ้านอาคาร มีความจำเป็นต้องเดินทางออกต่างจังหวัด โดยปกติมีเวลาทำงานอยู่ที่ 06.00 น. – 21.00 น. หากติดกำไล EM แล้วตนต้องเดินทางออกต่างจังหวัด นอกเหนือจากในกรุงเทพฯ จะมีผลอะไรหรือไม่

ทั้งนี้ ทนายความได้แถลงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกำไล EM ที่มีการจำกัดพื้นที่การใช้ชีวิตของจำเลย อาจส่งผลต่อการทำงานของจำเลยได้  อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ได้แถลงอีกครั้งว่า หากต้องติด EM จริง ก็ขอให้ศาลกำหนดระยะเวลาเป็น 21.00 น. – 06.00 น. ของวันถัดไป

จำเลยที่ 6 — ชาติ ชาติชาย พ่อค้าขายผลไม้  ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อรับผลไม้มาขาย แต่พร้อมรับเงื่อนไขเหมือนคนอื่น

ชาติแถลงต่อศาล โดยอธิบายว่า ตนสามารถยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาลกำหนดได้เช่นเดียวกับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีนี้ ซึ่งศาลขอให้ชาติ ในฐานะจำเลยที่ 6 อธิบายถึงการประกอบอาชีพและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อการประกอบพิจารณาการปล่อยชั่วคราว 

ชาติแถลงต่อศาลว่า ในการประกอบอาชีพส่วนตัว เป็นพ่อค้าขายผลไม้ เริ่มต้นทำงานตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 22.00 น. โดยต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อไปรับผลไม้มาขายในกรุงเทพฯ ซึ่งศาลได้ถามว่าหากต้องกำหนดระยะเวลาห้ามออกนอกบ้านที่จำเลยจะสามารถปฏิบัติตามได้นั้น จะเป็นช่วงระยะเวลาประมาณกี่โมง ซึ่งจำเลยได้ตอบว่าขอให้ศาลกำหนดช่วงระยะเวลาเป็น 21.00 น. – 06.00 น. ของวันถัดไป และพร้อมแต่งตั้งให้บิดาเป็นผู้กำกับดูแล

จำเลยที่ 7 — ป่าน กตัญญู แถลงต่อศาลการประกอบอาชีพเป็นผู้ประสานงานโครงการของมูลนิธิก้าวหน้า อาจส่งผลต่อการจำกัดการเดินทาง

ป่าน ในฐานะจำเลยที่ 7 ได้แถลงต่อศาลว่าตนเองยินยอมแต่งตั้งให้ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นหัวหน้างาน ให้เป็นผู้กำกับดูแลของตน โดยแถลงต่อว่าตนมีอาชีพเป็นพนักงานประจำ ตำแหน่งประสานงานโครงการของมูลนิธิก้าวหน้า โดยมีเวลาเริ่มงานตั้งแต่ 10.00 น. – 20.00 น. และมีวันหยุดงานเสาร์ – อาทิตย์ 

ทั้งนี้ กุลธิดา ในฐานะผู้กำกับดูแลได้แสดงความกังวลต่อเงื่อนไขการออกนอกเคหสถานว่า การทำงานของจำเลยไม่เป็นเวลาแน่นอน เนื่องจากจำเลยมีหน้าที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อจัดงานอบรมในสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย จึงขอให้ศาลพิจารณาเงื่อนไขการติด EM และการกำหนดเวลาออกนอกเคหสถานด้วย

ศาลจึงได้ถามต่อจำเลยว่า หากต้องกำหนดระยะเวลาการอยู่ในบ้าน จำเลยคิดว่าระยะเวลาใดที่จะสามารถปฏิบัติตามได้ ซึ่งป่านได้ตอบศาลว่า ขอให้ศาลกำหนดเวลาการอยู่ในเคหสถานเป็นช่วงเวลาประมาณ 24.00 น. – 09.00 น. ของวันถัดไป ส่วนเงื่อนไขต่างๆ จำเลยยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ

จำเลยที่ 8 — คิม ทศมา ปัจจุบันยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และต้องทำงาน Part Time เพื่อหาเลี้ยงตนเอง

คิม ในฐานะจำเลยที่ 8 แถลงความยินยอมว่าจะปฏิบัติตามทุกเงื่อนไขของศาล พร้อมให้ศาลแต่งตั้งมารดาเป็นผู้กำกับดูแล แต่ขอให้ศาลพิจารณาการจำกัดการออกนอกเคหสถาน เนื่องจากคิมยังเป็นเพียงนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 4 และเรียนอยู่ในสาขาการท่องเที่ยว โดยปกติจะต้องเข้าเรียนระหว่าง 08.00 น. – 18.00 น. และอาจมีการไปลงพื้นที่ในต่างจังหวัดเพื่อการศึกษาอีกด้วย

ทั้งนี้ ศาลได้ถามจำเลยว่าในการเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อการศึกษา จำเลยสามารถหาเอกสารมายืนยันต่อศาลได้ใช่หรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ได้ตอบว่าสามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม คิมได้แถลงต่อว่า นอกจากภาระในการศึกษาแล้ว ตนเองยังต้องทำงาน Part Time เพื่อหาเลี้ยงชีพอีกด้วย โดยปกติจะต้องไปทำงานทุกสุดสัปดาห์คือ ศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์ จึงขอให้ศาลกำหนดระยะเวลาการอยู่ในบ้านตั้งแต่เวลา 22.00 น. – 05.00 น.

จำเลยที่ 9 — ทู กฤษณะ ยอมรับทุกเงื่อนไขของศาล พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขเดียวกันกับอาทิตย์ ทวี

ทู ในฐานะจำเลยที่ 9 แถลงว่าตนมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 5 หรืออาทิตย์ พร้อมยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกอย่างที่ศาลจะสั่งให้ปฏิบัติตาม 

ศาลได้ถามต่อทูว่า ในส่วนของการทำงานมีการเดินทางออกนอกต่างจังหวัดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 5 ใช่หรือไม่ ซึ่งทูได้อธิบายว่า ในการทำงานของตนเองนั้น มีการเดินทางออกต่างจังหวัดบ้างในบางครั้ง หากศาลจะกำหนดเวลาการอยู่ในเคหสถานขอให้กำหนดเป็นระยะเวลาตั้งแต่  21.00 น. – 06.00 น.ของอีกวัน และยินยอมให้ติด EM พร้อมทั้งให้แต่งตั้งพี่ชายเป็นผู้กำกับดูแล เนื่องจากมารดาและบิดามีอายุมากแล้ว และไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกัน

ในเวลาต่อมา 11.50 น. หลังการไต่สวนคำร้องขอประกันเสร็จสิ้น ศาลได้นัดฟังคำสั่งต่อไปในวันที่ 7 ก.ย. 2565 โดยบันทึกการรายงานการไต่สวนในวันนี้จะมีการนำเข้าปรึกษาในคณะผู้บริหารศาลอาญา

X